พัฒนาการของเด็กวัยเรียน 6 – 12 ปี


พัฒนาการของเด็กวัยเรียน 6 – 12 ปี

 เด็กวัยเรียนนี้เป็นวัยแห่งการเตรียมพร้อมทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา ถ้าเด็กได้รับสิ่งแวดล้อมที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็กทุก ๆ ด้าน เด็กก็จะสามารถปรับตัวให้เข้ากับประสบการณ์ใหม่หรือสิ่งแวดล้อมใหม่ได้อย่างราบรื่น เด็กในวัยนี้จะมีการเรียนรู้เพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นวัยที่เข้าโรงเรียน เด็กจะเริ่มเรียนรู้ในสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวก่อนแล้วจึงค่อยเป็นประสบการณ์ไปหาสิ่งแวดล้อมที่อยู่ไกลตัวออกไป สำหรับเด็กที่เริ่มเข้าเรียน จะสามารถเรียนรู้ได้ดี ถ้าทางโรงเรียนได้จัดสิ่งแวดล้อมโดยปล่อยให้เด็กได้มีการเคลื่อนไหว และเข้าร่วมในกิจกรรมต่าง ๆอยู่เสมอ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มหรือเสริมพัฒนาการทางปัญญาของเด็กเป็นอย่างมาก เนื่องจากสิ่งต่าง ๆ จะเป็นสิ่งที่ช่วยหรือก่อให้เกิดความอยากรู้อยากเห็น อยากทดลอง ค้นคว้าสิ่งเหล่านี้ของเด็ก ได้แก่ ภาพยนตร์ โทรทัศน์ ภาพการ์ตูน สิ่งดังกล่าวนี้มี อิทธิพลอย่างมากต่อการพัฒนาการของเด็กในด้านอารมณ์ ภาษาและสติปัญญา เด็กวัยเรียนนี้วุฒิภาวะทุกด้านกำลังงอกงามเกือบเต็มที่ ทำให้เด็กมีความสามารถเพิ่มขึ้นอีกหลายด้าน เป็นเพราะเด็กได้เรียนรู้กว้างขวางขึ้นในช่วงนี้ ทำให้เด็กสามารถที่จะคิดและแก้ปัญหาต่าง ๆ ด้วยตัวของตัวเอง              

                เด็กในวัยนี้จะเริ่มเรียนรู้โลกกว้างมากขึ้น ชอบความตื่นเต้น พึงพอใจในสิ่งแปลกใหม่ จะหันเหไปสู่การเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากสิ่งแวดล้อมนอกบ้าน เช่น เรียนรู้เกี่ยวกับเพื่อน ครู การเรียน การเล่นกับเพื่อน (Freud : Psychoanalytic Theory , Latency stage) เด็กจะใฝ่เรียนรู้และพยายามกระทำสิ่งต่างๆเพื่อให้เห็นว่าเขาสามารถทำได้หรือประสบความสำเร็จ อยากให้ผู้อื่นยอมรับในความสามารถของตนเอง (Erikson : ทฤษฎีจิตสังคม ขั้นที่ 4) ดังนั้น พ่อแม่ควรช่วยให้เด็กได้เกิดความรู้สึกว่าเขามีดี มีความสามารถ โดยการสนับสนุนให้เด็กได้ทำในสิ่งที่เขาชอบอย่างสุดความสามารถ หาจุดดี-จุดเด่นของตัวเด็กเพื่อชมเชย เป็นการบ่มเพาะความรู้สึกขยันหมั่นเพียรให้เกิดขึ้น เพราะความสามารถจริงของเด็กที่ปฏิบัติได้นั้น ยังต้องได้รับการส่งเสริมและช่วยเหลือจากผู้ใหญ่และสังคมในการช่วยให้เด็กมีศักยภาพสูงสุดที่เป็นไปได้ (Vygotsky : Cultural-Historical Theory , Zone of Proximal Development) แต่ถ้าไม่ได้รับการส่งเสริม หรือได้รับการส่งเสริมที่มากเกินความสามารถของเด็ก เด็กจะรู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า ไม่มีความสามารถ

พ่อแม่ควรทำความเข้าใจว่าเด็กในวัยนี้มีความรู้ความเข้าใจในสิ่งต่างๆรอบตัวมากขึ้น สามารถคิดหาเหตุผล แก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ และสามารถเข้าใจกฏเกณฑ์ต่างๆได้ก็จริง แต่ก็มีข้อจำกัดว่าความรู้ความเข้าใจเหล่านี้ก็จะต้องอยู่ในรูปธรรม เช่น การสอนให้เด็กทำความดี (นามธรรม) พ่อแม่จะต้องยกตัวอย่างให้อยู่ในรูปของพฤติกรรมที่เด็กสามารถปฎิบัติได้ เช่น การตั้งใจเรียน  เชื่อฟังคำสั่งสอนของผู้ใหญ่ เป็นการทำความดี (Piaget : Constructivist Theory ,Concrete operational stage)

                ทักษะการเรียนรู้ของเด็กวัยนี้จะเป็นลักษณะการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก คือ การประสานกันระหว่างมือกับสายตา เช่น การต่อบล็อก การเขียนหนังสือ จะเห็นได้ว่าเด็กวัยนี้เป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมจากบ้านสู่โรงเรียน ดังนั้น ทักษะการเข้าสังคมในกลุ่มเพื่อน และทักษะทางภาษาเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง กระบวนการพัฒนาต่างๆจะเป็นในลักษณะของกระบวนการทางสังคมเข้ามาหล่อหลอมในตัวเด็ก เพราะวัยเด็กตอนปลายไม่ต้องการเล่นตามลำพังที่บ้านหรือทำสิ่งต่างๆร่วมกับสมาชิกของครอบครัวอีกต่อไป เพื่อนจึงเป็นบุคคลอันดับแรกๆที่เด็กจะเลือกปฏิบัติตาม ทั้งด้านการแต่งกาย ความคิด และพฤติกรรม เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างพ่อแม่กับเพื่อนเด็กมักจะทำตามและให้ความสำคัญกับกลุ่มเพื่อนมากกว่า ซึ่งทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ทักษะการเข้าสังคมหลายอย่างที่เป็นประโยชน์ เช่น เด็กจะเรียนรู้ถึงการยอมรับและมีความรับผิดชอบ การมีน้ำใจนักกีฬา และการมีพฤติกรรมที่สังคมยอมรับ เพื่อเป็นรากฐานในการเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมต่อไป

จากที่กล่าวมาข้างต้น จะสามารถเห็นได้ว่า ช่วงอายุของเด็กในวัยเรียน 6-12 ปีนั้น ถือเป็นช่วงสำคัญของเด็กในการเรียนรู้ทักษะชีวิต และพัฒนาการต่างๆทางด้านสติปัญญา (higher cognitive functions) เป็นช่วงที่การทำงานของสมองมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและเต็มที่ ดังนั้นธรรมชาติและพฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็กในช่วงวัยเรียนจึงมีการเปลี่ยนแปลงและแสดงให้เห็นถึงการเจริญเติบโตที่ค่อนข้างเด่นชัดในแต่ละขวบปี ซึ่งสามารถสรุปได้ดังต่อไปนี้

อายุ 6 ปี

เด็กวัยนี้สามารถมองเห็นความแตกต่างระหว่างสิ่งของได้ เช่น ความแตกต่างของลวดลายต่าง ๆ เข้าใจความหมายของหน้า-หลังและบน-ล่างของตัวเด็ก แต่ไม่เข้าใจระยะใกล้หรือไกลของสถานที่ เด็กวัยนี้ยังคิดถึงแต่เรื่องปัจจุบัน คิดถึงแต่เรื่องที่ตนเองพัวพันอยู่ด้วย มีสมาธิจดจ่อกับกิจกรรมค่อนข้างสั้น สนใจการกระทำกิจกรรมต่าง ๆ แต่จะไม่สนใจความสำเร็จของกิจกรรมนั้น ๆ เด็กจะกระตือรือร้นทำงานที่ตนเองสนใจ แต่เมื่อหมดความสนใจจะเลิกทำทันที โดยไม่สนใจว่างานนั้นจะสำเร็จหรือไม่

อายุ 7 ปี

เด็กวัยนี้จะมีความอยากรู้อยากเห็น สามารถจำเหตุการณ์ที่ผ่านมาได้ มีความสนใจที่จะทำสิ่งต่าง ๆ และจะพยายามทำให้สำเร็จ รู้จักชอบหรือไม่ชอบสิ่งนั้นสิ่งนี้ มีสมาธิจดจ่อกับกิจกรรมยังค่อนข้างสั้น จะสนใจสิ่งต่างๆทีละอย่าง ดังนั้น ถ้ามีงานหลายอย่างให้เด็กทำ ควรจะแบ่งหรือกำหนดให้เป็นส่วน ๆ ไม่ควรให้พร้อมกันทีเดียว เพราะจะทำให้เด็กเบื่อ

อายุ 8 ปี

เด็กวัยนี้จะมีความอยากรู้อยากเห็น สนใจซักถามมากขึ้น ชอบทำสิ่งใหม่ ๆ ที่ตนไม่เคยทำมาก่อน มีสมาธิจดจ่อกับกิจกรรมนานขึ้น มีความสนใจที่จะทำงานให้สำเร็จ มีความพิถีพิถันและรับฟังคำแนะนำในการทำงานมากขึ้น สามารถเข้าใจคำชี้แจงง่าย ๆ มีความสนใจในการเล่นต่าง ๆ สามารถแสดงละครง่าย ๆ ได้ สนใจการวาดภาพ ดูภาพยนตร์ โทรทัศน์ การ์ตูน ฟังวิทยุ และชอบนิทาน สนใจในการสะสมสิ่งของ

อายุ 9 ปี

เด็กวัยนี้เป็นวัยที่รู้จักใช้เหตุผล สามารถตอบคำถามอย่างมีเหตุผล มีความรู้ในด้านภาษา และความรู้รอบตัวกว้างขึ้น ชอบอ่านหนังสือที่กล่าวถึงข้อเท็จจริง สามารถแก้ปัญหาและรู้จักหาเหตุผลโดยอาศัยการสังเกต ในวัยนี้ต้องการอิสรภาพเพิ่มขึ้น สนใจที่จะสะสมสิ่งของ และจะเลียนแบบการกระทำต่าง ๆ ของคนอื่น

อายุ 10 ปี

วัยนี้เป็นวัยที่สมองกำลังพัฒนาเต็มที่ การเรียน การหาเหตุผล ความคิดและการแก้ปัญหาดีขึ้น สามารถตัดสินใจด้วยตนเอง และมีการไตร่ตรองก่อนตัดสินใจ ไม่ทำอย่างหุนหันพลันแล่น มีความคิดริเริ่ม เด็กชายชอบเรียนดาราศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เด็กหญิงจะสนใจเกี่ยวกับการเรือน การสร้างมโนภาพเกี่ยวกับเวลา แม่นยำและกว้างขวางขึ้น ทำให้สามารถศึกษาประวัติศาสตร์สำคัญ วัน เดือนปี ได้ สามารถเข้าใจสิ่งต่าง ๆได้อย่างรวดเร็ว

อายุ 11-12 ปี

เด็กวัยนี้จะมีเพื่อนวัยเดียวกัน มีการเล่นเป็นกลุ่ม บางคนจะเริ่มแสดงความสนใจในเพศตรงข้าม สนใจกีฬาที่เล่นเป็นทีม กิจกรรมกลางแจ้ง สัตว์เลี้ยง งานอดิเรก หนังสือ การ์ตูน จะมีลักษณะเป็นคนที่เปลี่ยนแปลงได้ง่าย ๆ อาจกลายเป็นคนเจ้าอารมณ์ และชอบการวิพากษ์วิจารณ์ จะเห็นว่าความคิดเห็นของกลุ่มเพื่อนมีความสำคัญมากกว่าความคิดเห็นของผู้ใหญ่ และจะมีความกังวล เริ่มเอาใจใส่การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย  ต้องการให้ผู้อื่นเข้าใจและยอมรับในการเปลี่ยนแปลงของตนด้วย

 

ผลกระทบของสื่อต่อเด็กในวัยเรียน 

ในยุคปัจจุบันการเรียนรู้ของเด็กได้มีการเปิดกว้างขึ้น และเข้าถึงได้ง่ายกว่าเมื่อก่อน เนื่องจากวิวัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีและสารสนเทศ รวมไปถึงชนิดของสื่อ เครื่องมือ และอุปกรณ์ multimedia ต่างๆมีการพัฒนารูปแบบใหม่ๆออกมา เพื่อเอื้อต่อการเรียนรู้ และใช้ประโยชน์ อย่างไรก็ตามสื่อนับว่าเป็นเพียงช่องทาง หรือ เครื่องมือในการสื่อสารเท่านั้น ส่วนที่สำคัญคือเนื้อหา และ การนำเสนอของสื่อสาระที่เป็นตัวชี้วัดความเหมาะในการรับสื่อ เนื่องจากเด็กในวัยนี้ยังไม่มีวุฒิภาวะ และ การไตร่ตรองที่รอบคอบเพียงพอต่อการเลือกรับ หรือ เสพสื่อ ดังนั้นผลกระทบของสื่อจึงเป็นเหมือนดาสองคม ซึ่งสามารถส่งให้เกิดทั้งผลดีที่เป็นประโยชน์ และ ผลเสียที่ก่อให้เกิดโทษต่อเด็กในวัยเรียนได้เช่นกัน

 

ผลกระทบของสื่อต่อพัฒนาการด้านมิติสัมพันธ์

                รูปแบบของอุปกรณ์ multimedia ต่างๆในปัจจุบันถูกออกแบบให้มีการประสาทสัมผัสต่างๆพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ วีดีโอเกมส์ใหม่ๆที่ช่วยฝึกทักษะการเชื่องโยงของการใช้ประสาทสัมผัส และ การเคลื่อนไหวให้กับเด็กได้ เช่น เกมส์เต้น เกมส์เครื่องดนตรีในแบบต่างๆ (กลอง กีต้าร์ คีย์บอร์ด) ซึ่งการเล่นเกมส์ประเภทนี้เอื้อให้เกิดพัฒนาการด้านมิติสัมพันธ์ และถือว่าเป็นกิจกรรมที่ใช้เพื่อความบันเทิง ผ่อนคลายสำหรับเด็กได้ 

 

ผลกระทบของสื่อต่อพัฒนาการด้านสังคม และ ปฏิสัมพันธ์

                ในปัจจุบันการสื่อสารติดต่อ หรือ ทำความรู้จักผ่าน social networking ต่างๆ สามารถช่วยพัฒนาการด้านสังคม และปฏิสัมพันธ์ได้ในระดับหนึ่งถ้ามีการใช้อย่างเหมาะสม ด้วยสังคมในโลก cyber ที่เปิดกว้างและค่อนข้างไร้ข้อจำกัดสามารถเป็นประโยชน์ในการเรียนรู้สังคมต่างวัฒนธรรมได้ รวมไปถึง community ต่างๆที่มีการทำกิจกรรมสร้างสรรค์และเกิดประโยชน์ต่อการใช้เวลาว่างเช่น web 2.0 ที่เป็น interactive website สามารถเป็นช่องทางหนึ่งในการสร้างแรงจูงใจให้เด็กได้แสดงออกด้านความนึกคิด และความสามารถ

 

ผลกระทบของสื่อต่อการเรียนรู้ด้านภาษา

สื่อ multimedia ในรูปแบบต่างๆสามารถเอื้อต่อพัฒนาการทางด้านภาษาให้กับเด็กในวัยเรียนได้หลากหลายวิธี

  • การดูหนัง soundtrack ที่สามารถเลือก subtitle ภาษาต่างๆได้ สามารถช่วยผึกทักษะด้านการอ่าน และความรู้ด้านคำศัพท์ การสนทนา
  • การฟังเพลงภาษาต่างชาติ สามารถช่วยการเรียนด้านประสาทการฟังและสร้างความคุ้นเคยในการออกเสียง 
  • การเล่นเกมส์ภาษา สามารถฝึกทักษะความเข้าใจในการสื่อสารผ่านการสังเกต และการตอบสนองของตัวคาแรกเตอร์ในเกมส์ โดยบางครั้งอาจเริ่มจากการไม่รู้ภาษานั้นๆเลยก็ได้

 

ผลกระทบของสื่อต่อการเรียนรู้เชิงพฤติกรรม

                สื่อ นับว่าเป็นการนำเสนอของโลกเสมือนจริง (Virtual Reality) เนื่องจากเด็กในวัยเรียนมีความอยากรู้อยากเห็น และยังมีวุฒิภาวะในการเลือกรับ และไตร่ตรองไม่เพียงพออาจส่งผลกระทบให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมได้ โดยการเรียนรู้พฤติกรรมสำคัญต่าง ๆ ทั้งที่เสริมสร้างสังคม (Prosocial Behavior) และพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อสังคม (Antisocial Behavior) ได้เน้นความสำคัญของการเรียนรู้แบบการสังเกตหรือเลียนแบบจากตัวแบบ ซึ่งอาจจะเป็นได้ทั้งตัวบุคคลจริง ๆ เช่น ครู เพื่อน หรือจากภาพยนตร์โทรทัศน์ การ์ตูน หรือจากการอ่านจากหนังสือได้ การเรียนรู้โดยการสังเกตประกอบด้วย 2 ขั้น คือ ขั้นการรับมาซึ่งการเรียนรู้เป็นกระบวนการทางพุทธิปัญญา และขั้นการกระทำ ตัวแบบที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของบุคคลมีทั้งตัวแบบในชีวิตจริงและตัวแบบที่ เป็นสัญญลักษณ์ เพราะฉะนั้นพฤติกรรมของผู้ใหญ่ในครอบครัว โรงเรียน สถาบันการศึกษา และผู้นำในสังคมประเทศชาติและศิลปิน ดารา บุคคลสาธารณะ ยิ่งต้องตระหนักในการแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ เพราะย่อมมีผลต่อพฤติกรรมของเยาวชนในสังคมนั้น ๆ

 

ผลกระทบของสื่อต่อการเรียนรู้เชิงวิชาการ

                สื่อเป็นช่องทางในการเรียนรู้ที่เปิดกว้างและเข้าถึงได้ง่ายที่สุด เช่น สื่อโทรทัศน์เป็นช่องทางให้เด็กเข้าถึงและติดตามข่าวสารที่เป็นความรู้รอบตัว หรือ อินเตอร์เป็นช่องทางในการค้นคว้าความรู้ และวิชาการต่างๆ ในปัจจุบันที่ทักษะด้านการใช้เครื่องมือคอมพิวเตอร์ของเด็กในวัยนี้มีการพัฒนารวดเร็ว และสูงขึ้น การเรียน-การสอนผ่านอินเตอร์เน็ต (e-learning) สามารถเป็นประโยชน์ต่อเด็กได้ โดยเฉพาะในกรณีที่เด็กมีความบกพร่อง หรือ ข้อจำกัดทางร่างกายที่ลำบากต่อการเดินทาง การใช้สื่อทางอินเตอร์เน็ตเป็นช่องทางด้านการเรียนช่วยในการลดข้อจำกัดของระยะทาง และเวลาในการเรียนได้ รวมไปถึงเนื้อหาสาระด้านวิชาการที่เด็กสามารถค้นหาได้มากมายโดยไม่ต้องไปเรียนพิเศษ ซึ่งถือว่าเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย

 

ประเด็นปัญหา และ แนวทางการแก้ไขผลกระทบของสื่อต่อเด็กในวัยเรียน

ด้วยสภาวะทางด้านเศรษฐกิจ และ สังคมในปัจจุบันที่มีความกดดัน และการแข่งขันสูง ทำให้พ่อ-แม่ ผู้ปกครองไม่สามารถมีเวลาใกล้ชิดดูแลเด็กได้เท่าที่ควร อีกทั้งวิวัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีการสื่อสารที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดสื่อประเภทต่างๆมากมาย และสามารถเข้าถึงได้ง่ายในปัจจุบัน จึงทำให้สื่อเข้ามามีบทบาทและถือได้ว่าเป็นช่องทางการเรียนรู้ที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อเด็ก ไม่ว่าจะเป็นสื่อสารมวลชน เช่นโทรทัศน์ วิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ เช่น นิตยสาร หรือแม้กระทั่งสื่อเชิงกิจกรรม เช่น เกมส์ อินเตอร์เน็ต เว็ปไซด์ ประเภท social networking ต่างๆ (hi5, facebook, bimbo, etc) สังเกตได้ว่าเด็กและเยาวชนในยุคนี้ใช้เวลากับสื่อต่างๆเหล่านี้มากกว่าอยู่กับพ่อ-แม่ด้วยซ้ำ และด้วยประเภท และ ความหลากหลายของสื่อต่างๆเหล่านี้ ทำให้การรู้เท่าทันสื่อของเด็ก หรือแม้แต่ของผู้ปกครองเองไม่เพียงพอ เมื่อเด็กในวัยนี้ยังขาดวุฒิภาวะในการเลือกรับสื่อ บวกกับการขาดความรู้ ความเข้าใจของพ่อ-แม่ต่อผลกระทบของสื่อ จึงก่อให้เกิดความเสี่ยงในการรับรู้ หรือเสพสื่อของเด็กในทางที่ไม่ถูกต้อง ไม่ความเหมาะสมสำหรับการเรียนรู้เพื่อประโยชน์เชิงพัฒนาการของเด็กได้ง่าย

ปัญหาต่างๆที่เกี่ยวกับผลกระทบด้านลบของสื่อต่อเด็กนับว่าเป็นประเด็นสำคัญในปัจจุบัน โดยเฉพาะปัญหาของเด็ก และ พฤติกรรมติดเกมส์ที่เป็นข่าวเกิดขึ้นมากมาย โดยส่วนมากการตีแผ่ข่าวสารของสื่อสารมวลชนมักมุ่งเน้นประเด็นปัญหาไปที่ตัวเด็ก และ สื่อ จนทำให้เกิดทัศนคติในแง่ลบต่อสื่อประเภทๆ แท้จริงแล้ว เทคโนโลยี และสื่อต่างๆโดยส่วนมากล้วนสร้างขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้รับ ผลที่เกิดขึ้นจากผลกระทบของสื่อต่อเด็ก ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นจากพฤติกรรมในการเสพสื่อของเด็ก หรือสื่อสาระที่ไม่เหมาะสมจากสื่อมากกว่าที่จะเป็นประเภทของสื่อนั้นๆ จริงๆแล้วสื่อมีประโยชน์ต่างๆมากมายต่อการเรียนรู้ของเด็กในวัยเรียน สื่อเป็นเพียงสิ่งเร้าให้เด็กเกิดพฤติกรรมตอบสนองเท่านั้น ซึ่งอาจเป็นทั้งผลดี และ ผลเสียย่อมขึ้นอยู่กับการเลือกรับ และ เลือกใช้สื่ออย่างถูกต้องเหมาะสม ดังนั้นการวิเคราะห์ถึงผลกระทบของสื่อจึงควรให้ความรู้ทั้งในแง่บวก และ แง่ลบ โดยระบุถึงเงื่อนไข และ วิธีการเลือกรับ หรือ นำสื่อไปใช้ในทางที่เอื้อประโยชน์ พร้อมทั้งคำแนะนำ หรือ คำเตือนในกรณีที่อาจเกิดโทษขึ้น

สำหรับการควบคุม และสร้างสรรค์สื่อเชิงนโยบายภาครัฐนั้น สามารถเห็นได้จากการจัดเรตติ้งสื่อ และสื่อสาระต่างๆ เช่น การจัดเรตติ้งรายการโทรทัศน์ ถึงความเหมาะสมในการรับชมตามวัยต่างๆ อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ที่เด็กจะได้รับจากมาตรการ และวิธีการเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของผู้ใหญ่ พ่อ-แม่ ผู้ปกครองเป็นส่วนสำคัญ เนื่องจากเด็กในวัยนี้ต้องการคำแนะนำ และการอบรมดูแลอย่างใกล้ชิด แต่เมื่อขาดส่วนสำคัญในจุดนี้ไป ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นจากผลกระทบของสื่อต่อเด็กก็ไม่สามารถได้รับการป้องกัน แก้ไขให้เกิดผลที่ดี และถูกต้องจริงๆเสียที ดังนั้นการลงโทษ หรือ ห้ามไม่ให้เด็กใช้สื่อเด็ดขาด อาจเป็นการตัดโอกาสในการเรียนรู้ของเด็กไปด้วย เพราะฉะนั้นทางออกที่ดีที่สุด คือการให้เวลาในการเอาใจใส่ดูแลเด็กที่เพียงพอ พ่อ-แม่ ผู้ปกครองควรใช้เวลาในการเรียนรู้ไปกับเด็ก แม้กระทั่งในกรณีที่เกิดปัญหาขึ้น การทำความเข้าใจต่อความต้องการของเด็ก และ การให้เวลากับเด็กในการควบคุมพฤติกรรมก็ควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป พร้อมกันนั้นก็ควรมีการส่งเสริมกิจกรรมด้านการเรียนรู้วิธีอื่นให้กับเด็ก ให้เด็กได้มีช่องทางในการใช้เวลาว่างและให้เกิดประโยชน์ เพราะสุดท้ายแล้วปัญหาต่างๆจะไม่เกิดขึ้น หรือสามารถแก้ไขได้ถ้าผู้ใหญ่ให้การเอาใจใส่ และสนับสนุนการเรียนรู้ที่ถูกต้องให้กับเด็กอย่างถูกวิธี

 

 

นางสาวเบญจรัตน์    นุชนาฏ์                  

นายชัยณรงค์          ยิ้มน้อย                  

นางสาวชุตินาถ       ทัศนานุพันธุ์          

นางสาวนัตตา         ประทีปชัยกูร       

นางสาวบุษกร         โยธานัก                                 

นางสาวภัทรา         แสนคงสุข 

 

สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว

มหาวิทยาลัยมหิดล

หมายเลขบันทึก: 305078เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2009 22:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุญสำหรับข้อมูลค่ะ

อยากให้แยกพัฒนาการแต่ละด้านออกเป็นข้อๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท