เมื่อลงพื้นที่เพื่อนร่วมงานกลุ่มแรกที่ทำให้รู้สึกคุ้นเคย คือ "อสม" (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) ในพื้นที่ จ.พัทลุง เมื่อก่อนภาพที่ดิฉันมอง อสม. คือมองว่าเป็นกลุ่มคนชาวบ้านที่มาเข้าร่วมอาสาสมัครทำงานทางด้านสาธารณสุข สืบเนื่องจากที่อาจจะเป็นแม่บ้าน หรือใครก็ตามที่อยู่บ้านเฉยๆ มีเวลามากพอที่จะมาร่วมทำตรงนี้ได้ แต่เมื่อได้มาทำวิจัยและร่วมอยู่ในทีม ภายใต้โครงการไตรภาคีฯ มุมมองที่เปลี่ยนไปมองใหม่..นำไปสู่การคิดใหม่...
จริงๆ แล้วหากโดยทั่วไปตามมุมมองของคนที่ทำงานทางด้านสาธารณสุขมักจะมองว่า อสม. คือ ผู้ที่รับถ่ายทอดการทำงานของตนลงสู่ชุมชน มากกว่าที่จะมองว่าเป็นผู้ร่วมงาน หรือคือทีมในการทำงานคนหนึ่ง และยิ่งหนำซ้ำบางคนยิ่งมองว่า อสม. คือลูกน้องของตน หากคิดได้เช่นนั้นช่างเป็นการคิดที่ผิดอย่างมหันต์ เพราะการที่ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งเขามาร่วมอาสาทำงานเพื่อพัฒนาในท้องถิ่น ชุมชนของตนแล้ว เขาเหล่านั้นยิ่งสมควรที่จะได้รับการยกย่อง เพราะอะไรเหรอ ก็เพราะว่าเขาคือผู้ขับเคลื่อนอย่างแท้จริงร่วมกับชาวบ้านคนอื่นๆในชุมชน ผลักดันให้เกิดความสำเร็จในการดูแล ส่งเสริม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาทางด้านสุขภาพ
เมื่อมุมมองเปลี่ยนไปภาพมองใหม่เกิดขึ้น อสม. ที่ร่วมเดินไปในโครงการฯ ดิฉันเปลี่ยนเป็นมองว่า เป็นเพื่อร่วมงานคนหนึ่งที่มีความคิดความเห็น และเราต้องเลือกที่จะรับฟังมุมมองที่มองต่อเรื่องสุขภาพในท้องถิ่นของเขา...เพราะเขาคือผู้ที่ใกล้ชิดกับชุมชนมากยิ่งกว่าบุคลากรทางด้านสาธารณสุขเสียอีก สิ่งสังเกตอย่างหนึ่งที่ดิฉันเคยรับรู้เราๆ บุคลากรทางด้านสาธารณสุขมักจะประเมินค่า อสม. เป็นลูกน้อง เป็นคนที่มาคอยรับ order การทำงาน แต่เมื่อคลุกอยู่ในโครงการฯ นักวิจัย"คุณชายขอบ" นำทีมการปฏิบัติต่อ อสม. เสมือนหนึ่งคือเพื่อนร่วมงาน ร่วมคิดร่วมทำในทุกๆ อณูของกระบวนการทำงาน เราจะช่วยกันมองปัญหาในเขตพื้นที่ตามสภาพบริบทจริงๆในพื้น ว่าอะไรคือสภาพปัญหา และตรวจซ้ำกับข้อมูลเชิงระบบของงานสาธารณสุขเกี่ยวกับอุบัติการณ์ของปัญหานั้น และร่วมกันวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา จนไปถึงขั้นการวางแผน ซึ่งโดยส่วนใหญ่ในการเดินเรื่องของการทำงาน เรามักจะให้เขาคิดเองทุกๆ กระบวนการเราก็เป็นเพียงแค่อีกหนึ่งความเห็นที่ร่วมแสดงความคิดด้วย ไม่ใช่ทำตัวแสดงบทบาทเป็นผู้ครอบงำทางความคิดเขา หากเมื่อใดก็ตามที่เราคิดหรือมองอย่างนี้ เราก็จะมองว่าเขาไม่เข้าใจ เขาไม่มีความรู้ ทำงานไม่รู้เรื่อง
ดั่งเช่น
ดิฉันไปเจอสภาพจริงในมุมมองของบุคลากรทางสาธารณสุขคนหนึ่ง
คิดดังๆออกมาเลยว่า "อสม.โง่"
(ตามที่เคยมีการพูดถึงเรื่องนี้มาก่อนในบันทึกของคุณ"ชายขอบ" เรื่อง
อสม. ไม่มีความรู้จริงหรือ)เพราะเขานำเสนอข้อมูลว่า อสม.
ทำแบบทดสอบเกี่ยวกับความรู้ได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์มาก
ในตอนนั้นดิฉันวิเคราะห์ออกมาได้ว่า ที่ อสม.
เขาถูกมองว่าโง่เพราะคนสาธารณสุขเอาเกณต์ เกณฑ์(แก้ไขเมื่อ
15 พ.ค. 49) "ตน" ไปตัดสินเขา
แต่ไม่เปลี่ยนไปประเมินตามสภาพบริบทที่แท้จริง หากเมื่อลองเอา อสม.
เป็นตัวตั้ง และลองคุยกับเขาตามสภาพปัญหาที่เขาเจอ เช่น
เมื่อเกิดการระบาดของโรคไข้เลือดออก เขาจะทำอย่างไร
อสม.ท่านหนึ่งตอบว่า..."...ให้ชาวบ้านทุกคน
สำรวจบ้านตัวเองว่ามีแหล่งเพาะยุงลายไหม เช่น โอ่งน้ำให้มีฝาปิด
ถ้วยหรือภาชนะที่เป็นลักษณะน้ำขังได้ ก็ให้กำจัด ..."
แม้คำตอบเหล่านี้ก็สามารถสะท้อนได้แล้วล่ะว่า อสม. คิดเป็นคิดได้
มีความรู้ตอบได้ถึงแนวทางปฏิบัติ ไม่ต้องให้เขามานั่งตอบแบบทดสอบ ก ข
ค ง หรอกเพราะเขาไม่คุ้นชิน...
จากเหตุเหล่านี้ทำให้ดิฉันได้ข้อคิดได้ว่า...ในการทำงานร่วมกับใคร หรืออะไรก็แล้วแต่ หากเรายึดเอาเราเป็นที่ตั้ง บางครั้งอาจทำให้เผลอไปตัดสินใครบางคนบางกลุ่มได้โดยไม่รู้ตัว...และอาจทำให้เราเสียโอกาสที่ควรจะได้รับไปอย่างเปล่าประโยชน์
ขอบคุณที่เสนอแนะให้ประเมินความรู้ ที่มีของ อสม ในเชิงคุณภาพ
ผมเห็นด้วยครับ ซึ่งผมกำลังจะทำประเมินอยู่พอดี กำลังจะทำ ไอเอส
นะครับ ถ้าไม่สงวนสิทธิแบบทดสอบ/แบบสอบถาม อสม ผมขอชม
เป็นตัวอย่างจะได้ไหมครับ หากใช้ได้ดีผมอาจขออนุญาตประยุกต์ใช้
และขอเอ่ยนามเจ้าของผลงาน(sitation)หรือการอ้างอิง คงได้
นะครับ คุณ Ka-poom or คุณจอย และคุณ ชายขอบ ด้วยครับ
ขอบคุณครับ