ทำเรื่องยาก...ให้เป็นเรื่องง่าย ได้ด้วย"ฉันทะ"


วันนี้คุณครูโน้ต – สุมนา แทนบุญช่วย หัวหน้าหน่วยวิชาคณิตศาสตร์ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ “การแข่งขันชิงแชมป์การคิดและแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ ครั้งที่ ๑๐ที่จัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ตามที่ได้เล่าไว้ในบันทึกที่แล้ว ได้เขียนเรื่องเล่าความสำเร็จมาแบ่งปันกันว่า...

การแข่งขันครั้งนี้จัดขึ้น ๒ รูปแบบด้วยกัน

  • รูปแบบแรก แข่งเป็นทีม ระดับ ป. ๕ - ๖ ทีมละ  ๓ คน ซึ่งรอบนี้ทางสถาบันรับจำนวนจำกัด โรงเรียนหนึ่งสมัครได้ ๒ ทีม
  • รูปแบบที่สอง แข่งเป็นรายบุคคล แบ่งเป็นระดับ ป. ๑- ๒  ป. ๓-๔  ป. ๕-๖  การสอบรอบนี้ทางสถาบันรับไม่จำกัด ทางโรงเรียนเราจึงเป็นโอกาสให้นักเรียนได้สมัครกันอย่างเต็มที่ รวมแล้วนักเรียนเพลินพัฒนาสมัครสอบทั้งสิ้น ๗๘ คน

 

ฉันทะแรกเริ่ม 

เพื่อให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมครั้งนี้อย่างทั่วถึง คุณครูโน้ตจึงได้จัดให้มีการประกาศรับสมัครทีมที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ปรากฏว่ามีนักเรียนสนใจสมัครเข้ามาถึง ๑๒ ทีม

การเผยแพร่ข่าวสารการรับสมัคร ใช้วิธีติดป้ายประกาศทุกบริเวณของโรงเรียนและกระตุ้นคุณครูในแต่ละช่วงชั้นนำเสนอกับนักเรียนค่ะ ชั้นเรียนที่สมัครมากที่สุดคือ ชั้น ป. ๓ ที่มีผู้มาถึง ๔๐คน (จากทั้งหมด ๙๖ คน)

 ในที่สุดก็ได้ทีมตัวแทนโรงเรียนเป็นนักเรียนชั้น ป.๕ จำนวน ๑ ทีม และนักเรียนชั้น ป. ๖ จำนวน ๑ ทีม  จากนั้นครูโน้ตก็วางแผนการฝึกฝนให้กับเด็กทั้ง ๒ กลุ่ม โดยเน้นไปที่กระบวนการแก้โจทย์ปัญหามากกว่าการมุ่งหาหาผลลัพธ์สุดท้าย

 

 

ทำการเรียนรู้ให้เป็นของผู้เรียน

การสมัครต้องมีค่าสมัครสอบ ๒๕๐ บาท (รวมหนังสือคู่มือแนวข้อสอบด้วย) นอกจากหนังสือคู่มือแล้วครูโน้ตยังจัดเอกสารเสริมเป็นแนวข้อสอบปีก่อนๆ แจกนักเรียนเป็นระยะๆ

วิธีการนี้ทำให้เกิดการกระตุ้นโดยไม่ทิ้งระยะห่างหายกันไป หากมีข้อใดสงสัยไม่ว่าจะเป็นในหนังสือคู่มือหรือเอกสารเสริม ให้นักเรียนนำมาถามคุณครูได้ในวันที่มีการเรียนเสริม

ในการสอนเสริมครูโน้ตเริ่มด้วยการแจกเอกสารให้นักเรียนฝึกทำที่บ้านก่อนการสอบพร้อมทำจดหมายขอความร่วมมือจากผู้ปกครองเพื่อให้นักเรียนได้เรียนเสริมก่อนสอบด้วย

  •  เป้าหมายของการสอนเสริม คือเพื่อเตรียมอุ่นเครื่องให้พร้อม
  • กระบวนการฝึกฝน เน้นที่การเขียนขั้นตอนการหาคำตอบโดยละเอียด ลักษณะของโจทย์ที่นำมาคิดก็ล้วนแต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตเราทั้งสิ้น เช่น การประมาณจำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ ๒๐๐๙ การคำนวณจำนวนอิฐทางเดินรอบบ้าน ซึ่งต้องอาศัยการอ่าน และการใช้ข้อมูลจริง หลังจากฝึกทำโจทย์กันมาระยะหนึ่งก็พบว่านักเรียนสามารถหาคำตอบได้ถูกต้อง แต่มักไม่ชอบเขียนแจงกระบวนการคิด
  • ข้อสังเกต นักเรียนของเราชอบแก้โจทย์ลักษณะนี้ และมีความสุขกับการได้อ่านและคิดโจทย์ที่ท้าทายเหล่านี้ บางคนได้รับเอกสารในตอนเช้า ตอนเย็นกลับถึงบ้านรีบลงมือทำเลยโดยไม่ต้องมีใครเตือน
  •  มีผู้ปกครองเดินมาเล่าให้ฟังว่าบางคนจัดระบบให้ตนเอง โดยการทำไปจับเวลาไป เมื่อหมดเวลาที่ตนเองตั้งไว้ จึงเปิดดูเฉลยและวิเคราะห์ข้อผิดด้วยตนเองโดยผู้ปกครองไม่ต้องแนะนำ
  •  ระยะเวลาที่ใช้  ๔ สัปดาห์

 

ปลุกความร่วมมือ

  •  การประสานความร่วมมือ แจ้งข่าวสารอย่างสม่ำเสมอในที่ประชุม บอกกำหนดการพร้อมแนบจดหมายให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งที่เป็นคุณครู และผู้ปกครองทราบถึงรายละเอียดต่างๆ ทุก ๒ สัปดาห์
  •  การทำงานเป็นทีม การสอนเสริมก่อนสอบทั้ง ๒ รูปแบบ มีครูผู้รับผิดชอบหลัก ๒ คนคือ คุณครูอำนาจ และ ครูโน้ต โดยมีคุณครูในทีมคณิตศาสตร์เป็นกำลังเสริมหากใครว่างวันไหนก็สามารถเข้ามาร่วมสอนได้
  • คุณครูที่เข้ามาช่วยได้แก่ คุณครูปอ ชช. ๑ คุณครูแนน ชช. ๑  คุณครูเนียน ชช.๑  คุณครูปลิว ชช. ๓  และคุณครูก้อย ชช. ๑ (ที่เป็นคุณครูวิชา ESL แต่ก็เข้ามาช่วยอีกแรงค่ะ)
  •  ต้องขอบคุณ นักเรียนทุกคน คุณครู  และผู้ปกครองทุกท่าน ที่มาร่วมวงลงมือ สนุกกับคณิตศาสตร์ด้วยกัน จนเกิดเป็นผลลัพธ์ที่น่าชื่นใจเช่นนี้ขึ้นมาได้ค่ะ

 

 

หมายเลขบันทึก: 309181เขียนเมื่อ 28 ตุลาคม 2009 14:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 10:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เก่งจังทำงานเป็นขั้นตอน สะท้อนผลสู่เด็ก เก่งคณิตศาสตร์ ฉลาดทุกวิชา เขาว่ากัน

ผมไม่กล้าสอนคณิตศาสตร์จนถึงทุกวันนี้ กลัวสอนเด็กแบบผิดๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท