การเรียกชื่อตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา


การเรียกชื่อตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ต้องใช้ตำแหน่งตามมาตรา ๓๘ และตำแหน่งที่มีวิทยฐานะตามมาตรา ๓๙ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗ มากำหนด

การเรียกชื่อตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

 

                น่าประหลาดใจที่การเรียกชื่อตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตั้งแต่ประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗ มาจนถึงปัจจุบัน นับวันจะยิ่งเพี้ยนมากขึ้นทุกที

                เราจะเห็นคำสั่งหรือข่าวสารของทางราชการ และสื่อสารมวลชนเรียกตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ว่า ครู ค.ศ.๒ ครู ค.ศ. ๓ มากขึ้น ๆ จนเป็นปกติแล้ว

                อีกไม่นานคงเห็นนามบัตรของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือป้ายชื่อติดเครื่องแบบสีกากี หรือป้ายชื่อหน้าโต๊ะทำงาน ระบุตำแหน่ง ครู ค.ศ.๓ ครู ค.ศ. ๔ กันเกลื่อน

                เป็นการเรียกชื่อตำแหน่งที่ผิด

                ครู เป็นตำแหน่งที่เรียกชื่อถูกต้อง แต่ ค.ศ. ๓ ค.ศ. ๔ เป็นอันดับเงินเดือนที่ครูจะได้รับ เมื่อดำรงตำแหน่งที่มีวิทยฐานะใด ๆ เช่น ครูที่มีวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ จะได้รับเงินเดือนในอันดับ ค.ศ. ๓ ครูที่มีวิทยฐานะเชี่ยวชาญ จะได้รับเงินเดือนในอันดับ ค.ศ. ๔

                การได้รับเงินเดือนดังกล่าวเป็นการกำหนดในปัจจุบัน ในอนาคตอาจไม่ได้กำหนดอย่างนี้ก็ได้ เช่น ครูที่มีวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ อาจกำหนดให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ค.ศ. ๔ ก็ได้

                การนำเอาอันดับเงินเดือนมาประกอบการเรียกชื่อตำแหน่งจึงไม่เป็นไปตามหลักการที่ถูกต้อง

                การเรียกชื่อตำแหน่ง ต้องเรียกตามตำแหน่งที่กฎหมายกำหนด (มาตรา ๓๘ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม) เช่น ครูผู้ช่วย ครู ศึกษานิเทศก์ ผู้อำนวยการโรงเรียน (สำหรับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน กฎหมายใช้คำว่า “ผู้อำนวยการสถานศึกษา” ก็จริง แต่ก็มีนิยาม “สถานศึกษา” ว่า ได้แก่ โรงเรียน ศูนย์ วิทยาลัย สถาบัน เป็นต้น จึงควรเรียกตำแหน่ง “ผู้อำนวยการสถานศึกษา” ว่า ผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้อำนวยการศูนย์ ผู้อำนวยการวิทยาลัย ผู้อำนวยการสถาบัน ตามความเป็นจริง)

                การเรียกชื่อตำแหน่งตามมาตรา ๓๘ ยังไม่เพียงพอเพราะจำแนกระดับของตำแหน่งไม่ได้ จึงยังไม่รู้ว่าใครเป็นหมู่เป็นจ่า จึงต้องเรียกชื่อของตำแหน่งตามระดับวิทยฐานะเพิ่มขึ้นสำหรับตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีวิทยฐานะ และเรียกตามระดับตำแหน่งเช่นเดียวกับข้าราชการพลเรือนสำหรับบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา ๓๘ ค. (๒)

                การเรียกชื่อของตำแหน่งที่มีวิทยฐานะเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด (มาตรา ๓๙) เช่น ครูชำนาญการ ครูชำนาญการพิเศษ ครูเชี่ยวชาญ ครูเชี่ยวชาญพิเศษ เป็นต้น ส่วนการเรียกชื่อตำแหน่งของบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา ๓๘ ค.(๒) เช่น นักทรัพยากรบุคคลปฏิบัติการ นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการ นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการพิเศษ เป็นต้น

                เพียงเท่านี้ก็เพียงพอและถูกต้องสำหรับการเรียกชื่อตำแหน่งของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาแล้ว ส่วนที่อยากจะแสดงว่าได้รับเงินเดือนเท่าใดนั้นเป็นเรื่องเฉพาะของแต่ละคน แต่ต้องอธิบายว่า “ค.ศ.” เป็นอันดับเงินเดือน เช่น นายอุดร ครูชำนาญการพิเศษ รับเงินเดือนในอันดับ ค.ศ.๓

                อาจมีคนเถียงว่าวิทยฐานะไม่ใช่ระดับตำแหน่ง จึงต้องเรียกชื่อตำแหน่งว่า “ครู วิทยฐานะครูชำนาญการ” ไม่ใช่ “ครูชำนาญการ” ก็ขอให้ไปดูมาตรา ๓๙ ที่กำหนดว่า “ตำแหน่งที่มีวิทยฐานะ” ได้แก่  ครูชำนาญการ ครูชำนาญการพิเศษ ครูเชี่ยวชาญ ครูเชี่ยวชาญพิเศษ เป็นต้น ซึ่งหมายความว่า ครูชำนาญการ ครูชำนาญการพิเศษ ครูเชี่ยวชาญ ครูเชี่ยวชาญพิเศษ เหล่านี้ กฎหมายรับรองให้เป็น “ตำแหน่งที่มีวิทยฐานะ” ไม่ใช่ “วิทยฐานะ”

                ส่วนการที่ ก.ค.ศ.ไปกำหนดมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะ ทำให้เข้าใจว่าวิทยฐานะไม่ใช่ตำแหน่ง แล้วไปชี้แจงปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีว่าวิทยฐานะไม่ใช่ตำแหน่ง จึงทำให้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีกำหนดชื่อตำแหน่งในป้ายชื่อข้าราชการสำหรับเครื่องแบบสีกากีเฉพาะชื่อตำแหน่งตามมาตรา ๓๘ เท่านั้น (ทำให้ไม่รู้ว่าใครเป็นหมู่เป็นจ่า) ก็เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่สำนักงาน ก.ค.ศ. เอง ที่เข้าใจไม่ถูกต้อง จึงเกิดปัญหาขึ้น วิธีแก้ไขคือทำความเข้าใจให้ถูกต้องแล้วไปบอกปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสียใหม่ว่า วิทยฐานะตามมาตรา ๓๙ ก็เป็นตำแหน่งด้วย

                ดังนั้น การเรียกชื่อตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาจึงใช้ตำแหน่งตามมาตรา ๓๘ และมาตรา ๓๙ มาเรียกครับ

 

วิพล นาคพันธ์

๔ มกราคม ๒๕๕๓

หมายเลขบันทึก: 324716เขียนเมื่อ 3 มกราคม 2010 10:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

ท่าน ผอ.วิพล ครับ

1.หน่วยงานต้นทาง เช่น สำนักงาน ก.ค.ศ. ยังเรียกชื่อตำแหน่งบางตำแหน่งในชื่อเดิมสมัยรวมเขตพื้นที่ในช่วงปี 2546 ทั้ง ๆ ที่เป็นหน่วยงานที่กำหนดให้ใช้ชื่อผู้บริหารสถานศึกษาของ สพฐ.ว่า ผู้อำนวยการโรงเรียน แทน ผู้อำนวยการสถานศึกษา (ผมจำเลขที่หนังสือของ ก.ค.ศ.ฉบับนี้ไม่ได้)

2.เมื่อไม่มีความชัดเจนในการเรียกชื่อตำแหน่ง  ครูทั้งหลายจึงต้องหาวิธีการสื่อให้สาธารณะชนเข้าใจว่า  ตัวเองเป็นตำแหน่งอะไร  ตามความเข้าใจของตน ครับ  จะสังเกตได้ว่าเวลาทำบัตรประจำตัว เจ้าหน้าที่ของ กจ.สพท. จะระบุตำแหน่งของครูว่า ครู เท่านั้น  (หลาย ๆ คนอยากให้เพิ่มเติมวิทยฐานะต่อพ่วงท้ายตำแหน่ง)

ความชัดเจนของการเรียกชื่อตำแหน่งครู  คงต้องให้ ก.ค.ศ.กำหนดและใช้อย่างเป็นทางการครับ (ที่สำคัญ ก.ค.ศ.ต้องไม่ลืมใช้ชื่อตำแหน่งที่ตัวเองกำหนดด้วย)  ไม่เช่นนั้นคงจะมีความสับสนและใช้กันตามอำเภอใจของแต่ละหน่วยงาน ครับ

 

เรียนท่าน ผอ.สพท.พังงา

เป็นประโยชน์มากครับท่าน ครูเรายังสับสน ผมมีทั้งสองป้าย ผู้บริหารสถานศึกษาและผู้บริหารโรงเรียนครับ

ปัจจุบันใช้ผู้บริหารโรงเรียนไม่ทราบว่าถูกไหม

ผอ.สถานศึกษา ร.ร.บ้านอ่าวมะม่วง

เรียน ท่านผอ.ครับ

ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา ตามพรบ.ข้าราชการครูฯ47 มาตรา 38ระบุว่า "ผู้อำนวยการสถานศึกษา"

หลังจากนายเฉลี่ยวย้ายออกมา

ก.ค.ศ. หนังสือเวียนสั่งให้เปลี่ยนชื่อผู้บริหารสถานศึกษาเป็น "ผู้อำนวยการโรงเรียน"

ไม่ทราบว่า ผู้สั่งมีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงข้อความในกฏหมายหรือไม่ มีอำนาจในการเปลี่ยนชื่อเรียกหรือไม่?

และจะต้องเปลี่ยนต่อไปอีกหรือไม่ เช่น คณะกรรมการสถานศึกษา...เป็นคณะกรรมการโรงเรียน...เป็นต้น

หากสั่งเปลี่ยนแปลงคำเรียกหรือข้อความในกฏหมายได้...แสดงว่า คำสั่งก.ค.ศ.เป็นนโยบายเชิงบังคับที่สูงกว่า พรบ.ใช่หรือไม่?

หากสังเกตให้ดี เขตพื้นที่ส่วนใหญ่ที่เคยเห็น จะใช้คำว่า"ผู้อำนวยการสถานศึกษา" ในบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ...ของผอ.สถานศึกษา...

การเรียกชื่อตำแหน่งต่างๆ มีความชัดเจนในกฏหมายครูอยู่แล้ว เช่นตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการ อันดับ คศ. 2 เป็นต้น

ก.ค.ศ.มีอำนาจกำหนดครับ ผมก็เห็นด้วย ถ้าเรียกว่า "ผู้อำนวยการสถานศึกษา โรงเรียนบ้านอ่าวมะม่วง" ก็จะยาว เยิ่นเย้อไป ละ "สถานศึกษา" ไว้ เหลือแต่ "ผู้อำนวยการโรงเรียนอ่าวมะม่วง" สั้น กระชับ ใคร ๆ ก็เข้าใจได้ เหมือนกับ "ปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ" ตัดกระทรวงออกคำหนึ่ง เหลือ "ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ" ไงครับ ส่วนคณะกรรมการสถานศึกษา โรงเรียนบ้านอ่าวมะม่วง เรียกตามเดิม เพราะยังไม่มีผู้มีอำนาจกำหนดให้เรียกอย่างอื่นครับ

วิพล

ขอคุณความรู้ดีๆ ที่จะได้นำไปใช้ให้ถูกต้อง ู_^

  • ขอบคุณมากครับ
  • พอเป็นตำแหน่งใหม่
  • เรียกแล้วงง งงนะครับ

ตามหนังสือ ก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.2/395 ลว. 23 กุมภาพันธ์ 2549

http://www.cca.chula.ac.th/edocuments/images/files/letter/03_49/in_1781_2549.pdf

ขอบคุณค่ะ จะได้ใช้ให้ถูกต้องต่อไป

นางกฤติกา ศิริวิเศษ

งง กับคำที่ใช้เรียกดำแหน่ง ครู วิทยฐานะชำนาญการ หรือ ครูชำนาญการไม่ทราบแบบไหนถูกค่ะ

วรารักษ์ หนึ่งโชคชัย

ขอเรียนถามด้วยความเคารพ การใช้อักษรย่อของครู ต่อไปนี้ตัวใดถูกต้อง ระหว่าง คศ. กับ ค.ศ. ผมเห็นแต่ละที่ใช้ไม่เหมือนกัน ขอเอกสารหลักฐานอ้างดิงด้วยครับ ขอบคุณ


ชื่อย่อวิทยฐานะใช้ คศ. หรือ ค.ศ. กันแน่คะ จะได้ใช้ได้ถูกต้องค่ะ

รบกวน สอบถาม

ครูผู้ช่วย ถือว่าอยู่ ในตำแหน่งครูหรือเปล่าค่ะ ?....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท