สารสนเทศบน WEB ของห้องสมุด


การทำเว็บของห้องสมุด ควรมีข้อมูลอะไรบ้าง...มาดูกันเถอะ

 ปัจจุบันห้องสมุดส่วนใหญ่ก้าวเข้าสู่ยุคห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ และห้องสมุดเสมือน ซึ่งการจัดทำ Homepage เป็นเรื่องที่ห้องสมุดเกือบทุกแห่งให้ความสำคัญและได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง Unesco ได้กำหนดแนวทางเพื่อเป็นคู่มือในการออกแบบ Web Page ของห้องสมุดต่างๆ เพื่อให้ห้องสมุดสามารถใช้ Web Page เป็นเครื่องมือในการให้บริการสารสนเทศของห้องสมุดและสารสนเทศที่จำเป็นสำหรับผู้ใช้ได้ครอบคลุมและสะดวกในการใช้งาน  หากเคยไปเยี่ยมชม Web ของห้องสมุด อาจพบว่าต้องใช้เวลาในการหาหัวข้อหรือ Icon หรือ link ที่ต้องการใช้แตกต่างกันไปแล้วแต่ความเห็นและการจัดการเชื่อมโยงของแต่ละห้องสมุด  เพื่อความครอบคลุมของการนำเสนอเนื้อหาของสารสนเทศของห้องสมุด Unesco จึงกำหนดแนวทางในการจัดทำ Web page เพื่อให้ได้ Homepage ที่สมบูรณ์โดยกล่าวถึงแนวทางในการออกแบบ Web Page (Guidelines on designing web pages for libraries) โดยมีรายละเอียดของการกำหนดเนื้อหาที่จะนำเสนอ โครงสร้างรูปแบบ องค์ประกอบภาพ ดังนี้

1. การออกแบบด้านเนื้อหาของสารสนเทศที่จะนำเสนอ (Design content of the web pages)

    ซึ่งเป็นสารสนเทศที่ห้องสมุดต้องการสื่อสาร เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการและผู้ที่สนใจทราบผ่าน Web page อย่างน้อยควรประกอบด้วยข้อมูลบน Web page

ดังต่อไปนี้

Home page ของห้องสมุด เป็น Web page หน้าแรกที่เปรียบเสมือนปกหน้าของหนังสือและสารบัญอย่างย่อ ควรให้สารสนเทศเกี่ยวกับชื่อห้องสมุด สัญลักษณ์หรือภาพที่เป็นเอกลักษณ์ของห้องสมุด อาจมีรายละเอียดสั้นๆ ของห้องสมุด และประกอบด้วยกิจกรรมของห้องสมุด ใช้แป้นข้อความ (Buttons) ที่สามารถเชื่อมโยงไปยัง Web Page อื่นๆ  ที่ต้องการนำเสนอหรือเกี่ยวข้องได้  บางห้องสมุดจะจัดทำวันที่สร้างหรือปรับปรุงข้อมูลบน Web page เพื่อให้ผู้ใช้บริการเห็นความทันสมัยของข้อมูลในหน้าแรกนี้ด้วย  หน้า Home page ของห้องสมุดควรประกอบด้วยแป้นข้อความ (Buttons เพื่อนำเสนอสารสนเทศดังนี้

1.1 ข้อมูลข่าวสารใหม่ๆ ที่ต้องการประชาสัมพันธ์ (What’s new)  ควรมี 2 ส่วน  โดยส่วนแรกนำเสนอเฉพาะเป็นข่าวหรือกิจกรรมที่ใหม่ที่สุด  ส่วนที่สองใช้สำหรับนำเสนอข่าวที่ได้เสนอไปแล้ว ข่าวที่นำเสนอควรมีวันที่เผยแพร่กำกับ เพื่อให้ผู้ใช้บริการตัดสินได้ว่าข้อมูลที่นำเสนอนั้นสามารถใช้ประโยชน์ได้เหมาะสม (บางห้องสมุดอาจใช้คำว่า New, Hot หรือ สีของอักษรกำหนดให้แตกต่างระหว่างข่าวที่ใหม่ กับข่าวที่ได้เสนอไปแล้ว)

1.2 บริการต่างๆ ของห้องสมุด  ควรให้สารสนเทศเกี่ยวกับ

            - ระเบียบการยืมทรัพยากรสารสนเทศ (Borrowing instructions) ให้รายละเอียดเกี่ยวกับกฏระเบียบการยืม ประเภทผู้ใช้บริการ จำนวนทรัพยากรสารสนเทศที่ยืมได้แต่ละครั้ง เงื่อนไขการยืม การรับคืน และอัตราค่าปรับเมื่อมีหนังสือเกินกำหนดส่ง

- การยืมต่อทรัพยากรสารสนเทศ (Renewal of loans) ให้รายละเอียดการยืมต่อ และอาจต่อเชื่อมกับ Function ของระบบการยืมอัตโนมัติ (Circulation) ในคำสั่งของการยืมต่อ  ซึ่งต้องแสดงวิธีการยืมต่อด้วยตนเองไว้ด้วย  ใน Web page นี้อาจเชื่อมโยง (Link)ไปยังระเบียบการยืมทรัพยากรสารสนเทศ เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับการยืมต่อไป

- บริการยืมระหว่างห้องสมุด (Interlibrary Lending) ควรให้สารสนเทศเกี่ยวกับการยืมระหว่างห้องสมุดประเภทต่างๆ  พร้อมทั้งแบบรับคำร้องขอใช้บริการ (Interlibrary Loan Request Form) ใน Web page ควรเชื่อมโยง (Link)ไปยังอัตราค่าบริการ เพื่อให้ผู้ใช้ตัดสินใจ เมื่อกรอกแบบฟอร์มแล้วเสร็จ แบบฟอร์มนั้นจะสามารถนำไปดำเนินการได้ต่อทันที

- การสืบค้นทรัพยากรสารสนเทศ (Information retrieval)  Web page นี้ควรเสนอขอบเขตของฐานข้อมูล ลักษณะของข้อมูล  พร้อมวิธีการสืบค้นทรัพยากรประเภทต่างๆ อย่างย่อเช่น   การสืบค้นข้อมูลจาก OPAC, CD-ROM online, CD-Rom Fulltext , ฐานข้อมูลเฉพาะ เป็นต้น การแสดงวิธีการสืบค้นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ควรนำเสนอข้อมูลที่กระชับ เข้าใจง่าย มีความถูกต้อง พร้อมแสดงตัวอย่างการสืบค้น  หากมีอัตราค่าบริการ ควรทำการเชื่อมโยง (Link) ไปยังอัตราค่าบริการด้วย เพื่อผู้ใช้จะได้เปรียบเทียบอัตราค่าบริการ ก่อนใช้บริการ

- บริการรับส่งเอกสาร (Document delivery service) ควรแสดงรายละเอียดของการให้บริการ ประเภทผู้ใช้บริการ เงื่อนไขในการใช้บริการ สถานที่ วัน-เวลา และประเภทในการรับส่งเอกสาร  อาจมีแบบคำร้องขอใช้บริการ (DD Request) เพื่อให้ผู้ใช้ส่งคำขอใช้บริการ

- การศึกษาด้วยตนเอง (User Education) เป็นการนำเสนอข้อมูลที่ห้องสมุดต้องทำการฝึกอบรมให้ผู้ใช้ห้องสมุดเป็นประจำ เช่น  การแนะนำทรัพยากรห้องสมุด วิธีการสืบค้น เทคนิคการสืบค้น  ห้องสมุดอาจทำแบบให้ความรู้และแบบฝึกเรื่องต่างๆ ให้ผู้ใช้บริการเข้ามาทดลองใช้ดู อาจเป็นรูปแบบของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ผู้ใช้สามารถประเมินตนเองได้ และควรมีการเชื่อมโยงไปยังบุคลากรห้องสมุด หากผู้ใช้มีคำถามที่ต้องการคำอธิบายเพิ่มเติม

- อัตราค่าบริการต่างๆ (Service price list) เป็น Web page ที่นำเสนออัตราค่าบริการต่างๆ ของห้องสมุด  สำหรับบริการใดที่ไม่มีค่าใช้จ่ายให้แจ้งไว้ให้ชัดเจน

1.3 การจัดประเภททรัพยากรสารสนเทศ (Collection) เช่น วิจัย โสตทัศนวัสดุ หนังสือพิเศษ หนังสือทั่วไป วารสาร เป็นต้น ควรแสดงขอบเขตทรัพยากรสารสนเทศแต่ละประเภทให้ชัดเจน มีแผนผังบอกสถานที่จัดเก็บ (Floor Map)  และอักษรย่อที่ปรากฏใน OPAC และมีการเชื่อมโยง (Links) กับเมนูการสืบค้นข้อมูลแต่ละประเภท  เพื่อความสะดวกและประหยัดเวลาของผู้ใช้บริการ 

1.4 ฐานข้อมูล (Database) แสดงรายการฐานข้อมูลที่ห้องสมุดจัดให้บริการสืบค้น เช่น ฐานข้อมูลวารสารอิเล็กทรอนิกส์  ฐานข้อมูลออนไลน์ต่างๆ หรือฐานข้อมูล Standalone ฐานข้อมูลเฉพาะด้าน เป็นต้น หากฐานข้อมูลที่ให้ใช้เฉพาะสมาชิกห้องสมุดต้องระบุข้อความให้ทราบชัดเจน พร้อมแสดงขอบเขตฐานข้อมูลและวิธีการสืบค้นอย่างย่อประกอบด้วย จากชื่อฐานข้อมูลควรทำการเชื่อมโยงสู่เมนูการสืบค้นต่อไป สำหรับฐานข้อมูลประเภทออนไลน์ที่ต้องใช้รหัสผ่าน (username, password) ในการสืบค้นข้อมูล  ไม่ควรแสดงรหัสผ่านไว้ในหน้า Web page เพราะอาจผิดต่อกฎหมายลิขสิทธิ์ แต่ควรแสดงรายละเอียดในการติดต่อรับรหัสผ่านแทน

1.5 ข้อมูลการติดต่อห้องสมุด  (Contact  information) ประกอบด้วย

-       ที่ตั้งของห้องสมุด  (Address information) แสดงรายละเอียดเลขที่ตั้ง ถนน หมายเลขโทรศัพท์ หมายเลขโทรสาร (Fax)  ที่อยู่อิเล็กทรอนิกส์ (E-mail address)

-       เวลาทำการ (Opening hours)  โดยแจ้งเวลาเปิดปิดห้องสมุดที่เป็นปัจจุบัน  หากต้องการประชาสัมพันธ์อาจแจ้งเวลาเปิดทำการล่วงหน้า เช่น กำหนดปิดบริการห้องสมุดประจำปี เป็นต้น

-       บุคลากรห้องสมุด (Staff) ให้ชื่อพร้อมหมายเลขโทรศัพท์สำหรับการติดต่อ  เพื่อความสะดวกในการติดต่อขอใช้บริการ การสอบถาม การดำเนินงาน การแสดงความคิดเห็น  และการร้องทุกข์ อาจให้ E-mail ของบุคลากรเพิ่มด้วย

- วิธีการมาห้องสมุดและการเข้าถึงทรัพยากรห้องสมุด (How to get to the library) เป็นสารสนเทศสำหรับบุคลากรใหม่ หรือห้องสมุดที่มีชาวต่างชาติมาใช้บริการอยู่เสมอ เพื่อให้ผู้ใช้บริการนั้นมาที่ห้องสมุดได้อย่างสะดวก ประกอบด้วยแผนที่แสดงที่ตั้งของอาคารห้องสมุด การเดินทางสำหรับรถยนต์ แสดงสายรถโดยสารที่ผ่าน       และแผนผังห้องสมุด เพื่อแสดงให้ผู้ใช้บริการทราบว่าห้องสมุดจัดเก็บทรัพยากรแต่ละประเภทไว้ที่ใด บริเวณห้องน้ำ บริการถ่ายเอกสาร และจุดบริการอื่นๆ เพื่อความสะดวกในการใช้ทรัพยากรสารสนเทศของผู้ใช้บริการ

      1.6 การเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่สังกัด หรือที่เกี่ยวข้องในสังกัดเดียวกัน  (Link to the Home Page of the Parent Organization)  เป็นการเชื่อมโยงเพื่อให้ผู้ใช้สามารถเข้าไปค้นสารสนเทศที่อาจเกี่ยวเนื่องกันได้มากขึ้น  เช่น หอสมุดกลางควรเชื่อมโยงกับ Homepage ของมหาวิทยาลัยที่สังกัด  ห้องสมุดคณะแต่ละคณะควรเชื่อมโยงกับห้องสมุดที่สังกัด  เป็นต้น

            1.7 การเชื่อมโยงกับห้องสมุดอื่นๆ (Link to other libraries) โดยเชื่อมโยงกับหน้า Homepage ของห้องสมุดที่สำคัญ และอยู่ในสาขาวิชาเดียวกัน  ทั้งในและต่างประเทศ    เช่น หอสมุดกลางของมหาวิทยาลัย ควรมีการเชื่อมโยงกับหอสมุดกลางหรือสำนักวิทยบริการ ของมหาวิทยาลัยในประเทศ หอสมุดแห่งชาติอเมริกัน (Library of Congress) หรือห้องสมุดโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่ง ควรเชื่อมโยงกับ Home page ห้องสมุดโรงเรียนแพทย์ในประเทศไทย และหอสมุดแพทย์แห่งชาติ (Nation Library of Medicine) เป็นต้น ซึ่งสามารถเชื่อมโยงถึงแหล่งบริการสารสนเทศอื่นด้วย เช่นห้องสมุดทางการแพทย์อาจเชื่อมโยงกับ Homepage ของ PUBMED ซึ่งเป็น Web ที่บริการฐานข้อมูลทางการแพทย์ เป็นต้น                   

 

     2. การออกแบบด้านรูปแบบ (Graphic  Layout of Web Pages)

       การทำ Homepage นั้นต้องอาศัยความรู้ด้านภาษา HTML ผู้เขียน Homepage ต้องมีความสามารถในด้านการกำหนดขนาดตัวอักษร การเลือกรูปแบบและสีตัวอักษร รวมถึงความสามารถด้านศิลปะในการวางตำแหน่งรูปภาพประกอบ สัญลักษณ์ต่างๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากในปัจจุบัน เพราะมีโปรแกรมสำเร็จรูปที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดทำ Web เช่น DreamWeaver หรือ NetObject เป็นต้น  แม้ว่าการออกแบบจะมีความแตกต่างกัน แต่ Web page ส่วนใหญ่มักมีรูปแบบคล้ายคลึงกัน โดยมีแป้น(Buttons) สำหรับการเชื่อมโยง หัวข้อเรื่อง (Headings) การกำหนดสี (Color) พื้นหลัง (Background images) และการแสดงวันที่สร้างหรือปรับปรุงข้อมูล

                  การกำหนดโครงสร้างเพื่อนำเสนอเนื้อหา ต้องใช้ทฤษฏีทางศิลปเข้ามาช่วยเพื่อความสวยงาม เช่น ทฤษฏีสี  การเลือกภาพเคลื่อนไหว  ลำดับเนื้อความ ความสำคัญและขนาดตัวอักษร  และภาพประกอบ  ปัจจุบัน Web page ที่ประกอบด้วยภาพ (Image) จำนวนมากมักไม่ได้รับความนิยม เพราะจะทำให้แฟ้มข้อมูลมีขนาดใหญ่กินเนื้อที่ การเรียกค้นใช้เวลานาน

                  สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งในการออกแบบด้านรูปแบบ นั้นคือความถูกต้องของการเชื่อมโยงไป (Link) ยัง Web page อื่นๆ  :ซึ่งผู้จัดทำ Web ควรมีการทดลองวางรูปแบบ (Layout) เพื่อป้องกันความสับสนในการเชื่อมโยง เพราะการเชื่อมโยงสามารถทำได้ทั้งใน Web เดียวกัน  เชื่อมโยงจากแฟ้มข้อมูลอื่นๆ เช่น แฟ้มเอกสาร แฟ้มจาก Power Point รมถึงการเชื่อมโยงไปยัง Web อื่นๆ บนระบบอินเทอร์เน็ต แล้วเมื่อจัดทำ Web แล้วเสร็จ ผู้จัดทำควรมีการทดสอบการเชื่อมโยง (Test)  ก่อนนำข้อมูลออกบริการ

                  แนวทางการกำหนดเนื้อหาและรูปแบบ Web pages ที่นำเสนอคงทำให้ห้องสมุดสามารถนำเสนอสารสนเทศบน Homepageได้อย่างครอบคลุม ซึ่งนอกเหนือจากเนื้อหาดังกล่าวแล้ว ห้องสมุดสามารถนำเสนอข้อมูลอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการได้ เช่น รูปแบบอักษรวิ่งสำหรับเสนอข่าวใหม่ ข่าวด่วน การนำเสนอหน้าสารบัญวารสารแต่ละสาขา  เป็นต้น นอกจากนี้การเป็นนักท่อง Web จะทำให้นำประสบการณ์ในการท่องเที่ยวเยี่ยมชม Web ต่างๆ มาใช้ในการสร้างสรรค์ Web ของห้องสมุดได้สวยงาม ดึงดูดใจผู้ใช้ และเนื้อหาสารสนเทศมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

 

 

 

 

บรรณานุกรม

 

UNESCO. .2002.   Guidelines on designing web pages for libraries.   www.unesco.org/webworld/participer/guidelines/. [13 June 2002]

กรภัทร์  สุทธิดารา และ ดนุพล กิ่งสุคนธ์.  2542คู่มือสำหรับผู้เริ่มต้นท่องโลกอิน-เทอร์เน็ตแบบมืออาชีพนนทบุรี : อินโฟเพรส.

วาสนา อนุวาร . 2541.  การให้บริการอินเทอร์เน็ตของห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาควิทยานิพนธ์ (ศศ.ม.)--สาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

 

 


* บรรณารักษ์ระดับ 6 งานวารสารและเอกสาร สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

หมายเลขบันทึก: 309205เขียนเมื่อ 28 ตุลาคม 2009 15:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อ่านแล้วได้แนวคิดดี  ๆ นำมาใช้ในงานได้เลยค่ะ

 

ดีใจที่ข้อมูลใน bLog เป็นประโยชน์ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท