การสร้างความหมายใหม่


ในการนำพาเด็กและเยาวชนที่ท่านพระอาจารย์พิทยา ทินนาโภ สิ่งหนึ่งที่ข้าพเจ้าสกัดออกมาได้นั้นนั่นคือ "การสร้างความหมายใหม่" ให้กับพวกเขาเหล่านี้

การสร้างความหมายใหม่คืออะไรล่ะ...

คือ การที่น้อมนำเปลี่ยนแปลงการให้ความหมายเดิมมาเป็นการให้ความหมายใหม่ อันเป็นความหมายที่เปี่ยมด้วยคุณค่า ที่สะท้อนถึงความเป็นชีวิตและความเป็นมนุษย์ของสมาชิกศูนย์ทั้งหลายเหล่านี้

มันคือ ความยิ่งใหญ่นะ จากที่ว่า "เด็กติดยา ขี้ยา อาชญากร" หรืออาจจะอะไรก็แล้วแต่ที่สังคมต่างสรรหามาเรียกขานอันสะท้อนถึงการลดทอนหรือตัดทอนคุณค่าแห่งความหมายของการเป็นมนุษย์...

เส้นทางแห่งการพิสูจน์และยืนหยัดต่อการให้คุณค่าให้ความหมายใหม่ต่อชีวิตของเด็กเหล่านี้ ทำให้เห็นได้ว่า "ณ ครั้งหนึ่งของชีวิตที่ก้าวพลาดไป" นั่นน่ะไม่ใช่ความสมบูรณ์แบบของความชั่ว หากแต่เป็นเพียงประสบการณ์หนึ่งเท่านั้นที่เด็กๆ เหล่านี้ได้ประสบมาและก็ผ่านมันไป

การให้คุณค่าที่พระอาจารย์ผู้นำพา...ดำเนิน

ก็คือ...การให้คุณค่าผ่านการทำงาน อันเป็นการทำงานเพื่อวัด เพื่อชุมชน เพื่อสังคม ที่เราคุ้นกันว่า "อาชีวะบำบัด" แต่อาชีวะบำบัดในวิถีของพระอาจารย์นำพานั้นไม่ใช่การสร้างอาชีพ หากแต่เป็นการสร้างนิสัย สร้างชีวิต...

เป้าหมายของการทำงานอาชีวะบำบัด

ไม่ได้มุ่งความสำเร็จจากชิ้นงาน หากแต่มุ่งให้เกิดการเรียนรู้ ว่าคนหน้างานดั่งเด็กและเยาวชนเหล่านี้ได้เรียนรู้อะไรจากการทำงาน อันเป็นเส้นทางแห่งการเรียนรู้เรื่องราวของชีวิต ความคิด ตลอดจนกระบวนการแก้ไขปัญหาที่ต้องเผชิญ

คุณลักษณะเหล่านี้...จะเป็นสิ่งที่ติดตัวและนำพาเด็กไปสู่วิถีแห่งการดำเนินชีวิตหลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการบ่มเพาะตลอดสองเดือนที่อยู่ที่ศูนย์ฯ นี้...

การต่อสู้...อย่างบากบั่นทั้งภายนอกภายใน...

ความภายนอกที่ถูกกระทบกระทั่งจากชุมชนและสังคมที่ตีตรา "ขี้ยา" นั้นนำไปสู่ความหวาดระแวงของชุมชนต่อการที่สมาชิกเหล่านี้จะไปก่ออาชญากรรมตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ไปจนถึงเรื่องใหญ่... การยืดอกอย่างสง่าผ่าเผย และเผชิญหน้าต่อการถูกเหยียดหยามและการเพ่งเล็ง... เด็กๆ สมาชิกเหล่านี้ต้องเผชิญ โดยมีพระอาจารย์ยืนอยู่นำหน้าและเคียงข้าง... สิบสามรุ่นที่ผ่านมาการขับเคลื่อนต้องผ่านเรื่องราวให้ได้พิสูจน์ว่า

 

"เด็กเหล่านี้คือ มนุษย์คนหนึ่งที่สามารถพัฒนาตนเองได้"... ทำให้พระอาจารย์ไม่ย่อท้อต่อการนำพา...

การต่อสู้ ...แห่งภายในที่เด็กจะต้องผ่านไปได้...

นั้นคือ ความบีบคั้นอันเนื่องมาจากความรู้สึกผิดที่เกิดขึ้น...

เด็กเหล่านี้หากผ่านพ้นช่วงสภาวะนี้ไปได้ อย่างน้อยเขาจะมีภูมิต้านทาน ภูมิชีวิตที่พอพยุงตนเองต่อไปได้

กระบวนการนำพา...นี้ ไม่ได้เป็นเพียงแค่... "นำไปสู่การช่วงชิงความหมายนี้ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรม"เท่านั้น หากแต่เป็นการสร้างความหมายต่อสังคมและโลกด้วย...

คุณค่า...

"หาใช่เพียงแค่เป็นการให้คุณค่าในเด็กเท่านั้น หากแต่ช่วยสังคมไปด้วย

สังคมที่มองเด็กเหล่านี้ด้วยความเข้าใจผิด (มิจฉาทิฐิ) นำพาไปสู่ความเข้าใจถูกต้อง (สัมมาทิฐิ)"

ความเข้าใจที่ถูกต้องอย่างไรล่ะ?...

ก็เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องว่า เหตุการณ์และเรื่องราวที่เกิดขึ้นต่อเด็กเหล่านี้ เป็นเพียงประสบการณ์หนึ่งเท่านั้นที่ผ่านเข้ามาในชีวิต คือความผิดพลาด แต่ไม่ใช่ความชั่วอย่างสมบูรณ์แบบ... เด็กเหล่านี้ก็เป็นผู้หนึ่งที่ควรจะได้รับโอกาส...โอกาสอันทรงคุณค่าที่ทำให้เขาสามารถก้าวเดินต่อไปได้ในห้วงเวลาแห่งชีวิตที่มีอยู่...

การที่คน ชุมชน สังคม...เปลี่ยนทัศนะต่อเด็กนั้น...

จะทำให้หัวใจ...ที่มีอยู่อ่อนโยนลง เกื้อกูลกันมากขึ้นดั่งจะเห็นได้จาก กลุ่มแม่ครัวที่มาทำอาหารให้ที่วัดนั้น และเผื่อแผ่ถึงเด็กๆ ด้วยนั้นจากการที่หวาดระแวงไม่ยอมรับ แต่ทุกวันนี้สายตาและการปฏิบัติต่อเด็กแปรเปลี่ยนเป็นความเอื้ออาทรมากขึ้น...

การนำพา...บางครา พระอาจารย์ได้เมตตาถ่ายทอดบทเรียนให้ฟังว่า...

เปรียบเสมือนว่า "โจรใหญ่ๆ เอาโจรน้อยๆ มาเลี้ยง"...

เพราะเด็กเหล่านี้มักถูกมองว่าเป็นโจร ท่านเองในฐานะผู้ดูแลจึงก้าวออกนำหน้าและเรียกขานตนเองว่า "หัวหน้าโจร" หลายครั้งที่เด็กถูกตัดสินเป็นจำเลยของสังคม เมื่อมีเรื่องราวหรือเหตุการณ์อันเป็นความเสียหายของวัดและชุมชน แต่พระอาจารย์ก็นำพาพิสูจน์ให้เห็นว่าไม่ใช่ฝีมือของเด็กๆ เหล่านี้...

"ตัวเปื้อนโคลนตม แต่ใจนั้นบริสุทธิ์"....

การนำพานี้...ต้องใช้เวลานะ ต้องอดทน ใช้ความคิดและสติปัญญาที่มีอยู่ ใช้ความรู้สึก ใช้การคลำทางแบบลองผิดลองถูก...ปรับแก้ไขให้ดำเนินไปตามสถานการณ์...บางครั้งก็ใช้สังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นเครื่องมือในการสร้างความหมายใหม่นี้

นี่เป็นคำบอกเล่าจากผู้นำพา...

คำกล่าวแห่งความรู้สึกของเด็กสมาชิกพูดถึงว่า

"ผมมีความรู้สึกว่า...ดีมากการมาอยู่ที่วัดทำให้ผมรู้สึกว่า วัดกับบ้านไม่เหมือนกัน วัดทำให้ผมมีสมาธิ มีร่างกายแข็งแรง มีความคิดขึ้น มีสติขึ้น"

"การที่ผมเข้ามาบำบัดอยู่ที่วัดหนองไคร้...ผมได้อะไรหลายอย่าง ได้ห้ามใจตัวเอง ได้รู้จักคิดได้ ทำให้เราและเพื่อนๆ ได้สำนึกผิด ได้รู้ว่าโทษของการเสพยาแล้วต้องมาอยู่ที่แบบนี้และผมรู้สึกขอบใจมากที่ยาบ้าได้ทำให้ผมได้รู้ซึ้งมากพอที่จะเลิกให้ได้ ผมขอขอบคุณที่เจ้าหน้าที่ได้ส่งผมมาอยู่วัด เพราะผมรู้สึกว่าผมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี อยู่วัดแล้วจิตใจสงบอยู่ในนี้มีพระอาจารย์คอยสั่งสอนตลอดเวลา คอยให้สติแง่คิด...

ขอบพระคุณพระอาจารย์อย่างมากออกไปนี้ผมจะเลิก และกลับตัวกลับใจเป็นคนดี"

"ในการเข้ามารับการบำบัดยาเสพติดที่วัดหนองไคร้นี้ทำให้ผมไม่คิดถึงยาเสพติดและรู้สึกดีขึ้น มีจิตที่สงบและทำให้สบายใจมาก และก็มีเพื่อนด้วย และทำให้ผมเปลี่ยนความคิดมากขึ้น ทำให้ผมมีจิตสำนึกมากขึ้น"

"ผมมีความรู้สึกว่า... ทำให้ผมรู้หน้าที่ที่ต้องทำในแต่ละวัน และทำให้ผมห่างไกลจากยาเสพติด และทำให้ผมตื่นนอนแต่เช้า ทำให้ผมรู้จักเพื่อนๆ มากมาย และทำให้ผมอยากกลับไปเป็นลูกที่ดีของแม่และยาย..."

นี่เป็นเพียงคำบอกเล่าที่ถ่ายทอดออกมาจากจิตจากใจของเด็กๆ สมาชิกศูนย์เหล่านี้ ผิดพลาดเขาก็ยอมรับกับตัวเองได้ว่าเขาเป็นผู้ผิดพลาด... และพร้อมที่จะแปรเปลี่ยนตนเองหากว่าได้รับโอกาสดั่งที่หลวงปู่และพระอาจารย์เมตตกรุณาต่อพวกเขาเหล่านี้

โอกาส...และการนำพานี้...

คือ...หนทางแห่งการสร้างความหมายใหม่

อันเป็นความหมายที่งดงามที่มนุษย์กลุ่มหนึ่งนี้พึงจะได้รับ...

 

หมายเลขบันทึก: 308134เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2009 09:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นเรื่องราวที่น่าประทับใจครับ

วันนี้ทั้งวัน...นั่งถอดบทเรียนเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างเดียวเลย

ได้เรียนรู้จากเรื่องราวมากมาย...สิ่งหนึ่งที่ได้พบจากแนวทางที่พระวิทยากรผู้ดูแลท่านดำเนินนั่นก็คือ...

การมุ่งตรงไปที่เรื่อง "ใจ"...ใจนั้นทำให้ท่านได้รู้ถึงนิสัยของเด็ก

แล้วท่านก็ใช้ใจนี่แหละนำทางเด็กๆ เพื่อให้เขาคืนกลับไปสู่การดำรงอยู่ในสังคมให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้...

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท