วิภาคสรรพนาม


"วิภาคสรรพนาม" เป็นประเภทหนึ่งของคำสรรพนาม ที่จำแนกโดยยึดหลักไวยากรณ์แนวเดิม

        วิภาคสรรพนาม คือ สรรพนามที่ใช้แทนคำนาม ที่อยู่ข้างหน้าเพื่อจำแนกนามนั้นออกเป็นส่วน ๆ เป็นพวก ๆ เช่นเดียวกัน  แต่ทำกริยาโต้ตอบซึ่งกันและกันอยู่หรือเกี่ยวข้องกัน โดยนามแต่ละส่วนจะต้องทำกิริยาอย่างเดียวกัน

        พระยาอุปกิตศิลปะสาร (๒๕๔๑, ๘๐-๘๑) ได้ให้ความหมายของ วิภาคสรรพนาม ว่าคือสรรพนามที่ใช้แทนนามข้างหน้า เพื่อจำแนกนามออกเป็นส่วนๆ คำ “วิภาค” แปลว่า จำแนก สรรพนามพวกนี้ได้แก่คำว่า “ต่าง บ้าง กัน” มีใช้กันดังนี้

        “ต่าง” ใช้แทนนามข้างหน้า เพื่อให้รู้ว่านามนั้นจำแนกเป็นหลายส่วน แต่ทำกิริยาอย่างเดียวกัน เช่นในความว่า “ชาวสวนต่างฟันดิน” คำว่า “ต่าง” ในที่นี้เป็นวิกัติการกแทนชาวสวน แสดงว่าชาวสวนแบ่งเป็นหลายพวก แต่ทุกๆ พวกก็ฟันดินอย่างเดียวกัน

        “บ้าง” ใช้แทนนามข้างหน้า เพื่อให้รู้ว่านามนั้นหลายส่วนเหมือนกัน แต่แยกทำกิริยาต่างๆ กัน เช่นในความว่า “ชาวนาบ้างไถนาบ้างดำนา” คำ “บ้าง” ในที่นี้เป็นวิกัติการกแทนชาวนา และแยกชาวนาออกเป็นพวกๆ และทำกิริยาต่างกันด้วย

        “กัน” ใช้แทนนามข้างหน้า เพื่อให้รู้ว่านามนั้นเป็นหลายส่วน ซึ่งทำกิริยาเกี่ยวข้องกัน เช่นในความว่า “ชาวเมืองตีกัน” คำ “กัน” ในที่นี้แทนชาวเมืองแสดงว่าชาวเมืองหลายพวก ซึ่งทำกิริยาตีกันและกัน

        คำ “ต่าง” กับ “กัน”  ใช้แทนนามข้างหน้าที่แยกอยู่แล้วก็มี เช่นตัวอย่าง “ชาวสวน ชาวนาต่างก็ทำงาน” และ “ชาวสวน ชาวนาตีกัน” ดังนี้เป็นต้น แต่คำ “บ้าง” นั้นมักจะใช้แทนนามที่ไม่ได้แยกกัน ดังตัวอย่างข้าวบนนี้

        ข้อสังเกต คำ “ต่าง” ถ้าใช้ลอยๆ ดังกล่าวแล้วนับว่าเป็นวิภาคสรรพนาม แต่ถ้าใช้ประกอบคำนามก็ดี คำกริยาก็ดี ซึ่งโดยมากประกอบข้างหน้า เช่นตัวอย่าง “ชาวสวนต่างคนก็ต่างกันอยู่” ดังนี้เป็นต้น นับว่าเป็นคำวิเศษณ์

       คำ “บ้าง” ถ้าใช้ประกอบหลังคำนาม หรือ กริยา เช่นตัวอย่าง “นกบ้าง กาบ้าง นอนบ้าง นั่งบ้าง” ดังนี้เป็นต้น ก็นับว่าเป็นคำวิเศษณ์อย่างเดียวกัน

       คำ “กัน”  นี้ บางทีเป็นคำวิเศษณ์ได้ เช่น “เขาลือกันทำงานกัน” ดังนี้ คำ “กัน” แต่งกริยา “ลือ” และ “งาน” เป็นวิเศษณ์  ส่วนคำ “กัน” ที่เป็นวิภาคสรรพนามนั้นมีที่สังเกตคือ เป็นคำใช้แทนนามที่เป็นผู้ถูกกระทำ หรือนามส่วนหนึ่งส่วนใดของประโยค เช่นตัวอย่าง ผัวเมียตีกัน ผัวเมียอยู่ด้วยกัน เขาเห็นแก่กัน ดังนี้เป็นต้น นอกจากนี้คำ “กัน” ยังใช้เป็นคำชนิดอื่นได้อีก

 

       กำชัย ทองหล่อ (๒๕๔๐, ๒๓๗) ได้ให้ความหมายของ วิภาคสรรพนาม ว่าคือสรรพนามที่ใช้แทนนามหรือสรรพนามที่แยกออกเป็นแต่ละคน แต่ละสิ่ง หรือแต่ละพวก ได้แก่คำว่า ต่าง บ้าง กัน

      วิภาคสรรพนาม ทำหน้าที่ดังนี้

      ต่าง , บ้าง ทำหน้าที่ใช้แทนและขยายนามและสรรพนามข้างหน้า

      กัน ทำหน้าที่เป็นกรรมหรือรวมกับบุพบทขยายคำข้างหน้า

ตัวอย่างเช่น

๑) นักกีฬา ต่าง ทำหน้าที่ของตน

๒) กรรมการ ต่าง ก็ขนของขึ้นจากเรือ

๓) ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ต่าง ก็มีงานทั้งนั้น

๔) นักศึกษาทำหน้าที่ต่าง ๆ กัน, บ้าง ก็ฟังคำบรรยาย, บ้าง ก็ค้นตำรา, บ้าง ก็เข้าห้องทดลอง, บ้าง ก็ทำบันทึกการสอน

๕) นักเรียนทั้งหลาย บ้าง ก็อ่านหนังสือ บ้าง ก็เล่นฟุตบอล บ้าง ก็ดูรูปภาพ

๖) นักมวยชกกัน

๗) เขามองดูซึ่ง กัน และ กัน

๘) พี่น้องสูงเท่ากัน

       คำ “ต่าง,บ้าง, กัน” ที่เป็นวิภาคสรรพนามนั้น จะต้องใช้แทนนามหรือสรรพนาม ดังตัวอย่างที่แสดงไว้นั้น ถ้าทำหน้าที่ประกอบนาม สรรพนาม กริยา หรือ วิเศษณ์ ซึ่งนับว่าเป็นคำวิเศษณ์ เช่น

ก. ประกอบนาม ต่าง คน ต่าง ใจ, ต่าง จิต ต่าง ความคิด, คน บ้าง สัตว์ บ้าง, วัว บ้าง ควาย บ้าง

ข. ประกอบสรรพนาม ต่าง เขา ต่าง เรา, เขา บ้าง เรา บ้าง

ค. ประกอบกริยา เขาพูด ต่าง กับฉัน , ทำ บ้าง หยุด บ้าง, เขาพยายาม กัน มาก, เขาเดิน กัน คนละทาง

ง. ประกอบวิเศษณ์ เขาเป็นคนดี ต่าง กัน , ทำมาก บ้าง ทำน้อย บ้าง, เขาพูดเก่ง กัน คนละอย่าง

คำ “ต่าง” และ “กัน” ยังใช้เป็นคำชนิดอื่นได้อีก เช่น

ก. เขา ต่าง กับฉัน (ต่าง เป็นกริยา)

ข. ต่าง อยู่บนหลังคา (ต่าง เป็นนาม)

ค. กัน มีเพื่อน สามคน (กัน เป็น บุรุษสรรพนาม)

ง. ฉัน กัน เงินไว้จำนวนหนึ่ง (กัน เป็นกริยา)

 

         จากการศึกษาสามารถสรุปได้ว่า วิภาคสรรพนาม คือ สรรพนามที่ใช้แทนนาม หรือสรรพนามที่แยกออกเป็นแต่ละคน แต่ละสิ่ง หรือแต่ละพวก มีดังนี้

         ต่าง คือ ประธานที่มีเป็นกลุ่ม ทำหน้าที่ต่างกัน

         บ้าง คือ ประธานที่มีเป็นกลุ่ม แยกเป็นกลุ่มย่อย ทำหน้าที่ต่างกัน

        กัน คือ ประธานมีเป็นกลุ่ม แยกเป็น ๒ ฝ่าย ทำพฤติกรรมโต้ตอบกัน

 

        สรรพนามบอกความชี้ซ้ำ (วิภาคสรรพนาม) เป็นสรรพนามที่ใช้แทนคำนามที่อยู่ข้างหน้า เมื่อต้องการเอ่ยซ้ำ โดยที่ไม่ต้องเอ่ยนามนั้นซ้ำอีก และเพื่อแสดงความหมายแยกออกเป็นส่วน ๆ ได้แก่คำว่า บ้าง ต่าง กัน ตัวอย่างเช่น

- เรา ต่าง ก็เป็นพลเมืองของประเทศไทย

- นักมวยชก กัน บนเวที

- นกเป็ดน้ำฝูงนั้น บ้าง ก็ว่ายน้ำ บ้าง ก็ขึ้นมาเดินบนตลิ่ง

        ข้อสังเกต วิภาคสรรพนาม จะอยู่หลังคำนาม หรือ สรรพนามเท่านั้น เช่น

- นักเรียน ที่ ได้รับเกียรติบัตรยืนอยู่แถวหน้า

           (นักเรียน เป็นคำนาม)

           (ที่ เป็นวิภาคสรรพนาม ซึ่งอยู่หลังคำนาม)

- เธอ ซึ่ง ได้รับภัยพิบัติจากสึนามิ

           (เธอ เป็นคำสรรพนาม)

           (ซึ่ง เป็นวิภาคสรรพนาม ที่อยู่หลังคำสรรพนาม)

 

 

เอกสารอ้างอิง

 

กำชัย ทองหล่อ. (๒๕๔๐). หลักภาษาไทย. (พิมพ์ครั้งที่ ๑๐). กรุงฯเทพฯ :

        รวมสาส์น.

ศศิธร ธาตุเหล็ก. (๒๕๔๕). ลักษณะภาษาไทย. ชลบุรี : คณะมนุษยศาสตร์และ

        สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา.    

อุปกิตศิลปะสาร, พระยา. (๒๕๔๑). หลักภาษาไทย. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช.

 

 

หมายเลขบันทึก: 326287เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2010 16:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณมากเลยนะคะ

เนื้อหาละเอียด และ อ่านง่ายมากๆเลยค่ะ

เขียนต่อไปนะคะ

รอติดตามผลงาน ^^

ก็ดีนะค่ะทำให้เข้าใจได้หลาสเรื่องเกี่ยวกับภาษาไทยและคำสรรพนาม(วิภาคสรรพนาม)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท