วัฒนธรรมโลงไม้ในจังหวัดกาญจนบุรี


วัฒนธรรมโลงไม้พบบนพื้นที่สูง มีการกระจายตัวกันอยู่ตลอดแนวเทือกเขาตะวันตกจากแม่ฮ่องสอนถึงกาญจนบุรี

เรามักจะนึกว่าโลงไม้พบเฉพาะที่อำเภอปางมะผ้า  จังหวัดแม่ฮ่องสอน  การสำรวจในอดีตทำให้ทราบว่ามีการพบตามแนวเทือกเขาตะวันตก  จากแม่ฮ่องสอน  เชียงใหม่  มาถึงจังหวัดกาญจนบุรี  งานเขียนชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยโครงการโบราณคดีบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า  จังหวัดแม่ฮ่องสอน

 

วัฒนธรรมโลงไม้: พิธีกรรมความตายในเทือกเขาตะวันตก

ความตายเป็นเรื่องสำคัญต่อคนในทุกสังคมตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน  การปลงศพและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับความตายมีความซับซ้อนตามความเชื่อและระดับของสังคม  การปลงศพโดยใส่ร่างของคนตายในโลงเป็นพัฒนาการสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน   โลงไม้คือโลงบรรจุศพที่ทำจากไม้นานาชนิดขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของแต่ละชุมชน   ซึ่งพบทั่วไปในสังคมมนุษย์ทั้งโลกตะวันตกและตะวันออก 

ลักษณะของการทำโลงศพของแต่ละวัฒนธรรมก็จะแตกต่างกันไป  บางวัฒนธรรมก็จะทำโลงโดยการขุดเนื้อไม้จากลำต้นออกและตกแต่งผิวด้านในและด้านนอก   

บางวัฒนธรรมก็แปรรูปไม้ทำเป็นแผ่นแล้วประกอบกันเป็นโลง   การนำร่างของผู้ตายมาใส่ไว้ในโลงแทนที่จะฝังร่างในดินเลย  หรือห่อหุ้มด้วยฟากไม้/เครื่องจักสาน  มักจะพบในสังคมที่มีการทำกสิกรรมแล้ว  จากแหล่งโบราณคดีประตูผา  จังหวัดลำปาง 

หลักฐานทางโบราณคดีของการปลงศพที่มีการใส่ศพในโลงไม้ที่มีอายุเก่าแก่ของภูมิภาคเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น   จัดอยู่ประมาณช่วงยุคสมัยโลหะ

สำหรับในประเทศไทย  มีหลักฐานพัฒนาการของการปลงศพและพิธีกรรมเกี่ยวกับความตายที่เก่าแก่ที่สุดคือการฝังศพตามถ้ำหรือเพิงผาต่างๆ  ในสมัยปลายสมัยไพลสโตซีน-ต้นสมัยโฮโลซีน หรือสมัยหินเก่า-หินกลาง  (ประมาณ 25,000-7,500 ปีมาแล้ว) ซึ่งมักจะพบเป็นการนำร่างฝังในหลุมแล้วกลบดินทับอีกครั้ง โครงกระดูกที่พบส่วนใหญ่อยู่ในท่านอนงอตัว  เอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง  เหมือนกับท่านั่ง 

ต่อมาในสมัยโฮโลซีนตอนกลาง-ปลาย หรือสมัยหินใหม่และโลหะ (ประมาณ 5,600-1,500  ปีมาแล้ว) รูปแบบการฝังศพยังคงเป็นการฝังลงในหลุม  แต่ท่าวางศพเปลี่ยนเป็นการฝังศพที่นอนหงายเหยียดยาว  พร้อมกับมีของเซ่นไหว้ภายในหลุมศพ

บางกรณีก็มีการห่อหุ้มศพด้วยฟากไม้แล้วขุดหลุมฝัง เช่น ที่แหล่งโบราณคดีประตูผา จังหวัดลำปาง

หรือการฝังลงในหม้อขนาดใหญ่  ที่พบจากแหล่งโบราณคดีโนนวัด จังหวัดนครราชสีมา อย่างไรดีตาม  ในสมัยที่มีการใช้โลหะจะเริ่มปรากฏการปลงศพที่หลากหลายรูปแบบที่นอกเหนือไปจากการฝังดินในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย  ไม่ว่าจะเป็นการฝังศพครั้งที่ 2 ในไหที่พบอย่างกว้างขวางในแหล่งโบราณคดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 

หรือการฝังศพครั้งที่ 2 ที่ฝังลงในดิน ที่แหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร

หรือ การฝังศพในโลงไม้ที่พบในแนวเทือกเขาตะวันตกของประเทศไทย

ในที่นี้  ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงเฉพาะแหล่งโบราณคดีที่พบโลงไม้   โดยเฉพาะแนวเทือกเขาตะวันตกของประเทศไทยพบโลงไม้ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันตั้งแต่แม่ฮ่องสอน  

  • ถ้ำเชียงดาว  จังหวัดเชียงใหม่
  • ถ้ำเรือ  อำเภอไทรโยค และถ้ำขุนแผน  อำเภอเมืองซึ่งสำรวจโดยผู้วิจัยเมื่อพ.ศ. 2533
  • ถ้ำอาบยา  อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี สำรวจโดยภาควิชาโบราณคดี  คณะโบราณคดี  มหาวิทยาลัยศิลปากร
  •  นอกจากนี้ยังมีการบอกเล่าถึงการพบที่จังหวัดสุโขทัยโดยเจ้าหน้าที่ป่าไม้  ซึ่งแจ้งกับเขียนเองในปี พ.ศ. 2544 
  • และมีการพบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งไม่ได้นำมากล่าวถึงรายละเอียด  เพราะรูปแบบของโลงมีความแตกต่างไปจากกลุ่มที่พบในแนวเทือกเขาตะวันตก  

สำหรับแบบแผนของวัฒนธรรมโลงไม้ที่พบในจังหวัดกาญจนบุรีนั้นไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นอย่างไร  แต่มักจะพบภายในถ้ำ  โลงจะวางในตำแหน่งที่เป็นคูหาชั้นใน  ส่วนที่มืด  เช่นถ้ำเรือ  ถ้ำองบะ  เป็นต้น  แต่ก็มีกรณียกเว้นคือถ้ำอาบยา  ซึ่งเป็นพื้นที่ค่อนข้างจะสว่างและโล่ง   และโลงไม้ส่วนใหญ่ทำจากไม้แดงและไม้ประดู่  ส่วนของหัวโลงมีการแกะสลักเป็นรูปต่างๆ  คล้ายกับรูปสัตว์บ้าง โลงส่วนใหญ่วางอยู่บนพื้นหรือพาดบนก้อนหิน  ไม่ได้วางอยู่บนเสาไม้หรือคาน   ถ้ำส่วนใหญ่มักจะมีการรบกวนและเคลื่อนย้ายโลงไม้    ถ้ำที่เป็นสุสานไม่มีความซับซ้อนหรือเข้ายากเหมือนกับที่แม่ฮ่องสอน   

แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในจังหวัดกาญจนบุรีที่มีการศึกษาและขุดค้นคือ ถ้ำองบะ อำเภอศรีสวัสดิ์    ซอเรนเซน  นักโบราณคดีชาวเดนมาร์ก  รายงานว่าโลงไม้ที่พบภายในถ้ำมีการรื้อค้นและเคลื่อนย้ายจากตำแหน่งเดิมโดยนักลักลอบขุดของเก่า  โลงไม้ทั้งหมดที่พบมีจำนวนถึง 90 โลง ขนาดความยาวระหว่าง 3-3.5 เมตร  บางโลงยังคงเหลือร่องรอยของชิ้นส่วนของโครงกระดูกมีสร้อยที่ทำจากลูกปัดแก้ว เครื่องประดับสำริด  เงิน?  ภาชนะที่ทำจากสำริด  เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากเหล็ก และภาชนะดินเผาขนาดเล็ก  อายุของโลงไม้ที่ได้จากการกำหนดอายุโดยวิธีคาร์บอน 14 คือ 2180±100 ปีมาแล้ว หรือประมาณ 230 ปีก่อน ค.ศ.    ถ้ำองบะเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญที่แสดงถึงพัฒนาการของคนตั้งแต่สมัยโฮโลซีนตอนต้น-ปลาย (ยุคหินกลาง-โลหะ)

 ซอเรนเซนจัดแบ่งยุคสมัยของการใช้พื้นที่ในถ้ำองบะออกเป็นสามช่วงใหญ่ๆ คือ ช่วงสมัยวัฒนธรรมโฮบินเนียน  อายุระหว่าง 9230±180 ปีก่อนค.ศ. และ 7400±180 ปีก่อนค.ศ.  ช่วงวัฒนธรรมหลังวัฒนธรรมบ้านเก่า อายุประมาณ 1,100 ปีก่อนค.ศ.  และช่วงสมัยวัฒนธรรมโลหะ  ดังอายุที่กล่าวแล้วในข้างต้น  โดยเฉพาะการตีความเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมในสมัยโลหะนั้น  ซอเรนเซน เสนอว่ามีความแตกต่างทางสังคมอย่างชัดเจน  อย่างน้อย 2 กลุ่ม คือ คนที่มีสถานภาพสูงจะเป็นพวกที่ปลงศพในโลงไม้  และมีเครื่องเซ่นศพต่างๆ  รวมทั้งกลองมโหระทึกสำริด  และกลุ่มคนที่เป็นช่าง  ได้แก่ช่างไม้หรือช่างตีเหล็ก  จะถูกฝังภายในถ้ำเช่นกัน  นอกจากนี้ ซอเรนเซน  สันนิษฐานว่าวัฒนธรรมโลงไม้นี้น่าจะแพร่กระจายมาจากเสฉวน ในประเทศจีน ซึ่งอายุประมาณ 600 ปีก่อน ค.ศ.    ผ่านมาทางภาคตะวันตกของประเทศไทยและส่งผ่านไปยังถ้ำนีอาร์  เกาะบอร์เนียว  ประเทศมาเลเซีย มีอายุประมาณ  505 ปีก่อน ค.ศ.   และต่อไปยังประเทศฟิลิปปินส์  ซึ่งมีอายุประมาณ ปลายคริสศตวรรษที่ 13-ต้นคริสศตวรรษที่ 14  อย่างไรก็ดี  มีเพียงงานค้นคว้าสารนิพนธ์ปริญญาตรี  ภาควิชาโบราณคดีของสุรศักดิ์  อนันตเวทยานนท์ ปี 2530 เพียงชิ้นเดียวที่ทำการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบของโลงไม้ระหว่างแหล่งโบราณคดีในจังหวัดกาญจนบุรีกับจังหวัดแม่ฮ่องสอน   ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมของคนเจ้าของโลงไม้ในจังหวัดกาญจนบุรี

หมายเลขบันทึก: 306809เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2009 23:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2013 20:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • มาอ่านสาระดี ๆ ครับ
  • ขอบคุณที่นำความรู้ดี ๆ มาให้ครับ

 

ขอบคุณค่ะ หากมีข้อแนะนำอะไร ก็ยินดีเป็นอย่างยิ่งค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท