“อยากจะถ่ายทอดภูมิปัญญาให้กับลูกๆหลานๆสืบต่อๆกันไป
เพราะว่าทุกวันนี้ไม่มีคนสนใจแล้ว เพราะมันต้องอาศัยเวลาในการเรียนรู้
ไปครั้งสองครั้งจำไม่ได้ พอต้องไปหลายครั้งก็ไม่มีใครเอา
ภูมิปัญญาด้านสมุนไพรก็จะหมดไป ทีนี้หนังสือตำรายา
ตำราสมุนไพรของบ้านเราก็ยังไม่ได้ทำ ถ้ามีการมาถ่ายทำเก็บภาพไว้
เก็บวิธีทำ ก็คงจะดี”
ถ้อยคำในข้างต้น มิใช่เสียงรำพึงรำพันของป้าฮอง
แม่ครูภูมิปัญญาด้านสมุนไพรของตำบลบ้านอีเซ กิ่งอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ
จังหวัดศรีสะเกษแต่เพียงผู้เดียว
แต่เป็นเสียงสะท้อนของพ่อครูและแม่ครูในทุกที่ที่ห่วงกังวลต่ออนาคตของภูมิปัญญาพื้นบ้านที่จะค่อยๆหดหายตายลงไป
เพราะไร้ผู้สืบทอด
แต่คงเป็นโชคดีของป้าฮองและคนบ้านอีเซและบ้านเสียว
เพราะที่นี่มีครูจันทร์และครูจ่อย
คณะกรรมการป่าชุมชนโนนใหญ่ที่รับเอาภาระการสืบสานภูมิปัญญาและรักษาป่าชุมชนมาดำเนินการ
เพื่อเตรียมการส่งทอดต่อเยาวชนคนรุ่นใหม่ของชุมชนต่อไป
เมื่อโครงการสื่อสร้างสรรค์สุขภาพ
ชุดโครงการการสื่อสารเพื่อสุขภาพ
ภายใต้มูลนิธิมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่
ในฐานะเครือข่ายการสื่อสารด้านสุขภาพสิ่งแวดล้อมของครูจันทร์และครูจ่อย
ได้รับรู้ถึงความต้องการดังกล่าว จึงได้วางแผนที่จะจัดกิจกรรมร่วมกัน
ในชื่อว่า “ค่ายเยาวชนผลิตสื่อเพื่อการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมชุมชน”
โดยได้รับความสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
(สสส.)
ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้
โครงการฯได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดีจากทีมงานของอาจารย์นิคม
หรือลุงนิคของเด็กๆ จากมหาวิทยาลัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่
ทีมงานของคุณสุชัย หรือพี่กี้ จากโครงการสื่อสร้างสุข
จังหวัดอุบลราชธานี และเหล่าครูภูมิปัญญาของกิ่งอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ
จังหวัดศรีสะเกษ อาทิ พ่อสมัย ภูมิปัญญาด้านป่าชุมชน พ่อรัตน์และพ่อขำ
ปราชญ์ชุมชนด้านความเชื่อของชุมชน ป้าฮอง แม่สำราญ แม่หมอด้านสมุนไพร
ในการเป็นวิทยากรให้กับกิจกรรมในครั้งนี้
โดยใช้สถานที่ของโรงเรียนบ้านอีเซและป่าชุมชนโนนใหญ่เป็นสถานที่จัดกิจกรรม
“เสกป่าให้เป็นสื่อ”
เมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา
กิจกรรมครั้งนี้จับเอาสื่อสมัยใหม่อย่างสื่อวิดีโอมาควบคู่เข้ากับการเปิดป่าเป็นห้องเรียนรู้
โดยมีเป้าหมายหลัก
คือการติดตั้งความรู้ในเรื่องของการสื่อสารเรื่องป่า
ทั้งวิธีการหาข้อมูลที่ครบทุกด้านในเรื่องป่า วิธีการถ่ายทำวิดีโอ
การตัดต่อภาพและเสียง และการนำเสนอผลงาน
ให้กับเด็กและเยาวชนผู้เข้าร่วมกิจกรรมในเขตภาคอีสาน เช่น ศรีสะเกษ
สุรินทร์ นครพนม ฯลฯ ได้นำไปถ่ายทอดต่อเยาวชนคนอื่นๆต่อไป
และเป้าหมายรองคือความต้องการของโครงการฯที่จะช่วยต่อเชื่อมเส้นสายความสัมพันธ์ระหว่างคนหลากหลายวัยเข้าด้วยกัน
โดยเฉพาะเด็กและผู้เฒ่าผู้แก่ที่โลกสมัยใหม่ทำให้คนสองวัยแยกไกลออกจากกัน
โดยโครงการฯใช้กลวิธีจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ “ปู่/ย่าสอนหลานเรื่องป่า” และ
“ลูกหลานขอถามให้ปู่ย่าตอบ”
สามวันแห่งการทำกิจกรรมภายใต้กติกาการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมที่พี่ๆทีมงานตั้งไว้ว่า
ทุกคนต้องได้จับกล้อง ต้องได้ตัดต่อภาพและเสียง
และเนื้อหาเรื่องป่าที่ไปถ่ายทำมานั้นต้องมีครูภูมิปัญญาเป็นผู้ให้ข้อมูลอยู่ด้วย
ผลก็คือ เด็กๆและเยาวชนได้เรียนรู้เนื้อหาเรื่องป่าชุมชนโนนใหญ่
ได้รู้จักป่าและรู้จักตัวเอง
เด็กๆยังกล้าซักกล้าถามและกระตือรือล้นที่จะพูดคุยกับพ่อครูแม่ครูในเรื่องต่างๆ
อย่างน้องบอส น้องเยาวชนจากโรงเรียนบ้านอีเซ
ในกลุ่มความเชื่อเรื่องป่า ที่ถามพ่อสมัยไม่ขาดปากว่า
“พ่อครูครับ
เป็นจังใด๋จึงต้องบวชจอมปลวก พ่อครูครับ...
พ่อครูครับ...”
เด็กๆยังได้สนุกสนานกับอุปสรรคที่เข้ามาท้าประลองปัญญานานาชนิดในการหัดถ่ายทำวิดีโอระหว่างการเดินป่าชุมชน
บางคนท่องสคริปต์ได้จนขึ้นใจ แต่พอหนูได้ออกหน้ากล้อง ก็ลืมจนหมดสิ้น
เพื่อนๆในกลุ่มต้องช่วยกันเขียนบทลงกระดาษใบโตให้อ่าน
มือใหม่หัดถ่ายหลายคน ถ่ายไปใจก็สั่น มือก็ยิ่งสั่นไหว ต้องใช้
“เทคนิคแสวงเครื่อง”
เมื่อขากล้องไม่มีให้ ก็เพื่อนนี่แหละช่วยได้ อุทิศหัวให้วางกล้อง
ภาพจะได้ไม่สั่นไหว
น้องแจ๊ค ตัวแทนกลุ่มเยาวชนสื่อพื้นบ้านจากจังหวัดนครพนม
ได้เล่าให้พี่ๆทีมงานฟังว่า
ยังไม่เคยได้จับวิดีโอกับคอมพิวเตอร์มาก่อนเลย
“ตอนแรกผมนึกว่าอาจารย์จะให้มาเรียนคอมพิวเตอร์
ไม่รู้ว่าจะได้มาทำกิจกรรมร่วมกับกลุ่มเยาวชนที่อีเซ
พอได้รู้ว่าจะได้ถ่ายวิดีโอและตัดต่อวิดีโอ ตื่นเต้นมากเลยครับ
เป็นครั้งแรกในชีวิต เพราะว่าที่บ้านไม่มีอย่างนี้
ผมได้มาที่นี่เพราะเป็นตัวแทนจากกลุ่มเยาวชนที่บ้าน ดีใจมาก
อยากให้ไปที่บ้านผมบ้าง
อยากให้เพื่อนได้ทำอย่างนี้บ้าง”
แม้ว่าจะอยากให้โครงการฯไปที่บ้านนครพนมบ้าง แต่น้องแจ๊คก็บอกพี่ๆว่า
ระหว่างนี้
เพื่อนๆที่มางานค่ายด้วยกันก็จะรวมทีมกันกลับไปสอนเพื่อนๆในกลุ่มที่ไม่ได้มาก่อน
จะขอยืมกล้องจากเพื่อนจากครูไปถ่ายในงานต่างๆ
นอกจากจะเป็นกิจกรรมเสริมรายได้แล้ว ยังทำให้มีกิจกรรมดีๆทำ มา
“สุมหัว” กันทำงานแต่
“ไม่มั่วสุม”
ทำสิ่งไม่ดีอีกด้วย
คำตอบของน้องแจ๊ค ทำให้ทีมงานกลับมาถามครูจันทร์ คณะกรรมการป่าชุมชน
จากโรงเรียนบ้านเสียว ผู้ประสานงานกิจกรรมในครั้งนี้
ว่าอนาคตหลังจากงานค่ายนี้เสร็จไปแล้วครูจันทร์จะทำอะไรต่อ
ครูจันทร์บอกกับทีมงานถึงอนาคตในวันข้างหน้าว่า
เมื่อเสร็จจากกิจกรรมครั้งนี้แล้ว ครูจันทร์จะเปิดป่าให้เป็นห้องเรียน
ให้เด็กๆนักเรียนใช้กล้องวิดีโอมาเรียนรู้เรื่องต่างๆ เช่น
เรื่องพืชป่าสวนครัว หรือเรื่องของบุคคลสำคัญในชุมชน
เพื่อให้ความสนุกช่วยสอดแทรกเรื่องป่าให้เด็กๆได้เรียนโดยไม่รู้สึกตัวและได้เจาะลึกในเรื่องนั้น
“ถึงข้อจำกัดของเราจะอยู่ที่เรายังมีอุปกรณ์ไม่พอ
เพราะโรงเรียนมีงบประมาณที่จำกัด
แต่เราจะเอาผลงานของเด็กๆไปขยายต่อกับเพื่อนครู
และให้เพื่อนๆช่วยกันหาหนทาง เช่น กระตุ้นให้โรงเรียนหรือผู้ปกครอง
ชุมชน หรืออบต.ที่มีอุปกรณ์อยู่แล้วเอามาช่วยกัน
หรือครูจันทร์อาจจะทำเป็นโครงการสนับสนุนสื่อการเรียนการสอนของชุมชนไปที่อบต.
อบจ. ต่อไป”
หวังไว้ล่วงหน้าแทนครูจันทร์ว่าจะได้สมหวัง
เพราะกิจกรรมในครั้งนี้มีทั้งอบต. กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน
รวมถึงครูโรงเรียน และป่าไม้
ในบริเวณพื้นที่ของป่าชุมชนโนนใหญ่มาเข้าร่วมกิจกรรมกับเด็กๆกันอย่างคับคั่ง
และที่น่าชื่นใจเป็นอย่างที่สุด ทั้งแทนป้าฮองและครูภูมิปัญญาทุกคน
ที่น้องโจ กลุ่มอาสาสมัครเยาวชนบ้านโนนใหญ่
ได้ประกาศเจตนารมย์ของกลุ่มไว้ว่า
“เราจะทำกิจกรรมเพื่อสืบทอดเจตนารมย์ของผู้ปกครองของพวกเราที่เป็นคณะกรรมการป่าชุมชน
เราจะเป็นต้นกล้ารุ่นใหม่เพื่อป่าโนนใหญ่และชุมชนของเรา”
+ + + + + + + + + + + +