เทศนาเรื่อง ทุกข์ (แสดงแก่บุบาสกอุบาสิกาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๑)


ความจริง ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นที่ตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้น ที่ดับไป นอกจากทุกข์แล้ว ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์แล้ว ไม่มีอะไรดับ

  

                     นโม..........................  ๓  จบ 

           ทุกฺขเมว  พิ  สมฺโภติ          ทุกฺขํ  ติฏติ  เวติ  จ

           นาญฺตฺร  ทุกฺขาสมโภติ      นาญฺตฺร  ทุกฺขานิรุชฺฌติ.

          ความจริง  ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น  ทุกข์เท่านั้นที่ตั้งอยู่  ทุกข์เท่านั้น ที่ดับไป  นอกจากทุกข์แล้ว  ไม่มีอะไรเกิด  นอกจากทุกข์แล้ว  ไม่มีอะไรดับ. (วชิรสูตร   ๑๕/๕๕๒)

          บัดนี้  อาตมภาพจักได้ชี้แจงแสดงพระสัทธรรมเทศนา  พรรณนาเรื่อง  ทุกข์  ตามหลักธรรมคำสั่งสอนแห่งองค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า  เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญาและส่งเสริมศรัทธาความเชื่อความเลื่อมใส  ในพระรัตนตรัย แห่งท่านอุบาสกอุบาสิกาผู้มาร่วมประพฤติวัตรปฎิบัติธรรมในทุกๆวันธัมมัสสวนะ ถ้วนไตรมาสในอาวาสแห่งนี้  พอสมควรแก่กาลเวลา ต่อไป

        ความหมายโดยทั่วไป  ทุกข์ หมายถึง ความยาก, ความลำบาก, ความวิบัติ, ความชั่วร้าย,  ความเดือดร้อน          

            ความหมายตามแนวทางของพระพุทธศาสนา  ทุกข์  หมายถึง 

            ๑)  สภาพที่ทนอยู่ได้ยาก, สภาพที่คงทนอยู่ไม่ได้  เพราะถูกบีบคั้นด้วยความเกิดขึ้นและความดับสลาย  เนื่องจากต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่ไม่ขึ้นต่อตัวมันเอง (ข้อ ๒ ในไตรลักษณ์) 

            ๒)  อาการแห่งทุกข์ที่ปรากฏขึ้นหรืออาจปรากฏขึ้นได้แก่คน (ได้ในคำว่า ทุกขสัจจะ หรือทุกขอริยสัจ   ซึ่งเป็นข้อที่ ๑ ในอริยสัจ ๔)

            ๓) สภาพที่ทนได้ยาก, ความรู้สึกไม่สบาย ได้แก่  ทุกขเวทนา,  ถ้ามาคู่กับโทมนัส (ในเวทนา ๕) ทุกข์ หมายถึง ความไม่สบายกายคือทุกข์กาย  (โทมนัส คือ ไม่สบายใจ) แต่ถ้ามาลำพัง (ในเวทนา ๓) ทุกข์ หมายถึง  ความไม่สบายกายไม่สบายใจ คือ ทั้งทุกข์กายและทุกข์ใจ  

ทุกข์ในอริยสัจ ๔

          พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้ ความจริงอันประเสริฐ คือ อริยสัจ ๔ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อันเป็นแก่นธรรมในพระพุทธศาสนา

          ๑. ทุกข์ คือ สภาวะที่ทนได้ยาก  ได้แก่ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความปรารถนาสิ่งใดไม่ได้  ในสิ่งนั้น การประจวบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก เหล่านี้เป็นทุกข์ ซึ่งตัวทุกข์นั้น หมายถึง ขันธ์ ๕ 

       ทุกข์ในอริยสัจ ๔ ก็คือทุกขเวทนาหรือความรู้สึกที่เป็นทุกข์ ซึ่งก็คือความทุกข์ในความหมายของคนทั่ว ๆ ไปนั่นเอง ทุกขเวทนามี ๒ ทางคือ   ทุกข์ทางกาย (กายิกทุกข์) กับ ทุกข์ทางใจ  (เจตสิกทุกข์)

          กายิกทุกข์  = ทุกข์ทางกาย  หมายถึง ทุกข์ที่มีกายเป็นเหตุ ได้แก่ ทุกข์ที่เกิดจากความหนาว ความร้อน ความป่วยไข้ ความบาดเจ็บ ความหิวกระหาย ความเสื่อมสภาพของร่างกาย ทุกข์ที่เกิดจากการที่ต้องคอยประคบประหงม ดูแลบำรุงรักษาทำความสะอาดร่างกาย และความทุกข์อื่นๆ อันมีกายเป็นต้นเหตุอีกเป็นจำนวนมาก ทุกข์ทางกายเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดมาคู่กับร่างกาย เป็นสิ่งที่เลี่ยงได้ยาก ตราบใดที่ยังมีร่างกายอยู่ก็ต้องทนกับทุกข์ทางกายนี้เรื่อยไป  ไม่มีวันพ้นไปได้  แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นผู้ที่สร้างสมบุญบารมีมาอย่างมากมาย มากกว่ามนุษย์และเทวดาทั้งหลาย ก็ยังต้องทนทุกข์ทางกายนี้จนกระทั่งถึงวันปรินิพพาน  สมกับคำที่ว่า  การเกิด  ทุกคราวเป็นทุกข์ร่ำไป

       เจตสิกทุกข์ = ทุกข์ทางใจ หมายถึง ทุกข์ที่เกิดจากการปรุงแต่งของใจ ทุกข์ทางใจนี้ส่วนหนึ่งมีทุกข์ทางกายเป็นสิ่งเร้าให้เกิด เช่น เมื่อได้รับบาดเจ็บหรือป่วยไข้ขึ้นมาทำให้เกิดทุกข์ทางกายขึ้นแล้ว ต่อมาก็เกิดความกังวลใจ    ความหวาดกลัวขึ้นมาอีกว่าอาจจะรักษาไม่หาย อาจจะต้องสูญเสียอวัยวะไป หรืออาจจะต้องถึงตาย  ซึ่งความกังวลความหวาดกลัวเหล่านี้จะก่อให้เกิดทุกข์ทางใจขึ้นมา ทุกข์ทางใจ  อีกส่วนหนึ่งเกิดขึ้นโดยไม่มีทุกข์ทางกาย        เป็นต้นเหตุ เช่น ความทุกข์จากการประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักที่พอใจ ความทุกข์จากการพลัดพรากจาก  สิ่งที่เป็น  ที่รัก  ที่พอใจ ทุกข์จากการไม่ได้ในสิ่งที่ปรารถนา ทุกข์จากความโกรธ ความขัดเคืองใจ ทุกข์จากความกลัว ทุกข์จากความกังวลใจ ความคับแค้นใจ ทุกข์จากความกลัวว่าความสุขที่มีอยู่จะต้องหมดไป ทุกข์จากความกลัวความทุกข์ยากลำบากที่อาจจะมีขึ้นในอนาคตทุกข์จากการกลัวความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ เสื่อมสรรเสริญ และทุกข์ทางใจอื่นๆ    อีกนับไม่ถ้วน

          โดยสรุป ทุกข์ทางใจทั้งหมดล้วนมีต้นเหตุมาจากความโลภ ความโกรธ  และความยึดมั่นถือมั่น 

        ทุกข์จากความโลภ ตามหลักอภิธรรมแล้วความโลภจะไม่ประกอบด้วยความทุกข์  เพราะความโลภจะเกิดขึ้นพร้อมกับความดีใจ หรือเกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ (อุเบกขา) เท่านั้น ที่กล่าวว่าความทุกข์ที่มีต้นเหตุมาจาก  ความโลภในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าความทุกข์นั้นเกิดพร้อมกับความโลภ แต่เป็นความทุกข์อันมีความโลภเป็นเบื้องต้น และมีความทุกข์เป็นเบื้องปลาย  อันได้แก่ ความทุกข์ที่เกิดจากความกลัวจะไม่ได้ในสิ่งที่ตนอยากได้ ทุกข์จากการที่ต้องดิ้นรนขวนขวายเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตนอยากได้ เป็นต้น

       ทุกข์จากความโกรธ ความโกรธนั้นไม่ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใดก็นำทุกข์มาให้เมื่อนั้น เพราะความโกรธจะทำให้จิตใจต้องเร่าร้อนดิ้นรน  เกิดความกระทบ กระทั่งภายในใจ ทำให้จิตใจเศร้าหมอง ความโลภนั้น   ในเบื้องต้น        ยังพอจะนำความสุขมาให้ได้บ้าง (ในขณะที่เกิดความเพลิดเพลินยินดี) แต่ความโกรธนั้นนำมาแต่ความทุกข์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ตัวอย่างของความทุกข์จากความโกรธ  เช่น ทุกข์จากความไม่พอใจ ขัดเคืองใจ  คับแค้นใจ กังวลใจ  ความกลัว ความหวาดระแวง ความมองโลกในแง่ร้าย  ความไม่สบายใจ ความอิจฉาริษยา ความพยาบาทอาฆาตแค้น  เป็นต้น

       ทุกข์จากความยึดมั่นถือมั่น  สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรูปธรรมหรือนามธรรม ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายวัตถุหรือฝ่ายจิตใจก็ตาม ถ้าเราไปยึดมั่นถือมั่นเข้าแล้วก็ล้วนนำทุกข์มาให้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะยึดว่าเป็นเรา เป็นของของเรา เป็นตัวเป็นตนของเรา ยึดว่าเป็นเขา เป็นของของเขา ยึดว่าเป็นสิ่งที่เราชอบใจ เป็นสิ่งที่เราไม่ชอบใจ ยึดว่า  เป็นคนที่เคยทำร้ายเรา เคยด่าเรา ยึดว่าเป็นญาติพี่น้อง เป็นศัตรู เป็นครูอาจารย์ เป็นผู้ที่เราเคารพนับถือ ยึดว่า  เป็นนาย เป็นบ่าว เป็นเพื่อน เป็นหน้าที่การงาน ฯลฯ ไม่มีสิ่งใดเลย ที่ยึดมั่นถือมั่นแล้วจะไม่นำทุกข์มาให้ แม้แต่ยึดในบุญกุศล ความดี มรรค ผล นิพพาน ก็ตามที  (อริยบุคคลนั้นไม่ยึดในรูปนามทั้งหลาย ไม่ยินดีในการเกิดก็จริง  แต่ก็ไม่ได้ยึดมั่นในมรรค ผล นิพพาน)

          เพราะการยึดในสิ่งที่เราไม่ชอบใจก็ย่อมจะทำให้เกิดความขัดเคืองใจ โกรธ ไม่พอใจ คับแค้นใจ กลัว ฯลฯ พูดง่ายๆ ก็คือเป็นต้นเหตุของความทุกข์จากความโกรธนั่นเอง ส่วนการยึดในสิ่งที่เราชอบใจก็จะทำให้เกิดทุกข์อันมีต้นเหตุมาจากความโลภ นอกจากนี้ยังจะทำให้เกิดทุกข์จากความกลัว การพลัดพรากสูญเสียสิ่งเหล่านั้นไป ทุกข์จากการต้องคอยทะนุถนอม บำรุงรักษา เก็บรักษาไว้ ต้องคอยปกป้อง ห่วงใย ต้องคอยดูแลเอาใจใส่ ไม่เป็นอิสระ และถ้าต้องสูญเสียสิ่งเหล่านั้นไปก็จะยิ่งเป็นทุกข์ขึ้นไปอีกมากมายนัก ส่วนการยึดในบุญนั้นก็ต้องเป็นทุกข์จากการรอคอยว่าเมื่อไร ผลบุญถึงจะตอบสนอง ยึดในบาปก็เป็นทุกข์กลัวกรรมจะตามสนอง

            สรุป คือ ยึดสิ่งไหนก็ทุกข์เพราะสิ่งนั้น ถ้าเราไม่ยึดมั่น  ถือมั่นสิ่งใดเลยความทุกข์ทางใจทั้งหลายก็ไม่อาจจะเกิดขึ้นกับเราได้เลย 

 

ทุกข์  ๑๒ 

            ทุกขอริยสัจ  มีความหมายเท่ากับ ทุกขัง  ซึ่งพระพุทธองค์ได้ให้ความหมายของสิ่งที่เรียกว่า ทุกข์ เป็นชุดไขความสำหรับแสดงความหมายของ ทุกข์ในอริยสัจ  ๔  มีดังนี้ 

          ๑. ชาติ หมายถึง ความเกิด ความบังเกิด ความหยั่งลงเกิด  เกิดจำเพาะ ความปรากฏแห่งขันธ์ ความได้อายตนะครบในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ ความเกิดเป็นทุกข์  เพราะเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ต่างๆ เป็นอเนกประการ คือ

          ก)  คัพโภกกันติมูลกทุกข์  ทุกข์เกิดจากการเกิดอยู่ในครรภ์  อยู่ในที่อันแสนจะคับแคบอึดอัด  มืดตื้อ  แออัดด้วยสิ่งที่น่ารังเกียจ  ดุจหนอนในของเน่าหรือในน้ำครำ

          ข)  คัพภปริหรณมูลกทุกข์  ทุกข์เกิดจากการบริหารครรภ์  มารดาจะขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว ลุกนั่งเดินวิ่งแรงหรือเบากินดื่มของร้อนเย็นเปรี้ยวเผ็ด เป็นต้น  มีผลกระทบต่อเด็กในครรภ์ทั้งสิ้น

          ค)  คัพภวิปัตติมูลกทุกข์  ทุกข์ที่เกิดจากการวิบัติของครรภ์  เช่น  ท้องนอกมดลูก  เด็กตายในครรภ์ต้องผ่าตัดออก เป็นต้น

          ง)  วิชายนมูลกทุกข์  ทุกข์เกิดจากการคลอด ทั้งถูกกระทุ้งกระแทก  พลิกหัน ทั้งถูกกดถูกบีบถูกอัดกว่าจะผ่าช่องอันแสนแคบออกมาได้  เจ็บปวดแสนสาหัส

          จ)  พหินิกขมนมูลกทุกข์  ทุกข์เกิดจากการออกมาภายนอก เด็กแรกคลอด  มีร่างกายและผิวละเอียดอ่อน ดังแผลใหม่ถูกสัมผัสจับต้อง  เช็ดล้างแสนเจ็บแสบ

          ฉ) อัตตุปักกมมูลกทุกข์ ทุกข์เกิดจากทำตัวเอง เช่น ฆ่าตัวตายบ้าง  ประพฤติบำเพ็ญตบะทรมานตนบ้าง  โกรธเคืองเขา แล้วไม่กินข้าว หรือทำร้ายตัวเองบ้าง เป็นต้น

            ช)  ปรุปักกมมูลกทุกข์  ทุกข์เกิดจากคนอื่นทำให้  เช่น ถูกฆ่า ถูกจองจำ  ถูกทำร้าย เป็นต้น

          ๒.  ชรา  หมายถึง  ความแก่ ภาวะของความแก่ ฟันหลุด ผมหงอก หนังเป็นเกลียว ความเสื่อมแห่งอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ

            ความแก่ ทำให้อวัยวะทั้งหลายย่อหย่อนอ่อนแอ อินทรีย์คือ ตา หู  จมูก  ลิ้น  กาย ใจ ทำหน้าที่บกพร่องผิดเพี้ยน กำลังวังชาเสื่อมถอย หมดความแคล่วคล่อง ว่องไว  ผิวพรรณไม่งดงามผ่องใส หนังเหี่ยวย่น  ความจำเลอะเลือนเผลอไผล  เสื่อมอำนาจและความเป็นเสรี  ทั้งภายนอกและภายใน เกิดทุกข์กายและทุกข์ใจได้มาก

          ๓.  มรณะ  หมายถึง ความตาย  ความเคลื่อน  ภาวะของความเคลื่อน ความแตกทำลาย ความหายไป มฤตยู ความตาย ความทำกาละ ความทำลายแห่งความทอดทิ้งซากศพไว้  ความขาดแห่งชีวิตินทรีย์ จากหมู่สัตว์นั้นๆ    ยามจะสิ้นชีพ เคยทำชั่วไว้ ก็เห็นนิมิตของบาปกรรม มีคนหรือของรักก็ต้องพลัดพรากจากไป ส่วนประกอบ  ในร่างกาย ก็พากันหยุดทำหน้าที่ ทุกข์ทางกายก็อาจมีมาก จะทำอะไร  จะแก้ไขอะไรก็ทำไม่ได้ แก้ไขไม่ได้

            ๔.  โสกะ  หมายถึง  ความเศร้าโศก ความแห้งใจ กิริยาที่แห้งใจ ภาวะแห่งบุคคลผู้แห้งใจ  ความผาก ณ ภายใน  ความแห้งผาก ณ ภายใน ของบุคคลผู้ประกอบด้วยความพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ถูกธรรมคือทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว  เช่น เมื่อสูญเสียญาติเป็นต้น

            ๕.  ปริเทวะ  หมายถึง  ความคร่ำครวญ ความร่ำไรรำพัน กิริยาที่คร่ำครวญ กิริยาที่ร่ำไรรำพัน ภาวะของบุคคล  ผู้คร่ำครวญ ภาวะของบุคคลผู้ร่ำไรรำพัน ของบุคคลผู้ประกอบด้วยความพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ถูกธรรมคือ ทุกข์  อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว  ได้แก่ บ่นเพ้อไปต่างๆ เช่น เมื่อสูญเสียญาติ

            ๖.  ทุกข์  ความทุกข์กาย  (กายิกทุกข์)  หมายถึง ความลำบากทางกาย ความไม่สำราญทางกาย ความเสวยอารมณ์อันไม่ดีที่เป็นทุกข์เกิดแต่กายสัมผัส อันนี้เรียกว่า ทุกข์  ได้แก่  เจ็บปวด  เช่น  กายบาดเจ็บ  ถูกบีบคั้น  เป็นโรค เป็นต้น 

           ๗.  โทมนัส  หมายถึง ความทุกข์ทางจิต ความไม่สำราญทางจิต  ความเสวยอารมณ์อันไม่ดีที่เป็นทุกข์เกิดแต่มโนสัมผัส (เจตสิกทุกข์) ได้แก่ เจ็บปวดรวดร้าวใจที่ทำให้ร้องไห้ ตีอกชกหัว ลงดิ้น เชือดตัวเอง กินยาพิษ  ผูกคอตาย เป็นต้น

            ๘.  อุปายาส  หมายถึง ความแค้น ความคับแค้น ภาวะของบุคคลผู้แค้น  ภาวะของบุคคลผู้คับแค้น ของบุคคลผู้ประกอบด้วยความพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ถูกธรรมคือทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว ความคับแค้น หรือสิ้นหวัง ได้แก่ เร่าร้อน ทอดถอนใจ ในเมื่อความโศกเศร้าเพิ่มทวี เป็นต้น

          ๙.  อัปปิยสัมปโยค  การประสบคนหรือสิ่งซึ่งไม่เป็นที่รัก ความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์  หมายถึง ความประสบความพรั่งพร้อม ความร่วม ความระคน ด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ     อันไม่น่าปรารถนาไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ หรือด้วยบุคคลผู้ปรารถนาสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์  ปรารถนาสิ่งที่ไม่เกื้อกูล  ปรารถนาความไม่ผาสุก ปรารถนา  ความไม่เกษมจากโยคะ  (กิเลส) ซึ่งมีแก่ผู้นั้น เช่น ต้องพบเกี่ยวข้องกับคนที่ไม่ชอบหรือชิงชัง    เป็นต้น

          ๑๐.  ปิยวิปโยค   การพลัดพรากจากคนหรือสิ่งอันเป็นที่รัก เช่น จากญาติ  จากคนรัก  สูญเสียทรัพย์สิน เป็นต้นความพลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นทุกข์ หมายถึง  ความไม่ประสบความไม่พรั่งพร้อม ความไม่ร่วม ความไม่ระคน ด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หรือด้วยบุคคลผู้ปรารถนา  ประโยชน์ ปรารถนาสิ่งที่เกื้อกูล ปรารถนาความผาสุก ปรารถนาความเกษมจาก  โยคะ  คือ  มารดา บิดา พี่ชาย น้องชาย         พี่หญิง น้องหญิง มิตร  อมาตย์ หรือ ญาติสายโลหิต ซึ่งมีแก่ผู้นั้น  

          ๑๑. อิจฉิตาลาภ การไม่ได้สิ่งที่ปรารถนา คือปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สมหวัง  ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้   แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์ หมายถึง ความปรารถนาย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความเกิดเป็นธรรมดา อย่างนี้ว่า ขอเราไม่พึงมีความเกิดเป็นธรรมดา ขอความเกิดอย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่าปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้น ก็เป็นทุกข์ ความปรารถนาย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความแก่เป็นธรรมดา อย่างนี้ว่า     ขอเราไม่พึงมีความแก่เป็นธรรมดา ขอความแก่อย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา

          ความปรารถนาย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความเจ็บเป็นธรรมดา อย่างนี้ว่า  ขอเราไม่พึงมีความเจ็บเป็นธรรมดา ขอความเจ็บอย่ามีมาถึง เราเลย  ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่า ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์ ความปรารถนาย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดาอย่างนี้ว่า ขอเราไม่พึงมีความตายเป็นธรรมดา ขอความตายอย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่าปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์ ความปรารถนา ย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีโสกะ-ปริเทวะ-ทุกข์-โทมนัส-อุปายาส เป็นธรรมดาอย่างนี้ว่า ขอเราไม่พึงมีโสกะ-ปริเทวะ-ทุกข์-โทมนัส-อุปายาส เป็นธรรมดา ขอโสกะ-ปริเทวะ-ทุกข์-โทมนัส-อุปายาส อย่ามีมาถึงเราเลย  ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าปรารถนา สิ่งใดไม่ได้  แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์   

          ๑๒.  อุปาทานขันธ์  ขันธ์ทั้ง ๕  คือ  รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ  ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน กล่าวคือ  ทุกข์ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น เป็นทุกข์ของอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕  เมื่อว่าโดยสรุปหรือรวบยอดก็คือ อุปาทานขั้น ๕    เป็นทุกข์  เป็นโทษ  เป็นภัยที่สุด  ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรียกว่า ทุกขอริยสัจ   

 

ทุกข์ในไตรลักษณ์

            ทุกขตา  (Stress  and  Conflict) ความเป็นทุกข์  ภาวะที่ถูกบีบคั้นด้วยการเกิดขึ้นและสลายตัว  ภาวะที่กดดันฝืนและขัดแย้งอยู่ในตัว  เพราะปัจจัยที่ปรุงแต่งให้มีสภาพเป็นอย่างนั้นเปลี่ยนแปลงไปจะทำให้คงอยู่ในสภาพนั้นไม่ได้  ภาวะที่ไม่สมบูรณ์  มีความพร่องอยู่ในตัว  ไม่ให้ความสมอยากแท้จริง  หรือความพึงพอใจเต็มที่แก่ผู้อยากด้วยตัณหา  และก่อให้เกิดทุกข์แก่ผู้เข้าไปอยากเข้าไปยึดด้วยตัณหาอุปาทาน  หมายความว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงมีลักษณะที่เป็นทุกข์มองดูแล้วน่าสังเวชใจ ทำให้เกิดความทุกข์ใจแก่ผู้ที่ไม่มีความเห็นอย่างแจ่มแจ้งในสิ่งนั้นๆ

 

ทุกข์  ๑๐  ประการ

          ทุกข์ตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎกนั้นมีปรากฏหลายแห่ง แต่โดยสรุปแล้ว  ในความเป็นทุกข์แห่งสังขารเรียกว่า “ทุกฺขตา” และลักษณะที่แห่งทุกขลักษณะ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระวชิรญาณวโรรส ได้ทรงรวบรวมทุกข์ชนิดต่างๆ เท่าที่มีอยู่ในคัมภีร์พระไตรปิฎกมาไว้ในที่เดียวกัน  ทำให้เรามีบัญชีทุกข์ที่สมบูรณ์แบบที่สุด  และ ทำให้มองเห็นทุกข์ได้อย่างชัดเจน  โดยทรงจำแนกทุกข์ไว้ถึง  ๑๐  ประการ คื

          ๑. นิพัทธทุกข์  ทุกข์เนืองนิตย์ หรือทุกข์เป็นนิตย์ ทุกข์ตลอดเวลา ได้แก่ ความไม่สลายกายที่เกิดจากอากาศหนาว อากาศร้อน ความหิว  ความกระหาย  อาการปวดอุจาระ  อาการปวดปัสสาวะ  ทุกชนิดนี้เป็นทุกข์  ทางกาย (กายิกทุกข์)  เกิดจากเหตุ คือ ความไม่สมบูรณ์ หรือความพร่องของสังขารร่างกายนั่นเอง  เป็นทุกข์สากล    ทุกชีวิตที่มีสังขาร  ร่างกายต้องได้เสวยทุกข์ชนิดนี้  ไม่มีข้อยกเว้น

          ๒.  พยาธิทุกข์  ทุกข์อันเนื่องมาจากโรค  หรือความเจ็บป่วยต่างๆได้แก่ ทุกข์อันเกิดจากโรคภัยไข้เจ็บ  เป็นทุกข์ทางกาย  และเกิดมาจากสมุฏฐานเดิม คือ ความไม่สมบูรณ์ของร่างกาย นั่นเอง

          ๓.  อาหารปริเยฏฐิทุกข์  หรือ อาชีวทุกข์  ทุกข์ในการทำมาหากินหมายถึง ความไม่สบายกายไม่สบายใจที่เกิดจากการแสวงหาอาหารมา    เลี้ยงชีพ ถ้าจะพูดตามภาษาสมัยใหม่ก็ควรเรียกว่าทุกข์ทางเศรษฐกิจ  หมายถึง ความลำบากในการแสวงหาปัจจัยต่างๆ มาบำรุงเลี้ยงชีวิตนั่นเอง

          ๔. สภาวทุกข์ ทุกข์ตามสภาพของสังขาร ได้แก่ ความเกิด     ความแก่  และความตาย  เป็นทุกข์ทางกาย  เกิดจากความไม่สมบูรณ์ของสังขารร่างกายเอง  ความเกิดเป็นทุกข์  เพราะเป็นก้าวแรกที่เดินไปสู่ความแก่ และความตาย เพราะมีเกิดจึงมีแก่ มีตาย  ถ้าไม่เกิดก็ไม่แก่ไม่ตาย  ดังนั้น  ความเกิดจึงเป็นทุกข์ร้ายแรง ยิ่งกว่าความแก่และความตายเสียอีก ความแก่ เป็นทุกข์  เพราะสังขารร่างกายทรุดโทรม  ใช้การไม่ได้ดี และเต็มไปด้วย   ความเจ็บปวด  ความตายเป็นทุกข์  เพราะเป็นการแตกดับของสังขารก่อนจะถึงวาระสุดท้ายผู้ตายเองก็เกิดความหวาดกลัว  ความอาลัยในชีวิต  ความห่วงญาติมิตรและทรัพย์สมบัติ  เต็มไปด้วยความเจ็บ ญาติมิตรก็อาลัยอาวรณ์     เป็นกระบวนการธรรมชาติของสังขตธรรมทั่วไป แม้แต่สิ่งไร้ชีวิตจิตใจ เช่น ก้อนหิน  เมื่อเกิดขึ้นก็ต้องแก่  ต้องตายเหมือนกัน

            ๕. วิวาทมูลกทุกข์  ทุกข์อันมีวิวาทเป็นมูลเหตุ  ได้แก่ ความทุกข์ที่เกิดจากการทะเลาะวิวาทหรือขัดแย้งกับผู้อื่น ทุกข์ชนิดนี้เป็นทุกข์ทางสังคม  เพราะเกี่ยวข้องกับผู้อื่น เกิดจากเหตุ  คือความแตกต่างกันของมนุษย์ คนเรามีอุปนิสัย  นิสัย  อารมณ์ และความต้องการไม่เหมือนกัน เมื่อมาอยู่ด้วยกันก็อดที่จะขัดแย้งกันไม่ได้  ในที่สุดการทะเลาะวิวาทก็เกิดขึ้น  ทำให้เกิดการรุ่มร้อนใจ  บางรายการทะเลาะวิวาทก็กลายเป็นการต่อสู้ทำลายล้างผลาญกัน ก่อให้เกิดความเจ็บปวดความเสียหายและแม้กระทั่งตายไปทั้งสองข้างก็มี

          ๖. สหคตทุกข์  ทุกข์ไปด้วยกัน  ได้แก่ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ  ที่เกิดจากการเอาใจใส่ดูแล ทะนุถนอม ลาภ (ทรัพย์) ยศ สรรเสริญ และความสุข  ทุกข์ชนิดนี้พออนุโลมในทุกข์ทางสังคมได้  เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องกับคนอื่นและสิ่งแวดล้อมอยู่มาก

          ๗. วิปากทุกข์  ทุกข์อันเกิดจากวิบาก คือ ผลของกรรม ได้แก่ ความไม่สบายกายไม่สบายใจที่เกิดจากกรรมชั่วที่ตนได้กระทำแล้ว  ทั้งในชาตินี้และชาติก่อน  เป็นทั้งทุกข์ทางกาย ทางใจ และทุกข์ทางสังคม เพราะต้องเกี่ยวข้องกับคนอื่น เกิดจากเหตุ คือการกระทำของตนเองที่ได้กระทำไว้ทั้งในชาติก่อนและชาตินี้

          ๘. ปกิณณกทุกข์  ทุกข์จร ได้แก่  ทุกข์ใจที่เกิดจากการพลัดพรากจากคนรักของรัก การต้องอยู่กับคนที่ตนเกลียดของที่ตนเกลียด และการไม่ได้สมหวัง

          ๙. สันตาปทุกข์  ทุกข์เพราะถูกกิเลสเผาให้เร่าร้อน  ได้แก่ ความทุกข์ใจที่เกิดจากถูกกิเลสบางอย่างเผาลน เช่น ความโลภ ความโกรธ  ความอิจฉา  ริษยา  ความใคร่ เป็นต้น  กิเลสเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วทำให้ใจเดือดร้อนวุ่นวาย  คนที่ขาดสติและธรรมะมักจะถูกกิเลสเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งเผาลนจิตใจอยู่แทบตลอดเวลา  วันหนึ่งๆ แทบจะหาความสุขสงบใจแม้ชั่วขณะก็ไม่ได้  โลกยิ่งเจริญขึ้น สันตาปทุกข์ก็ยิ่งมากขึ้นตามส่วน  คนโลภมาก  โกรธมาก  หลงมากตามสิ่งแวดล้อมเป็นโรคจิต  โรคประสาทกันมากขึ้น

         ๑๐. ทุกขขันธ์  หมายถึง ความทุกข์รวมยอด  เกิดจากการที่คนเราเกิดมามีขันธ์ทั้ง ๕  คือ ชีวิตร่างกายนี้เอง เพราะขันธ์ทั้งห้าอันเป็นที่ตั้ง แห่งความยึดถือนี้เป็นทุกข์ คือ ขันธ์ทั้ง ๕  ที่คนเข้าไปยึดถือว่าเป็นตัวกูของกูนั่นแหละ

จึงเป็นความทุกข์  และขันธ์ทั้ง ๕ นั้นเป็นทุกข์ในตัวของมันเอง เพราะมันมีความแปรปรวน มีเกิดขึ้น  ตั้งอยู่ ดับไป  มันไม่เที่ยง  เพราะไม่เที่ยงจึงเป็นทุกข์  เพราะเป็นทุกข์จึงเป็นอนัตตา 

          ทุกขขันธ์ หรือทุกข์เพราะการเกิดมามีขันธ์ทั้ง ๕ นี้ พอจะเรียกได้   อีกอย่างหนึ่งว่า วัฏสงสารทุกข์  คือความทุกข์ที่เกิดจากการเวียนว่ายตายเกิด  ท่านเรียกว่าเป็นทุกข์รวมยอดหรือทุกข์เบ็ดเสร็จ  เพราะเป็นที่รวมของทุกข์อื่นๆ ทั้งหมด  เพราะเราเกิดมามีขันธ์ ๕ ทุกข์อื่นๆ ทั้ง ๙  ชนิดจึงเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่เกิดเสียอย่างเดียว ทุกข์อื่นๆ  ก็ดับหมด  เพราะไม่มีที่จะให้เกิด 

          ทุกขตา  ๓ หรือ ทุกข์ ๓  เป็นชุดสำคัญที่มีพุทธพจน์แสดงไว้เป็นหลักครอบคลุมความหมายทั้งหมดของ  ทุกข์ในไตรลักษณ์ คือ

          ๑.  ทุกขทุกขตา หรือ ทุกขทุกข์  ทุกข์ที่เป็นความรู้สึกทุกข์ ได้แก่  ความทุกข์ทางกาย  (กายิกทุกข์) และความทุกข์ทางใจ (เจตสิกทุกข์)  อย่างที่เข้าใจกันโดยสามัญ  ตรงตามชื่อและตามสภาพ เช่น  ความเจ็บปวด        ไม่สบาย  เมื่อยขบ เป็นต้น หมายถึง ทุกขเวทนานั่นเอง

            ๒. วิปริณามทุกขตา หรือวิปริณามทุกข์ ทุกข์เนื่องด้วยความผันแปร  หรือทุกข์ที่แฝงอยู่ในความแปรปรวน ได้แก่ ความรู้สึกสุขหรือสุขเวทนา   ซึ่งเมื่อว่าโดยสภาวะที่แท้จริงก็เป็นเพียงทุกข์ในระดับหนึ่ง หรือในอัตราส่วนหนึ่ง สุขเวทนานั้นจึงเท่ากับเป็นทุกข์แฝง หรือมีทุกข์ตามแฝงอยู่ด้วยตลอดเวลา  ซึ่งจะกลายเป็นความรู้สึกทุกข์ หรือก่อให้เกิดทุกข์ขึ้นได้ในทันทีเมื่อใดก็ตามสุขเวทนานั้นแปรปรวนไป พูดอีกอย่างหนึ่งว่า สุขเวทนานั้น ก่อให้เกิดทุกข์ เพราะความไม่จริงจัง  ไม่คงเส้นคงวาของมันเอง (อธิบายอีกนัยหนึ่งว่า สุขเวทนา ก็คือ ทุกข์ที่ผันแปรไปในระดับหนึ่งหรืออัตราส่วนหนึ่ง)

          ๓.  สังขารทุกขตา หรือ สังขารทุกข์  ทุกข์ตามสภาพสังขาร คือ  สภาวะของสังขารทุกสิ่งทุกอย่าง หรือ  สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดจากเหตุปัจจัย ได้แก่  ขันธ์  ๕ ทั้งหมดเป็นทุกข์ คือ เป็นสภาพของปัจจัยต่างๆ ที่ขัดแย้ง    ทำให้คงอยู่ในสภาพเดิมมิได้  ไม่คงตัว ทุกข์ข้อที่สามนี้คลุมความของ  ทุกข์ ในไตรลักษณ์   

         

คำสำคัญ (Tags): #ธรรมะ
หมายเลขบันทึก: 312743เขียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2009 16:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 10:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

นมัสการพระคุณเจ้า

ขอบพระคุณมากเจ้าค่ะ ที่นำมาให้ศึกษา

ขออนุญาติคัดลอกไว้นะเจ้าคะ

เจริญพร คุณโยมณัฐรดา

  • ธรรมะ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า พระคือผู้เรียนรู้คำสอนและถ่ายทอดสู่ญาติโยมทั้งหลาย
  • ดีใจและยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่คุณโยมสนใจในหลักธรรมของพระพุทธศาสนา
  • ขออนุโมทนา...
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท