Jeh
นาย เจ๊ะเหล๊าะ ฮากิม แขกพงศ์

บุหรี่ ในมุมมองของปราชญ์มุสลิมในอดีต


ปราชญ์มุสลิมในอดีตหลายท่านชี้ว่า การสูบบุหรี่เป็นสิ่งต้องห้าม(หะรอม) ก่อนที่จะมีการค้นพบโทษภัยเช่นในปัจจุบัน

การบริโภคยาสูบหรือการสูบบุหรี่ในทัศนะของปราชญ์มุสลิมในอดีต

เกี่ยวกับการบริโภคยาสูบหรือสูบบุหรี่ ไม่ปรากฏหลักฐานโดยตรงจากอัลกุรอาน และซุนนะฮฺของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม เนื่องจาก “ยาสูบ” หรือ “บุหรี่”  เพิ่งเป็นที่รู้จักในโลกอาหรับเมื่อตอนปลายศตวรรษที่ 10 หรือต้นศตวรรษที่ 11 แห่งฮิจญฺเราะฮฺศักราช (ตรงกับปลายศตวรรษที่ 16 หรือต้นศตวรรษที่ 17 แห่งคริสตศักราช) ในชื่อเรียกต่าง ๆ เช่น อัดดุคอน[الدخان] อัตตับฆฺ[التبغ] อัตตุตุน[التتن] อัตตุมบาค[التمباك] เป็นต้น ต่อมาเมื่อมีการบริโภคกันอย่างแพร่หลาย นักวิชาการมุสลิมในสมัยนั้นจึงได้มีการวิเคราะห์วินิจฉัยถึงหุกมฺหรือศาสนบัญญัติอิสลามว่า สูบบุหรี่ มีความชอบธรรมทางศาสนาอย่างไร

            กล่าวได้ว่า ในสมัยนั้นหุกมฺเกี่ยวกับการบริโภค “ยาสูบ” หรือ “บุหรี่” เป็นประเด็นใหม่ที่ยังไม่เคยมีคำวิเคราะห์วินิจฉัยชี้ขาดจากบรรดานักปราชญ์ระดับมุจญตะฮิดผู้นำมัซฮับ อาทิ อิมามหะนะฟีย์ อิมามมาลิกีย์ อิมามชาฟิอีย์ หรืออิมามอะหฺมัด ตลอดจนนักปราชญ์ผู้อาวุโสในแต่ละมัซฮับในยุคสมัยถัดมาก็มิได้อธิบายไว้ เนื่องจากพฤติกรรมการสูบบุหรี่ยังไม่เกิดขึ้น กับทั้งไม่มีข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับส่วนประกอบและผลกระทบจากการบริโภค “ยาสูบ” ทำให้นักวิชาการมุสลิมในยุคต่อมาหลังจากนั้น คือในราวช่วงต้นศตวรรษที่ 11 แห่งฮิจญ์เราะห์ศักราช ต้องทำการวิเคราะห์วินิจฉัย และผลของการวิเคราะห์วินิจฉัยมีความแตกต่างกันอย่างมาก  กล่าวคือ บางท่านวินิจฉัยว่าการบริโภคยาสูบเป็นสิ่งต้องห้ามเด็ดขาด (หะรอม) บางท่านวินิจฉัยว่าเป็นสิ่งต้องห้ามไม่เด็ดขาดหรือน่ารังเกียจ (มักรูฮฺ) บางท่านวินิจฉัยว่าเป็นสิ่งที่อนุมัติ (มุบาหฺ) ในขณะที่บางท่านไม่แสดงความคิดเห็นใด ๆ ยิ่งกว่านั้น ในมัซฮับเดียวกันก็มีนักวิชาการที่มีความคิดเห็นหลากหลาย ส่วนหนึ่งเห็นว่าเป็นสิ่งต้องห้ามเด็ดขาด (หะรอม) อีกส่วนหนึ่งเห็นว่าต้องห้ามไม่เด็ดขาดหรือน่ารังเกียจ (มักรูฮฺ) และอีกบางส่วนเห็นว่าอนุมัติ[1] (มุบาหฺ) กระทั่งไม่สามารถที่จะรวบรวมเป็นความคิดเห็นของมัซฮับได้ว่ามัซฮับใดมีความเห็นต่อกรณีของการบริโภคยาสูบอย่างไร เนื่องจากในมัซฮับเดียวกันก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน จึงเสนอโดยจำแนกเป็นกลุ่มทัศนะดังนี้

1 ทัศนะที่มีความเห็นว่าการบริโภคยาสูบเป็นสิ่งหะรอม 

บรรดานักวิชาการในทัศนะนี้ เป็นนักวิชาการจากมัซฮับต่าง ๆ ทั้งจากมัซฮับหะนะฟีย์ เช่น ท่านอีซา อัชชะฮาวีย์   [عيسى الشهاوي]  ท่านอับดุลบากี  [عبد الباقي الحنفي] ท่านมุฮัมมัด อิบนุศิดดีก อัซซุบัยดีย์ [محمد بن الصديق الزبيدي الحنفي]   จากมัซฮับมาลิกีย์ เช่น ท่านอิบรอฮีม อัลลิกอนีย์ [إبراهيم اللقاني]  อะบูอัลฆัยษฺ อัลเกาะชาชฺ [أبو الغيث القشاش] จากมัซฮับชาฟิอีย์ เช่น ชัยคฺ นัจญ์มุจดีน อัดดิมัชกีย์  [الشيخ نجم الدين الدمشقي] ชัยคฺ อิบนุ อิลาน อัศศิดดีกีย์  [الشيخ علان الصديقي] ท่านอุมัร อิบนุ อับดุรเราะมาน อัลหุสัยนีย์       [عمر ابن عبد الرحمن الحسيني]  ท่านชัยคฺ อามิร อัชชาฟิอีย์ [الشيخ عامر الشافعي]  ชัยคฺอัลกอลยูบีย์ [الشيخ القليوبي] ชัยคฺ อัลบุญัยรีมีย์  [الشيخ اليجيرمي]   และจากมัซฮับฮัมบาลีย์ เช่น ท่านอะหฺมัด อัสสันฮูรีย์ อัลบะฮูตีย์ [أحمد السنهوري البهوتي][3]

เหตุผลและหลักฐานอ้างอิงของทัศนะนี้ ได้แก่

(1) ความมึนเมา [الإسكار] นักวิชาการกลุ่มนี้ให้เหตุผลว่าเพราะยาสูบทำให้เกิดอาการมึนเมา และทุกสิ่งที่ทำให้เกิดความมึนเมาเป็นสิ่งต้องห้ามเด็ดขาด(หะรอม) การบริโภคยาสูบจึงเป็นสิ่งหะรอม นักวิชาการกลุ่มนี้ ได้อธิบายความมึนเมา [الإسكار] ว่า หมายถึง ภาวะที่สติปัญญาเคลิบเคลิ้ม แม้ไม่รุนแรงก็ตาม ดังนั้น จึงเห็นว่า การบริโภคยาสูบครั้งแรกย่อมทำให้เกิดอาการดังกล่าวนี้อย่างไม่ต้องสงสัย

บางท่าน กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า ทุกคนที่บริโภคยาสูบล้วนเกิดอาการมึนเมา คืออาการที่ทำให้เขาเห็นแสงสว่าง ขาดความยั้งคิด ด้วยการบีบลมหายใจ และสูดควันเข้าร่างกาย ความมึนเมาจึงเกิดขึ้นในสภาวะนี้ ภาวะมึนเมาไม่ใช่ต้องมีสภาพเริงร่าอย่างไร้สติ[4]  ด้วยเหตุนี้เองบางท่านจึงมีความเห็นต่อไปอีกว่า ไม่อนุญาตให้ผู้ที่บริโภคยาสูบเป็นอิมามในการละหมาด

(2) ความเชื่องช้า และเซื่องซึม  [التفتير والتخدير] นักวิชาการกลุ่มนี้ให้เหตุผลอีกว่า หากไม่ถึงขนาดทำให้มึนเมา แต่แน่นอนมันทำให้เกิดความเชื่องช้า เซื่องซึมและเหนื่อยอ่อน ซึ่งต้องห้ามอีกเช่นเดียวกัน[5] ดังปรากฏในหะดีษเล่าจากท่านหญิงอุมมุ สะละมะฮฺว่า

[نَهَى رَسُولُ اللَّهِ صلى الله عليه وسلم عَنْ كُلِّ مُسْكِرٍ وَمُفَتر][6]   

ความว่า “แท้จริงท่านรซูลุ้ลลอฮฺ r ห้ามจากทุกสิ่งที่ทำให้มึนเมา และทำให้อิดโรยเซื่องซึม” คำว่า  [مفتر]  หมายถึง สิ่งที่ทำให้เกิดความความเชื่องช้าเซื่องซึม เหนื่อยหน่ายอ่อนแรงในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย   

(3) ภยันตราย  [الضرر] นักวิชาการกลุ่มนี้ได้ให้เหตุผลเพิ่มเติมอีกว่า การบริโภคยาสูบเป็นสิ่งต้องห้ามเด็ดขาด เพราะก่อภยันตราย 2 ด้านด้วยกัน คือ ด้านหนึ่งเป็นภัยต่อร่างกาย อีกด้านหนึ่งเป็นภัยต่อทรัพย์[7]

ภยันตรายต่อร่างกาย คือ การทำให้ร่างกายอ่อนแอลง ทำให้สีหน้าซีดเหลือ และมีอาการไออย่างรุนแรงและอาจนำไปสู่การเป็นวัณโรค  แม้ว่าจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ก็ตาม

ภยันตราย ต่อทรัพย์สิน คือ การบริโภคยาสูบเป็นการใช้จ่ายทรัพย์สินอย่างฟุ่มเฟือย ไม่ก่อประโยชน์ทั้งต่อร่างกายและจิตวิญญาณ ไม่มีคุณค่าทั้งในโลกดุนยานี้และโลกอาคิเราะฮฺ[8] ประหนึ่งการทำให้สูญเสียทรัพย์สินโดยเปล่าประโยชน์ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้าม ดังปรากฏในอัลหะดีษท่านนบีมุฮัมมัด r  ว่า

[... وَنَهَى النَّبِيُّ صلى الله عليه وسلم عَنْ إضاعة المال...] [9]

ความว่า และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม  ห้ามการทำให้สูญเสียซึ่งทรัพย์สินโดย

ไร้ประโยชน์  

อัลลอฮฺ I ตรัสว่า

{إِنَّ الْمُبَذِّرِينَ كَانُوا إِخْوَانَ الشَّيَاطِينِ ۖ وَكَانَ الشَّيْطَانُ لِرَبِّهِ كَفُورًا}[الإسراء]

ความว่า แท้จริงบรรดาผู้สุรุ่ยสุร่ายนั้นเป็นพวกพ้องของเหล่า

ชัยฏอนและชัยฏอนนั้นเนรคุณต่อพระเจ้าของมัน(อัลอิสรอฮฺ : 27)

 

2. ทัศนะที่มีความเห็นว่าการบริโภคยาสูบเป็นสิ่งน่ารังเกียจ(มักรูฮฺ)

บรรดานักวิชาการในทัศนะนี้ เป็นนักวิชาการจากมัซฮับต่าง ๆ ทั้งจากมัซฮับหะนะฟีย์ เช่น ชัยคฺ อะบูซะฮลฺ มุฮัมมัด อิบนุ อัลวาอิฎ [الشيخ أبو السهل محمد بن الواعظ ] อิบนุ อาบิดีน [ابن عابدين] จากมัซฮับมาลิกีย์ เช่น ชัยคฺยูซุฟ อัศศิฟะตีย์  [الشيخ يوسف الصفتي] จากมัซฮับชาฟิอีย์ เช่น  อัชชัรวานีย์  [الشرواني]  จากมัซฮับฮัมบาลีย์ เช่น อัรเราะฮีบานีย์ [الرحيباني] และชัยคฺ อะหฺมัด มุฮัมมัด อัลมันกูร อัตตะมีมีย์ [الشيخ أحمد محمد المنقور التميمي] [10]

เหตุผลและหลักฐานอ้างอิงของทัศนะนี้ ได้แก่

(1) กลิ่นที่น่ารังเกียจของยาสูบ [رائحته الكريهة] นักวิชาการกลุ่มนี้ให้เหตุผลว่าเพราะยาสูบมีกลิ่นฉุนที่น่ารังเกียจ จึงถือเป็นสิ่งมักรูฮฺ โดยกิยาสกับหัวหอม หัวกระเทียม หรืออื่น ๆ ที่มีกลิ่นน่ารังเกียจดุจเดียวกัน

 (2) ความสิ้นเปลืองทรัพย์สิน [النقص في المال] เพราะหากแม้นการใช้จ่ายในการบริโภคยาสูบไม่ถึงขนาดที่เรียกว่าสุรุ่ยสุร่าย หรือเข้าข่ายการทำลายทรัพย์สินโดยเปล่าประโยชน์ แต่นั่นย่อมถือเป็นพฤติกรรมที่ทำให้ทรัพย์สินสิ้นเปลืองหร่อยหรอลงโดยไม่คุ้มค่า ทั้งที่ควรนำไปใช้จ่ายในสิ่งที่ดีกว่าและเกิดประโยชน์มากกว่าทั้งต่อตัวเองและสังคม

 (3) ภยันตรายที่ยากจะหลีกเลี่ยง [الضرر] เฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีการบริโภคเพิ่มปริมาณมากขึ้นและต่อเนื่องเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นปกติวิสัยของการบริโภคยาสูบที่ค่อย ๆ เพิ่มปริมาณมากขึ้น

(4) ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดจากอัลกุรอานและซุนนะฮฺว่าเป็นสิ่งต้องห้าม เนื่องจากหลักฐานที่นักวิชาการในกลุ่มที่เห็นว่าการบริโภคยาสูบเป็นสิ่งต้องห้ามได้นำมาอ้างอิงนั้น เป็นเพียงหลักฐานการกิยาสและกฎศาสนบัญญัติทั่วไป ซึ่งให้ผลลัพท์ในเชิงศาสนบัญญัติได้เพียง “อาจเป็นไปได้ว่าต้องห้าม” หรือ มีความหมาย “ฎ็อน” [الظن] เท่านั้น หลักฐานดังกล่าวจึงไม่มีน้ำหนักพอที่จะนำไปเป็นหลักฐานในการตัดสินว่าการบริโภคยาสูบเป็นสิ่งต้องห้ามเด็ดขาดหรือหะรอม[11] แต่ก็สามารถที่จะนำไปเป็นหลักฐานได้ว่าการบริโภคยาสูบเป็นสิ่งต้องห้ามที่ไม่เด็ดขาดหรือมักรูฮฺ

 

3. ทัศนะที่มีความเห็นว่าการบริโภคยาสูบเป็นสิ่งอนุมัติ (อัลมุบาหฺ)

บรรดานักวิชาการในทัศนะนี้ เป็นนักวิชาการจากมัซฮับต่าง ๆ ทั้งจากมัซฮับหะนะฟีย์ เช่น ชัยคฺ อับดุลฆอนีย์ อัลนาบละซีย์  [الشيخ عبد الغني النابلسي] ชัยคฺ มุฮัมมัด อัลอับบาซีย์ อัลมะฮฺดีย์ [الشيخ محمد العباسي المهدي] จากมัซฮับมาลิกีย์ เช่น ท่านอลี อัลอัจญฺฮูรีย์ [علي الأجهوري] ท่านอัดดูสูกีย์ [الدسوقي]  ท่านศอวีย์  [الصاوي] จากมัซฮับชาฟิอีย์ เช่น ท่านหะฟะนีย์ [الحفني] ท่านหะละบีย์ [الحلبي] ท่านอัชชุบรอมละซีย์ [الشبراملسي] ท่านอับดุลกอดิร อิบนุ มุฮัมมัด อิบนุยะหฺยา อัลหุซัยนีย์ [عبد القادر بن محمد بن يحيى الحسيني] จากมัซฮับฮัมบาลีย์ เช่น ท่านอัลกะรอมีย์ [الكرمي] และท่านเชากานีย์ [الشوكاني] [12]

เหตุผลและหลักฐานอ้างอิงของทัศนะนี้ ได้แก่

(1) กฎศาสนบัญญัติอิสลามที่ว่าทุกสิ่งเป็นที่อนุมัติจนกว่าจะมีหลักฐานห้าม [الأصل في الأشياء الإباحة حتى يرد نص بالتحريم] นักวิชาการกลุ่มนี้มีความเห็นว่าการบริโภคยาสูบเป็นสิ่งอนุมัติภายใต้กฎศาสนบัญญัติที่ว่า ทุกสิ่งทุกประการย่อมเป็นที่อนุมัติจนกว่าจะมีหลักฐานห้าม” ดังนั้น เมื่อยาสูบไม่มีหลักฐานห้ามไว้โดยเฉพาะ ทั้งจากอัลกุรอานและซุนนะฮฺ จึงเป็นสิ่งที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงอภัยให้ และในการหุกมฺว่ายาสูบเป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) หรือเป็นสิ่งน่ารังเกียจ (มักรูฮฺ) อาจเป็นการกระทำอุตริกรรมต่ออัลลอฮฺ  ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ซึ่งเป็นความผิดอย่างมหันต์ ดังนั้น จึงต้องระมัดระวังจากพฤติกรรมดังกล่าว ในเรื่องนี้การระมัดระวังก็คือการไม่หุกมฺว่าเป็นหะรอมหรือมักรูฮฺ ดังนั้น จึงไม่มีทางอื่นนอกจากต้องหุกมฺว่าการบริโภคยาสูบเป็นสิ่งอนุมัติ   (มุบาหฺ) เพราะเป็นการตัดสินไปตามหลักเดิม เพราะท่านนบีมุฮัมมัด r เองขณะที่ถูกถามเกี่ยวกับเรื่องสุราหรือสิ่งมึนเมานั้น ท่านนบี r ก็ไม่ด่วนตัดสินก่อนที่จะมีโองการแห่งอัลกุรอาน ทั้งที่ท่านอยู่ในสถานะที่สามารถชี้ขาดตัดสินได้ แต่ท่านก็ประวิงเวลากระทั่งอัลลอฮฺ  ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงประทานอัลกุรอานลงมาเป็นหลักฐานชัดเจนว่าต้องห้าม ดังนั้น ในกรณีของ “บุหรี่” หรือ “ยาสูบ” เมื่อมีการถามถึงหุกมฺหรือความชอบธรรมทางศาสนาอิสลาม จึงสมควรตอบว่าเป็นสิ่งอนุมัติ (มุบาหฺ) และหากแม้นว่ากลิ่นของมันน่ารังเกียจ ก็เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจตามรสนิยมธรรมชาติของมนุษย์ ไม่ใช่ตามหลักศาสนา[13]  

(2) ความมึนเมา เสียสติ และภยันตรายจากยาสูบยังไม่ประจักษ์ นักวิชาการกลุ่มนี้มีความเห็นว่า ยาสูบหรือบุหรี่ไม่ทำให้เกิดอาการมึนเมา เสียสติที่ต้องห้ามใด ๆ เพราะการมึนเมา [الإسكار] หมายถึง การเสียสติสัมปะชัญญะในขณะที่ยังแข็งแรงสามารถเคลื่อนไหวอวัยวะร่างกายได้ และการเซื่องซึมขาดสติ [التخدير]  หมายถึง การเสียสติสัมปะชัญญะในขณะเดียวกันทำให้ร่างกายอ่อนเพลียไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ ซึ่งทั้ง 2 กรณีมิได้เกิดขึ้นสืบเนื่องจากการบริโภคยาสูบหรือการสูบบุหรี่ จริงอยู่ สำหรับบุคคลที่ไม่เคยสูบอาจมีอาการมึนตึงบ้าง แต่นั่นก็ไม่อาจนำมาเป็นเหตุผลว่า “บุหรี่” หรือ “ยาสูบ” เป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) [14] 

อนึ่ง ภยันตรายหรือโรคร้ายที่เกิดขึ้นกับบางคนนั้น ไม่อาจถือเป็นข้อยุติได้ว่าเกิดจากสาเหตุบุหรี่หรือยาสูบ เพราะมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่บริโภคยาสูบแต่ไม่เป็นโรคภัยเช่นเดียวกัน จึงไม่อาจกำหนดให้การบริโภคยาสูบเป็นสิ่งต้องห้ามเหนือทุกคนได้ หาไม่แล้วจะนำไปสู่การห้ามสิ่งอุปโภคบริโภคอีกจำนวนมาก เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ และอื่น ๆ  เพราะแม้แต่น้ำผึ้งซึ่งปรากฏหลักฐานตัวบทชัดเจนว่ามีประโยชน์ เป็นยารักษาโรคร้ายสารพัด แต่ก็เป็นภยันตรายหรือทำให้เกิดโรคบางชนิดกับบางคนได้ เป็นต้น

 (3) การบริโภคยาสูบไม่ถือเป็การใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายหรือทำให้เสียทรัพย์ เพราะการสุรุ่ยสุร่าย หมายถึง การใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย และการฟุ่มเฟือย หมายถึงการใช้จ่ายไปในหนทางที่ไม่มีสิทธิ์หรือเกินขอบเขตแห่งสิทธิ์อันพึงกระทำ หากเป็นการใช้จ่ายไปพอประมาณในหนทางที่มีสิทธิ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสิ่งที่อนุมัติ(มุบาหฺ)ด้วยแล้ว ย่อมไม่ถือเป็นการสุรุ่ยสุร่ายที่ต้องห้าม[15]

 


[1] ดู อัลเราะฮีบานีย์. مطالب أولى النهي شرح غاية المنتهى  . เล่ม 6 หน้า 218.

[2] ดูหน้า

[3] ดู กระทรวงศาสนสมบัติแห่งคูเวต    الموسوعة الفقهية เล่ม 10 หน้า 70-71 สืบค้นได้จาก  http://www.almeshkat.net/books/open.php? cat=11&book=519  (5 กรกฎาคม 2552). และ    http://www.aljazeeratalk.net/forum/showthread.php?t=209895.

[4] ชัยคฺ อะหฺมัด อิบนุมุฮัมมัด อัลมันกูร. الفواكه العديدة في المسائل المفيدة . เล่ม 2 : 81. อ้างโดย อัลกอรอฎอวีย์ ยูซุฟ.فتاوى معاصرة    เล่ม 1 หน้า 656 พิมพ์ครั้งที่ 7.  2 เล่ม. คูเวต : ด้ารอัลกอลัม, 1998.

[5]  อิบนุ อาบิดีน  رد المحتار على الدر المختار พิมพ์ครั้งที่ 2. เล่ม 6. หน้า 459. กรุงเบรุต : ดารุ้ลฟิกรฺ ฮ.ศ. 1386.

[6] อัลหะดีษ บันทีกโดยอะบูดาวู๊ด. จากอุมมุสะละมะฮฺ. หะดีษหมายเลข 3688.

[7] ชัยคฺ อะบูอะมัด อิบนุ สลามัต อัลกอลยูบีย์ حاشية القليوبي وعميرة   เล่ม 1  หน้า 49.  ชัยคฺสุลัยมาน อิบนุ มุฮัมมัด อิบนุอุมัร อัลบุญัยริมีย์   حاشية البجيرمي على الإقناع  เล่ม 4 หน้า 276.

[8] อัลกอรอฎอวีย์ ยูซุฟ.فتاوى معاصرة   . เล่ม 1 หน้า 657 พิมพ์ครั้งที่ 7.  2 เล่ม. คูเวต : ด้ารอัลกอลัม, 1998.

[9]  บันทึกโดยบุคอรีย์. صحيح البخاري  หะดีษหมายเลข 1446.

[10] ดู กระทรวงศาสนสมบัติแห่งคูเวต.   الموسوعة الفقهية เล่ม 10 หน้า 74 – 75.  สืบค้นได้จาก http://www.almeshkat.net/books/open.php? cat=11&book=519  (5 กรกฎาคม 2552)

[11] ดู กระทรวงศาสนสมบัติแห่งคูเวต  الموسوعة الفقهيه.  เล่ม 10 หน้า 75 (ออนไลน์) สืบค้นได้จาก http://www.hdrmut.net/vb/t210271.html  (5 กรกฎาคม 2552).

[12] ดู กระทรวงศาสนสมบัติแห่งคูเวต.  الموسوعة الفقهية เล่ม 10. หน้า 72 – 73.  สืบค้นได้จาก http://www.almeshkat.net/books/open.php? cat=11&book=519  (5 กรกฎาคม 2552).

[13] ดู อีฮาบ อะบูอัลเอานฺ. حكم الدخان وشربه  (ออนไลน์) สืบค้นได้จาก  http://www.hdrmut.net/vb/t210271.html            (5 กรกฎาคม 2552).

[14] ดู กระทรวงศาสนสมบัติแห่งคูเวต.  الموسوعة الفقهية เล่ม 10”หน้า 73. สืบค้นได้จาก http://www.almeshkat.net/books/open.php? cat=11&book=519    (5 กรกฎาคม 2552)

[15] ดู อิบนุ อาบิดีน . رد المحتار على الدر المختار . พิมพ์ครั้งที่ 2.  เล่ม 5. หน้า 326.  กรุงเบรุต : ดารุ้ลฟิกรฺ. ฮ.ศ. 1386.

หมายเลขบันทึก: 333424เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2010 00:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 เมษายน 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อัสลามูอาลัยกุม

ดีใจมากที่อาจารย์เขียนบันทึก สบายดีนะครับ

อัลฮัมดุลิลละฮฺได้อ่านทึกที่มีประโยชน์

ดีใจเช่นกันครับที่อาจารย์มาเขียนบันทึกถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ทุกคนครับ

 

อยากได้ข้อมูลแบบนี้มานานแล้ว

جزاكم الله خيرا

มีโอกาสผมขออนุญาตเผยแพร่ทางอื่นด้วยนะครับ

อีกอย่าง.. แม้อาจารย์จะไปอยู่ไกลจากเราแล้ว เห็นแบบนี้ผมยิ่งรู้สึกว่าอาจารย์ยังอยู่ใกล้ๆเรา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท