วันๆ บรรณารักษ์ ทำอะไร


“ขอบคุณที่ใช้บริการ โอกาสหน้าเชิญใหม่นะคะ”

 วันๆ บรรณารักษ์ ทำอะไร 

มีหลายคนชอบตั้งคำถามว่าวันๆ บรรณารักษ์ ทำอะไร วันนี้เลยลองนั่งนึก ตรึก ตรอง ดู ว่าวันๆ เราทำอะไร เริ่มจากสายงานของบรรณารักษ์ก่อน จริงๆงานในห้องสมุดแบ่งเป็น 3 สายงาน

1. สายบริการ

2. สายเทคนิค

3. สายบริหาร

ซึ่งทั้ง 3 สายมีภาระหน้าที่แตกต่างกัน ณ ที่นี้จึงขอพูดเพียง 2 สาย คือ สายบริการ และสายเทคนิค เพราะเป็นสายที่เกี่ยวพันกับผู้ใช้ และเป็นหน้าเป็นตาห้องสมุด

ส่วนสายบริหารมันก็คืองานบริหารนั่นล่ะ นะนะ

บรรณารักษ์งานบริการ

เป็นบรรณารักษ์ที่ทำหน้าที่เน้นงานบริการผู้ใช้ ซึ่งก็มีหลากหลายงานตามแต่ว่าห้องสมุดนั้น มีนโยบายให้บริการใครบ้าง หรือวางให้หน่วยงานมีบริการอะไรบ้าง

(ซึ่งห้องอ่านหนังสือ คณะพยาบาลศาสตร์ มีบรรณารักษ์คนเดียว ดังนั้นจึงต้องบริการทุกอย่างตามที่จะสามารถบริการได้)

1. บรรณารักษ์ฝ่ายยืม-คืน

ก็เหล่าบรรณารักษ์ที่นั่งอยู่ที่เคาน์เตอร์ยืม-คืน และรวมถึงบรรณารักษ์ให้บริการยืมใช้ทรัพยากรสารสนเทศในแผนกต่างๆด้วย ซึ่งท่านจะเห็นพวกเขาเหล่านี้ยืน/นั่งอยู่ที่หน้าเคาน์เตอร์ตลอด ซึ่งคนทั่วไปก็มักจะคิดว่า ทำหน้าที่ยืม-คืน ประทับตรา วดป. ที่ต้องคืน แล้วโยนมันไว้ข้างหลัง จริงๆก็ไม่ผิดนักหรอก (เพียงแต่พวกเขายังมีหน้าที่ดูแลในเรื่องการปรับ เช็คข้อมูลมีปัญหาในระหว่างการยืม-คืน

กล่าวคือ มันก็มีงานให้ทำได้ทั้งวันล่ะค่ะ แต่มันเป็นแบบเรื่อยๆ งานยืม-คืนจะหนักมากคือช่วง เช้า กลางวัน และเย็น เพราะเป็นช่วงที่เด็กๆ นิสิต และผู้ใช้มะรุมมะตุ้ม ซึ่งปัญหาหนักที่บรรณารักษ์เจอบ่อยๆคือ ผู้ใช้ที่ยืมไปแล้วมาคืนช้า ไม่ค่อยยอมเสียเงินค่าปรับ.... มีทุกที่ทุกหน่วยงานค่ะ บางคนขอต่อรองราคา แต่พวกนี้พอว่า พวกที่มาถึงอวดเบ่งว่าข้าใหญ่ แล้วไม่ยอมเสียเงินนี่สิน่าหงุดหงิด  ถ้าบรรณารักษ์ไม่ใจเย็นพออาจจะมีตบตีกันแน่ๆ ฉะนั้นบางครั้งจึงเจอบรรณารักษ์หน้าบูดๆ  แล้วยังมีหน้าที่คอยจัดชั้นหนังสืออีกด้วยนะคะ จัดชั้นธรรมดาก็คงไม่หนักหนาอะไรหรอกคะ แต่บางครั้งเจอผู้ใช้ที่ขยันอ่าน ขยันค้นมากๆ คือยกหนังสือทั้งชั้นออกมาแล้วก็กองไว้เพนิน คงคิดว่าบรรณารักษ์ว่าง

2. บรรณารักษ์ตอบคำถาม

โดยหน้าที่คือคอยให้คำแนะนำและตอบคำถาม-ปัญหาที่เกิดจากการใช้ เป็นงานที่บรรณารักษ์ต้องมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีมากๆ เพราะเป็นงานที่ประจันหน้าผู้ใช้ และเป็นงานที่เจอผู้ใช้ หลากหลายมีทั้งคนปกติ คนอัจฉริยะ คนไม่ค่อยฉลาด คนไม่เข้าใจตัวเอง และคนบ้า ซึ่งแต่ละพวกก็มีหลากหลายแนว ถามดีบ้าง ไม่ดีบ้าง บรรณารักษ์ก็ให้บริการกันไป การให้บริการ ณ ตรงนี้คือการให้คำตอบในสิ่งที่ผู้ใช้ต้องการ ส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องที่ผู้ใช้หาอะไรซักอย่างไม่เจอ แต่.....

(ขอบ่น) คนไทยส่วนใหญ่อวดเก่งนะคะ ประมาณว่าหาไม่เจอ แล้วไปพูดข้างนอกว่า "ไม่มี "  “หรือหาไม่เจอ ก็บอก หายไปแล้ว”…......ก็ไม่มาถามบรรณารักษ์ ให้บรรณารักษ์ช่วยหาให้ล่ะ

บรรณารักษ์ตอบคำถามก็จะช่วยหาคำตอบให้ โดยถ้าเป็นเรื่องง่ายๆ (ที่ผู้ใช้ไม่เข้าใจ) บรรณารักษ์จะแนะนำวิธีการหาให้ เพราะ เรื่องง่ายๆ ก็ต้องฝึกให้ผู้ใช้หาเองเป็น จะได้หาเองได้ในอนาคตไม่ต้องคอยพึ่งบรรณารักษ์ตลอดเวลา

3. บรรณารักษ์สืบค้น???

จริงๆแล้วก็คือ บรรณารักษ์ตอบคำถามนั้นล่ะ เพียงแต่บางครั้งบรรณารักษ์ต้องทำหน้าที่สืบค้นข้อมูลจากฐานข้อมูลมาให้ผู้ใช้บริการ (หรือหนักกว่านั้นบริการหาหนังสือให้ด้วย เดี๋ยวลงมารับนะคะ)

บรรณารักษ์งานเทคนิค

เป็นบรรณารักษ์ที่มักจะทำงานอยู่เบื้องหลังราวกับรัฐบาลเงาก็ไม่ปาน มักจะไม่ชอบเสนอหน้าออกไปข้างนอก เพราะไม่ถนัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน งานที่พวกเขาเหล่านี้ทำ ก็ไม่ใช่ธรรมดานะ ก็จะมีตั้งแต่

1. งานจัดซื้อ หน้าที่คือคอยหาสารพัดทรัพยากรสารสนเทศเข้าสู่ห้องสมุด ตั้งแต่ติดต่อสั่งซื้อ จัดหา จัดทำ ขอรับบริจาค เพื่อให้ได้ของนั้นๆมา และคอยประสานงานในกรณีที่ต้องมีการทำสัญญา ต่อสัญญา และเมื่อซื้อมาแล้วก็ต้องทำหน้าที่ลงทะเบียนสิ่งที่ซื้อมาด้วย คือต้องมาประทับตราหนังสือ แสดงความเป็นเจ้าของอีก   1 เล่ม ก็ต้องประทับตราประมาณ 7 ที่

2. งานจัดหมวดหมู่ ให้หัวเรื่อง

เป็น 1 ในงานที่หลายๆคนอยากจะร้องยี้ แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ จัดหมวดหมู่ก็คือ มานั่งให้เลขเรียก แก่หนังสือแต่ละเรื่อง ตรงนี้ขออธิบายยาวนิด เพราะคาดว่าหลายๆคนไม่เข้าใจ ไอ้เลขหมู่ที่ว่านี้ เป็นการแบ่งหนังสือออกตามเนื้อหาสาระ โดยใช้สัญลักษณ์มาแทนเนื้อหาหนังสือ ซึ่งไอ้เจ้าสัญลักษณ์ที่ว่านี้จะครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมดภายในเล่ม แต่ดึงเฉพาะส่วนที่เป็นหลักเท่านั้น โดยเลขหมู่ที่ว่านี้ ใช้ๆกันอยู่ก็มีหลายแบบ ตามแต่ห้องสมุดพิจารณาความเหมาะสม แต่หลักๆที่ใช้กันในไทยก็จะมี

1. ระบบ Dewey  ให้นึกถึงเลขหมู่ที่มันมีแต่ตัวเลข ไล่ตั้งแต่ 100 - 000 (ในห้องสมุดจะจัด 000 - 900)

2. ระบบ LC ระบบนี้จะเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษผสมเลข ปกติก็คือ A - Z ยกเว้น I O W X Yและแต่ละตัวอักษรจะแบ่งย่อยๆได้อีกเช่น A ก็จะมี Aa - Az (จริงๆมันไม่ครบทั้งหมดหรอก)

3. ระบบ NLM ระบบนี้จะคล้าย LC แต่มีเนื้อหาไปทางสาขาแพทย์ จึงเป็นระบบที่นิยมใช้ในโรงพยาบาล หรือ มหาวิทยาลัยที่ผลิตพวกหมอ พยาบาล เป็นหลัก

(ซึ่งห้องอ่านหนังสือ จัดหมวดหมู่หนังสือด้วยระบบ NLM เหมือนชาวบ้านเค้าทั่วโลกละคะ)

ซึ่งไอ้การคิดเลขเหล่านี้ออกมา บรรณารักษ์ก็ต้องมานั่งอ่านหนังสือเพื่อตีความให้ ออกว่าตกลงมันเป็นเรื่องอะไร บางครั้งความคลุมเครือของเนื้อหาก็ทำให้บรรณารักษ์ปวดหัวได้เหมือนกัน ทำให้การจัดหมวดหมู่บางครั้งใน 1 วันบรรณารักษ์ทำได้เพียงไม่กี่ชื่อเรื่อง อีกงานก็คืองานให้หัวเรื่อง เพื่อให้ผู้ใช้ ใช้เป็นคำค้น หัวเรื่อง (Subject) เป็นคำที่ครอบคลุมเนื้อหาทรัพยากรนั้นๆ เป็นตัวบอกถึงเนื้อหาที่เราจะได้รับ ต่างจากคีย์เวิร์ดนะคะ คีย์เวิร์ดเป็นคำธรรมชาติ มีอะไรก็ใช้แบบนั้น แต่หัวเรื่องเป็นคำเฉพาะ หรือบางกรณีเป็นคำทางการ

ยังรวมไปถึงการติดสันหนังสือ ติดบัตรกำหนดส่ง ติดบาร์โค้ดหนังสือ

3. งานซ่อม เป็นงานที่เอาของที่ชำรุดมาซ่อมให้กลับมามีสภาพใช้งานได้นั้นล่ะค่ะ ซึ่งแต่ละที่ก็มีกลเม็ดต่างกันไป เพราะแต่ละหน่วยงานเก็บของไม่เหมือนกัน เลยต้องมีวิธีอนุรักษ์ต่างกันไป (แต่ไม่ต้องพูดถึงหรอกค่ะ มีบรรณารักษ์คนเดียว แค่ให้บริการกับแคตตาล็อก ก็ไม่ทันแล้วค่ะ)

“นี่ยังไม่รวมงานอื่นๆ ที่ได้รับมอบหมายนะคะ”

 

แต่ถึงยังไงๆ บรรณารักษ์ก็ยังคงอยากทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการเสมอ แม้บางครั้งจะมีการกระทบกระทั่งกับผู้ใช้บริการบ้าง ยังไงก็นึกใจเขาใจเรานะคะ ถ้อยทีถ้อยอาศัย ยินดีรับใช้และให้บริการเสมอจ้า

 

“จะรับบทความวารสาร หรือบริการ DDS เพิ่มมั้ยค่ะ”

“ขอบคุณที่ใช้บริการ โอกาสหน้าเชิญเข้าใช้บริการใหม่นะคะ”

หมายเลขบันทึก: 339356เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2010 11:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 20:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เล่น Facebook ตอนงานว่าง และตอนอยู่เวรที่เคาน์เตอร์ครับ ผมแอบเห็น ;)

ขอบคุณครับ ;)

โอ้โห แสดงว่าบรรณารักษ์สมัยนี้ ทันสมัยเนาะ เล่น facebook ซะด้วย ว่าแต่ว่าคนที่แอบเห็น ก็คงเล่นด้วย เพราะรู้จัก facebook ขนาดเค้าแอบบแล้วยังเห็นอีกง่ะ

แต่ละคนก็มีหน้าที่ของตนเอง ใครทำตามหน้าที่อย่างรับผิดชอบ ก็น่ายกย่องชมเชย

เพราะงานบรรณารักษ์ เป็นงานบริการ ที่ต้องอดทนกับผู้ใช้บริการที่แตกต่างหลากหลาย

แต่คอมเม้นท์เหมือนคนข้างบนนิดนึง เพราะเคยไปใช้บริการยืม

มี จนท. นั่งอยู่หลายคน เราเดินตรงไปหาคนที่ว่าง

ปรากฏว่าเขา (เพศชาย) ชี้ให้เราไปต่อแถวคนที่กำลังบริการคนอื่น

เลยแอบชะเง้อมอง พบว่ากำลังเล่น MSN โต้ตอบกับใครอยู่ก็ไม่ทราบ

อย่างนี้ ไม่สมควรเลยค่ะ

ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ ก็ไม่สมควรละคะ งานบริการก็ควรเต็มใจให้บริการ สำหรับบรรณารักษ์การเข้าถึงข้อมูลที่ผู้ใช้บริการต้องการเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

บรรณารักษ์ ไม่เพียงแต่นั้นนะคะ การใช้ Facebook หรือ MSN เราเรียกว่าเ็ป็นบริการบรรณารักษ์เสมือนค่ะ วงการห้องสมุดแทบทุกแห่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ ต่างนำ เครื่องมือสื่อสาร 2 ชนิดนี้มาให้บริการตอบคำถามแก่ผู้ใช้บริการ ซึ่งอาจจะเกิดปัญหาในการใช้บริการต่าง ๆ เช่น สืบค้นฐานข้อมูลออนไลน์จากที่บ้าน ที่ทำงาน หรือนอกสถาบันไม่ได้ ก็เข้ามาสอบถาม ดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็มไม่ได้ ก็เข้ามาสอบถาม ก็เป็นการประหยัดเงินในการใช้โทรศัพท์ และให้การตอบปัญหาที่รวดเร็ว เพิ่มอีกช่องทางหนึ่งค่ะ นอกจากนั้น ยังใช้ในการประชาสัมพันธ์การบริการ หรือแนะนำหนังสือ หรืออื่น ๆ อีกมากมายในการให้บริการผู้ใช้ค่ะ เป็นการบริการที่เข้าถึงผู้ใช้เพิ่มขึ้น เมื่อผู้้ใช้บริการนิยมใช้สิ่งเหล่านี้ ห้องสมุดก็ต้องมีการบริหารการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกันค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท