พระท้ายน้ำคือใคร...


พระท้ายน้ำ เป็นหนึ่งในเจ้ากรมอาสาหกเหล่าฝ่ายซ้าย นั่นคือ “ออกญาสีหราชเดชะ” และมักเรียกย่อว่า “ท้ายน้ำ” ถือตราองคตถือพระขรรค์ ขึ้นต่อสมุหพระกลาโหม

พระท้ายน้ำ

                  พระท้ายน้ำเทียบแล้ว เป็นรองผู้บัญชาการกองพล  ในกระทรวงกลาโหมในพระไอยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง  ถือศักดินา ๑๐๐๐๐ เท่ากับสีหราชเดโชไชย และเท่ากับสมุหพระกลาโหมด้วย

                 ผู้ใต้บังคับบัญชาโดยตรงมี ขุนไกรเทพปลัดทูลฉลอง ขุนจัตุรงค์วิไชยปลัด ขุนเสนาทิพ  สมุหบัญชี

                 หน้าที่ก็คงบังคับบัญชา กรมต่างๆตามได้รับมอบหมายจากสมุหพระกลาโหม เช่น กรมอาษาซ้าย   กรมอาษาขวา   กรมเขนทองขวา  กรมเขนทองซ้าย  กรมทวนทองขวา  กรมทวนทองขวา

 

ข้อมูลมีน้อย 

                  ต้องอาศัยกฏหมายตราสามดวงเป็นหลัก ในหนังสือ "บันทึกเรื่องการปกครองของไทย สมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์" พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (เรียบเรียงจากคำสอนของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช พ.ศ. ๒๕๑๖ สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๕๔๙ นั้น มีกล่าวถึง "พระยาท้ายน้ำ" ไว้เล็กน้อยในหน้า ๓๖, ๕๗, ๕๙ และ ๖๐ แสดงว่าตำแหน่งนี้ไม่ใคร่จะสำคัญนัก

                ในหน้า ๓๖ กล่าวถึงแต่เพียงว่า "การแบ่งเป็นทหารพลเรือนเป็นเพียงการขึ้นทำเนียบเท่านั้น แต่ลักษณะการงานไม่ต่างกันระหว่างตำแหน่งพลและมหาดไทย ตามกฎหมายกล่าวว่า ตำแหน่งพลของหัวเมืองเอก แม่ทัพกรุง คือ พระยาเดโช ส่วนพระยาท้ายน้ำเป็นผู้รั้ง"

                ในหน้า ๕๗ ได้กล่าวถึงการแบ่งทหารว่า "ต่อมาการแบ่งทหารเปลี่ยนแปลงไป เพราะทหารช้าง (คชบาล) ทหารม้า (อัศวราช) ยกออกจากทหารไปขึ้นกับพลเรือนขึ้นตรงกับพระมหากษัตริย์เพื่อความปลอดภัยของราชบัลลังก์ เพราะมีการคิดชิงราชสมบัติอยู่เสมอ

                ต่อมาแบ่งเป็นสมุหนายก สมุหพระกลาโหม

สมุหพระกลาโหมมีแม่ทัพขึ้น ๓ คน

๑. พระยารามจตุรงค์ ศักดินา ๑๐๐๐๐

๒. พระยาเดโช

๓. พระยาท้ายน้ำ (คงจะคุมฝีพาย)"

                ในหน้า ๕๘-๖๐ ได้กล่าวถึงว่า ๑. ทหารราบ แบ่งเป็น ๘ กรม ประจำการเป็นทหารอาชีพ ๑) - ๖) กรมอาสา ๖ เหล่า ๗) กรมทวนทองใน-นอก ๘) กรมเขนทองใน-นอก

              

                พระยาเดโช พระยาท้ายน้ำ ดูแลบังคับบัญชาทหารอาสา ๖ เหล่า มีหน้าที่ป้องกันกรุง ไม่ใช้ออกนอกกรุงปราบกบฏในเขตประเทศ จะออกนอกประเทศได้เฉพาะพระเจ้าแผ่นดินยกทัพหลวง ถ้าเป็นศึกไม่สำคัญใช้ทหารเกณฑ์

                นอกจากจะเป็นทหารอาชีพฝึกอาวุธแล้ว ยังมีหน้าที่ศึกษาข่าวศึก ดูแลด่านเก็บภาษี

                (อีกกรมหนึ่งสำหรับสืบข่าวคือ กรมอาทมาต คนในกรมเป็นมอญสำหรับสืบข่าวด้านพม่า ยามสันติก็ใช้ในกิจการอื่น ๆ ด้วย เช่น ขุนไกรพลพ่าย ดูในทำเนียบมอญ)

                ทหารหน้าเหล่านี้ในยามสันติ เมื่อเวลาเสด็จราชดำเนินไปไหน ๆ ไม่ใช้ขบวนเสด็จ แต่ใช้รายทาง ถ้าเสด็จทางชลมารค ใช้ลงเรือนำและตาม หน้าที่พิเศษออกหัวเมืองกวาดต้อนคนมาสักเลก ควบคุมการทำงานสาธารณะ

 

เหตุที่คนมาสมัครเป็นทหารหน้ามีน้อยทั้ง ๆ ที่มีเกียรติสูง

           ๑. ไม่ใช้ไปตีบ้านเมืองโอกาสที่จะได้ทรัพย์สมบัติเชลยศึกน้อย ได้รับพระราชทานแต่เพียงเบี้ยหวัดธรรมดา

           ๒. โอกาสที่จะทำงานให้เป็นประโยชน์เช่นพลเรือนไม่มี

           ๓. อยู่ใกล้ชิดพระเนตรพระกรรณ โอกาสที่จะลงพระราชอาญามีมาก ปลายกรุงศรีอยุธยากรมนี้เสื่อมลงแทบหาตัวคนมาเป็นพระยาเดโช พระยาท้ายน้ำไม่ได้"

           (รายละเอียดเพิ่มเติมหาอ่านได้จาก "บันทึกเรื่องการปกครองของไทย สมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์" สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเรียบเรียงจากคำสอนของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช พ.ศ. ๒๕๑๖ โดยสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๕๔๙)

 

                     เรื่องพระยาท้ายน้ำ, พระยาเดโช และกรมอาสาหกเหล่า ในนามานุกรมขุนช้างขุนแผน วิกิพีเดียเขียนไว้ดังนี้

            พระ(ยา)ท้ายน้ำ เป็นหนึ่งในเจ้ากรมอาสาหกเหล่าฝ่ายซ้าย นั่นคือ ออกญาสีหราชเดชะชัย อภัยพิริยปรากรมพาหุ เรียกอย่างสั้นว่า “ออกญาสีหราชเดชะ” และมักเรียกย่อว่า “ท้ายน้ำ” ถือตราองคตถือพระขรรค์ ขึ้นต่อสมุหพระกลาโหม ฉะนั้นหน้าที่ฝ่ายนี้คือการตั้งกองระวังรักษาหรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “กองคอยเหตุ” ที่อยู่ท้ายน้ำ เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินออกนอกพระราชวังไปประทับที่แห่งใดแห่งหนึ่ง

           พระยาเดโช เป็นหนึ่งในเจ้ากรมอาสาหกเหล่าฝ่ายขวา นั่นคือ ออกญาสีหราชเดโชชัย อภัยพิริยปรากรมพาหุ เรียกอย่างสั้นว่า “ออกญาสีหราชเดโช” และมักเรียกย่อว่า “เดโช” ถือตราหนุมานแผลงฤทธิ์ ขึ้นต่อสมุหพระกลาโหม ฉะนั้นหน้าที่ฝ่ายนี้คือการตั้งกองระวังรักษาหรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “กองคอยเหตุ” ที่อยู่เหนือน้ำ เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินออกนอกพระราชวังไปประทับที่แห่งใดแห่งหนึ่ง

           กรมอาสาหกเหล่า คำว่า “อาสา” แปลว่า “ทหารหน้า” กล่าวอย่างปัจจุบันก็คือกองทัพบกนั่นเอง มีหน้าที่รบพุ่งปราบปรามอริราชศัตรูทุกทิศ ในสมัยโบราณ กรมนี้มีหน้าที่วางด่านทาง ป้องกันข้าศึกศัตรูซึ่งแบ่งตามซ้ายแลขวา แต่เดิมในสมัยอยุธยา กรมนี้แบ่งออกเป็นกรมอาสาใหญ่ กรมอาสารอง กรมเขนทองขวา กรมเขนทองซ้าย กรมทวนทองขวา และ กรมทวนทองซ้าย

 

 

อ้างอิง

กาญจนาคพันธุ์ และนายตำรา ณ เมืองใต้.(๒๕๔๕). เล่าเรื่องขุนช้างขุนแผน. พิมพ์

          ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : อมรินทร์.

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 335688เขียนเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2010 20:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 22:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท