ความหมายของสิ่งแวดล้อม


สิ่งแวดล้อมคืออะไร

สิ่งแวดล้อมกับมนุษย์

สิ่งแวดล้อม ตามความหมายในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 และในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ได้ให้คำนิยามของสิ่งแวดล้อมตรงกันคือ หมายถึง สิ่งต่าง ๆ ที่มีลักษณะทางกายภาพและชีวภาพที่อยู่รอบตัวมนุษย์ ซึ่งเกิดขึ้นโดยธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์ได้ทำขึ้น

การจำแนกสิ่งแวดล้อม ในการจำแนกสิ่งแวดล้อมสามารถแบ่งได้หลายจำพวกขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการแบ่ง ดังนี้

จำแนกตามองค์ประกอบของสิ่งแวดล้อมเป็น 4 ลักษณะ

1. สิ่งแวดล้อมทางด้านกายภาพ (Physical Environment)

2. สิ่งแวดล้อมทางด้านเคมี (Chemical Environment)

3. สิ่งแวดล้อมทางด้านชีวภาพ (Biological Environment) หมายถึง คุณลักษณะสิ่งแวดล้อมที่มีองค์ประกอบของสิ่งมีชีวิต เช่น จุลินทรีย์ พืช และสัตว์ รวมถึงมนุษย์ด้วย ซึ่งมนุษย์มีบทบาทที่สำคัญทั้งในการช่วยค้ำจุน และในการทำลายสิ่งแวดล้อมด้วยกันเอง

4. สิ่งแวดล้อมทางด้านสังคม (Social Environment) หมายถึงสิ่งแวดล้อมที่มีความเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของมนุษย์ ในด้านการใช้ชีวิตในสังคม รวมถึงพฤติกรรม จารีตประเพณี และวัฒนธรรมที่ถือปฏิบัติกันมาช้านาน เช่น ประเพณีทางศาสนา เป็นต้น

สิ่งแวดล้อมแบ่งเป็นลักษณะตามเกิดได้ 2 ลักษณะ

1. สิ่งแวดล้อมที่เกิดตามธรรมชาติ (Natural Environments) หมายถึง สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ เช่น ดิน น้ำ อากาศ จุลินทรีย์ พืช และสัตว์ เป็นต้น

2. สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-made Environments) หมายถึงสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น อาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค อุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่าง ๆ เครื่องจักร เครื่องยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

สิ่งแวดล้อมแบ่งตามการมีชีวิตได้ 2 ลักษณะ

1. สิ่งแวดล้อมมีชีวิต (Biotic Environments) หมายถึง สิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งมีชีวิต เช่น จุลินทรีย์ พืช และสัตว์ รวมถึงมนุษย์ด้วย

2. สิ่งแวดล้อมที่ไม่มีชีวิต ( Abiotic Environments ) หมายถึงสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีคุณสมบัติของสิ่งมีชีวิต ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยธรรมชาติหรือมนุษย์สร้างขึ้น เช่น อากาศ น้ำ แสงสว่าง เครื่องจักร เครื่องยนต์ เครื่องอุปโภคบริโภค เป็นต้น

การดำรงชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ ต้องมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอดทุกยุคสมัย ในระยะแรก ๆ เนื่องจากจำนวนประชากรยังมีไม่มากประกอบกับทรัพยากรธรรมชาติในสิ่งแวดล้อมยังมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ การกระทำของมนุษย์เพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพของสิ่งแวดล้อมยังมีไม่มาก และธรรมชาติยังมีความสามารถรองรับและฟื้นตัวได้เองจากการกระทำของธรรมชาติเองและจากการกระทำของมนุษย์ได้เกือบหมด ดังนั้นประเด็นปัญหาปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจึงถูกละเลย และไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควร

 

การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ในเรื่องของการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มีผู้ให้ความหมายไว้มากมาย ซึ่งพอจะสรุปได้ว่าการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หมายถึงการใช้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยความชาญฉลาดและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อมวลมนุษย์ให้มากที่สุดและมีระยะเวลาในการใช้งานยาวนานที่สุด
สังคมไทยเราแต่โบราณก็ได้มีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ อาทิ เกษตรกรรมได้มีการเพาะปลูก ทำนา โดยใช้วัว ควายเป็นแรงงานในการไถพรวนและเลี้ยงตามไร่ตามท้องนา ซึ่งก็ท่ากับว่าเป็นการเพิ่มปุ๋ยให้แก่พื้นดินจากมูลสัตว์เหล่านั้น ในขณะเดียวกันคนในสมัยก่อนจะไม่มีการจับปลาในวันพระตามสระน้ำในวัด ยิงนก ล่าสัตว์ ในบริเวณป่าตามวัด เป็นต้น

 ประเภทของสิ่งแวดล้อมที่ควรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทั้งที่เป็นธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้นทุกส่วนทุกอย่างมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันอย่างเป็นระบบ หากส่วนหนึ่งส่วนใดถูกกระทบทำลาย ก็จะก่อให้เกิดปัญหาได้ ซึ่งอาจแยกสิ่งแวดล้อมได้เป็นประเภทใหญ่สำหรับการอนุรักษ์ได้ดังนี้
1. ทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ ป่าไม้ ทุ่งหญ้า สัตว์ป่า น้ำ ดิน อากาศ มนุษย์ และพื้นที่ธรรมชาติต่าง ๆ เป็นต้น จำแนกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ดังนี้

1.1 ทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้ไม่รู้จักหมด

1.2 ทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วนำมาใช้ใหม่ได้

1.3 ทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป

2. ธรรมชาติที่ควรอนุรักษ์ หมายถึง ธรรมชาติที่มีคุณค่าทางวิทยาการและสุนทรียภาพที่เกี่ยวข้องเป็นสัณฐานที่สำคัญทางธรณีวิทยาและภูมิศาสตร์อันเป็นเอกลักษณ์หรือสัญลักษณ์ของท้องถิ่นนั้น ๆ มีลักษณะพิเศษเฉพาะ ซึ่งจำแนกลักษณะได้ดังนี้

2.1 เกาะและแก่ง

2.2 ภูเขา ถ้ำ น้ำตกและน้ำพุร้อน

2.3 ทะเลสาบ หนองและบึง

2.4 หาดทราย และหาดหิน

2.5 แหล่งที่มีซากดึกดำบรรพ์ (พืชและสัตว์) สุสานหอย 75 ล้านปี

2.6 สัณฐานอื่น ๆ ที่มีความสำคัญทางธรณี สัณฐานวิทยา และภูมิลักษณวรรณนา เช่น เขาพิงกัน แพะเมืองผี

3. สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น ได้แก่ โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และระบบสังคมต่าง ๆ

ความจำเป็นที่ต้องมีการอนุรักษ์ในการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์ชาติ เพื่อแสวงหาการพัฒนาทางเศรษฐกิจและความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาตินั้น จำเป็นต้องคำนึงถึงความจริงที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันนั้นคือ ขีดจำกัดของทรัพยากรสมดุลของระบบนิเวศความเป็นมาของด้านวัฒนธรรมรวมถึงความต้องการของมนุษย์ในอนาคต ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า "อนุรักษ์" การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในปัจจุบันมีวัตถุประสงค์หลักอยู่ 4 ประการ คือ

1. เพื่อธำรงไว้ซึ่งปัจจัยสำคัญของระบบสิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อมนุษย์และสัตว์ และระบบสนับสนุนการดำรงชีวิต เป็นการปรับปรุงป้องกันพื้นที่เพื่อการเพาะปลูก การหมุนเวียนแร่ธาตุอาหารพืช ตลอดจนการทำน้ำให้สะอาด

2. เพื่อสงวนรักษาการกระจายของชาติพันธุ์ ซึ่งขึ้นกับโครงการขยายพันธุ์ต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการปรับปรุงการป้องกันธัญพืช สัตว์เลี้ยง และจุลินทรีย์ต่าง ๆ รวมทั้งสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีตลอดจนการคุ้มครองอุตสาหกรรม นานาชาติที่ใช้ทรัพยากรที่มีชีวิตเป็นวัตถุดิบ
3. เพื่อเป็นหลักประกันในการใช้พันธุ์พืชสัตว์และระบบนิเวศเพื่อประโยชน์ในการยังชีพตามความเหมาะสม

4. เพื่อสงวนรักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปกรรม ซึ่งเป็นมรดกล้ำค่าไว้ไปยังอนุชนรุ่นหลังรวมทั้งระบบสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้น

จากวัตถุประสงค์การอนุรักษ์ดังกล่าวเป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไว้เนื่องจาก

1. ทรัพยากรธรรมชาติ ที่มีความจำเป็นในการยังชีพและการพัฒนา

2. ความต้องการที่จะกำหนดวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องเพื่อป้องกัน และแก้ปัญหาการอนุรักษ์ที่สำคัญ

3. สมรรถภาพของการอนุรักษ์ทั่วประเทศและระหว่างประเทศยังขาดจากการจัดการและประสานงานที่ดี

4. โบราณสถาน ศิลปวัฒนธรรม ได้ถูกทำลายอย่างมาก จากการกระทำของมนุษย์ จากการพัฒนาต่าง ๆ

 

 

หลักการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแนวทางการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จะต้องครอบคลุมปัญหาใหญ่ คือปัญหาทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรมถูกทำลาย ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษและปัญหาสิ่งแวดล้อมดังกล่าวมีความสำคัญซึ่งตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาก็คือมนุษย์นั้นเอง สำหรับแนวทางการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยทั่วไปนั้นสามารถกระทำได้โดยกว้าง ดังนี้

1.การให้การศึกษาเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ เพราะการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจริง ๆ นั้นมิใช่การหยุดการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือการปฏิเสธเทคโนโลยี แต่ความสำคัญนั้นอยู่ที่การเปลี่ยนทัศนคติของคนเพื่อให้เขาสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทิศทางส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยวิธีการทุก ๆ ชนิดรวมทั้งการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เพื่อให้เข้าถึงตัวประชาชนให้มากที่สุด

2. การปรับปรุงคุณภาพ เป็นวิธีการตรงที่ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรและภาวะแวดล้อมเสื่อมโทรม

3. การลดอัตราการเสื่อมสูญ การบริโภคของมนุษย์ในปัจจุบันในหลายประเภทมักจะบริโภคทรัพยากรกันอย่างฟุ่มเฟือยและไม่ค่อยได้ใช้ให้อยู่ในขอบเขตจำกัด มักจะมีทัศนคติต่อการบริโภคในลักษณะที่ว่าสามารถบริโภคได้สูงสุดจะทำให้มีความสุขที่สุด ทัศนคติเช่นนี้จะทำให้ป่าไม้ถูกทำลายเช่น การตัดหนึ่งต้นแทนที่ใช้ประโยชน์จากต้นไม้ทุก ๆ ส่วนแต่กลับใช้ประโยชน์ เฉพาะส่วนที่เป็นต้นเท่านั้นที่เหลือ เช่น กิ่ง ใบ หรือ ส่วนอื่น เช่นส่วนที่เป็นตอมักจะถูกทิ้งไป อันที่จริงแล้วส่วนเหล่านี้สามารถที่จะนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งนั้น ไม่ควรทิ้งขว้าง เป็นต้น

4. การนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ การผลิตวัสดุเครื่องใช้ต่างๆ ย่อมมีส่วนเป็นเศษเรียกกันว่าเศษวัสดุ เช่น เหล็ก อลูมิเนียม สังกะสี ทองแดง ตะกั่ว พลาสติก กระดาษ สิ่งเหล่านี้สามารถที่จะนำมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่อีก โดยเก็บรวบรวมแล้วนำมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่อีกโดยเก็บรวบรวมแล้วนำเอาไปหลอมใหม่

5. การใช้สิ่งทดแทน ทรัพยากรที่ใช้ประโยชน์ได้ดีในอดีตเริ่มร่อยหรอลง เนื่องจากความต้องการเกี่ยวกับการบริโภคสูงนั้นเอง ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษา เพื่อหาลู่ทางนำทรัพยากรอื่น ที่มีคุณภาพเหมือนกันหรือคล้ายคลึงกันมาทำหน้าที่ในงานประเภทเดียวกัน

6. การใช้สิ่งที่มีคุณภาพรองลงมา ธรรมชาติทรัพยากรชนิดเดี่ยวกันอาจมีคุณภาพแตกต่างกันออกไป เช่น พันธุไม้ในป่าซึ่งมีมากมายมีคุณภาพแตกต่างกันออกไปบางชนิดมีเนื้อไม้แข็งเมื่อนำมาแปรรูปก็จะได้ไม้ที่มีความแข็งแรงทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศ มนุษย์จึงนิยมเลือกไม้เหล่านี้มาใช้ประโยชน์ก่อน นานเข้าไม้เหล่านี้ค่อยร่อยหรอลงจนเกือบจะหมด ดังนั้นแนวทางหนึ่งของการแก้ปัญหาก็คือ การใช้ไม้ที่มีคุณภาพรองลงมา โดยการนำไม้ที่มีคุณภาพรองลงมานั้นไปอบน้ำยาหรืออาบน้ำยาทั้งนี้เพื่อรักษาคุณภาพของไม้ให้ทนทาน ป้องกันปลวก มอด เชื้อรา ซึ่งมีส่วนทำให้ไม่ผุกร่อน ให้ใช้ได้นาน เทียบเท่ากับไม้เนื้อแข็งที่หมดไปในบางประเทศ ไม้ที่จะนำมาก่อสร้างจะต้องอาบน้ำยาเสียก่อนโดยเขาออก กฎหมายบังคับกันเลยทีเดียว

7. การสำรวจหาทรัพยากรใหม่ ๆ ปัจจุบันถึงแม้ว่าจะมีการค้นหาทรัพยากรมาใช้กันมากมายแล้วก็ตาม แต่ทรัพยากรในธรรมชาตินั้นยังมีอยู่อีกมากมาย ซึ่งเชื่อกันว่าถ้าหากมีการสำรวจกันอย่างจริงจังก็น่าจะพบทรัพยากรที่สามารถนำใช้ประโยชน์ในการดำรงชีพของมนุษย์อยู่อีกมาก

8. การป้องกัน เป็นวิธีการจัดการโดยตรงเกี่ยวกับการป้องกันไม่ให้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมร่อยหรอรวดเร็วเกินไปหรือป้องกันมลสารหรือวัตถุเป็นพิษไม่ให้แปดเปื้อนสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์อาศัย รวมทั้งโบราณสถานโบราณวัตถุในกรณีที่บรรยากาศมีก๊าซพิษหรือสารพิษเจือปนน้ำไม่สะอาดไม่สามารถใช้บริโภคได้เพราะมีสิ่งแปลกปลอมขึ้นในรูปของสารพิษและเชื้อโรคสิ่งเหล่านี้ย่อมอยู่ในสิ่งแวดล้อม

                      รวบรวมโดย อาจารย์ศศิฌามนตร์ แสงสวัสดิ์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี

 

หมายเลขบันทึก: 304856เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2009 20:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

สวัสดีครับ

มีโอกาสผ่านไปผ่านมาแถว มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี บ่อย ๆ ครับ เพราะบ้านอยู่สาย ๓ เดินทางไปมา ว.ดุริยางคศิลป์ครับ

นักศึกษาที่นี่เยอะมากนะครับ

เห็นมีรถบัสรับส่งด้วย

...

มาทักทายครับ

ขอบคุณสำหรับข้อมูลนะคะน้องศศิฌามนตร์...ยินดีที่ได้รู้จักค่ะ...

http://gotoknow.org/blog/watcharee08/304751

ขอบคุณมากนะคะอาจารย์สำหรับข้อมูลที่นำมาเผยแพร

ดีค่ะ แต่ย่อๆหน่อยก็ดีนะคะ

ขอบคุณน่ะค่ะอาจารย์ อาจารย์ทำให้หนูหาข้อมูลเพื่อไปทำรายงานได้

ขอบคุณข้อมูลทำรายงานคะอาจารย์ สวยแล้วยังเก่งด้วย

ประมวลข้อมูลได้ดี นำไปอ้างอิงได้ครับ

  • สาระข้อมูลค่อนข้างชัดเจน
  • ดีค่ะ การพูดถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อมบ้าง
  • อาจทำให้หลายคนได้คิด
  • โดยเฉพาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน
  • ที่เป็นผลจากการทำลายสิ่งแวดล้อม
  • ขอบพระคุณที่นำมาแบ่งปันค่ะ.

ขอขคุณสำหรับข้อมูลดีที่ดีนะค่ะเพราะทำให้หนูสามารถนำไปประกอบการเรียนได้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท