สุรา เป็นเครื่องดื่มที่คู่โลกมาเป็นเวลาอันยาวนาน ในแต่ละสังคมจะมีสุราและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นเครื่องดื่มชูโรงอยู่ด้วยเสมอ การดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้ในปริมาณน้อย ๆ ก็ไม่ก่อให้เกิดผลเสียมากมายนัก แต่ถ้าดื่มในปริมาณมากก็จะก่อให้เกิดผลเสียมากมาย ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า สุราไม่ใช้สินค้าธรรมดาเหมือนสินค้าทั่วๆ ไป
ผลกระทบของการดื่มสุราไม่ได้จำกัดเฉพาะปัญหาสุขภาพส่วนบุคคลของผู้บริโภค แต่ยังมีผลกระทบทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ ต่อครอบครัวและบุคคลอื่นในสังคมด้วย โดยมีรายงานว่า การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คร่าชีวิตคนไทย วันละ 68.2 คน หรือ 1 คนต่อทุก 21.2 นาที ความสูญเสียนี้เพิ่มขึ้นประมาณสองเท่าในช่วงเทศกาลมีตัวเลขว่าในแต่ละปี เมื่อคิดเป็นมูลค่าความสูญเสีย พบว่า คนไทยใช้เงิน 2 แสนล้านบาท ในการซื้อเหล้า บวกความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้ประสิทธิภาพของคนทำงานลดลง คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เหล้าก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ 60 โรค คลอบคลุมถึงการทำร้ายร่างกาย การก่ออาชญากรรม การละเมิดทางเพศ ปัญหาความยากจน คิดเป็นความสูญเสียเหล่านี้ถึง 2 แสนล้านบาท ขณะที่รัฐเก็บภาษีได้ 2 แสนล้านบาท ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่า แท้จริงปัญหาจากการบริโภคสุรามีมูลค่ามหาศาลมากกว่าผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการผลิต การขาย และการจัดเก็บรายได้ของรัฐ แต่ก็ยังอนุญาตให้ผลิตและจำหน่ายเรื่อยมา แม้จะมีกฎหมายจำกัดเวลาก็ตาม นั่นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สินค้าตัวนี้ไม่ธรรมดา
แม้ว่ารัฐบาลจะออกกฎหมายหรือมีมาตรการบังคับออกมา อาทิ พระราชบัญญัติสุรา พ.ศ.2493 ซึ่งเป็นกฎหมายหลักเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุรา การรณรงค์ในช่วงเทศกาลสำคัญต่างๆ รวมถึงการห้ามโฆษณาผ่านทางโทรทัศน์โดยจำกัดช่วงเวลาออกอากาศ แต่ปริมาณการบริโภคแอลกอฮอล์ของคนไทยยังเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ดังนั้น ประชาชนควรหันมาสนในการดูแลสุขภาพของตนเอง ในขณะที่ผู้ประกอบการ ต้องร่วมด้วยช่วยกันลดปัญหาด้วย มิใช่เพียง "จิตสำนึกในการรักษาผลประโยชน์" เท่านั้น
ไม่มีความเห็น