อุทาหรณ์การแตกสามัคคีของกษัตริย์ลิจฉวีแห่งเวสาลี


อุทาหรณ์การแตกสามัคคีของกษัตริย์ลิจฉวีแห่งเวสาลี

  

ในชมพูทวีปสมัยก่อนพุทธกาลเวสาลีเป็นเมืองที่มีความสำคัญเมืองหนึ่งโดยเป็นเมืองหลวงแห่งแคว้นวัชชีที่เจริญรุ่งเรืองมากแคว้นหนึ่งในบรรดา ๑๖ แคว้น   แคว้นวัชชีมีการปกครองด้วยระบบสามัคคีธรรมหรือคณาธิปไตย  ที่สามารถเรียกได้ว่าเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตยระบบหนึ่ง  คือไม่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขทรงอำนาจสิทธิ์ขาด  มีแต่ผู้เป็นประมุขแห่งรัฐซึ่งบริหารงานโดยความเห็นชอบจากรัฐสภา  ซึ่งประกอบด้วยเหล่าสมาชิกจากเจ้าวงศ์ต่าง ๆ ซึ่งรวมเป็นคณะผู้ครองแคว้น  ในคัมภีร์พระพุทธศาสนากล่าวว่าเจ้าวงศ์ต่าง ๆ มีถึง ๘ วงศ์  และในจำนวนนี้วงศ์เจ้าลิจฉวีแห่งเวสาลีเป็นวงศ์ที่มีอิทธิพลที่สุด

     ในสมัยพุทธกาลกษัตริย์ลิจฉวีเสด็จไปเฝ้าพระพุทธองค์  พระพุทธองค์ทรงเตือนให้ไม่ประมาทอยู่เสมอ โดยทรงแสดงอปริหานิยธรรม ๗ ประการแก่เหล่ากษัตริย์ลิจฉวี  อปริหานิยธรรม แปลว่า ธรรมอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม    พระเจ้าอชาตศัตรูทรงลังเลพระทัยที่จะเปิดศึกกับกษัตริย์ลิจฉวี  ทั้งนี้เหตุว่าพระองค์ได้ทรงทราบข่าวเกี่ยวกับกษัตริย์ลิจฉวีว่าทุกพระองค์ล้วนทรงตั้งมั่นในอปริหานิยธรรม

               อปริหานิยธรรมธำรง                         ทั้งนั้นมั่นคง

มิโกรธมิก้าวร้าวฉาน

              เพื่อธรรมดำเนินเจริญการณ์            ใช่เหตุแห่งหานิย์

เจ็ดข้อจะคัดจัดไข

             หนึ่ง เมื่อมีราชกิจใด                            ปรึกษากันไป

บ่วายบ่หน่ายชุมนุม

                สอง ย่อมพร้อมเลิกพร้อมประชุม     พร้อมพรักพรรคคุม

ประกอบ ณ กิจควรทำ

                สาม นั้นยึดมั่นในสัม                          มาจารีตจำ

ประพฤติมิตัดดัดแปลง

                สี่ ใครเป็นใหญ่ได้แจง                     โอวาทศาสน์แสดง

ก็ยอมและน้อมบูชา

                ห้า นั้นอันบุตรภริยา                         แห่งใครไป่ปรา

รภประทุษข่มเหง

                หก ที่เจดีย์คนเกรง                          มิย่ำยำเยง

ก็เซ่นก็สรวงบวงพลี

                เจ็ด พระอรหันต์อันมี                       ในรัฐวัชชี

ก็คุ้มก็ครองป้องกัน

                สัปดพิธนิติคตินิรันดร์                       สามัคคีธรรม์

ณราชย์นริศลิจฉวี

   ธรรมที่ทำให้เจริญก้าวหน้าไม่ใช่เหตุแห่งความเสื่อม  มี ๗ ประการดังต่อไปนี้  

๑.      เมื่อมีราชกิจใดก็ปรึกษากันไม่งดเว้นและเบื่อหน่ายที่จะเข้าร่วมประชุม

๒.    เข้าประชุมและเลิกประชุมพร้อมกัน  และพร้อมเพรียงกันประกอบกิจอันสมควร

๓.    ยึดมั่นในความประพฤติอันถูกต้องตามแบบแผน

๔.    เชื่อฟังและปฏิบัติตามโอวาทผู้ใหญ่

๕.    ไม่ล่วงเกินบุตรภรรยาผู้อื่น

๖.     เคารพในสถานที่ที่ผู้อื่นยกย่องนับถือ

๗.    ให้ความอุปการะคุ้มครองพระอรหันต์ที่อยู่ในแคว้นวัช

    กษัตริย์ลิจฉวีทุกพระองค์ต่างยึดมั่นในอปริหานิยธรรม  เป็นเหตุให้เมืองเวสาลีเจริญรุ่งเรือง  เข้มแข็ง  แม้พระเจ้าอชาตศัตรูจะยกทัพมาทำสงครามด้วยหลายครั้งก็ไม่อาจเอาชนะได้  ภายหลังพุทธปรินิพพาน  เมืองเวสาลีที่เคยรุ่งเรืองและเข้มแข็งกลับต้องตกไปอยู่ในอำนาจของพระเจ้าอชาตศัตรูแห่งแคว้นมคธ  โดยเหตุแห่งการเสียเมืองแก่แคว้นมคธเพราะการแตกแยกความสามัคคีของกษัตริย์ลิจฉวีทำให้พระเจ้าอชาตศัตรูยกกองทัพเข้ายึดเมืองได้อย่างง่ายดาย เวสาลีจึงอยู่ภายใต้การปกครองของแคว้นมคธ  มิได้อยู่ในฐานะเมืองหลวงแห่งแคว้นวัชชีอีกต่อไป

หมายเลขบันทึก: 315457เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2009 13:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท