(28 พ.ค. 49) ร่วมอภิปรายหัวข้อ “ธรรมะตามวิถีพุทธทาส” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดงาน “มหกรรมสืบสานปณิธานพุทธทาสภิกขุ” อันสืบเนื่องจากการที่องค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้มีมติให้บรรจุรายการเฉลิมฉลองชาตกาลครบ 100 ปีของท่านพุทธทาสภิกขุ ไว้ในรายการเฉลิมฉลองบุคคลสำคัญหรือผู้มีผลงานดีเด่น และเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของยูเนสโก ประจำปี พ.ศ. 2549 – 50
งานนี้จัดโดยกระทรวงศึกษาธิการ ณ พุทธมณฑล ระหว่าง 26 – 28 พฤษภาคม 2549 วันครบรอบ 100 ปีพอดี คือวันที่ 27 พ.ค. 49
การอภิปรายหัวข้อ “ธรรมะตามวิถีพุทธทาส” มีผู้ร่วมอภิปรายอีก 3 ท่าน คือ พระราชธรรมนิเทศ (พระพยอม กัลยาโณ) อาจารย์เสฐียรพงศ์ วรรณปก (ราชบัณฑิต) และนพ.บัญชา พงษ์พานิช ผู้ดำเนินการอภิปรายคือ คุณชมัยภร แสงกระจ่าง
พระพุทธทาสให้ความหมายของ “ธรรมะ” ว่า ได้แก่ (1) ธรรมชาติ (2) กฎธรรมชาติ (3) การปฏิบัติหน้าที่ตามกฎธรรมชาติ (4) ผลที่เกิดจากการปฏิบัติตามกฎธรรมชาติ และกล่าวว่า “การปฏิบัติธรรม” คือ (1) ไม่ทำความชั่ว (2) ทำความดี (3) อยู่หนือดีเหนือชั่ว นั่นคือ เข้าถึง “อนัตตา” หรือ “สุญญตา” และพระพุทธทาสยังบอกอีกว่า “เราทั้งหลายสามารถเข้าถึงนิพพานได้ในชีวิตนี้ มิต้องรอจนถึงชาติหน้า”
พระพุทธทาสได้ตั้ง “ปณิธาน 3 ประการที่ขอฝากไว้กับอนุชน” ได้แก่ (1) การเข้าถึงหัวใจของศาสนาของตนๆ (2) การทำความเข้าใจระหว่างศาสนา (3) ออกมาเสียจากอำนาจวัตถุนิยม
พระพุทธทาส ได้พูดถึงพระโพธิสัตว์ อวโลกิเตศวร ว่ามีลักษณะ 4 คือ สุทธิ ปัญญา เมตตา ขันติ
ผมได้ให้ความคิดเห็นในการอภิปราย สรุปได้ 4 ประการ ดังนี้
1. เมื่อ พ.ศ. 2504 (45 ปีมาแล้ว) ได้อ่าน “หลักพระพุทธศาสนา” ซึ่งเป็นหนังสือบันทึกคำบรรยายเมื่อ พ.ศ. 2499 ของท่านพุทธทาสต่อผู้ที่จะเป็นผู้พิพากษา (ซึ่งในเวลาต่อมาได้มีการตีพิมพ์อีกหลายครั้ง ในชื่อใหม่ว่า “คู่มือมนุษย์ฉบับสมบูรณ์”) อ่านแล้วลองปฏิบัติ “โดยวิธีตามธรรมชาติ” ปรากฎว่าเกิดผลดีต่อสภาวะของจิตอย่างชัดเจน จึงพยายามปฏิบัติเรื่อยมาจนปัจจุบัน ซึ่งแสดงว่า คนธรรมดาสามัญ คนทั่วๆไป ที่สนใจศึกษาธรรมะด้วยการอ่านหนังสือแล้วพยายามปฏิบัติด้วยวิธีตามธรรมชาติก็สามารถ “เข้าถึงธรรมะของพระพุทธเจ้า” หรือ “พุทธธรรม” และเกิดสภาวะ “จิตสงบเย็น” ได้
2. พระพุทธทาสเป็น “อัจฉริยมหาบุคคล” ที่หาได้ยาก เป็นผู้ค้นพบและพัฒนา “เครื่องมือ” หรือ “กุญแจ” สู่การเข้าถึงธรรมะของพระพุทธเจ้าได้อย่างชาญฉลาดและมีศิลปะที่หลากหลาย
3. เป็นความประจวบเหมาะอันเป็นมงคลและมีคุณค่ายิ่งที่ 100 ปี ชาตกาลพุทธทาสภิกขุ มาตรงกับปีเฉลิมฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 60ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเป็น “มหาธรมราชา” และได้ทรงมีพระราชดำริ “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่ได้รับการยอมรับว่าจะเป็นแนวทางของ “การพัฒนาที่เหมาะสมและยั่งยืน” ทั้งในประเทศไทยและในโลก ซึ่ง “เศรษฐกิจพอเพียง” นั้นเป็นการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนฐานของศีลธรรมและคุณธรรม สอดรับกับคำพูดของท่านพระพุทธทาสที่ว่า “ศีลธรรมไม่กลับมาโลกาจะวินาศ”
4. ในโอกาสเฉลิมฉลอง 100 ปีชาตกาลพุทธทาสภิกขุ ควบคู่กับการเฉลิมการฉลองครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงขอเสนอการ “ทำความดี 5 ประการ” เป็นปฏิบัติบูชาดังนี้
(1) ฟื้นฟู พัฒนา หรือก่อตั้ง องค์กร สถาบัน หรือกลุ่มเพื่อการศึกษาและส่งเสริมการปฏิบัติตามแนวคำสอนของพระพุทธทาส
(2) ดำเนินการ หรือส่งเสริมสนับสนุนให้มีการดำเนินการในลักษณะเครือข่ายหลายแบบหลายระดับ ในระหว่างองค์กร สถาบัน หรือกลุ่ม ดังกล่าวข้างต้น
(3) ทำการศึกษาวิจัยและดำเนินการจัดการความรู้อย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับคำสอนของพระพุทธทาส ซึ่งรวมถึงการจัดการความรู้ในระหว่างสมาชิกเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง
(4) พัฒนาและเผยแพร่สื่อที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพเกี่ยวกับคำสอนของพระพุทธทาส
(5) ดำเนินการ หรือส่งเสริมสนับสนุนให้มีการดำเนินนโยบายสาธารณะในทุกระดับ (ตั้งแต่ระดับฐานราก เช่น นโยบายขององค์กรปกครองส่วน้องถิ่น นโยบายของจังหวัด นโยบายของกระทรวง ฯลฯ) ที่เอื้อต่อการใช้ประโยชน์จากคำสอนของพระพุทธทาส
ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
7 มิ.ย. 49
ไม่มีความเห็น