การเข้าใจตนเองและผู้อื่น


ดูว่าจะรับมือกับความคิดที่รวดเร็วในการตัดสินนั้นได้อย่างไรกัน มันเป็นเสี้ยววินาทีน่ะ !

การศึกษาจากภายในหรือการศึกษาจากภายในจิตใจของเราเองนั้น  จะช่วยเราป้องกันความคิดที่เป็นไปในทางที่ไม่ดีได้หลายอย่าง  เราสามารถใช้การมองจากภายในศึกษาตนเองเป็นหลัก  และก็สามารถใช้มองศึกษาผู้อื่นจากภายในได้เช่นเดียวกัน  โดยปรกติคนเราชอบที่จะมองจากภายนอก  ไม่ใช่ภายนอกตัวเอง  แต่เป็นมองจากภายนอกของผู้อื่นแล้วนำมาตัดสิน  ซึ่งจะออกไปในเชิงดูถูก  เหยียดหยาม  วิพากษ์วิจารณ์  ความไม่ดีของคนอื่น  ตัดสินสภาพ  ฐานะ  ความเป็นอยู่  ตัดสินนิสัยของบุคคลอื่น  ตัดสินการศึกษา  ตัดสินวงศ์ตระกูล  จะเห็นได้ว่ามันไปกันใหญ่  ซึ่งสิ่งนี้ไม่ใช่การสังเกตวิเคราะห์อย่างสร้างสรรค์  ที่ข้าพเจ้าคิดได้นี้  ไม่ใช่

ว่าข้าพเจ้าไม่เป็น  บางที่ก็เผลอไป  แต่ตอนนี้จะระวังให้มาก  เพราะเห็นข้อเสียที่เกิดขึ้นกับบุคคลผู้คิด  ผู้พูด  และผู้กระทำ  ในบทความนี้โดยรวมข้าพเจ้าจะชี้ให้เห็นถึง ๑.  ผลเสียที่เกิดขึ้นจากการตัดสินบุคคลจากภายนอก  ๒.  การละเลิกการตัดสินบุคคลจากภายนอกโดยการศึกษาภายในตนเองและการคิดเพื่อศึกษาภายในของผู้อื่น  ๓.  วิธีการคิดอย่างมีสติสำหรับผู้ที่ถูกวิจารณ์  ต่อว่า  หรือตักเตือน

เมื่อเรามีนิสัยที่ชอบที่จะตัดสินผู้อื่นจากภายนอกนั้นจะมีข้อเสียเกิดขึ้นกับเราโดยที่เราไม่รู้ตัวดังนี้

  จิตใจที่เหนื่อยหน่าย  เมื่อเราชอบตัดสินบุคคลอื่นจากภายนอกอยู่ร่ำไป  จะทำให้จิตใจเหนื่อยหน่ายและไม่บริสุทธิ์  มีความทุกข์เข้าปกคลุมจิตใจและความคิด

  เกิดนิสัยไม่ดีติดตัว  เมื่อชอบตัดสินผู้อื่นจากภายนอกแล้ว  ทุกครั้งที่กระทำ  ความคิดนั้นจะเริ่มก่อตัวเป็นนิสัยจนติดตัว  ในเรื่องที่ชอบตัดสิน  ดูถูกดูหมิ่นผู้อื่น  ดูถูกอาชีพผู้อื่น  ในทางธรรมนั้นเรียกว่า  กิเลส  เริ่มก่อตั้งเป็นอนุสัย[1]  มันจะสะสมขึ้นเรื่อย ๆ จนไม่เห็นอะไรดีไปกว่าตนเองเลย  จนบางครั้งถึงกลับพลั้งเผลอว่ากล่าวดูถูกคนอื่นไปก็มีมาก  จุดนี้ต่างกับการวิเคราะห์สังเกตด้วยสติอย่างสร้างสรรค์

  ไม่รู้ข้อเท็จจริง  ทุกสิ่งที่เราตัดสินจากการมองดูการกระทำและจากการฟังของบุคคลใดบุคคลหนึ่งบ่อย ๆ เช่นคนรอบข้างหรือคนอื่น  โดยมิได้รู้ข้อเท็จจริงหรือสืบค้นข้อมูลมากพอ  จะทำให้ความคิดที่เราคิดบ่อย ๆ หรือสมมติฐานที่เราตั้งให้กับคนผู้นั้นเริ่มเป็นจริงขึ้นมาในจิตใจเรา  แม้ว่าเขาเหล่านั้นจะไม่ได้เป็นอย่างนั้น  สิ่งนี้ทำให้การกระทำของเราก็จะออกไปตามความคิดและสมมติฐานที่เราตั้งสำหรับบุคคลคนนั้น

  นิสัยชอบจับผิด  เมื่อเราได้ทำการตัดสินผู้อื่นจากภายนอกโดยมิได้สืบถามถึงที่มาที่ไปของการกระทำของบุคคลผู้นั้น  และเราได้พูดหรือต่อว่าไปแล้ว  คำพูดของเราจะทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าเราคอยจับผิดและคอยดูพฤติกรรมของเขาอยู่ตลอดเวลา  ส่งผลให้เกิดความอึดอัดแก่ผู้ฟังถ้าสิ่งที่พูดนั้นผิดไปจากที่ผู้ฟังเจตนาเนื่องด้วยเหตุและผลบางอย่างที่ผู้พูดได้มองข้ามไป

ทำอย่างไรจึงจะแก้พฤติกรรมการตัดสินคนจากภายนอกลงได้โดยที่ผู้ตัดสินพูดหรือไม่พูดในสิ่งที่ตัดสินนั้นออกมาหรือไม่ก็ตาม  เพื่อที่เขาจะไม่เหนื่อยหน่ายจิตใจ  ไม่มีนิสัยที่ไม่ดีติดตัวไป  และรับทราบข้อเท็จจริง จริง ๆ ว่าบุคคลเป็นคนอย่างไร  ทำการกระทำนั้นไปเพื่ออะไร  และทำในสถานการณ์เดียวกันสำหรับผู้ที่ถูกตัดสินหรือผู้ที่ได้ยินคำตัดสินนั้น  ควรจะทำอย่างไรที่จะป้องกันจิตใจตนเองไม่ให้เศร้าหมองได้  เราสามารถพึงระวังได้ทั้ง ๒ ทางโดยใช้ ๑.  การศึกษาจากภายในของตนเอง และ ๒.  การศึกษาจากภายในของผู้อื่นตามลำดับ

การศึกษาจากภายในของตนเอง  ใช้ในสำหรับผู้ที่มีพฤติกรรมชอบตัดสินคนจากภายนอก  อันนี้ลึกซึ่งคือการยอมรับว่าตนเองนั้นมีนิสัยอย่างไรก่อน  คือชอบตัดสินบุคคลหรือสิ่งของจากภายนอก  เมื่อยอมรับแล้วก็จะเป็นการง่ายที่จะพัฒนาตนเองให้ละเลิกนิสัยนี้เสีย  ในทางปฏิบัตินั้นอาจเป็นการยากที่จะเลิกนิสัยนี้โดยเฉียบพลัน  เพราะว่ามันสะสมเข้าไปแล้วมากมายโดยที่ไม่รู้สึกตัว  ดังนั้นเราต้องใช้การฝึกสติเข้าช่วย  โดยการนั่งสมาธิ หรือการฝึกอานาปานสติให้รู้ได้เท่าทันนิสัยตนเอง  ให้มีสติกำกับการทำงานของความคิด  ก่อนที่จะใช้ความคิดตัดสินอะไรบางอย่าง  สติจะคอยเตือนเราว่า “เฮ้ย !  เราเผลอตัดสินเขาไปแล้วนี่หว่า” “แน่ใจหรือว่าถูก” “แน่ใจหรือว่าเขาเป็นอย่างนั้น ๆ จริง ๆ” เมื่อเรารู้ทันภายหลังไป  เราจะเริ่มกำจัดนิสัยการตัดสินออกไปเสียได้ หรือจะบรรเทานิสัยไม่ดีนั้นลง  แล้วในที่สุดเราก็จะเริ่มไตร่ตรองอย่างรอบคอบขึ้น มีเหตุผลมากขึ้น และระวังมากขึ้น  ซึ่งจะเป็นไปในทางที่จะส่งเสริม  บุคคลผู้นั้นให้มีนิสัยที่ดีขึ้น  การมองด้วยความว่างก็คงจะเป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถใช้ได้เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง  มองโดยสังเกตเพื่อจะรับเอารายละเอียดให้ได้มากที่สุด  ก่อนที่จะตัดสินอะไรลงไป  ตัวอย่างเช่น

•  เมื่อเราเห็นคนแต่งตัวหรูหรามีราคา  เมื่อเราเห็นโดยส่วนใหญ่ก็จะเริ่มคิดว่า “คน ๆ นี้ค่อนข้างมีฐานะเป็นคนรวยบ้าง” “คน ๆ นี้ติดวัตถุนิยมบ้าง” เอาแค่นี้ลองถามตัวเราดูว่า  ความคิดเช่นนี้มันเกิดประโยชน์กับเราบ้างหรือไม่  มันเป็นความคิดที่ทำให้เป็นทุกข์ เกิดการเปรียบเทียบ  มองด้วยความว่าง  ด้วยจิตที่ไม่คิดนึกหรือตีความใด ๆ จะยังประโยชน์ให้กับตนเองมากกว่า  เพราะเมื่อเราเริ่มที่จะคิดเราจะพลาดรายละเอียดบางอย่างของการสังเกตนั้น  สิ่งที่เป็นความจริงมันใช่อย่างที่เราคิดหรือไม่  เหนื่อยเปล่า ๆ ที่จะคิด  หาเวลาให้จิตใจได้พักผ่อนจะดีกว่า

การศึกษาจากภายในของผู้อื่น  สิ่งนี้ก็มีความละเอียดลึกซึ้งเช่นกัน  ใช้ได้กับผู้ที่ได้รับฟังคำตัดสินเหล่านั้นจากผู้อื่น  ซึ่งเราสามารถใช้ความมีสติเป็นเกราะป้องกัน  และความคิดวิเคราะห์ที่ถูกต้อง  เฉพาะตนนี้ได้  โดยจะไม่สร้างนิสัยที่ไม่ดีให้เกิดขึ้นกับตัวเรา  และยังสร้างนิสัยที่ดี  เห็นอกเห็นใจผู้อื่น  เพิ่มมากขึ้นให้เราอีกด้วย  ดังนั้นการคิดของเราก็จะยังผลให้  เกิดการกระทำหรือคำพูดที่พยายามจะเสาะแสวงหาปัญหาของเขาเหล่านั้นอันทำให้เกิดการกระทำของเขาเหล่านั้นขึ้น  เราสามารถดูได้จากเหตุการณ์ตัวอย่างดังนี้

•  เมื่อมีคนว่ากระทบกระทั่งเราหรือโต้เถียง  เมื่อเราโดนเข้าส่วนใหญ่จะเจ็บช้ำ  ซ้ำร้ายคิดจะล้างแค้น  ด้วยคำพูดต่าง ๆ นา นา ในภายหลัง  เพราะตอนนั้นคิดไม่ทันที่จะตอบโต้ !  ดูให้ดีว่าการคิดล้างแค้นนี้ทำให้จิตใจเหนื่อยหน่ายแค่ไหน  ซึ่งในคราวหน้าคนที่ว่าเราอาจจะพูดว่าเราแบบใหม่ก็ได้  ยิ่งไปกว่านั้นเรายังคิดตัดสินบุคคลผู้นี้ไปแล้วว่า “เขาเป็นคนไม่ดี” “เขาไม่เห็นใจเราเลย” “เขาไม่เข้าใจเราเลย”  สิ่งที่เราควรตั้งรับก็คือ  ต้องมีสติ  ที่จะยับยั้งและรู้ตัวก่อนว่า “ เอ้า โดนเข้าแล้ว”  คราวนี้ลองใช้ปัญญาคิดวิเคราะห์จากภายในของเขาดูว่า “อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้เขาพูดเช่นนั้นกับเรา” “มันเป็นนิสัยของเขาหรือเปล่า หรือว่า “เขาก็โดนว่าหรือถูกพูดตอกย้ำเป็นประจำแบบนั้น  เช่นกัน จากบุคคลอื่น  เขาจึงเผลอไม่มีสติในการยับยั้งคำพูดไม่ดีของเขา ถึงตอนนี้ความคิดของเราจะเปลี่ยนไปในทันที  และสงสารเขาผู้นั้นที่กระทำสิ่งนั้นออกมา  เมื่อเราคิดอย่างนี้เราจะเริ่มที่จะคิดอย่างเป็นระบบระเบียบถึงเหตุผลและการกระทำของเขาอย่างรอบคอบ  ไม่มีอารมณ์ และเห็นถึงว่าอะไรคือ ปัญหาจริง ๆ ของการโต้เถียงกระทบกระทั่งนั้น

ผลเสียที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของผู้ที่ชอบตัดสินบุคคลจากภายนอกคือ  นิสัยชอบจับผิด  อันนี้อันตราย และสร้างปัญหา  ความปั่นป่วน  ให้กับบุคคลรอบข้าง  ให้กับงานเป็นอย่างมาก  เมื่อชอบตัดสินบุคคลจากภายนอกแล้วและเมื่อพูดออกไปโดยไม่ไตร่ตรองหรือสอบถามบุคคลนั้นดี ๆ จนกลายเป็นการกระทบกระทั่งทางจิตใจ  นิสัยนี้มีความพิเศษคือ  จะถ่ายทอดจากบุคคลผู้ชอบจับผิดซึ่งเป็นผู้พูดไปสู่ผู้ฟังซึ่งเป็นผู้ถูกจับผิดได้อย่างไม่รู้ตัวถ้าไม่มีสติ หรือพูดง่าย ๆ  ก็คือ ติดต่อได้  เป็นโรคติดต่อ  จนผู้ฟังจะมีนิสัยชอบจับผิดผู้อื่นไปด้วย

คราวนี้ผู้ถูกจับผิดควรจะรับมืออย่างมีสติได้อย่างไร  ในกรณีที่มีผู้อื่นวิจารณ์  ต่อว่า หรือเตือนเราไม่ว่าจะทางใด  ที่ทำให้เราเกิดความรู้สึกว่าถูกจับผิด  ซึ่งในความเป็นจริงนั้นอาจจะไม่เป็นเช่นนั้น  แต่ถึงกระนั้นในฐานะผู้ฟังเราควรจะกระทำการทางความคิด หรือมีสติและปัญญาในการคิด  ดังนี้คือ

.  ฟังและไตร่ตรอง  โดยไม่ต้องรีบพูดออกไป

.  คิดดูว่าสิ่งที่เขาพูดนั้น  มีความถูกต้องหรือไม่  เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นหรือไม่  ที่ต้องอธิบายถึงความถูกต้องให้บุคคลนั้นฟัง  อันนี้เราต้องดูที่ประเภทของบุคคลที่พูดด้วย  ดูที่นิสัยและองค์ประกอบหลาย ๆ อย่างของผู้พูด และสถานการณ์  ในกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องอธิบายถึงสิ่งที่ถูกต้องเพื่อจะไม่ปล่อยความเข้าใจผิดนั้นเป็นอยู่ต่อไป  ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่น  ดังนั้นผู้นั้นต้องแสดงถึงหลักฐานและความชัดเจนของความถูกต้องให้เด่นชัด

อย่ากลัว  ผู้ฟังต้องไม่เกิดความกลัวกับคำพูดนั้นหรือคำที่บุคคลนั้นใช้  ว่าเรา  พูดกับเรา หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ อย่าเกิดความระแวง  ว่าเขาจะพูดแบบนั้นกับเราอีก  ถ้าเรากระทำการแบบนั้นหรือปฏิบัติแบบนั้นอีก  ถ้าเราคิดดีแล้วว่าการปฏิบัติของเรานี้มันเหมาะสมกับเวลา  สถานที่  โอกาส  และไม่เข้าข้างตนเอง  ก็ให้เรามั่นใจว่าการกระทำ  การปฏิบัติของเรานั้น  ถูกต้องและได้ไตร่ตรองอย่างรอบคอบแล้ว

อย่านำนิสัยจับผิดมาใช้โดยคอยโอกาสที่จะใช้กับบุคคลนั้น  หรือกับบุคคลอื่น  เพราะเมื่อเราเกิดความระแวงหรือเราเกิดเจ็บใจในคำพูดของเขาแล้ว  สิ่งนี้จะเริ่มก่อตัวในจิตใจเรา  เราเริ่มที่จะติดเชื้อนั้น  ทำให้เรากลายเป็นแบบเขาไปได้คือ  คอยจับผิดคนอื่น หรือคอยหาโอกาสว่าคนอื่นเมื่อมีช่องทาง  ด้วยสาเหตุนี้ที่ทำให้นิสัยจับผิดนั้นถ่ายทอดสู่ผู้ฟังได้หรือติดต่อสู่ผู้ฟังที่ไม่มีสติได้ เช่นถ้าพ่อแม่ชอบจับผิด  หรือวิจารณ์ผู้อื่นในทางที่ไม่สร้างสรรค์บ่อย ๆ ลูกก็จะมี่นิสัยอย่างนั้นด้วยเช่นกัน  หรือที่ทำงานที่มีการนินทา  การจับผิดกัน  การโยนความผิดกัน  ไม่ว่าจะเป็นระหว่างคนในสำนักงานเดียวกัน  หรือระหว่างผู้รับจ้างกับลูกค้า  นิสัยนี้ก็จะติดต่อกับคนที่ไม่มีสติ และกับคนที่เกี่ยวข้องกับการได้ยินได้ฟังเรื่องจับผิดหรือโยนความผิดนั้น ๆ บ่อย ๆ

.นำการศึกษาจากภายในของผู้อื่น  ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นมาใช้ในการวิเคราะห์  สติและปัญญาของเรานี้จะช่วยเป็นเกราะป้องกันตัวเราจากการติดเชื้อนิสัยชอบจับผิดและทำงานวิเคราะห์ปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง  ซึ่งเป็นการใช้จิตใจไปในทางที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเองและต่อผู้อื่น

สิ่งที่กล่าวมาในข้อ ๓  และ ๔  ถ้าเราเผลอรู้สึกและคิดไปบ่อย ๆ เข้า  มันจะกลายเป็นสิ่งที่สะสม  สะสมนิสัยที่ไม่ดี  โดยเราไม่รู้สึกตัว  เผลอไปหรือเป็นอนุสัย  และยิ่งไปกว่านั้น  เราก็จะได้รับผลเสียจากการเป็นผู้ที่ชอบตัดสินผู้อื่นจากภายนอกคือ  มีจิตใจที่เหนื่อยหน่าย,  เกิดนิสัยไม่ดีสะสม,  ไม่รู้ข้อเท็จจริง และนิสัยชอบจัดผิด  ถ้าดูให้ดีจะเห็นว่ามันเป็นวงจรหรือวัฏจักรที่มืดมนอย่างเห็นได้ชัด  และแพร่กระจายออกไป ระบาดไป  จากบุคคลหนึ่งไปสู่อีกบุคคลหนึ่งได้อย่างรวดเร็ว  เพราะบุคคลเหล่านั้นขาดการอบรมทางจิตใจ  ทำให้เผลอ  และไม่เห็นว่าวงจรนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว  ไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งในชีวิตเรา  ในการปฏิบัติเพื่อให้หลุดจากวงจรนี้ล้วนต้องใช้สติรอบรู้ต่อตนเองให้ทันเวลาทั้งสิ้น

รวมความว่า  ในฐานะที่เราเป็นผู้พูด  สติและปัญญาจะช่วยเราจากการเผลอคิดตัดสินผู้อื่นหรือจับผิดผู้อื่น  และในฐานะผู้ฟัง   สติและปัญญาจะช่วยให้เราตั้งรับ  รู้จักคิด  รับรู้อารมณ์ของตนเองอย่างถูกต้อง  สติจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเราที่จะรู้สึกตัวก่อนที่จะเผลอคิด  เผลอพูด  ไปในทางตัดสินแบบผิด ๆ ซึ่งไม่ได้ประโยชน์  สร้างความขัดแย้ง  แล้วแถมสร้างสิ่งไม่ดีให้เกิดขึ้นกับเราอีก  เมื่อเรายับยั้งความคิดในการสรุปของเราไว้แบบนี้  เราจะมีการกระทำและพฤติกรรมที่ดีขึ้นกว่าเดิมในการที่จะเข้าหา  แก้ปัญหา  หรือการกระทำใด ๆ ต่อไป  ที่กำลังจะเกี่ยวข้องกับบุคคลเหล่านั้นซึ่งเรารู้จักในที่ทำงาน  ในบ้าน หรือไม่รู้จักก็ดี  เมื่อเราคิดได้อย่างนี้เราก็จะเบาสบายไม่กระวนกระวาย  ไม่ร้อนในจิตของเรา  การอบรมจิตของเราให้มีสติด้วย  อานาปานสติ จึงเป็นเครื่องมือช่วยยับยั้งสิ่งไม่ดีต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นเพื่อเราจะได้ใช้ปัญญาของเราได้ทันท่วงที

เมื่อท่านอ่านจบลองออกไปเดินข้างนอกบ้าน  ไปห้าง หรือไปร้านอาหารหรือมองไปรอบ ๆ แล้วดูว่า  เราตัดสินอะไรไปบ้างเท่าไหร่แล้ว  ตัดสินใครไปบ้างแล้ว  เหนื่อยไหม  ถูกต้องหรือไม่ในการตัดสินนั้น ๆ ลองพิจารณาดูให้ดี ๆ ดูว่า

•  มีประโยชน์ที่จะคิดหรือไม่

•  แน่หรือที่เราตัดสินเขาแบบนั้น

•  จริงหรือที่เราคิดแบบนั้น

•  มันอาจจะเป็นอีกอย่างหนึ่งได้หรือไม่

ดูว่าจะรับมือกับความคิดที่รวดเร็วในการตัดสินนั้นได้อย่างไรกัน  มันเป็นเสี้ยววินาทีน่ะ !

หมายเลขบันทึก: 292454เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2009 10:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 14:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ขอบคุณบันทึกที่ดีมากนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท