ครูดนตรีไทย


ข้าฯ ขอน้อมสักการะแด่ครูดนตรีไทยทุกๆพระองค์ และทุกๆท่าน

... นโม อันว่านมัสการ ข้าพเจ้าขอกราบกราน
ไหว้เทพเจ้าทั้งสามพระองค์
พระวิษณุกรรมผู้ทรงฤทธิ์ ท่านได้ประสิทธิ์สาปสรรค์
เครื่องเล่นสิ่งสารพันในใต้หล้า
อีกทั้งท่านเทวดาพระปัญจสิงขรณ์
พระกรท่านถือพิณ ดีดสำเนียงไพเราะดังเสนาะสนั่น
อีกทั้งพระปรคนธรรพ พระครูเฒ่า
พระครูทั้งนั้นเล่า สืบต่อๆกันมาจนถึงทุกวันนี้...

(จากบทไหว้ครูของ ครูสวง ศรีผ่อง)

จากบทไหว้ครูดนตรีไทยข้างต้นสามารถแยกแยะครูดนตรีไทยออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ ดุริยเทพ และ ครูมนุษย์ โดยมีรายละเอียดปลีกย่อยของครูดนตรีไทยแต่ละประเภทดังนี้

ดุริยเทพ

ครูเทพ หรือครูที่เป็นเทวดาที่เหล่าศิลปินให้ความเคารพนับถือมีหลายองค์ เช่น พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม พระคเณศ พระภรตมุณี(พ่อแก่) เป็นต้น  แต่เทพที่เกี่ยวข้องกับการดนตรีไทยโดยตรง หรือเรียกว่า ดุริยเทพ นั้นมีสามองค์ คือ พระวิษณุกรรม พระปัญจสิงขรณ์ และ พระปรคนธรรพ

  • พระวิษณุกรรมผู้ทรงฤทธิ์ ท่านได้ประสิทธิ์สาปสรรค์เครื่องเล่นสิ่งสารพันในใต้หล้า ตามคำไหว้ครูบทนี้ เป็นการกล่าวถึงพระวิษณุกรรมในฐานะครูช่าง ครูผู้สร้างเครื่องดนตรีไทยชนิดต่างๆ

  • พระปัญจสิงขรณ์ พระกรท่านถือพิณ ดีดสำเนียงไพเราะดังเสนาะสนั่น ตาม คำไหว้ครูบทนี้ เป็นการกล่าวถึงพระปัญจสิงขรณ์ในฐานะเทพผู้บรรเลงพิณ ในวงการดนตรีไทยถือว่าพระปัญจสิงขรณ์เป็นเทพแห่งเครื่องดนตรีดีด สี ตี เป่า และขับร้อง

  • พระปรคนธรรพ พระครูเฒ่า ตามคำไหว้ครูบทนี้ คนในวงการดนตรีไทยจะทราบได้ทันทีว่า พระปรคนธรรพคือครูตะโพน เพราะคำว่า "ครูเฒ่า" หมายถึงผู้ควบคุมวงดนตรี หรือเครื่องกำกับจังหวะ และเครื่องกำกับจังหวะที่อยู่ในฐานะสูงสุดคือ ตะโพน ดังนั้นจึงถือว่า พระปรคนธรรพ คือครูเครื่องหนัง เครื่องกำกับจังหวะ และผู้ควบคุมวง

ครูมนุษย์

ครูมนุษย์ ในความหมายของ พระครูทั้งนั้นเล่า สืบต่อๆกันมาจนถึงทุกวันนี้ รวมหมายถึงทั้งครูที่ล่วงลับไปแล้ว ครูที่ยังมีชีวิตอยู่ และรวมถึงครูพักลักจำด้วย

  • ครูที่ล่วงลับไปแล้ว หมายถึงครูดนตรีไทยตั้งแต่สมัยโบราณ ผู้คิดสร้างสรรค์การดนตรีไทย ทั้งที่ไม่รู้จัก หรือรู้จักก็ตาม นักดนตรีไทยจะให้ความเคารพนับถือ และถือเป็นครูของตนทั้งสิ้น
  • ครูที่ยังมีชีวิตอยู่ หมายถึงครูดนตรีไทยที่เคยสอนเรามาตั้งแต่ขั้นพื้นฐานจนถึงขั้นสูง
  • ครูพักลักจำ หมายถึงนักดนตรีไทยคนอื่นๆ ที่ไม่ได้สอนเรามาโดยตรง แต่เราได้มีโอกาสรับความรู้จากท่าน ทั้งการรับฟัง การได้เห็น จากคำบอกเล่า จากการอ่าน หรือโดยทางใดๆก็ตาม ทั้งที่อาวุโสกว่า หรืออ่อนกว่า ทั้งที่ฝีมือดีกว่าหรือด้อยกว่า หรือแม้แต่ผู้ที่ไม่ใช่นักดนตรีไทยแต่เคยได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับดนตรีไทยแก่ เรา นักดนตรีไทยจะถือว่าเป็นครูของตนทั้งสิ้น

จากความหมายของครูดนตรีไทยทั้งที่เป็นครูเทพ และครูมนุษย์ จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าใครก็ตามที่อยู่ในวงการดนตรีไทยหรือเกี่ยวข้องกับดนตรีไทย หากได้ทำคุณประโยชน์ต่อตนไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือโดยทางอ้อม ก็ถือว่าเป็นครูดนตรีไทยของตนทั้งสิ้น

ในโอกาสวันครู ๑๖ มกราคม ๒๕๕๓ ข้าฯ ขอน้อมสักการะแด่ครูดนตรีไทยทุกๆพระองค์ และทุกๆท่าน

... อัคคี พะหูบุปผัง อะหังวันทา อาจาริยัง
สัพพะไสยัง วินาศสันติ สิทธิปะระปะชา อิมัสมิง ภะวันตุเมฯ ...

... ข้าฯ จะไหว้ พระอิศวร พระนารายณ์ ไหว้เทวดาทั้งหลาย
ไหว้ทั้งบิดาและมารดา ไหว้ครูและอาจารย์ที่ท่านได้สั่งสอนมา
ขอคุณครูจงรักษา ให้ข้าฯ อยู่เย็นเป็นสุข ...

คำสำคัญ (Tags): #ครูดนตรีไทย
หมายเลขบันทึก: 328290เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2010 14:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 02:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ ขอบคุณสำหรับความรู้ที่เกือบจะเลือนลางค่ะ  ยินดีแลกเปลี่ยนเรียนรู้น่ะค่ะ

มีความสุขกับงานที่รักน่ะค่ะ

คุณ New.ครูบันเทิง

ขอบคุณมากครับ

ยินดีที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท