การศึกษาตนเองและการประเมินตนเอง: ตอนที่ 1


ส่วนหนึ่งในเอกสารประกอบการสอนวิชาพฤติกรรมมนุษย์กับการพัฒนาตน ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2548

บทที่ 3

การศึกษาและการประเมินตนเอง 

 

 โดย...อาจารย์ปัญญฎา  ประดิษฐบาทุกา 

สาขาวิชาจิตวิทยา

คณะศึกษาศาสตร์ ม.ราชภัฏจันทรเกษม

 

ส่วนหนึ่งในเอกสารประกอบการสอน

วิชาพฤติกรรมมนุษย์กับการพัฒนาตน

ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2548

 

ความนำ

 

            นักจิตวิทยาทั้งหลายต่างเชื่อว่า  มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่สามารถพัฒนาตนเองให้เต็มศักยภาพในทุก ๆ ด้าน  ซึ่งการพัฒนาตนเองนั้น  มนุษย์จำเป็นต้องเข้าใจตนเองเป็นอย่างดี  โดยอาศัยพื้นฐานทางด้านการศึกษาตนเองและการประเมินตนเอง  เนื่องจากสามารถทำให้มนุษย์รู้จักตนเอง  เข้าใจว่าตนเองเป็นบุคคลเช่นไร  มีความรู้ความสามารถ  ความถนัด  ความต้องการสิ่งใด  ความสนใจ  ค่านิยม  ความรู้สึก  อารมณ์  ตลอดจนการแสดงพฤติกรรมต่างๆ ของตัวเรา  ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของบลูมในการแบ่งประเภทของพฤติกรรมมนุษย์  ได้แก่  ด้านความคิดความเข้าใจ  ด้านอารมณ์  ความรู้สึก  ทัศนคติ  ค่านิยม  และด้านการกระทำ

            ในบทนี้  จะกล่าวถึงรายละเอียดของการศึกษาตนเองและประเมินตนเอง  อันจะเป็นแนวทางให้แก่ผู้ที่สนใจศึกษาหาความรู้  เพื่อใช้พัฒนาตนให้มีประสิทธิภาพ  ตลอดจนสามารถประพฤติและปรับตนได้อย่างถูกต้องเหมาะสม  เมื่อต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม  ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ ทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

 

การศึกษาตนเอง

   1.    ความหมาย

              การศึกษาตนเอง  มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้บุคคลได้รู้จักตนเอง  หรืออีกนัยหนึ่งหมายถึง การให้บุคคลได้พิจารณาถึงความสามารถ  จุดเด่น  ทักษะ  ค่านิยม  ความสนใจ  ตลอดจนบุคลิกภาพโดยทั่ว ๆ ไป  (นวลสิริ  เปาโรหิตย์. 2541: 11)  ดังนั้นบุคคลที่ต้องการพัฒนาตนเอง  จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องการทำการสำรวจ  หรือศึกษาตนเอง  เพื่อให้ทราบว่า ตนเองเป็นอย่างไรและรู้จักตนเองได้อย่างดีขึ้น  เนื่องจากการศึกษาตนเองอย่างถูกวิธีจะสามารถทำให้บุคคลรู้วิธีการ  ตลอดจนสามารถเลือกวิธีการที่เหมาะสมในการสร้างความสัมพันธ์หรือปรับตัวให้เข้ากับผู้อื่นได้อย่างดี  อันจะเป็นพื้นฐานสำคัญของกระบวนการพัฒนาตนเองให้มี  “ความสุข”  และ  “ความสำเร็จ”  ซึ่งเป็นความหวังสูงสุดของมนุษย์ทุกคน 

   2.    วิธีการศึกษาตนเอง

              วิธีการศึกษาตนเอง  คือ  วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับตนเอง  เพื่อใช้ในการศึกษาตนเองในทุกด้านๆ  ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี  ดังนี้

              2.1  การศึกษาจากประวัติส่วนตัว  (Personal)

                         การได้ศึกษารายละเอียดและได้รวบรวมข้อมูลต่างๆ จากประวัติส่วนตัวของตนเอง  เป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้บุคคลได้รู้จักตนเองมากขึ้น  ซึ่งอาจศึกษาได้จากแหล่งข้อมูล  ดังต่อไปนี้  

                         ก.    ครอบครัว  (Family)  สถาบันทางสังคมสถาบันแรกที่มีบทบาทสำคัญต่อบุคคลในการหล่อหลอมพฤติกรรมให้กลายเป็นสมาชิกของสังคม  ได้แก่  สถาบันครอบครัว  ในการศึกษาตนเองจากประวัติครอบครัว  ซึ่งสงวน  สุทธิเลิศอรุณ  (2545:  101)  ได้อธิบายว่าบุคคลควรศึกษาจากประวัติของบิดา  มารดาและบรรพบุรุษของตนเองว่า มีประวัติ  เชื้อชาติ  ต้นตระกูล  ถิ่นกำเนิดมาจากที่ใด  มีฐานะทางสังคม  เศรษฐกิจอยู่ในระดับใด  มีโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม  หรือเคยเป็นโรคติดต่อหรือไม่  ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวเป็นอย่างไร  ตลอดจนศึกษาถึงประวัติการได้รับการอบรมเลี้ยงดูของตนเองว่าเป็นอย่างไร  เพื่อจะได้เข้าใจถึงพื้นฐานทางครอบครัวของตนเอง

                        ข.     สถานภาพและบทบาททางสังคม (Status  and  Role)   เป็นการศึกษาประวัติของตนเองว่า  มีสถานภาพและบทบาททางสังคมอย่างไร  เนื่องจากสถานภาพและบทบาททางสังคมมีความสัมพันธ์กันโดยตรงต่อการแสดงออกในพฤติกรรมของบุคคล  สอดคล้องกับเมธาวี  อุดมธรรมานุภาพ (2547: 64)  กล่าวไว้ว่า  เมื่อบุคคลเป็นสมาชิกของสังคมย่อมมีสถานภาพตั้งแต่เริ่มต้นจากการเป็นทารก  เป็นบุตรหญิงหรือบุตรชาย  เป็นลูกคนที่เท่าไร  โสดหรือสมรส  ในความเป็นจริงบุคคลคนหนึ่งอาจมีสถานภาพที่หลากหลายขึ้นอยู่กับบุคคลที่แวดล้อม  สถานที่และเวลา  สถานภาพของบุคคลนำมาสู่การมีบทบาทที่สังคมคาดหวังได้  สิ่งที่กล่าวมานี้นำมาซึ่งพฤติกรรมการแสดงออกและการปรับตัวที่แตกต่างกัน  

                        ค.     การศึกษา  (Education)  เป็นการศึกษาถึงประวัติผลการเรียนของตนเองว่าเป็นอย่างไร  ในแต่ละช่วงการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับสูงสุดที่ได้รับการศึกษา  เช่น  เกรดเฉลี่ยในแต่ละปีการศึกษา  วุฒิบัตร  เกียรติบัตร  รางวัลที่ได้รับ  การเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ หรือพฤติกรรม        

                        ง.    สุขภาพ (Health)   เป็นการศึกษาถึงประวัติของตนเองทางด้านจิตใจและร่างกายว่า เป็นปกติ  หรือผิดปกติแตกต่างไปจากเดิม  มีประวัติการเจ็บป่วยอย่างไรบ้าง  เนื่องจากสิ่งเหล่านี้อาจส่งผลต่อพฤติกรรม

                        จ.    เพื่อน (Friend)   เป็นการศึกษาถึงลักษณะการคบบุคคลว่า  คบหาสมาคมกับบุคคลประเภทใด หรือคบหากับใครบ้างเป็นประจำ  เนื่องจากพฤติกรรมของคนเราได้รับอิทธิพลจากกลุ่มเพื่อน  ทั้งกลุ่มเพื่อนในชุมชน  กลุ่มเพื่อนในสถานศึกษาและกลุ่มเพื่อนร่วมอาชีพ  ซึ่งสามารถสะท้อนภาพลักษณ์ของตนเองได้

                         ฉ.    อารมณ์  (Emotion)  เป็นการศึกษาถึงสภาพจิตใจของตนเองว่า เป็นอย่างไร  เมื่อมีสิ่งเร้าภายนอกมากระตุ้นประสาทสัมผัส  และสิ่งเร้าภายใน  เช่น  ความต้องการ  แรงจูงใจ  ความทรงจำและประสบการณ์

                         ช.    ความต้องการ (Need)  เป็นการศึกษาถึงสิ่งที่ทำให้ตนเองขาดสมดุล  ก่อให้เกิดแรงผลักดันในการแสดงพฤติกรรมอันจะนำไปสู่เป้าหมาย  เพื่อกลับเข้าสู่สมดุลตามเดิม  เช่น คนที่ร่างกายขาดสารอาหาร  ทำให้เกิดความต้องการอาหาร  อาหารก็คือ  เป้าหมาย  ซึ่งก่อให้เกิดแรงผลักดันในการแสดงพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง  เพื่อให้ได้รับประทานอาหาร  เป็นต้น

                         ซ.   เจตคติ  (Attitude)  เป็นการศึกษาถึงความรู้สึกและปฏิกิริยาความพร้อมที่จะกระทำในเชิงบวก  หรือเชิงลบที่มีต่อเป้าหมาย  ได้แก่  บุคคล  สัตว์  สิ่งของ  เรื่องราว  หรือสถานการณ์  ซึ่งเจตคติยังทำหน้าที่ในการสะท้อนความเชื่อ และค่านิยมในส่วนดีของตนเองอีกด้วย 

                         ฌ.   ค่านิยม  (Values)  เป็นการศึกษาถึงสิ่งที่ตนเอง  หรือสังคมคิดและรู้สึกว่ามีคุณค่าควรแก่การยึดถือ  หรืออีกนัยหนึ่งตามที่จำรัส  ด้วงสุวรรณ  (2545: 103)  ได้ให้ความหมายว่า  คุณค่าที่บุคคลหรือสังคมนิยมปฏิบัติกัน  เพราะว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์หรือมีค่าเพียงพอที่จะปฏิบัติตาม  เช่น  ค่านิยมดี  (กุศลกรรม หรือบุญ)  ค่านิยมไม่ดี  (อกุศลกรรม)  ค่านิยมวิชาการ  ค่านิยมเศรษฐกิจ  ค่านิยมทางการเมือง  เป็นต้น     

                         ญ.   แรงจูงใจ  (Motives)  เป็นการศึกษาถึงสภาวะของตนเอง  เมื่อถูกสิ่งเร้ามากระตุ้นให้แสดงพฤติกรรมเพื่อไปยังจุดหมายปลายทางหรือเป้าหมาย  (วิภาพร  มาพบสุข. 2540: 258)  หรืออีกนัยหนึ่งคือ  การศึกษาถึงสิ่งที่ตนเองคาดหวังอันเป็นตัวกระตุ้นให้แสดงพฤติกรรม  โดยสิ่งที่คาดหวังตนเองอาจจะพอใจหรือไม่ก็ได้

              2.2   การใช้วิธีทางจิตวิทยาเพื่อการศึกษาตนเอง

                         ผู้ที่รู้จักตนเองมักจะมีข้อได้เปรียบผุ้อื่นตรงที่เขารู้ว่าเขาเป็นอย่างไร  และสิ่งไหนที่เหมาะกับเขา  เขาจึงสามารถกำหนดวิถีชีวิตที่ตรงกับความต้องการและพื้นฐานทางจิตใจของเขามากที่สุด  ในการเข้าใจตนเองหรือรู้จักความต้องการของตนเอง  เราสามารถใช้วิธีการทางจิตวิทยา  โดยอาศัยเครื่องมือและวิธีการที่หลากหลาย  ดังนี้

                         ก.    การสังเกตและบันทึกพฤติกรรมตนเอง(Observation)  ดังที่เรียม  ศรีทอง (2542: 119)  กล่าวไว้ว่า  การสังเกตและบันทึกพฤติกรรมตนเอง  มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะพฤติกรรม  จำนวนพฤติกรรมและช่วงเวลา  ควรดำเนินการเป็นขั้นตอน  เริ่มจากการกำหนดพฤติกรรมที่ต้องการสังเกต  กำหนดช่วงเวลาการสังเกต  กำหนดวิธีการบันทึกและเครื่องมือที่ใช้สังเกตพฤติกรรม เครื่องมือในการบันทึก  แบบแสดงผลการบันทึกและวิเคราะห์ข้อมูล  ในการสังเกตและบันทึกพฤติกรรมด้วยตนเองต้องทำด้วยความแม่นยำ  ถูกต้อง  ไม่อคติ  และให้การเอาใจใส่ต่อพฤติกรรมของตนเองอย่างชัดเจน  อีกทั้งใน       การสังเกตที่ดีต้องประกอบด้วยจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน (Goal)  ความตั้งใจ (Attention)  การสัมผัส (Sensation)  และการรับรู้ (Perception)  ซึ่งสามารถเขียนเป็นสมการเพื่อให้เข้าใจการสังเกตตนเอง  ดังนี้  (ดัดแปลงจากกมลรัตน์  หล้าสุวงษ์.2527: 31)

                               การสังเกต  =  จุดมุ่งหมาย  +  ความตั้งใจ  +  การสัมผัส  +  การรับรู้

                         ข.    การสังเกตและบันทึกพฤติกรรมโดยผู้อื่น (Observation)  ซึ่งเรียม  ศรีทอง (2542: 120)   กล่าวไว้ว่า  ธรรมชาติโดยทั่วไปของบุคคลมักมีแนวโน้มที่จะเชื่อว่า  รู้จักและเข้าใจตนเองดีพอ  เช่นมองว่า จากการไม่มีอาการเจ็บป่วย  แสดงว่าร่างกายแข็งแรงดี  การยอมตามผู้อื่นโดยไม่ปฏิเสธ  แสดงว่า  ตนเองปรับตัวได้ดี  หรือการดำเนินงานได้สำเร็จก็ยอมรับว่าดีแล้ว  โดยมิได้พิจารณาถึงประสิทธิภาพงาน  เป็นต้น    การตัดสินเช่นนี้ทำให้ปิดโอกาสการพัฒนาต่อไป  จากแนวความคิดการเรียนรู้ทางสังคม  เชื่อว่า  บุคคลสามารถเรียนรู้จากการปฏิสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมของตนและสิ่งแวดล้อม  ดังนั้นการที่บุคคลรับรู้ข้อมูลจาก           การสังเกต  และบันทึกพฤติกรรมจากผู้อื่นที่มีความตรงและความเชื่อมั่น  นับว่าเป็นวิธีทางหนึ่งที่สามารถช่วยให้เราเข้าใจตนเองได้ดีขึ้น

                                 การสังเกตพฤติกรรมของบุคคลมีความสำคัญมาก  เนื่องจากสามารถใช้ได้ทั้งในการศึกษาบุคคลที่เกี่ยวข้องด้านชีววิทยา  จิตวิทยาและสิ่งแวดล้อม  การสังเกตพฤติกรรมของบุคคลเป็นการพิจารณา  รวบรวมข้อมูลรายละเอียด  เพื่อทำความเข้าใจบุคคลทั้งจากอวัจนพฤติกรรมและวัจนพฤติกรรมที่บุคคลแสดงออกโดยทั่วไป  ทั้งนี้การสังเกตและบันทึกพฤติกรรมโดยทั่วไปทำได้หลายวิธี  ดังนี้

                                 -      ระเบียนพฤติการณ์ (Anecdotal  recording)  คือ  การสังเกตและบันทึกพฤติกรรมตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในสถานการณ์หนึ่งๆ  โดยมีสถานที่และเวลาที่กำหนด  และไม่มีการแปลความในขณะสังเกตหรือบันทึกพฤติกรรม

                                 -      การบันทึกความถี่ของพฤติกรรม (Frequency recording)  คือ  การสังเกตจำนวนการเกิดพฤติกรรมในช่วงเวลาหนึ่ง  เช่น  ใน 1 วัน  เรารับประทานอาหารจำนวนกี่มื้อ

                                 -      การบันทึกช่วงเวลา  (Interval  recording)  คือ  การสังเกตและบันทึกพฤติกรรมในช่วงเวลาที่กำหนด  ซึ่งแบ่งออกเป็นช่วง ๆ แล้วเลือกนับเฉพาะช่วงเวลาที่เกิดพฤติกรรมเป้าหมาย  ส่วนมากนิยมใช้สำหรับพฤติกรรมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ยากที่จะนับความถี่  เกณฑ์การบันทึกต้องกำหนดให้ชัดเจน  สอดคล้องกับลักษณะพฤติกรรมเป้าหมายและจุดมุ่งหมายของการปรับปรุง  เช่น  การสังเกตพฤติกรรมการแสดงออกใน 3 นาที  ต้องการสังเกต  8  ครั้ง  ทุกๆ 3 นาที

                                 -      การสังเกตแบบสุ่มเวลา  (Time  Sampling)  คือ  การนับความถี่  หรือจำนวนครั้งของพฤติกรรมในแต่ละช่วงเวลาที่กำหนดจนครบเป้าหมาย  เช่น  สังเกตการณ์ทำงานของพนักงานทุก ๆ        5 นาทีหลังของแต่ละชั่วโมงในเวลาครึ่งวัน  ดังภาพในภาคผนวก

                                 -      การบันทึกความยาวนานของเวลาการแสดงพฤติกรรม (Duration  recording)  คือ  การสังเกตและบันทึกพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกันไป  เช่น  การบันทึกระยะเวลา  การสนทนา  การรับประทานอาหาร  หรือการอ่านหนังสือ    

                         ค.    การสัมภาษณ์  (Interview)  คือ  การสนทนา หรือพูดคุยระหว่างบุคคลตั้งแต่สองขึ้นไปอย่างมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนและมีความเต็มใจ  การสัมภาษณ์มีจุดมุ่งหมายเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล  แนวคิดหรือเพิ่มเติมข้อมูลบางประการที่มิอาจหาได้ด้วยวิธีการอื่น ๆ  ผู้ถูกสัมภาษณ์จะเป็นฝ่ายให้ข้อมูลหรือความคิด ผู้สัมภาษณ์เป็นฝ่ายรวบรวมข้อมูลต่างๆ  ซึ่งข้อมูลดังกล่าวได้จากการตอบคำถาม และข้อมูลจากการสังเกตพฤติกรรม  ดังนั้นในการศึกษาตนเองโดยใช้วิธีการสัมภาษณ์  เราควรเลือกผู้สัมภาษณ์ที่มีทักษะและความชำนาญ  เพื่อจะได้สัมภาษณ์เราได้ตรงตามจุดมุ่งหมาย  ทำให้เราสามารถเข้าใจตนเองได้ดีขึ้น             

                         ง.    การรายงานตนเอง  ซึ่งสมพร  สุทัศนีย์  (2545: 24)  กล่าวไว้ว่า  การรายงานตนเอง  หมายถึง  วิธีการศึกษาพฤติกรรมภายในที่เป็นข้อมูลส่วนตัว  โดยเน้นทางด้านความคิด  อารมณ์  ความรู้สึก      เจตคติและค่านิยม  แต่มักจะมีข้อจำกัดตรงที่มีอคติส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้องมากกว่าการสังเกตจากผู้อื่น  แต่บุคคลสามารถฝึกการสังเกตด้วยตนเองให้ถูกต้องและมีระบบยิ่งขึ้นได้  ทำให้บุคคลสามารถจำแนกสิ่งที่เขารู้สึก  คิดหรือกระทำจากสิ่งที่เขาควรจะรู้สึก  คิด หรือกระทำแล้วรายงานด้วยตนเอง  อีกทั้งเรียม  ศรีทอง (2542: 127)  ได้กล่าวไว้ว่า  การรายงานตนเอง  เป็นวิธีการศึกษาสังเกตและเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับตนเองในเรื่องต่างๆ ได้แก่  การรับรู้ตนเอง  การเรียนรู้ประสบการณ์ของตนเอง  บุคลิกภาพ  เจตคติ  ความเชื่อ  ความทะเยอทะยาน  แรงจูงใจ  ความวิตกกังวลและความเครียด  ซึ่งข้อมูลจากการรายงานตนเองมีความเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมภายในของบุคคล  ซึ่งจะนำไปสู่ความเข้าใจพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องได้ดี  ทั้งนี้การรายงานตนเองสามารถได้มาจากการใช้แบบสอบถาม (Questionnaires)  การทดสอบทางจิตวิทยา  หรือแบบทดสอบทางจิตวิทยา  (Psychological  Testing)  และการวิเคราะห์ตนเอง (Self  Analysis)  และอื่น ๆ (ดังภาคผนวก)

 

ที่มา   ผู้แต่ง  อาจารย์ปัญญฎา  ประดิษฐบาทุกา

         เอกสารประกอบการสอนวิชาพฤติกรรมมนุษย์กับการพัฒนาตน  พ.ศ.2548

         โปรแกรมวิชาจิตวิทยาและการแนะแนว  คณะศึกษาศาสตร์ 

         ม.ราชภัฏจันทรเกษม (ตอนที่ 1 นี้ อยู่ระหว่างหน้า 69-73)



ความเห็น (3)

เรียน ผู้อ่านทุกท่าน

เนื้อหาในบทความนี้ สามารถนำไปใช้ได้หลายแนวทาง เช่น ในการศึกษาและประเมินคนทำงาน ผู้เรียนในทุกระดับ ทำการเก็บข้อมูลคนใกล้ชิด อาทิเช่น เพื่อนร่วมงาน คนรัก พ่อแม่ และยังช่วยในการทำวิจัยทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพได้

ด้วยความรักและจริงใจ

สวัสดีครับ อาจารย์

ดนตร์ นะครับ อิอิ

^__^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท