จิตตปัญญาเวชศึกษา 115: Departures (Okuribito): ภาพยนต์สะท้อนชีวิต จิตวิญญาณ และ professionalism


Departures

ในการจัดการการเรียนการสอนวิชาจริยธรรม หรือวิชาใดๆที่มีเรื่องของคุณธรรม คุณค่า และการสื่อสารปฏิสัมพันธ์ นอกเหนือจากจัดเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติ (workshop) แล้ว วิธีหนึ่งที่ค่อนข้างจะมีประสิทธิภาพคือการชมภาพยนต์และวิจารณ์ ใคร่ครวญ ในครั้งนี้สำหรับการอบรมเชิงปฏิบัติการจัดการเรียนการสอนจริยศาสตร์และ palliative care สำหรับอาจารย์ใหม่ ที่จัดโดยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เราได้นำเอาภาพยนต์เรื่อง Departures มาใช้

Disclaimer: เนื้อหามีการเล่าเรื่องในภาพยนต์ อาจเป็น movie-spoiler ***

ภาพยนต์เรีื่องนี้ได้รับรางวัลเรียกว่า "กวาด" เกือบ across board ของงานประกวดภาพยนต์ของญี่ปุ่น และได้ The Best foreign film honor ของรางวัลออสการ์ด้วย ดังนั้นลำพังในแง่ของ cinematography การตัดต่อ การแสดง ก็เป็นภาพยนต์ชั้นดีที่ควรชม และสะสมอยู่แล้ว แต่เมื่อพิจารณาถึง "เนื้อหา" ก็จะยิ่งได้รับรสชาติเกินบรรยายหรือพรรณนา และเชื่อเหลือเกินว่ามุมมองของผู้ชมแต่ละท่าน จะไม่มีเหมือนกันหมด เพราะเราจะต้องนำเอา personal experiences และความเชื่อ ความรู้สึก การรับรู้ของหัวใจ เข้ามาเชื่อมโยงกัน สร้างสรรค์เป็นประสบการณ์ "บันเทิง" และสุนทรีย์ที่สุดเป็นเวลา 130 นาที

หนุ่มนักเชลโล ไดโกะ โคบายาชิ (แสดงโดยมาซาฮิโร โมโตกิ) ที่พึ่งเริ่มอาชีพในวงออเคสตราเล็กๆวงนึงในโตเกียว ประสบความผิดหวังคาดไม่ถึงเมื่อวงของเขาถูกยุบเพราะไม่มีคนมาชมเพียงพอ ไดโกะต้องยอมขายเชลโลตัวโปรดที่พึ่งซื้อมา และย้ายไปอยู่บ้านเกิดที่บ้านนอก โดยมีภรรยาคู่ทุกข์คู่ยาก มิกะ (นำแสดงโดยดาราสาวสวย เรียวโกะ ฮิโรสุอิ จากเรื่อง Wasabi) นักออกแบบ website ติดตามให้กำลังใจโดยตลอด ไดโกะอ่านพบประกาศสมัครงาน "ผู้ช่วยการบริการเดินทาง" ในหนังสือพิมพ์ ด้วยความที่คิดว่าเป็นอะไรที่เกี่ยวกับบริษัทท่องเที่ยว และประกาศว่าเงินเดือนดี ไม่ต้องการประสบการณ์มาก่อน จึงได้ไปสมัครงาน ค่อยพบว่าที่แท้บริษัท NK นั้นก็คือ "โนกัง" หรือบริษัทรับจัดแต่งศพก่อนนำเข้าโลง (ประกาศหนังสือพิมพ์ ตกคำ "การเดินทางสู่สุคติ" ไป) ในสังคมที่คนส่วนใหญ่ยังรู้สึกรังเกียจอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับความตาย การทำงานแต่งศพดูเหมือนจะเป็นงานที่ไม่มีคนยินดีประกาศตัวเป็นอาชีพที่น่าภาคภูมิใจเท่าไรนัก แต่หลังจากที่ไดโกะได้ลองทำงานไปเรื่อยๆ ชีวิตเขาก็เปลี่ยนแปลงไป เกิดมุมมองใหม่ มองเห็นศักดิ์ศรีในการทำงานวิชาชีพที่อาศัยความซื่อสัตย์และเกียรติแห่งหน้าที่ความรับผิดชอบ และเปิดโลกทรรศน์ของความสุนทรีย์ ไปจนถึงสัจจธรรมแห่งชีวิต ทั้งๆที่ไดโกะต้องทนทำงานแบบลับๆล่อๆ ไม่กล้าบอกภรรยา เพื่อนฝูงพาตัวออกห่าง จนถึงกับเมื่อภรรยาทราบความจริงก็ขอแยกกันอยู่ แต่ไดโกะที่คิดว่าตนเองได้ค้นพบอะไรบางอย่างที่สำคัญ ก็ยังทำงานต่อไป จนในที่สุด ปมทุกอย่างก็ได้คลี่คลายไปทีละอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาชีวิตตอนเด็กๆของไดโกะที่พ่อหนีจากบ้านตามเด็กสาวคนหนึ่งไปตั้งแต่เขาอายุ 6 ขวบ เรื่องภรรยาที่ไม่เข้าใจในงาน และเพื่อนฝูงที่รังเกียจเดียดฉันท์

ภาพยนต์เรื่องนี้ใช้ "อวจนภาษา" เยอะมาก ทั้งเสียงเพลงจากเชลโล เปียโน และแกรนด์ออเคสตราที่หล่อหลอมบรรยากาศ ผลักดันอารมณ์ ภาพนิ่งทิวทัศน์ฤดูกาลต่างๆของชนบทในประเทศญี่ปุ่น กอปรกับสีหน้า หน้าตา ที่บ่งบอกอารมณ์อย่างแนบเนียน พอเข้าใจ ไม่ถึงกับ exaggerate เกินไป แต่เพียงพอที่จะสร้าง "อารมณ์ร่วม" ที่สะเทือนใจได้อย่างมาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัว "พิธีกรรม" ที่พระเอกและอาจารย์ของเขา ซาซากิ (แสดงโดยซุโตมุ ยามาซากิ) ทำหน้าที่ตกแต่งศพต่อหน้าญาติๆทุกคนนั้น เต็มไปด้วยความประณีต ความเคารพต่อร่างกายและต่อความรู้สึกของทุกคนในที่นั้น เต็มไปด้วยความรัก สำแดงออกมาทางสีหน้าที่เงียบขรึม ตั้งใจ มีสมาธิเต็มที่ การเคลื่อนไหวอย่างลื่นไหล เชี่ยวชาญต่อเนื่อง แสดงความอ่อนไหวต่อความรู้สึกของญาติๆของร่างกายที่กำลังทำงานอยู่โดยตลอด ความละเอียดอ่อนที่ไดโกะและซาซากิสำแดงต่อร่างกายผู้ตายไปแล้วนั้น สามารถสร้างความสะเทือนใจ ที่ไม่ใช่ความเศร้าเสียใจ แต่เป็นความงามที่สุนทรีย์ผสมผสานกับความสะเทือนใจในความรักอย่างบริสุทธิ์ ที่ผู้ชมสามารถสัมผัสได้ด้วยตนเองอย่างง่ายดาย

มี comment จากผู้เข้าร่วมชมท่านหนึ่งบอกว่า ถ้านักศึกษาแพทย์ของเราได้ชม และมองเห็นวิธีปฏิบัติต่อร่างกายผู้เสียชีวิตแบบนี้ เธอก็เกิดคิดมาว่าน่าจะเกิดแรงบันดาลใจให้นักศึกษาแพทย์ของเรากระทำอะไรที่ประณีต บรรจง ไม่แพ้กัน ต่อคนไข้และญาติเป็นๆหรือไม่

ความอ่อนไหว sensitive และเคารพต่อร่างกายคนของ "มืออาชีพ" ทั้งสองท่าน สามารถทำให้คนที่เคยกระทำการใดๆอย่างลวกๆ ไม่คำนึงถึงชีวิต ความรู้สึก ของผู้อื่น เกิดการ "กระแทกอารมณ์" ได้อย่างมาก เรียกว่าแทบจะเกิดความละอายขึ้นมาเลยทีเดียว

ผมเองนึกย้อนไปถึงตอนเป็นแพทย์ใช้ทุนศัลยศาสตร์ ก็มีหลายตอน หลายครา ที่ "จิตหลุด" ทำผ่าตัดไป พูดคุยกับคนรอบข้าง (ผู้ช่วยผ่าตัดมี 3 คน และยังมี scrub nurse ส่งเครื่องมือ มี circulating nurse คอยหยิบเสริมเครื่องมือ มีหมอดมยาสลบ) ถึงแม้ว่าผลของการผ่าตัดไม่ได้เสียหาย และมีช่วงที่เรา lost respect ต่อเจ้าของร่างกายที่เราผ่าตัดอยู่ ก็เกิดความละอายเมื่อได้เห็นวิธีการปฏิบัติต่อร่างกายด้วยความรักเคารพแบบที่เห็นในภาพยนต์เรื่องนี้อย่างมาก

ผู้กำกับมือรางวัลของ Departures คือ โยจิโระ ทาคิตะ ไม่ได้ทิ้งอะไรฟุ่มเฟือยแม้แต่เพียงนิดเดียวในหนังเรื่องนี้ ทุกบท ทุก script มีที่มาและมีบทสรุป ดังนั้นการชมภาพยนต์เรื่องนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีกเป็น adventures ที่น่าตื่นเต้นว่ายังเหลืออะไรให้สืบค้นอยู่อีกหนอ ที่น่าทึ่งก็คือการแสดงสีหน้า ภาษากาย อวจนภาษาทางด้านอื่นๆ รวมทั้งสัญลักษณ์ต่างๆเต็มไปหมด ที่เปิดให้คนชมได้เชื่อมโยง (ทั้งรู้ตัวบ้าง ไม่รู้ตัวบ้าง) ไปด้วยกันอย่างรื่นรมย์

เนื่องจากงาน Okuribito นี้ (ภาษาอังกฤษเรียก encoffiner) ถึงแม้จะเปี่ยมไปด้วยพิธีกรรม และความประณีตระดับศิลปะ แต่ก็ไม่ใช่อาชีพที่คนทุกคนจะยิ้มตอบรับ ไม่ต้องถึงขนาด "อยาก" จะทำและใช้ชีวิตแบบที่จะต้องสัมผัสจับต้องศพทุกวันแบบนี้ บางคนอาจจะถึงขั้นรังเกียจ ขยะแขยงเสียด้วยซ้ำ บท intro ของภาพยนต์เรื่องนี้จึงนำเข้าด้วยความนุ่มนวล ประเดิมด้วยเหตุการณ์ตอนกลางของเรื่อง ที่พระเอก ไดโกะ ได้รับอนุญาตให้ลงมือทำด้วยตนเองเป็น case แรก เพื่อขจัดการรับรู้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องน่ารังเกียจ น่าขยะแขยง บทนำนี้จึงแสดงมุมด้านศิลป และความประณีตให้คนเข้าชมปรับการรับรู้ และเพื่อขจัดการคิดว่าเรื่องแบบนี้ น่าเกลียด น่ากลัว ในบทนำนี้ก็แทรกเอาไว้ด้วยอารมณ์ขันแบบนุ่มนวล ไม่ประเจิดประเจ้อ พอให้คนดูเริ่มผ่อนคลาย และเปิดรับเนื้อเรื่องส่วนที่เหลือได้อย่างเต็มที่

มีอาจารย์แพทย์ท่านนึงได้ให้ข้อสังเกตว่า ญี่ปุ่นทำหนังสะท้อนความตายได้งดงามขนาดนี้ แต่หนังที่เกียวกับความตายของคนไทยออกมา ทำไมมันถึงได้ไปๆมาๆ ต้องลงเอยที่สองแบบ คือ ตายเป็นผี ไม่ผีล้างแค้น ก็ผีตลก คนถึงจะมาดู (และก็มาดูกันตรึมจริงๆด้วย!!) และเพราะเหตุนี้หรือไม่ สังคมเราจึงเริ่มกระเถิบความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับความตายออกมาแบบน่ากลัว ไร้สาระ และถอยห่างจากความสุนทรีย์และวัฒนธรรมประเพณีออกไปเรื่อยๆ มีอาจารย์อีกท่านบอกว่า ท่านเคยมีคุณแม่เสียชีวิต และตอนนั้นท่านก็รู้สึกไม่ดีเลย เกี่ยวกับหนังผีของไทยที่ออกมาครึกโครม รู้สึกว่าเราไม่ค่อย "เคารพ" ความตาย และนำมาล้อเล่น นำมาสะท้อนพลิกมุมที่ไม่น่าดูออกมาเป็นนิสัย ตายแล้วต้องเป็นผี ตายแล้วต้องกลับมาหลอกหลอนคนเป็น ตายแล้วต้องอาฆาตมาดร้าย ทำร้ายคนอื่นๆต่อๆกันไปอีกเรื่อยๆ

พระเอกของเรารับรู้ข่าวร้ายว่าวงออเคสตราต้องยุบ กลับมาบ้าน ก็ต้องบอกกับภรรยา รวมทั้งเรื่องที่ตนเองได้ซื้อเชลโลมาด้วยราคาที่แพงมาก ภรรยาก็แสดงออกมาแบบที่สนับสนุนเป็นกำลังใจแก่พระเอกมากๆ มากจนพระเอกเองก็แปลกใจ เพราะทันทีที่พระเอกบอกว่าจะเลิกเล่นเชลโลแล้ว ภรรยานิ่งไปแวบเดียว ก็ร้องออกมาว่า "เห็นด้วยค่ะ!" พระเอกบอกต่อไปว่า เราคงต้องย้ายไปอยู่บ้านนอก ภรรยานิ่งไปอีกแวบ แล้วก็ตอบกลับมาด้วยสีหน้ายิ้มแย้มว่า "ได้เลยค่ะ ไปอยู่บ้านคุณแม่คุณใช่ไหมคะ มันไม่ต้องเสียค่าเช่า ค่าอะไร" ปฏิกิริยาของภรรยามีส่วน support morale ของพระเอกอย่างมาก เพราะไดโกะมีความรู้สึกผิดหลายขั้นตอนในก่อนหน้านี้ ทั้งเรื่องที่ซื้อเชลโลมาแพงขนาดนี้โดยไม่ได้บอกภรรยา เรื่องที่ตนเองเคยสัญญากับภรรยาในคำขอแต่งงานว่าเราจะอยู่ด้วยกันในชีวิตแห่งเสียงดนตรี แต่การแสดงออกของภรรยาทำให้พระเอกเกิดความง่ายขึ้นเยอะที่จะวางแผน หรือเปลี่ยนแผนของวิถีชีวิต เรียกว่าได้ทำบทบาทของ "ผู้สนับสนุนแบบไร้เงื่อนไข" อย่างเต็มที่

ตรงนี้ทำให้ผมสะท้อนใจ และมองเห็นอะไรบางอย่างมากขึ้น คือเราคิดว่า "เราเข้าใจคนไข้" มาตลอด และบ่อยๆ และง่ายๆ ขนาดสามีภรรยาคู่นี้รักกันมากขนาดนี้ สามีก็ยังแปลกใจในปฏิกิริยาของภรรยา ไม่เข้าใจหรือไม่นึกมาก่อนว่าภรรยาจะแสดงออกแบบนี้ หรือคิดแบบนี้ เราเองเป็นใคร ที่ใช้เวลากี่วินาที กี่นาที แล้วยังเสนอหน้ามาบอกว่า "เราเข้าใจคนไข้แล้ว" "เรารู้แล้ว" "ผมเข้าใจคุณแล้ว"

ถึงตรงนี้ชักสงสัยว่าเรากำลัง "ปลอบใจตัวเอง" หรือ "หลอกตัวเอง" อยู่รึเปล่าว่าเราได้เข้าใจคนไข้ที่นั่งข้างหน้านี้ ทั้งๆที่ยังไม่ได้ทำอะไรเลย ย่ิงมีอีกฉากหนึ่ง ที่พระเอกบรรยายในใจว่า เขาชอบมานั่งเล่นดนตรี คือ เชลโล คนเดียวในยามที่ตนเองต้องการจะลืมอดีตไป แต่ปรากฏว่า เพลงที่เขาเล่น กลับเป็นเพลงโปรดของคุณพ่อ คนที่เขาจะยืนยัน พูดออกมาเสมอว่าเป็นพ่อที่แย่ที่สุด ชั่วที่สุด เพราะทิ้งเขากับแม่ตั้งแต่เขาอายุแค่ 6 ขวบเท่านั้น และในภายหลังก็ค่อยๆปรากฏว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เขารัก และจำได้ ล้่วนได้รับอิทธิพลมาจากพ่อเขาทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเล่นเชลโลตั้งแต่อนุบาล แผ่นเสียงเพลงคลาสสิกจำนวนมาก เรื่องราวของ "ศิลาอักษร" ที่คนๆหนึ่งให้ก้อนหินอีกแก่อีกคนหนึ่ง เพื่อเป็นสัญญลักษณ์แทนอารมณ์ ความรู้สึก ตั้งแต่ในสมัยยังไม่มีตัวอักษรใช้ และไดโกะเองก็เก็บก้อนหินก้อนที่พ่อเขาให้ไว้เป็นอย่างดีจนถึงตอนนี้ ฉากนี้แสดงว่า ขนาดตัวพระเอกเอง ก็ยังไม่เข้าใจตัวเองนัก เราเองเป็นใครที่จู่ๆจะมา claim ว่าเราเข้าใจคนโน้น คนนี้ แค่พูดจากันไม่กี่ประโยค

ช่างเป็นความคิดที่ arrogant ตื้นเขิน และไม่ลึกซึ้งเลยเสียนี่กระไร

ภาพยนต์เรื่องนี้เข้าถึงคนจำนวนมากได้ง่ายดาย เพราะความตายดูเหมือนจะเป็นอีก theme ที่มีความเป็น "สากล" ไม่แพ้ความรัก ความโกรธ (ความแค้น ความโลภ และราคะ) แต่สำหรับคนในวงการสาธารณสุขด้วยแล้ว ยิ่งจะมีอิทธิพลส่งมาได้ง่ายยิ่งขึ้นด้วย เพราะจะว่าไป ทำงานในโรงพยาบาล เราก็ใกล้ชิดกับทั้งการเกิด แก่ เจ็บ และตาย ไม่แพ้ "ผู้ส่งวิญญาณ" ในหนังเรื่องนี้เหมือนกัน และการได้มาเห็นศิลปการสัมผัสจับต้อง และการทำงานด้วยใจ และหัวใจ และความรัก สำแดงออกมาทางอวจนภาษาแต่ทุกคนสามารถสัมผัสและเข้าใจได้ เรายิ่งรู้สึกสะเทือนอารมณ์ได้มากขึ้น

หมายเลขบันทึก: 309137เขียนเมื่อ 28 ตุลาคม 2009 12:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (26)
  • สวัสดีค่ะ คุณPhoenix
    ขอบพระคุณข้อคิด  ข้อเขียนที่ทรงคุณค่า
  • การเล่าเรื่องได้อย่างลื่นไหล  แนบเนียน
    อ่านแล้วมองเห็นภาพ  เข้าถึงจิตวิญญาณ
  • เป็นอีกผู้หนึ่งที่บริจาคร่างกายแล้ว... แต่ก็ปล่อยวาง
    ไม่ได้คิดถึงร่าง  จะทำอย่างไรก็ช่าง ขอให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อื่นก็พอ...
  • มื่ออ่านแล้ว  สะท้อนให้เห็นถึงจิตที่ประณีตงดงามในการกระทำ
    ต่อสิ่งอื่นด้วยความเคารพ  โยงใยไปถึงพฤติกรรมในสังคม "เอาใจเขามาใส่ใจเรา"
  • สังคมคงงดงามน่าอยู่  หากทุกฝ่ายคำนึงถึงความรู้สึกของกันและกัน....

สวัสดีครับท่านอาจารย์ Phoenix 

เท่าที่อาจารย์เล่ามายังไม่ทันจบ ผมก็สนใจอยากหามาชมบ้างแล้วครับ

ขอบพระคุณครับ

 

น่าสนใจมากเลยครับ หนังเรื่องนี้ คงได้อะไรดีๆกลับมาคิดอีกมากมาย จะหาชมได้จากไหนบ้างครับ

คอยติดตามตอนต่อไปอยู่ขอรับอาจารย์หมอ..

ธรรมฐิตก็ได้บริจาคกายนี้ให้  มอ.หาดใหญ่สิบกว่าปีแล้ว

หวังว่าเมื่อรูปนามนี้ดับลงคงเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยขอรับ..

ต้องขออภัยแฟนพันธุ์แท้ที่ได้กรุณามาตอบรับโดยเร็ว ยังไม่ทันได้เขียนจบ ขอบพระคุณอย่างยิ่งครับ วันนี้มาต่อแล้ว หวังว่าคงไม่ผิดหวังกันครับผม

อยากดูครับ....เผื่อจิตใจจะได้ประณีตขึ้นบ้าง

"เราเองเป็นใคร ที่ใช้เวลากี่วินาที กี่นาที แล้วยังเสนอหน้ามาบอกว่า "เราเข้าใจคนไข้แล้ว" "เรารู้แล้ว" "ผมเข้าใจคุณแล้ว"

"ความตายดูเหมือนจะเป็นอีก theme ที่มีความเป็น "สากล" ไม่แพ้ความรัก ความโกรธ (ความแค้น ความโลภ และราคะ)"

อยากดู  จังเลยค่ะ  และน่ามีเก็บไว้ให้ นักศึกษาแพทย์ ได้ดูทุกรุ่น  ถ้าหากเขาอ่านหนังออกเหมือนอาจารย์เราคงไม่ต้องพูดอะไรมาก

อาจารย์คะทำไม่แพทย์ใช้ทุนเริ่มตั้งแต่ปี 1  เดี๋ยวนี้ทำไมหาคนที่ทำงานด้วยใจ และหัวใจ และความรัก ได้น้อยจังเลยคะ  ที่พบมาล้วนอ้างว่าคนไข้มาก  คนไข้พูดไม่ค่อยรู้เรื่อง  ภาระงานหนัก  ขึ้นทำงานช้า  กลับตรงเวลาเป๊ะหรือก่อนเวลา  ละเลียดตรวจคนไข้โดยไม่ใยดีเพื่อนข้างห้องว่าจะรับภาระหนักแค่ไหน  ไม่ใยดีว่าคนไข้จะทนรอได้นานแค่ไหนกับเพียงแค่ไม่กี่นาทีที่ได้คุยได้พบแพทย์  องค์กรทำอะไรไม่ค่อยได้  ไม่เช่นนั้นจะไม่มีใครอยากมาทำงานที่นี่...เป็นความในใจเล็กๆค่ะอาจารย์

สวัสดีครับ คุณน้ำชา

ยินดีต้อนรับครับ ขอบพระคุณที่มาเยี่ยมเยียน จะว่าไปงานของแพทย์ใช้ทุนปีหนึ่ง (คือ intern) จะค่อนข้างหนักจริงๆ ทั้งทำงานและทั้งเรียนไปพร้อมๆกัน ในที่สุดคนเราก็ต้อง survive ก่อนที่จะหันไปหาอะไรที่สูงกว่านั้นได้ แต่การลงมือกระทำ และทำงานหนัก ก็จะเป็นต้นทุนชีวิตที่สำคัญ รองรับจิตใหญ่ที่เติบโตตามมาทีหลังเมื่อมีเวลามากขึ้น ได้ใคร่ครวญอะไรต่อมิอะไรมากขึ้น

ทุกครั้งที่ผมจะ introduce อะไรเพิ่มเติมเข้าไป ก็ต้องพยายามเห็นใจว่าตอนนั้นเขารับมาอยู่ในตัวขนาดไหนแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับบางคน ณ ขณะนั้นๆอาจจะเป็นการได้นอนสักงีบ ได้กินข้าวสักสองสามคำ และตั้งความหวังไว้ว่า อีกไม่นาน เมื่อเขาอยู่ตัวในงานฐานกายแล้ว ฐานใจ และฐานความคิด จะค่อยๆเติบโตขึ้นในเวลาอันควรเอง ตราบใดที่เขายังทำงานอยู่กับการให้ การบริการ และการเกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่ทุกวันแบบนี้ครับ

มีน้องถามถึงเพลงที่ orchestra บรรเลงตอนที่พระเอกยังไม่ถูกไล่ออก

มันคือ Symphony No. 9 in D minor ของ Beethoven เป็นเพลงเดียวกับ ตอนที่ Robin Williams วิ่งเล่นกับนักเรียนของเขาใน The Dead Poet Society

น่าจะสื่อถึง joyful life

อันนี้นต้องให้ผู้รู้ช่วยให้คำตอบเพิ่มเติมนะ

ตามหมอเต็มศักดิ์มาอ่านค่ะ เรื่องนี้เคยดูแล้ว ชอบเหมือนกัน ดูหนังที่เกี่ยวกับดนตรีแทบทุกเรื่องเพราะสนใจ ...อาจารย์วิเคราะห์ได้เนียนกว่านักวิจารณ์หนังอีก : ) แต่บางมุมก็อาจจะวิเคราะห์จากประสบการณ์ชีวิตที่พบเจอ ส่วนคนอื่นที่ดูและมีประสบการณ์แบบอื่นก็อาจจะมองต่างออกไปนิดหน่อย ไม่ตรงกันเป๊ะ แต่ก็ไม่หนีห่างไกลเพราะถูกกลั่นนำเสนอมาด้วยภาพที่ชัดเจนในระดับหนึ่งแล้ว ผู้กำกับเขาชงมาแบบนั้น ไม่เหมือนเวลาอ่านหนังสือซึ่งจะเตลิดตัวใครตัวมันมาก

ส่วนตัวไม่ค่อยใช้ว่าฉันเข้าใจคุณแล้วอย่างโน้นอย่างนี้ เพราะงานออกแบบที่ทำเป็นงานที่ต้องสื่อความหมายจากความต้องการของคนหลากหลาย ประสบการณ์ส่วนตัวแต่ละคนก็ต่างกันสิ้นเชิง บ่อยครั้งมากที่คิดว่าเข้าใจตรงกันแต่ก็ไปคนละเรื่อง ถ้าพูดแบบฟันธงก่อนอาจซวยได้ เลยต้องออมคำนี้ไว้ เปลี่ยนเป็นบอกว่า...พยายามตีโจทย์ทำความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งที่เขาคิดเขาพูดออกมาอยู่ คือโดยมากพอจะรับรู้ได้ว่าอยากสื่ออะไร แต่เราจะทำให้เป็นรูปธรรมออกมาตรงกับภาพในความคิดเขาหรือเปล่าก็ต้องคุยกัน ค่อยๆ ทำไปแก้ไขไป ไม่ได้ยืนกรานว่าทำออกมาแล้วต้องไม่มาแก้ ตรงกับที่บอกมาแล้ว อันนั้นลูกค้าก็คงเซ็ง แต่ถ้าเปลี่ยนจากที่เราทำหมดเป็นฝั่งเขาแบบไม่ใยดีกับงานของเรา ขาดจินตนาการสิ้นเชิง สื่อเป็นรูปธรรมทื่อๆ ก็จะบอกให้ไปทำเอง อายคนอื่น ไม่กล้าผลิตออกไป สรุปว่าฝั่งละ 50:50 ดีที่สุด ทำแล้ว Happy ทั้งสองฝ่าย

P

  • น้องซานช่วยตอบ ความหมายของเพลง ในความเห็นผมทีครับ

อาจารย์คิดและเขียนได้ลึกซึ่งมากครับ ผมก็ดูเรื่องนี้เช่นกัน แต่ไม่ได้คิดซึ้งเช่นอาจารย์ จึงขอมาชื่นชม

แต่ในมุมหนึ่งผมยังมองว่า หนังเรื่องนี้ อาจเข้าถึงแก่นยากไปนิด สำหรับคนที่คิดน้อย (ซึ่งอาจเป็นคนส่วนใหญ่)

หนังลักษณะนี้จึงสู้ หอแต๋วแตก ของคุณ พจน์ อานนท์ ไม่ได้ โรงภาพยนต์จึงให้รอบฉายน้อย

ผมว่าเป็นโจทย์เหมือนกันนะครับ สำหรับวงการภาพยนต์

เพราะหลายๆ เรื่องที่ได้รางวัล กลับไม่ได้เงิน คือคนส่วนใหญ่ไม่สนใจมาอุดหนุน

คือมันเป็นเรื่องของการสื่อสารนะครับ บางคนบอกว่าภาพยนต์เรื่องนี้ดูไม่รู้เรื่อง หลายๆ คนก็บอกว่าดี ผมก้คิดว่าดี

ก็นานาจิตตัง แต่ผมก็เสียดายหนังดีดี ถ้าพัฒนาประเด็นการสื่อสารได้มากกว่านี้ น่าจะเป็นประโยชน์ (และได้เงินด้วย)

....

หนังไทยก็มี เช่นเรื่อง นางไม้ ของคุณเป็นเอก ที่ได้ไปฉายเทศกาลหนังเมืองคาน

แต่พอมาฉายในไทย คอหนังบ่นว่าดูไม่รู้เรื่อง

งง ไหนครับ กรรมการที่คัดเลือกหนังไปเมืองคาน กับ คนทั่วไป ใช้อะไรตัดสินว่าหนังเรื่องไหนดี หรือไม่ดี

แล้วหนังอาร์ต กับ หนังตลาด ผู้กำกับเค้าใช้อะไรมาสื่อสาร (กรรมการที่ให้รางวัล กับ ผุ้ชมที่เสียเงินไปชม จึงตัดสินต่างกัน)

....

แล้วโจทย์จริงๆ คืออะไร

ขอตอบอาจารย์เต็มศักดิ์หน่อยนะคะ: จำไม่ได้ว่าเรื่องนี้เอาช่วงไหนมาระหว่าง 2 กับ 4 แต่น่าจะเป็น 4th movement โดยรวมก็แสดงออกถึงความสุขและเป็น symphony ที่มีชื่อเสียงมากของบีโธเฟ่น มันมาจากบทกวีค่ะ ลองตัดตอนที่มาและยำมาให้อ่านดู ฉบับเต็มมันยาวและภาษาเทคนิคดนตรีเยอะไปหน่อย และทำลิงค์ 4th movement ไว้ให้ ถ้าจะดูองก์อื่นก็หาจากด้านข้าง

"Ode to Joy" is written in 1785 by the German poet. The poem celebrates the ideal of unity and brotherhood of all mankind. It is best known for its musical setting by Ludwig van Beethoven in the final movement of his Ninth Symphony. และมีกลอนที่เขียนไว้เพิ่มเติมโดยบีโธเฟ่นนอกเหนือจากบทกวีเยอรมันด้วยค่ะ

Oh friends, not these tones!
Rather, let us raise our voices in more pleasing
And more joyful sounds!
Joy! Joy!

เห็นพูดเกี่ยวกับการตายและบีโธเฟ่น เลยขอเอาส่วนท้ายของพินัยกรรมเขามาให้อ่านค่ะ "มาเถิดความตาย! ขอต้อนรับท่านด้วยความยินดี แม้ข้าพเจ้าปรารถนาจะมีชีวิตอยู่เพื่อสร้างสรรค์งานให้สมบูรณ์ แต่หากท่านต้องมาเยือนก่อนเวลาอันควร ข้าพเจ้าก็ยินดีพบกับท่านในวาระนั้นเมื่อหลีกเลี่ยงมิได้ เพราะท่านมิใช่หรือที่จะช่วยปลดให้ข้าพเจ้าพ้นจากบ่วงแห่งความทุกข์ทรมานนี้"
ปล. แต่เพลงที่คนในเรื่องนี้เล่นเชลโล่แล้วชอบมากคือ Ave Maria กำลังหัดอยู่ค่ะ : )

P

  • 4th movement ทั้งสองเรื่องครับ น้องซาน
  • ขอบคุณครับ
  • วาดภาพไม่ออกว่า น้องซาน ๐๐๗ จะไปนั่งสีไวโอลิน Ave Maria ตรงไหน

ขอแถมที่มาและอารมณ์เพลง Ave Maria อีกเพลงได้มั้ยครับ

Ave Maria (จาก google ครับ)

Ave Maria
The Ave Maria was composed in about 1825 by Franz Schubert (1797-1828) when he was twenty-eight years old and filled with devotion to the Blessed Virgin Mary. It was written for voice and piano and first Published in 1826 as Op 52 no 6. The words most commonly used with Schubert's music are not the words that the composer originally set to music. Franz Schubert actually wrote the music for an excerpt from the poem "The Lady of the Lake" by Sir Walter Scott (1771-1832), which was translated into German by Adam Storck. Schubert called his piece Ellens dritter Gesang (Ellen's third song). In this particular excerpt from the poem the heroine, Ellen Douglas, is in hiding and prays to the Virgin Mary.
A letter from Schubert to his father and step-mother refers to his music to Ave Maria:  

"My new songs from Scott's Lady of the Lake especially had much success. They also wondered greatly at my piety, which I expressed in a hymn to the Holy Virgin and which, it appears, grips every soul and turns it to devotion."

The original words by Sir Walter Scott are detailed below and include many references to the Latin "Ave Maria" prayer. This, no doubt, inspired an unknown person to fit the Latin "Ave Maria" prayer text to Schubert's notes, and it almost succeeds with a couple of exceptions. The adapted Latin words of Ave Maria prayer ( Hail Mary ) is now the version most commonly performed with the music of Schubert.

ลองชมเพลงเพราะๆจาก youtube ที่นี่ แต่นี่เป็นเพลงตอนที่ไดโกะเล่นวันคริสต์มาสใช่ไหมครับ แล้วเพลงที่พระเอกชอบเล่นให้พ่อกับแม่ฟังเป็นเพลงอะไรครับ (ที่เป็นเพลงเอกของเรื่องนี้ตลอดทั้งเรื่อง) รบกวนคุณซูซานสักนิดนะครับ


เพลงพวกนี้เป็น OST ที่แต่งขึ้นเพื่อหนังค่ะ ไม่ใช่บทเพลงที่มีอยู่ก่อนแล้วอย่าง symphony no.9 หรือ Ave Maria เพลงที่อาจารย์ว่าคงหมายถึงเพลงนี้ Memory นี่เป็น Theme หลักของเรื่อง (อันที่จริงมีสองสามเพลงในชุดที่คล้ายกัน เปลี่ยนรายละเอียดบางส่วนแต่คลุมด้วย Theme เดิม) ถ้าอยากได้ OST ชุดนี้ก็บอกได้ค่ะ จะอัพโหลดและส่งเมลให้ค่ะ มีอยู่ : ) แต่ไม่แจกบนบล็อก ของส่วนตัวแบบมีคุณภาพ เสียงไม่บี้แบน

ขอบพระคุณมากครับ ถ้าไม่เป็นการรบกวนมากเกินไป :)

เรียน อ.หมอสกล

ขออนุญาตนำชื่อบันทึกและลิงค์ของบันทึกดีๆ บันทึกนี้รวบรวมไว้ในเว็บไซต์ MS-PCARE

หัวข้อหลัก=สื่อการสอน

หัวข้อย่อย=ภาพยนตร์ค่ะ หรือที่นี่ค่ะ

ขอบพระคุณมากค่ะ

ขอบคุณอาจารย์สำหรับเสวนาโต๊ะกลมและ Grand round ที่เชียงใหม่คะ

เมื่อได้ชมภาพยนต์เรื่องนี้ที่ตัดตอนมาสองรอบ

ผนวกกับการได้ฟังบรรยายของอาจารย์

ก็เกิดข้อคิดว่า งานที่มีความสุข ของแต่ละคน

ไม่ใช่งานที่เกิดจากการตัดสินของสังคมรอบข้าง

หากแต่คืองานที่สมดุลระหว่าง " ความงาม ความดี และความจริง"

ความงาม เช่น ตัวไดโกะ รู้สึกว่างานนี้เป็นงานที่ประณีตและมีศักดิ์ศรี

ความดี คือ การเห็นลูกค้า ได้เห็นคนที่รักจากไปในสภาพประทับใจที่สุด

ความจริง คือ การที่ไดโกะมีความรู้สึกดีๆ เคารพในเพื่อนร่วมงานของเขา

อาจารย์คะ อาจารย์จะสะดวกมาเยี่ยมเยียนพวกเราที่ศรีราชา ชลบุรี บ้างมั้ยคะ ได้มีโอกาสไปฟังอาจารย์พูดในที่ประชุม SHA ภาคกลาง เมื่อ 10 - 11 พ.ย. 52 ที่ผ่านมา รู้สึกกระชากใจมากเลยค่ะ กลับจากประชุมได้มีโอกาสถ่ายทอดเรื่องราวในเวทีเล็ก ๆ หลายเวทีแล้วค่ะ พอดีโรงพยาบาลของเรากำลังจะเป็นโรงเรียนแพทย์ด้วยค่ะ จึงสนใจให้อาจารย์แวะมาเยี่ยมเยียนเราบ้าง ขอบคุณมากค่ะ

ดูแล้วชอบมากค่ะ ซาบซึ้งแล้วก็ฮาด้วยค่ะ ดูหน้าหนังเหมือนจะดูยาก ดูจากโปสเตอร์

พระเอกนั่งเล่นเชลโล่ ท่าทางจะดูแล้วอึนๆแน่ แต่ป่าวค่ะ ดูแล้วรู้สึกเรื่องความตายเป็น

สิ่งที่ไม่ได้น่ากลัว แล้วรู้สึกว่าเราให้เกียรติคนตายก่อนที่เขาจะจากไป รู้สึกว่ามันเป็น

สิ่งที่สวยงามมากค่ะ ร้องไห้แบบไม่รู้ตัว แล้วก็ขำเป็นบางช่วงด้วยค่ะ

(ปล.ชอบหนังญี่ปุ่นหลายเรื่องค่ะ Be with you, Swing girl, Hula girl,และอีกหลายเรื่อง

รวมทั้งซีรีย์ดีๆอีกหลายเรื่อง Change เป็นต้นค่ะ)

ขอเติม Ave Maria อีก version ตรงนี้ เพราะไพเราะมากๆจริงๆ

<iframe title="YouTube video player" class="youtube-player" type="text/html" width="480" height="390" src="http://www.youtube.com/embed/TkY9HtwXNU8" frameborder="0" allowFullScreen></iframe>

ต้องหามาดูครับ และขอชื่นชมบทความที่ประณีตของท่านอาจารย์ครับ จะติดตามดูเรื่อยๆครับ.

ขอบพระคุณที่ชมและให้กำลังใจครับผม

กราบเรียนอาจารย์สกล

ดิฉันเองก็ชอบหนังเรื่องนี้มาก  และได้ดูอยู่หลายครั้ง  แต่ละครั้งก็ได้บทเรียน แง่คิดดีๆที่ไม่ซ้ำกัน ทำให้เห็นว่าประเทศที่เขามีความมั่นคง คงต้องดูกันที่ต้นทุนทางวัฒนธรรมนี่เอง  และขอชื่นชมอาจารย์ที่มีความสามารถในการบรรยายส่วนพิธีกรรมได้อย่างหมดจดงดงาม สง่า น่าภาคภูมิใจ ดิฉันจะขออนุญาต นำถ้อยคำที่อาจารย์บรรยายไปถ่ายทอดต่อโดยอ้างอิงเป็นชื่ออาจารย์นะคะ

ด้วยความเคารพ

มณี



พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท