กว่าจะถึงวันนี้


ฉันบอกกับตัวเองว่า “ฉันต้องทำให้สำเร็จ” ฉันเหลืออายุราชการอีก 10 ปี ฉันจะต้องทำงานให้ได้ประโยชน์มากที่สุด...

ฉันเหลืออายุราชการอีก 10 ปี ฉันจะต้องทำงานให้ได้ประโยชน์มากที่สุด...”ฉันแอบคิดในใจขณะที่ได้รับมอบหมายจากผู้บริหารระดับสูง ให้เปิดหอผู้ป่วยวัณโรคปอด ตามนโยบายซึ่งเห็นว่าวัณโรคเป็นปัญหาของสาธารณสุขมาช้านาน ให้รับผู้ป่วยวัณโรคปอดนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลาสองสัปดาห์ เพื่อเป็นพี่เลี้ยงในการกินยา อันเป็นเส้นทางที่จะก้าวสู่ผลลัพธ์ทางรักษาที่มีประสิทธิภาพ...

ฉันบอกกับตัวเองว่า ฉันต้องทำให้สำเร็จ” วัณโรคปอดเป็นโรคที่สังคมรังเกียจ เป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่ใครๆกลัว เพราะวัณโรคเป็นได้กับอวัยวะทุกส่วนในร่างกาย และที่สำคัญวัณโรคปอดนั้น ถ้าเป็นแล้วสามารถแพร่กระจายเชื้อให้คนรอบข้างได้อีกมากมาย อีกทั้งยังจะต้องกินยารักษาอย่างต่อเนื่องในระยะยาวไม่น้อยกว่า 6 เดือนขึ้นไป สภาพร่างกายก็จะซูบผอม ทรุดโทรม ไม่มีเรี่ยวแรง ทำมาหากินไม่ได้เลย...โยงใยไปถึงสภาพจิตใจ อารมณ์ สังคม เศรษฐกิจอีกด้วย  หากเราไม่ช่วยกันดูแลตามบทบาทหน้าที่เท่าที่พึงกระทำ...แล้วใครเล่า...จะดูแลผู้ป่วยเหล่านี้ ในอนาคตอันใกล้นี้...ผู้ป่วยวัณโรคปอดก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณกระมัง

ฉันเริ่มวางแผนการทำงาน ท่ามกลางเสียงคัดค้านของคนรอบข้าง ทั้งคนในครอบครัวและเพื่อนร่วมงาน ...ว่าไม่มีใครเขาทำกันหรอก ฉันคิดในใจว่า ถ้าฉันไม่เริ่มต้นทำเป็นคนแรกแล้วจะมีคนที่สองได้อย่างไร

ขั้นตอนแรกฉันเริ่มทำตามแผนที่วางไว้ โดยหาหนังสือวัณโรคแห่งชาติมาศึกษาอย่างละเอียด พร้อมกับให้ผู้ร่วมงานคนอื่นๆอ่านด้วย เชิญผู้บริหารพบผู้ปฏิบัติเพื่อสร้างขวัญกำลังใจ ร่วมวางผังปรับปรุงหอผู้ป่วยทั่วไป ให้เป็นห้องแยกโรค ตลอดจนจัดหาอุปกรณ์ เครื่องใช้ที่ใช้ป้องกันร่างกายไว้ให้ผู้ปฏิบัติ ให้พยาบาลผู้ปฏิบัติทุกคน ระดมสมองร่วมกันคิดขั้นตอนการให้บริการตั้งแต่แรกรับ จนถึงจำหน่าย ครบ 2 สัปดาห์

อุปกรณ์บางอย่าง ที่สามารถประดิษฐ์เองได้ หรือนำของเหลือใช้มาประยุกต์ใช้ได้ พวกเราก็ประดิษฐ์มาใช้เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้โรงพยาบาล อาทิเช่น กระป๋องขากเสมหะโดยขอกระป๋องยาเปล่าจากห้องยา สำหรับหน้ากากที่ใช้เป็นเครื่องป้องกันการแพร่กระจายเชื้อที่ภาษาทางวิชาการเขาเรียกกันว่า มาส เอ็น เก้าห้า นั้นถูกจัดไว้ในที่ลมโกรก มีการถ่ายเทอากาศดี เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีกครั้ง ประดิษฐ์กล่องใส่สมุดประจำตัวของผู้ป่วยที่พยาบาลจะต้องลงบันทึกทุกวัน เพื่อให้ผู้ป่วยกินยาวัณโรคต่อหน้า เป็นต้น

นอกจากนี้พวกเรายังคิดคำขวัญในเชิงสร้างสรรค์ เพื่อกระตุ้นให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยด้วย...

“คุณคือวีรบุรุษ และวีรสตรีที่กินยาครบ”

“คุณคือผู้หยุดยั้งวัณโรคได้”

ทุกวันจะมีกิจกรรมเข้ากลุ่มให้ความรู้ทางวิชาการ   สอนและสาธิตโดยทีมสหสาขา ซึ่งประกอบด้วย นักกายภาพบำบัดสอนการไออย่างถูกวิธีและการบริหารปอด นักวิทยาศาสตร์การกีฬาสอนการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม นักสังคมสงเคราะห์ให้ความรู้สิทธิประโยชน์ เภสัชกรให้ความรู้เรื่องยาก่อนผู้ป่วยกลับบ้าน พร้อมทั้งมีการประเมินว่ายังขาดความเข้าใจในเรื่องใดบ้าง เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ทั้งผู้ป่วยและญาติมีความรู้ความเข้าใจ  สามารถปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง และเข้าใจการดำเนินไปของโรคได้เป็นอย่างดี

                เมื่อครบวันที่ผู้ป่วยได้กลับบ้าน ทางหอผู้ป่วยจะให้เบอร์โทรศัพท์ของพยาบาลทุกคน เพื่อสามารถโทรศัพท์ปรึกษาได้ทุกเวลา พร้อมกับขอเบอร์โทรของผู้ป่วยไว้เพื่อพวกเราก็จะได้ติดต่อ ถามข่าวคราว อาการเจ็บป่วยของผู้ป่วยด้วยเช่นกัน...ทุกเดือนที่ผู้ป่วยมารับยาก็มักไม่ลืมที่จะแวะเวียนมาทักทายกับเราด้วยเสมอๆ

“วันนี้มารับยาแล้วนะ...”

“กินยาครบแล้วนะครับ เดือนนี้เป็นเดือนสุดท้ายแล้ว...”

ด้วยใบหน้าที่สดชื่น ฉายแววตาแห่งความสุข รูปร่างอ้วนท้วนสมบูรณ์จนดูผิดหูผิดตาแทบจำกันไม่ได้ ผู้ป่วยบางคนบอกว่า ชีวิตที่เหลืออยู่เขาจะเพียรทำแต่ความดี จะเลิกเหล้า เลิกบุหรี่ หรือสิ่งที่เป็นโทษแก่ร่างกาย เขาจะดูแลตนเองให้ได้อย่างที่พยาบาลสอนตลอดไป...พวกเราได้ยินแล้วปลื้มใจนักที่สัมผัสรู้ว่าพวกเขามีจุดมุ่งหมายของชีวิตอันสดใส...

จวบจนทุกวันนี้...เป็นเวลาขวบปีเต็มแล้ว...ผู้ป่วยที่มารักษากับเรานั้น มีทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ บ้างก็เป็นช่างเสริมสวย บ้างก็เป็นแม่ค้าขายข้าวแกง บ๋อยเสริฟอาหาร สาวโงงาน อบต. พระภิกษุ ศึกษานิเทศน์ ซึ่งท่านเหล่านี้มีโอกาสได้พบปะพูดคุยกับผู้คนมากหน้าหลายตา...ทำให้รู้สึกใจหาย...อดคิดเชิงตรรกะตามประสาพยาบาลที่เรียนมาทางด้านวิทยาศาสตร์เป็นหลักไม่ได้ว่า...ถ้าพวกเขาเหล่านี้ไม่ได้มานอนพักรักษาตัวกับเราและไม่รู้วิธีการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ หรือกินยาไม่ครบตามกำหนดรักษา จนกระทั่งทำให้เกิดเชื้อดื้อยาแล้วนั้น...เขาเหล่านี้จะมีโอกาสแพร่กระจายเชื้อไปสู่คนในครอบครัวหรือคนที่คลุกคลีใกล้ชิด รวมทั้งผู้คนอื่นๆที่มาติดต่อสัมพันธ์กันอีกมากมายสักเพียงใด......มิน่าล่ะ...ประเทศไทยของเราจึงติดอันดับที่ 18 ใน 22 ประเทศที่มีอุบัติการณ์ของโรควัณโรคมากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาก็มีผู้ป่วยราวสี่ร้อยคนแล้วที่มารักษาตัวอยู่ในครอบครัวนี้กับเรา นับเป็นความภาคภูมิใจที่ล้ำค่านัก ด้วยผู้ป่วยกินยาครบและผลตรวจทางห้องปฏิบัติการบ่งบอกว่าพวกเขาหายดีแล้ว

อานิสงค์จากการที่ผู้ป่วยได้รับความรู้...เมื่อครั้งที่นอนพักรักษาตัวกับเราเป็นเวลาสองสัปดาห์นั้น ทำให้ผู้ป่วยสามารถแนะนำคนในชุมชนที่มีอาการเข้าข่าย หรือกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นวัณโรค ให้เข้ารับการตรวจรักษาได้ตั้งแต่ระยะเนิ่นๆ ซึ่งเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้เป็นอย่างมาก ทั้งเขาเหล่านี้ยังอาสาที่จะเป็นวิทยากรในการจัดกลุ่มให้ความรู้แก่ผู้ป่วยรายอื่นๆ ที่นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลช่วยเล่าแลกเปลี่ยน เรียนรู้ อาการเจ็บป่วย การดูแลตนเองจนหายจากโรค อันเป็นการเสริมพลังใจซึ่งกันและกันในการต่อสู้กับโรคร้ายนี้อย่างกล้าหาญ

พระอาทิตย์เริ่มทอ ส่องเป็นลำแสงแดดอ่อนลอดผ่านหน้าต่างที่เปิดไว้...รอรับแสงอรุณทางด้านทิศตะวันออกของหอผู้ป่วย...เปรียบเสมือนชีวิตใหม่ได้บังเกิดขึ้นทุกวี่วัน...ฉันและทีมงานรู้สึกมีความสุข และอิ่มเอมใจทุกครั้งที่เห็นผู้ป่วยดีวันดีคืน...เฝ้ามองผู้ป่วยวัณโรคคนเก่าก้าวสู่การเป็นคนใหม่ที่มีร่างกายและจิตใจที่เข้มแข็ง แปรเปลี่ยนเป็นพลังใจในการก้าวเดินไปในวิถีแห่งชีวิตอย่างมั่นคง...

 

“ชีวิตที่เหลืออยู่...คือกำไรชีวิต...”

 

 

 เรื่อง: นภาพร    เซียตระกูล พยาบาลหอผู้ป่วยอายุรกรรมรวม

เรียบเรียง: แม่พลอย


 

 

 

หมายเลขบันทึก: 328506เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2010 11:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท