พราหมณ์ : วรรณะพราหมณ์


วรรณะพราหมณ์                

             พิธีกรรมคือส่วนประกอบที่สำคัญของศาสนาพราหมณ์ พิธีกรรมทุกพิธีกรรมล้วนเกี่ยวข้องกับเทพเจ้าตามแต่ละประเภททั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ พืชพรรณธัญญาหาร สัตว์ต่าง ๆ ฯลฯ จากการไม่เข้าใจธรรมชาติ การให้ความเคารพในธรรมชาติ หรือ จะเป็นการให้กำลังใจในการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ นั้นให้เป็นตามสมประสงค์จะต้องมีผู้ประกอบพิธีกรรมเพื่อเป็นสื่อกลางระหว่างมนุษย์ กับพระเจ้า และบุคคลกลุ่มเดี่ยวที่ทำหน้าที่นั้นคือ พราหมณ์

ความหมายของพราหมณ์

            พราหมณ์ในความหมายของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (๒๕๔๒ : ๗๗๘) หมายถึงคนในวรรณะที่ ๑ แห่งสังคมฮินดู ซึ่งมี ๔ วรรณะ ได้แก่ พราหมณ์ กษัตริย์ แพทย์ ศูทร ผู้ที่ถือเพศไว้ผม นุ่งขาวห่มขาว เช่น พราหมณ์ปุโรหิต พราหมณ์พฤฒิบาศ พระยาอนุมานราชธน (๒๕๑๔ : ๖๙) ให้ความหมายของพราหมณ์ว่า  คำว่าพราหมณ์ในภาษาสันสกฤต หมายถึงผู้กระทำในลัทธิ หรือผู้เชี่ยวชาญในการประกอบพิธีกรรม

           พราหมณ์เป็นวรรณะหนึ่งในสี่วรรณะของสังคมอินเดีย เป็นผู้สืบทอดวิชาความรู้ ในคัมภีร์ ไตรเวท พิธีกรรม จารีต ประเพณี ศิลปะวัฒนะธรรม และคติความเชื่อต่าง ๆ ให้สืบทอดต่อไป หรือไม่สืบทอดก็ได้โดยใช้ชีวิตตามปกติชนคนธรรมดาทั่วไป คงไว้ให้ผู้ใดในตระกูลสืบทอดแทน เป็นผู้มีสิทธิ์เลือก แบ่งแยกเป็นนิกายคือ พวกไศวนิกาย จะถือเพศ นุ่งขาว ห่มขาว ไว้มวยผม ถือศีล จริยาวัตรของพราหมณ์ มีครอบครัวได้ อยู่บ้าน หรือ เทวะสถาน ประจำลัทธิ นิกายแห่งตน อีกนิกายหนึ่งคือ ไวษณวะนิกาย จะไว้ผมเปียหรือมวยผม ถือเพศพรหมจรรย์ กินมังสวิรัติ ไม่ถูกต้องตัวสตรีเพศ นุ่งห่มสีขาว หรือสีต่าง ๆ และอาศัยอยู่ในเทวสถาน กิจประจำวันที่พราหมณ์ต้องทำ คือนมัสการพระอาทิตย์ตามเวลาเช้า กลางวัน เย็น เพื่อเป็นการนำจิตวิญญาณกลับไปสู่พรหม กล่าวคือ การไหว้พระอาทิตย์จะนำแสงสว่างให้เกิดในปัญญานำไปสู่การหลุดพ้น และจะมีการสาธยายพระเวท ซึ่งถือเป็นคัมภีร์หลักในศาสนาพราหมณ์ ประกอบด้วย ฤคเวท ใช้สวดสรรเสริญเทพเจ้า สามเวท ใช้สำหรับสวดในพิธีกรรมถวายน้ำโสมแก่พระอินทร์และขับกล่อมเทพเจ้า ยชุรเวท ว่าด้วยระเบียบวิธีในการประกอบพิธีบูชายันต์และบวงสรวงต่างๆ และ อาถรรพเวท ใช้เป็นที่รวบรวมคาถาอาคมหรือเวทมนตร์

          ตามความเชื่อของพราหมณ์นั้น โลกจะต้องประกอบด้วยคุณลักษณะ ๓ ประการ ถ้าขาดสิ่งนั้นไปโลกจะไม่มีสันติสุข คุณสมบัติ ๓ ประการคือ 

          ๑.    นักบวช คือพราหมณ์

          ๒.    พระเวท คือคำภีร์แห่งความรู้ เป็นการบันทึกเรื่อราวเกี่ยวกับความเชื่อและการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ประกอบด้วย ฤคเวท ว่าด้วยการสรรเสริญพระเจ้าและการสร้างโลก ยชุรเวท ว่าด้วยพิธีการบวงสรวง และบทสวดในพิธีกรรมเฉพาะบูชายัญ สามเวท ว่าด้วยศิลปะแขนงต่าง ๆ  เช่นนาฏศิลป์ สังคีตศิลป์ อาถรรพเวท ว่าด้วยเวทมนต์ไสยศาสตร์

          ๓.    วรรณะทั้ง ๔ คือ พราหมณ์คือนักบวช กษัตริย์คือ นักรบนักปกครอง แพทย์ คือพ่อค้า เกษตรกร ศูทร ผู้ใช้แรงงาน

              คัมภีร์ของศาสนาพราหมณ์กล่าวว่า  พราหมณ์เกิดจากพระโอษฐ์ของพระพรหม เกิดมาเพื่อทำหน้าที่สั่งสอนคนในสังคม จึงถือเป็นบุคคลสำคัญกลุ่มหนึ่งในสังคมอินเดียเนื่องจากเป็นผู้อุทิศตนเพื่อเทพเจ้าและเป็นครูให้ผู้คนในสังคม คัมภีร์มหาภารตะกล่าวว่า พราหมณ์มีสีขาวเป็นสีประจำวรรณะ จึงนิยมนุ่งห่มเครื่องแต่งกายสีขาวล้วน สื่อความหมายถึงความเป็นผู้บริสุทธิ์ยึดมั่นในหลักธรรม มีความชำนานเกี่ยวกับการประกอบพิธีกรรมเพื่อบวงสรวงเทพเจ้า  บุคคลที่ไม่ได้อยู่ในวรรณะพราหมณ์ จะไม่สามารถประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทพเจ้าได้ จึงเกิดตำแหน่งพราหมณ์ประจำตระกูลหรือพราหมณ์ปุโรหิตเพื่อเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมเสมอ จึงทำให้เป็นที่ยอมรับในสังคมตั่งแต่ชนชั้นกษัตริย์ถึงชนชั้นทั่วไป  โดยเฉพาะสถาบันพระมหากษัตริย์ จะต้องมีหราหมณ์ปุโรหิตประจำในราชสำนักเพื่อทำพิธีกรรมสำหรับราชวงศ์ ตามความเชื่อในไอตเรยพราหมณะ (ดูใน สุพาภรณ์ แก้วไผ่, ๒๕๔๙ : ๑๘ – ๑๙) เป็นคำภีร์พราหมณ์ที่เน้นความสำคัญของพราหมณ์ที่มีหน้าที่ต่อพระมหากษัตริย์เป็นอย่างมาก ด้วยเหตุผลที่ว่า เทพเจ้าทั้งหลายจะไม่ยอมรับเครื่องเส้นสังเวยใด ๆ จากพระมหากษัตริย์หากไม่มีปุโรหิตทำหน้าที่บวงสรวง พราหมณ์ปุโรหิตจึงมีความสำคัญคู่กับสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อประกอบพิธีกรรมในราชสำนักมาอย่างช้านาน   การที่ต้องมีพราหมณ์ประจำราชสำนักเพื่อประกอบพิธีกรรมตามลัทธิพราหมณ์นี่เอง ได้ถ่ายทอดมาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย และสามารถพัฒนาจนถึงขั้นที่ว่า พราหมณ์และพิธีกรรมตามลัทธิพราหมณ์ได้ยกย่องกษัตริย์ในภูมิภาคนี้ให้เป็นดั่งเทวราชา

              ยวาหระลาล เนห์รู (๒๕๔๘ :๑๗๑) นายกรัฐมนตรีคนแรกและรัฐบุรุษของอินเดีย ได้กล่าวถึงความสำคัญของพราหมณ์ไว้ดังนี้

            “ในประเทศอินเดีย...การศึกษาและความเป็นผู้คงแก่เรียนเป็นที่ยกย่องนับถืออย่างสูงของประชาชนเสมอมา ทั้งนี้ก็เพราะถือกันว่า การศึกษาหมายถึงการมีความรู้และคุณธรรมอันสูง ต่อหน้าผู้ทรงความรู้แล้ว นักปกครองและนักรบย่อมก้มศีรษะให้เสมอ ทฤษฏีโบราณของอินเดียโบราณถือว่า ผู้ที่ต้องมีภาระข้องเกี่ยวอยู่กับการใช้ภาระของอำนาจจะเป็นผู้ที่วางตนเป็นกลางตามภววิสัยอย่างสมบูรณ์มิได้ เพราะผลประโยชน์และความโน้มเอียงส่วนตัวจะเข้ามาพัวพันเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติสาธารณกิจของเขา เพราะฉะนั้นภารกิจแห่งการกำหนดค่านิยมทั้งปวง ตลอดจนการธำรงรักษาไว้ซึ่งมาตรฐานทางศีลธรรมทั้งหลาย จึงตกอยู่กบนักคิดพวกหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่ง ผู้ซึ่งเป็นอิสระจากความกลัวความกังวลในด้านวัตถุและไม่มีข้อผูกพันใด ๆ กับใครเท่าที่จะเป็นไปได้ ทั้งนี้เพื่อช่วยให้เขาพิจารณาปัญหาชีวิตได้โดยจิตใจที่ไม่มีการยึดถือ  นักคิดหรือปรัชญาเมธีประเภทนี้ได้รับการยกย่องให้อยู่ในฐานะสูงของสังคม ได้รับเกียรติและความเคารพจากทุกฝ่าย”

             เนห์รู (๒๕๔๘ :๑๗๒) ยังกล่าวถึงชนชั้นพราหมณ์ที่มีคุณธรรมความดีนั้นได้หาอยู่ที่ตำแหน่งหน้าที่ของเขาไม่ แต่เพราะความรู้และคุณธรรมที่อยู่ในตัวของบุคคล อีกทั้งชนชั้นวรรณะพราหมณ์นั้น

           “...[พราหมณ์]ยังคงได้รับความนับถือจากประชาชนเสมอมา ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะว่าเขามีอำนาจทางกิจการบ้านเมืองหรือมีทรัพย์สินเงินทองแต่ประการใด แต่เป็นเพราะว่าชนชั้นนี้ได้ให้กำเนิดแก่คนที่มีสติปัญญาเด่น ๆ สืบเนื่องกันมาอย่างน่าอัศจรรย์ และเป็นเพราะว่าประวัติการบำเพ็ญกรณียกิจและการเสียสละส่วนตัวเพื่อประโยชน์สุขส่วนรวมของพวกเขามีปรากฏอย่างน่าทึ่ง พวกพราหมณ์โดยส่วนรวมจึงได้ประโยชน์จากบุคคลตัวอย่างที่สำคัญ ๆ แห่งชนชั้นของตนทุกยุคทุกสมัย”

            พราหมณ์ในอินเดียหาได้รับการยอมรับนับถือจากประชาชนและกลุ่มคนวรรณะอื่น ๆไปทุกคน หรือทุกยุคทุกสมัยไม่ หากแต่ต้องขึ้นอยู่กับการประพฤติปฏิบัติตนของพราหมณ์ในแต่ละบุคคลเป็นสำคัญ หากพราหมณ์คนใด หรือกลุ่มใดประพฤติปฏิบัติไม่ดี ไม่อยู่ในวัตรแห่งพราหมณ์แล้ว  พราหมณ์นั้น ๆ ก็จะได้รับความเสื่อมไปโดยปริยาย ดังเช่นที่กล่าวไปในเบื้องต้นดังในยุคพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง พราหมณ์ที่เห็นแก่อามิสหาประโยชน์ใส่ตนก็ไม่ได้รับความนิยมจากประชาชน

               

คุณสมบัติของพราหมณ์ 

            คุณสมบัติของพราหมณ์จำแนกได้เป็น ๒ ประเภทคือ คุณสมบัติทางใจ และคุณสมบัติทางกาย

คุณสมบัติทางใจ

            ศม(ะ) ความสุภาพภายในจิตใจ ไม่มีความยุ่งยากหรือปั่นป่วนด้วยกาม โกรธ โลภ หลง

           ทม(ะ)  สภาพจิตใจที่ได้รับการระงับไว้แล้ว รู้จักข่มจิตใจของตนด้วยความสำนึกในเมตตาและมีสติอยู่เสมอ รู้จักอดทนอดกลั้น ไม่ปล่อยจิตใจให้หวั่นไหวไปตามอารมณ์

           ตป(ะ) ความร้อน หรือการร้อน หมายถึงการฝักใฝ่ในการหาความรู้ ความจริง และความพยายามให้สำเร็จไม่ว่าจะผจญกับความยากลำบากเพียงใด

          เศาจ(ะ)  ความบริสุทธิ์ หมายถึงการทำตนเองให้บริสุทธิ์ทั้งกายและใจ

         สนฺโตษ(ะ) พอใจ หรือมีความสุขในทางสันติ

         กษฺมา  ความอดทนอดกลั้น อดโทษ พยายามอดทนโดยถือความเมตตากรุณาเป็นที่ตั้ง

          สรลตา  ความซื่อตรงทั้งการพูดและการกระทำ

          ชฺญาณ(ะ)  ความชอบทางการศึกษาหาความรู้

          ทยา  ความมีเมตตากรุณาต่อเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลาย

          อาสฺติกตา  มีความเชื่อถือ ไว้วางใจ เชื่อฟัง และมอบความจงรักภักดีไว้ต่อพระพรหม

          สตฺย(ะ)  ความจริง หมายถึง ความเห็นอันสุจริต บริสุทธิ์ใจ ซื่อสัตย์ต่อกัน

 

คุณสมบัติทางกาย (ดูใน สุภาภรณ์ แก้วไผ่,  ๒๕๔๙ : ๒๔)

          ชาติตระกูล           ในสังคมอินเดียผู้ที่จะบวชเป็นพราหมณ์ได้นั้นจะต้องเป็นชายที่มีชาติกำเนิดอยู่ในวรรณะพราหมณ์ คือมีบิดา มารดาอยู่ในวรรณะพราหมณ์ และไม่ได้ปะปนอยู่กับวรรณะอื่น ๗ ชั่วคน คนที่อยู่ในวรรณะอื่นจะไม่สามารถบวชเป็นพราหมณ์ได้ เพราะไม่มีเชื่อสายในสายเลือดวรรณะพราหมณ์ที่อ้าวว่าสืบชื่อสายมาจากพรหม

         มนต์   ต้องเป็นผู้เที่เล่าเรียนมนต์และคัมภีร์ทางศาสนาพราหมณ์จนมีความชำนาญ อาทิ คำภีร์อิติหาส เป็นคัมภีร์ที่ว่าด้วยพงศาวดารและภาระตะยุทธเป็นต้น

        วรรณะ คือผู้ที่มีผิวพรรณวาม รูปร่างหน้าตาดีน่ามองน่าเคารพ

        ศีล     ต้องรักษากาย วาจา ใจให้เรียบร้อย รู้จักควบคุมอารมณ์อยู่เสมอ

        ปัญญา มีความรอบรู้ที่เกิดจาการศึกษาเพื่อทำหน้าที่เป็นครูสั่งสอนผู้อื่นต่อไป

          ประกอบด้วยหน้าที่อีก (เสถียร พันธรังสี, ๒๕๔๙ : ๖๓)

          ปฐนํ                       ได้รับการศึกษาชั้นสูง

          ปาฐนํ                     ได้แก่การให้การศึกษาแก่คนอื่น

          ยชนํ                       ได้แก่พิธีบูชาต่าง ๆ ของตนเอง

          ทานํ                        ได้แก่ทำบุญให้ทาน

         ปฏิคาหํ                  ได้แก่การรับบุญทานแก่ผู้มีศรัทธา

หลักอาศรมของพราหมณ์

              หลักแห่งอาศรมเป็นสถาบันหนึ่งของศาสนาพราหมณ์ ได้แบ่งชีวิตออกเป็น ๔ ขั้นตอน แต่ละตอนนั้นเรียกว่า “อาศรม”  โดยคำนวณจากอายุของมนุษย์จำนวนเต็ม ๑๐๐ ปี  ซึ่งแบ่งได้ ๔ ขั้นช่วงอาศรม อาศรมละ ๒๕ ปีดังนี้

             พฺราหฺมจรยาศรม  ในช่วงระยะที่๑ ๒๕ ปีแรกมีหน้าที่รับการศึกษาและรักษาพรหมจรรย์อาศรมจนอายุ ๒๕ ปี กล่าวคือระยะเวลาแห่งการกระทำเพื่อตนเอง คือการเล่าเรียน

             คฤหสฺถาศรม ในช่วงระยะที่ ๒ ระหว่าง ๒๕ – ๕๐ ปี คือเมื่อสำเร็จการศึกษาบอดามารดาช่วยจัดแจงพิธีสมรสเพื่อรักษาวงศ์ตระกูลให้ยืนยาวต่อไป กล่าวคือเวลาแห่งการกระทำให้ครอบครัว

             วานปรสฺศรม  ในช่วงระยะที่ ๓ ระหว่างอายุ ๕๐ – ๗๕ ปี หลักจากได้สมรสมีครอบครัวเพื่อสืบทอดวงศ์ตระกูลแล้ว จะมอบสมบัติให้กับบุตรธิดา แล้วออกไปในอาศรมเพื่ออุทิศร่างกายออกทำงานให้แก่สังคมและส่วนรวม เพื่ออุทิศตนให้แก่สังคมต่อไป กล่าวคือเวลาแห่งการกระทำเพื่อสังคมและประเทศชาติ

            สนฺยตาศรม ในช่วงระยะที่ ๔ ระยะสุดท้ายของชีวิต อายุ ๗๕ ปี จะออกบวชเป็นสันยาสีในอาศรมนี้บำเพ็ญสมาธิ และพยายามแสวงหาธรรมแห่งการหลุดพ้นต่อไป  กล่าวคือเวลาแห่งการกระทำเพื่อมวลมนุษยชาติทั้งปวง

การบวชเป็นพราหมณ์ ของ ชนชั้นวรรณะพราหมณ์             

                ในอินเดียโบราณ บุคคลที่เกิดในวรรณะพราหมณ์เท่านั้นที่จะเป็นพราหมณ์ได้ พวกที่บวชพราหมณ์นั้นก่อนจะบวชเป็นสันยาสีต้องบำเพ็ญชีวิตคฤหัสถ์เสียก่อน คือต้องมีบุตรชายไว้ใช้หนี้บรรพบุรุษ เพราะการบวชเป็นสัญญาสีจะไม่สึกตลอดชีวิต การให้กำเนิดบุตรนั้นนับว่าเป็นสิ่งสำคัญยิ่งสำหรับชาวฮินดู เพราะถือกันว่าถ้าหากบ้านใดขาดบุตร โดยเฉพาะบุตรชาย เวลาตายไป วิญญาณจะไม่สามารถผ่านแม่น้ำปุตตะที่อยู่ในยมโลกและไม่ไปสู่สุขคติ  บุตรชายเท่านั้นที่สามารถพาบุพการีข้ามแม่น้ำแห่งนี้ได้ (สมัคร บุราวาส, ๒๕๑๖ : ๑๓๒ - ๑๓๓)

                สมัคร บุราวาส (๒๕๑๖ : ๑๓๓ – ๑๓๔) ได้อธิบายถึงพิธีบวชเป็นสันยาสีคือ การเชิญบรรดาพราหมณ์ผู้ใหญ่ทั้งหลายมาพร้อมเพีรยงกัน ผู้ที่จะบวชต้องประกาศตนให้คณะพราหมณ์ทราบว่าจะขออุปสมบทพราหมณ์ พราหมณ์ผู้ใหญ่ก็อนุโมธนา แล้วกำหนดวันบวช เมื่อถึงวันบวชจะมีการอาบน้ำชำระร่างกายให้บริสุทธิ์  ผู้บวชจะต้องเตรียมผ้า ๑๐ ผืน เอาพาดบ่าทั้ง ๒ ข้างไว้ ๔ ผืนซึ่งย้อมเป็นสีเหลืองแก่ และ อีก ๖ ผืนที่ไม่ได้ย้อม เตรียมไว้มอบให้ผู้ใหญ่  ผู้บวชจะต้องหาไม้เท้านิยมทำจากไม้รวกมีข้อ ๗ ข้อ  แล้วเตรียมเงิน ดอกไม้ ไม้จันทร์ และปัญจคาวียะ[๑] ไว้ ผู้ประกอบพิธีบวชคือ คุรุ หรือครู ทำพิธีสวดมนต์บูชาพระผู้เป็นเจ้า  แล้วสอนให้ผวชว่าตาม เสร็จแล้วคุรุอรบรมให้ผู้ถือบวชทราบข้อปฏิบัติ ตือไปก็ให้ครองผ้า แล้วสวดมนต์อีกมากมายเป็นอันเสร็จพิธีสันยาสี เสร็จพิธีแล้ว ผู้บวชจะดื่มปัญจคาวียะเป็นการชำระล้างร่างกาย แล้วดื่มน้ำในบาตร ต่อมากทำการสวดมนต์จามที่คุรุสอน ในขั้นสุดท้ายจึงถวายผ้าและเงินแก่พราหมณ์ที่มาร่วมในพิธี เป็นอันเสร็จพิธีสมบูรณ์

                พราหมณ์คือผู้ที่เป็นทวิชาติ อันหมายถึง ผู้ถือกำเนิดสองครั้ง ครั้งแรกโดยครรภ์มารดา ครั้งที่สองเกิดโดยผ่านพิธีกรรมทางศาสนา เป็นพราหมณ์สมบูรณ์จึงมีสิทธิคล้องสายธุรำหรือยัชโญปวีต สายธุรำ เป็นลักษณะสายสังวาล หรือด้ายมงคลที่พราหมณ์คล้องเฉวียงบ่า เป็นเครื่องหมายบอกวรรณะว่าคนๆ นี้เกิดในวรรณะพราหมณ์ และเพื่อแสดงความเป็นพราหมณ์          ความเชื่อนี้แรกเริ่มทีเดียว ในอินเดียสมัยโบราณเมื่อกุลบุตรเข้าไปศึกษายังสำนักคุรุพราหมณ์ ก่อนเริ่มการศึกษานักบวชพราหมณ์จะทำพิธีเสกเป่ามนตร์ และคล้องเส้นด้ายมงคลอันศักดิ์สิทธิ์ เรียกว่า "สายธุรำ" เฉวียงบ่า พิธีนี้เรียกว่า "ยัชโญปวีต" ผู้ผ่านการทำพิธีดังกล่าวแล้วถือว่าเป็นผู้เกิดใหม่อีกครั้ง เรียกว่า "ทวิช" หรือ ทวิชาติ ความเชื่อนี้เกิดขึ้นในสมัยฮินดูยุคเก่าหรือยุคทรรศนะทั้ง 6 ในปรัชญาอินเดียสมัยโบราณ ต่อมาได้พัฒนาความเชื่อเป็นการแสดงออกถึงความเลื่อมใสในศาสนา ชาวฮินดูที่รับการศึกษาจากพราหมณ์จะได้รับการคล้องสายดังกล่าว เรียกพิธี “อุปานยัน” ซึ่งต้องอาศัยพราหมณ์ผู้มีความรู้เป็นผู้ประกอบพิธี             การคล้องสายธุรำมีมาแล้วตั้งแต่ในสมัยพุทธกาล ปรากฏในพระไตรปิฎกบาลี เมื่อพระพุทธเจ้าไปเทศนาโปรดชัมพุกาชีวกจนบรรลุอรหันต์ ในครั้งแรกที่เห็นและได้รู้ว่าพระพุทธองค์เป็นบรรพชิตแต่ไม่คล้องสายธุรำ อาชีวกจึงถามขึ้นว่า ท่านเป็นบรรพชิตด้วยหรือแล้วสายธุรำของท่านเล่าอยู่ที่ไหน...เนื่องจากแปลกใจที่เห็นบรรพชิตเช่นพระพุทธองค์ ไม่พกพาน้ำเต้า คล้องด้ายมงคล และถือพัดอันเป็นอุปกรณ์บูชาไฟ พราหมณ์ คือผู้ที่กำเนิดโดยครรภ์นางพราหมณีครั้งหนึ่ง ผ่านพิธีศึกษาคล้องสายยัชโญปวีต (ธุรำ) แล้วก็ถือว่ากำเนิดใหม่อีกครั้งหนึ่ง  (http://thaimisc.pukpik.com/freewebboard/php/vreply.php?user=kathaarkom&topic=3138. สืบค้นเมื่อ ๑๐ มกราคม ๒๕๕๓.)

 

การปฏิบัติตนประจำวันของพราหมณ์

                การปฏิบัติตนประจำวันของพราหมณ์ คือ ปัญจยชนะ หมายถึง การทำการบชา ๕ ประการ หรือการกะทำพิธีบูชายัญญะ ๕ ประการ คำว่า ชยนะ ยัญญะ หรือยัญญ์นั้น ในภาษาสันสกฤตและภาษาฮินดีแปลงว่า การบูชา การเซ่น หรือการบวชสรวงชนิดหนึ่งของพราหมณ์ สำหรับบูชาเทวดาโดยการสวดมนต์ และถวายเครื่องเซ่นสังเวย ตลอดจนการบูชาอัคคีและการเซ่นสรวงทั้งปวง  หรือการกระทำอุปการะต่าง ๆ การกระทำให้เกิดความเลื่อมใสให้เกิดขึ้นในมวลมนุษย์และสัตว์ ตลอดจนถึงสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย การกระทำยัญญะก็เพื่อให้การอุปการะแก่ตนเอง และแก่ผู้อื่น ลักษณะของการยัญญะมีหลายประการแล้วแต่กาละ แต่ยัญญะที่สำคัญมี ๕ ประการดังนี้

             ๑. พราหมยัญญะ ได้แก่ การตั้งจินตนาการถึงเฉพาะแต่พระปรมาตมันและอาตมันโดยตั้งสมาธิกระทำการพิธีตามคำสั่งสอนของคัมภีร์พระเวท

             ๒. เทวะยัญญะ ได้แก่พิธีบูชาไฟ ชนิดที่เรียกว่า การหวน ซึ่งหมายถึงการเวียนกลับ ในการบูชาไฟนั้น จะใช้สิ่งของต่าง ๆ ที่เป็นมงคลเช่น  เนย งาดำ ธูป ผงไม้จันทน์ กำยาน เป็นต้น

            ๓. ปิตฤยัญญะ ได้แก่การสักการบูชาบรรพบุรุษ ที่เรียกว่า ปิตฤ ทั้งที่ยังมีชีวิตและดับสูญไปแล้ว

            ๔. มนุษยยัญญะ ได้แก่ การรู้จักต้อนรับแขกและการปฏิบัติในทางที่ดีต่ออาคันตุกะ หรือผู้มาเยี่ยมเยือน และการกระทำเพื่อประโยชน์สุขของมวลมนุษย์ เช่นการสร้าง การทำนุบำรุง ตลอดจนช่วยอุปการะคนยากจน เป็นต้น

           ๕.  ภูตยัญญะ ได้แก่ การมีอุปการะและเมตตากรุณาต่อเล่าสรรพสัตว์ทุกชีวิตในโลก คือการไม่เบียดเบียนใครไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์ทั้งปวง

   


[๑] ปัญจคาวียะ คือ นมโค ๕ อย่างประกอบด้วย  นมสด นมส้ม เนยใส เนยข้น เปรียง (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๔๒ : ๒๖๘)

 วาทิน ศานติ์ สันติ : เรียบเรียง

คำสำคัญ (Tags): #พราหมณ์
หมายเลขบันทึก: 330619เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2010 14:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2013 07:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท