นักสะสมผ้ายันต์พันผืน - ยันต์ฝ่าต๊ะราคา 1 ล้านบาท


แมกกาซีนแปลก วันที่ 31 กรกฎาคม 2552

นักสะสมผ้ายันต์พันผืน - ยันต์ฝ่าต๊ะราคา 1 ล้านบาท

            ด้วยเสน่ห์จากลวดลายถักทออันวิจิตรบนผืนผ้าโบราณ  ทำให้คุณอัครเดชและคุณใจสคราญ นาคบัลลังก์ หลงใหลและเก็บสะสมผ้าโบราณอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานานนับ 20 ปี  ไม่ว่าจะเป็นผ้าซิ่น เสื้อ ผ้า สไบ มุ้ง หมอน ผ้าห่ม ผ้าคลุมที่นอน ตุง และผ้าที่ใช้ในพิธีกรรม  เช่น  ผ้าห่อคัมภีร์และผ้ายันต์ต่าง ๆ  ตั้งแต่ของชาวบ้านจนถึงระดับเจ้านายเจ้าฟ้าในราชสำนักอายุนับร้อย ๆ ปี เป็นจำนวนมากกว่า 10,000 ชิ้น นอกเหนือจากการทำธุรกิจเสื้อผ้าล้านนาหลากหลายรูปแบบ รวมทั้งแบบประยุกต์ให้ผู้คนเช่าไปสวมใส่ในงานต่าง ๆ เช่น พิธีแต่งงาน การแสดงภาพยนตร์และละครทีวี รวมทั้งการแสดงทางวัฒนธรรมไทยเผยแพร่ไปทั่วโลก

            ทั้งสองก็ยังได้เปิดพิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณ สบันงา เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่สนใจได้มีโอกาสชื่นชมความงามของผ้าโบราณที่ทั้งสองได้สะสมไว้อีกด้วย พิพิธภัณฑ์นี้ตั้งอยู่ที่ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่ ถนนวัวลาย อำเภอเมืองฯ  จัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2546  เป็นอาคารไม้ชั้นเดียว  ลักษณะแบบล้านนาไทย  ซึ่งได้นำผ้าโบราณ  เครื่องมือเครื่องใช้ ภาพถ่ายชีวิตผู้คนโบราณ และเครื่องประดับต่าง ๆ  มาจัดแสดงไว้โดยสิ่งของแต่ละชิ้นล้วนถูกจัดวางในตำแหน่งอย่างเหมาะสม  มีไฟสาดส่องเป็นจุด ๆ รวมทั้งมีเสียงบรรยายประกอบทั้งภาษาไทย  ภาษาอังกฤษ  และภาษาญี่ปุ่น ทำให้ที่นี่กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ได้ชื่อว่ามีผ้าโบราณเป็นจำนวนมากและสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไปอย่างไม่ต้องสงสัย

            บรรยากาศภายในพิพิธภัณฑ์นั้นก็จัดได้น่าสนใจไม่น้อย ก่อนเข้าสู่ภายในตัวอาคาร  ด้านนอกจะมีภาพถ่ายโบราณของล้านนาไทย  มีทั้งภาพชาวบ้านธรรมดา เจ้านายชั้นสูง สภาพบ้านเมืองในสมัยนั้น  และวิถีชีวิตของผู้คนกว่า 100 ปีที่ผ่านมา กว่า 60 ภาพ ภายในตัวอาคารแบ่งออกเป็น 5 ส่วนดังนี้ ส่วนแรกเป็นส่วนจัดแสดงผ้าทอของ ชาวไทลื้อ แห่งอาณาจักร 12 ปันนา ผ้าทอต้นกำเนิด "ลายน้ำไหล" อันน่าพิศวง ส่วนที่สองส่วนจัดแสดงผ้าทอของ ชาวไท-เขิน แห่งนครเชียงตุง ชมชุดเจ้าฟ้า และซิ่นไหมคำ ประดับด้วยอัญมณีล้ำค่า ส่วนที่สามส่วนจัดแสดงผ้าทอของ ชาวไท-ลาว ชมผ้าทอลาย มหัศจรรย์จากแขวงซำเหนือ ชุดเจ้านายหลวงพระบาง ผ้าอีสานและ ผ้าปูมจากเขมรอันวิจิตร  ส่วนต่อไปเป็นส่วนจัดแสดงผ้าทอของ ชาวไท-ใหญ่ แห่งรัฐฉาน ชมฉากจำลองท้องพระโรงของเจ้าเมืองแสนกวี และชุดราชาภิเษก อันอลังการหาชมได้ยากยิ่ง และส่วนสุดท้ายส่วนจัดแสดงผ้าทอของ ชาวไท-โยนก แห่งอาณาจักรล้านนาไทย ชุดอันงดงามที่แฝงไว้ด้วยเรื่องราวอันน่าสนใจของ "พระราชชายาเจ้าดารารัศมี" แห่งนครเชียงใหม่ ซึ่งนอกจากจะมีการจัดแสดงผ้าแล้ว ภายในพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ยังได้จัดแสดง จำลอง เครื่องใช้และชุดผ้าทอที่เด่นๆ มีให้ชมหลายชุด เช่น ชุดในพิธีอภิเษก สมรสของเจ้านายในราชสำนักไทเขิน ที่อยู่เมืองเชียงตุง ปัจจุบันอยู่ในเขตแดนของพม่า ซึ่งชาวเขินมีชื่อเสียง ในการทำเครื่องไม้ ลงรักสลักลายที่เรียกว่า เครื่องเขิน ชุดดังกล่าว ฝ่ายหญิงจะนุ่งผ้าทอด้วยด้ายที่ควั่นด้วยโลหะทองคำ ปักด้วยไหมจีนเป็นลายดอกบัว ต่อเชิงด้วยผ้าต่วน สีเขียว และประดับด้วยโลหะมีค่า เรียกว่า ซิ่นไหมคำ ส่วนฝ่ายชาย จะสวมเสื้อตัวยาว ปักประดับด้วยดิ้นโลหะเงินและทอง ถือว่าเป็นผ้าทอ ที่หาได้ยากชนิดหนึ่งในภูมิภาคนี้

            แต่จุดเด่นที่อยู่ในความสนใจของใครหลายคนนั้น คงจะหนีไม่พ้นผ้ายันต์โบราณหลากลวดลายซึ่งคุณอัครเดชสะสมไว้ด้วยความเลื่อมใสศรัทธา ซึ่่งบางชิ้นได้ถูกนำมาจัดแสดงไว้ภายในพิพิธภัณฑ์ แต่เนื่องจากสถานที่ไม่เพียงพอประกอบกับบางชิ้นมีราคาค่อนข้างแพง ถึงหลักล้านบาทก็มีและบางชิ้นก็เป็นของรักของหวงจึงทำให้ต้องถูกเก็บไว้ที่บ้านซึ่งเป็นตึกแถวสองหลังจนเต็มห้องไปหมด รวมแล้วเฉพาะผ้ายันต์ก็มีไม่ต่ำกว่า 1 พันชิ้น         

            จากประสบการณ์การสะสมผ้ายันต์และการสอบถามจากผู้รู้ทำให้คุณอัครเดชเป็นบุคคลหนึ่งที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องผ้ายันต์ คุณอัครเดชได้เล่าถึงที่มาของผ้ายันต์ว่า "ยันต์" มาจากภาษาบาลี แปลว่า สิ่งที่มนุษย์พึงเซ่นสรวงบูชา เพื่อให้บังเกิดความสุข ความเจริญ จะพบได้บนแผ่นกระดาษ แผ่นเงิน แผ่นทอง รวมทั้งบนผืนผ้าและบนผิวหนังของมนุษย์ที่ศรัทธาอีกด้วย สัญลักษณ์คล้ายยันต์นี้ยังปรากฏเป็นตัวเลขในดินแดนอาหรับและยุโรป ปรากฏเป็นตัวอักษรในดินแดนจีน พม่า ทิเบต ลาว กัมพูชา และไทย ส่วนความหมายของผ้ายันต์ เมื่อทำการถอดคาถาและอักขระออกมาต่างแปลความได้ว่า เป็นคำสั่งสอนให้คนประพฤติดี ประพฤติชอบอยู่ในศีลธรรม อีกทั้งยังเป็นคำอวยพรให้มีความสุข ความเจริญทั้งสิ้น

            นอกจากนี้ผ้ายันต์แต่ละผืนล้วนมีความหมายต่างกันไปตามสัญลักษณ์ที่ปรากฎในภาพ สัญลักษณ์บนผ้ายันต์แบ่งได้เป็นสองประเภทได้แก่ ประเภทแรกคือลายเรขาคณิต รูปวงกลม หมายถึง ดวงอาทิตย์ สิ่งอันทรงพลังสูงสุดของธรรมชาติ รูปสามเหลี่ยม หมายถึง เทพทั้ง 3 ตามลัทธิฮินดู ได้แก่ พระพรหม พระนารายณ์ พระอิศวร รูปสี่เหลี่ยม หมายถึง ธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ และประเภทที่สองคือลายรูปภาพ ได้แก่ รูปบุคคล เป็นภาพบุคคลที่นับถือ มีอำนาจ และพลังตามความเชื่อ อาทิ นางกวัก พระ เทพ และเทวดา หรืออาจเป็นรูปสัตว์ เป็นภาพสัตว์ในความเชื่อ อาทิ หมูป่า เสือ วัว จิ้งจก และ หงส์ หรือเป็นรูปต้นไม้-ดอกไม้ อาทิ ดอกบัว ต้นโพธิ์ เป็นต้น

            แต่ถ้าพูดถึงความศักดิ์สิทธิ์หรือความขลังแล้วล่ะก็เราสามารถแบ่งประเภทของผ้ายันต์ออกเป็น 9 ประเภท ดังนี้ 1. ยันต์เมตตามหานิยม ให้คนรักใคร่ เมตตา หายโกรธเคือง 2. ยันต์มหาอำนาจ มีอำนาจคนเคารพเกรงขามมีบารมีพกติดตัวเข้าป่าป้องกันสัตว์ร้าย ถ้าออกสู้รบจะได้ชัยชนะ 3. ยันต์ค้าขาย ค้าขายได้กำไรร่ำรวยเงินทองไม่ขาดมือพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ 4. ยันต์มหาเสน่ห์ หรือยันต์เรียกผัว เป็นคุณไสยให้คนหลงรักมักทำเป็นรูปหญิงสาวมีสัมพันธ์กับสัตว์ เช่น ช้าง ม้า วัว เป็นต้น 5. ยันต์โชคชะตา เป็นการทำนายโดยจะมีดวงชะตาของเจ้าของปรากฏอยู่บนผืนผ้าเพื่อใช้ดูฤกษ์ยามมงคลต่างๆ  6. ยันต์อยู่ยงคงกระพัน ใช้ป้องกันอันตรายจากอาวุธ ศัตรูยิงแทงฟันไม่เข้า ในอดีตเชื่อว่าถ้าปฏิบัติตามคาถาอย่างเคร่งครัดจะทำให้หายตัวได้ 7. ยันต์ป้องกันภัย ใช้ป้องกันภูตผี ปีศาจ วิญญาณ และคุณไสย 8. ยันต์สารพัดนึกหรือยันต์พันช่อง แคล้วคลาดจากอันตรายทุกชนิดทั้งโรคภัยไข้เจ็บและสิ่งชั่วร้าย 9. ยันต์ฝ่าต๊ะ หรือยันต์ประทับรอยมือรอยเท้าของครูบาศรีวิชัย นักบุญผู้มีบารมีสูงส่งและเป็นที่เคารพนับถือของชาวล้านนาไทยตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน อายุกว่า 100 ปี ถือเป็นของขลังที่มีคุณค่าสูงสุดของอาณาจักรล้านนาไทย สำหรับนำติดตัวเป็นเสมือนสิ่งมงคลป้องกันภัย นำโชคมาสู่เจ้าของ ซึ่งผ้ายันต์ฝ่าต๊ะชิ้นนี้เองที่ตอนนี้ชิ้นที่คุณอัครเดชมีอยู่นั้นตีราคาอยู่ที่ 1 ล้านบาทเลยทีเดียว

            สาเหตุที่ทำให้ผ้ายันต์โบราณเป็นผ้าที่มีคุณค่าเพราะยันต์โบราณเขียนเพียงไม่กี่ผืนไม่ได้พิมพ์กันเป็นพันผืนอย่างในปัจจุบันและผู้ลงยันต์จะต้องเป็นบุคคลพิเศษที่ได้รับการถ่ายทอดในวิชานี้ ทั้งเรื่องการเขียนและคาถา อาคม ผู้ลงยันต์ต้องเป็นผู้มีพลังจิตที่จะถ่ายทอดความเข้มแข็ง เมตตา และความอิ่มเอิบใจ ลงไปในยันต์และต้องทำสมาธิในระหว่างที่ท่องคาถาประกอบตามอานุภาพของยันต์นั้นๆ  เรียกว่าลึกลงไปถึงขนาดระหว่างลายเส้นของผ้าที่ตัดกันนับหมื่นๆพันๆ เส้น

            มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า เมื่อไหร่ที่เจ้าของผ้ายันต์สิ้นชีวิตลง ผ้ายันต์และเครื่องรางของขลังจะเกิดการ  "ตายทับของ"  คือ สูญสิ้นอิทธิฤทธิ์ไปพร้อมเจ้าของ จะทำให้ผ้ายันต์เหล่านั้นไม่มีค่า ยกเว้นเสียแต่ว่าได้มีการขนเครื่องรางเหล่านั้นออกไปจากบ้านเสียก่อน   เรื่องเหล่านี้ไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่จะดีกว่า เพราะแม้แต่คุณอัครเดชเองก็ยังเคยเจอเรื่องของความขลังของผ้ายันต์มากับตัวเอง "ครั้งหนึ่งตึกแถวใกล้ๆ ห้องเก็บผ้ายันต์ไฟไหม้ ไฟลามจนเกือบถึงห้องที่เก็บผ้าเขาจึงอธิษฐานขอให้ผ้าคุณค่ามหาศาลพวกนี้อย่าโดนไฟไหม้เลย ปรากฏว่าจู่ๆ ไฟก็ดับมอด จากวันนั้นความศรัทธาที่มีต่อการสะสมจึงยิ่งเพิ่มขึ้น"...แต่อย่างไรก็ตามคุณอัครเดชเตือนให้นักสะสมเชื่ออย่างมีสติ ไม่งมงายและต้องเคารพผืนผ้าด้วยการรักษาศีลให้จิตใจบริสุทธิ์  "ผมก็เชื่อตามวิสัยคนไทยที่เคารพพระครูบาอาจารย์ แต่ไม่ลึกซึ้งไปกว่าความสวยงามทางศิลปะที่เราเห็นว่า ผ้าพวกนี้น่าเก็บ จากการศึกษาประวัติผ้ายันต์แต่ละผืนก็รู้ว่า  ผู้รับก็ต้องน้อมด้วยความศรัทธาจัดไว้ในที่อันเหมาะสม ท่องคาถาเคร่งครัด ต้องอยู่ในกฎ เช่น ห้ามผิดศีล 5 ห้ามลอดใต้ถุนบ้านหรือราวตากผ้า หรือห้ามบริโภคเนื้อสัตว์ด้วยเช่นกัน"

            สำหรับใครที่อยากหาผ้ายันต์เก่าๆสักผืนมาสะสม คุณอัครเดชแนะนำว่าส่วนตัวแล้วคุณอัครเดชจะไปหาผ้าเก่าๆ พวกนี้ จากการให้พวกพ่อค้าขายผลไม้ ขายหอม ขายกระเทียม ฯลฯ ที่เร่ขายของไปตามหมู่บ้านห่างไกลแถบภาคเหนือ เช่น หมู่บ้านนี้เป็นชาวไทยใหญ่ เป็นคนหามาให้ โดยบอกโจทย์ว่าต้องการผ้าทอแบบไหน ซึ่งกว่าจะได้มาสักผืนก็เป็นปีๆ แต่ว่าถ้าชาวบ้านขายให้ผืนหนึ่ง ก็จะมีคนขายตามๆ กันเพราะเห็นว่าได้ราคาดี ส่วนตัวเคยออกไปหาด้วยตัวเองแต่ไม่มีใครยอมขายให้ เพราะผ้าพวกนี้เป็นของตกทอดจากปู่ย่าตายาย ถ้าไม่ใช่คนที่คุ้นเคยกันเขาจะหวง เห็นได้จากบางผืนที่ได้มาคิดว่าน่าจะพึ่งเอาลงมาจากหิ้งเพราะยังมีกลิ่นน้ำหอมมีคราบแป้งบูชาติดอยู่เลย" ฟังจากที่คุณอัครเดชพูดแล้วคิดว่าผ้ายันต์โบราณจริงๆน่าจะหาซื้อกันยากสักหน่อย แต่ถ้าใครผ่านไปแถวจังหวัดเชียงใหม่ก็ลองแวะไปดูของจริงกันก่อนได้ที่    พิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณ สบันงาตั้งอยู่ที่ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่ 185/3 ถ.วัวลาย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50100 เปิดให้เข้าชมทุกวัน ยกเว้นวันพุธตั้งแต่เวลา 10.30-18.30 น. สนใจติดต่อ 0-5321-5026-7,0-5320-0655 ค่าเข้าชม นักเรียนต่างชาติ 60 บาท นักเรียนไทย พระ 20 บาท ผู้ใหญ่ 50 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท

 

  

 

จักกิ้ม (จิ้งจก) : ความเชื่อล้านนา

บทคัดย่อ : ความเชื่อเรื่องจักกิ้มที่อยู่ในรูปแบบวรรณกรรมตำรา ประเภทลายลักษณ์ไม่ได้ปรากฏเฉพาะเนื้อหาที่เป็นคำพยากรณ์เท่านั้น หากแต่ยังมีตำรายันต์ไม่ว่าจะเป็นยันต์ที่ใช้ลงในแผ่นผ้า แผ่นโลหะ ลงใส่กระดาษเป็นไส้เทียน เป็นเครื่องมือในการทำคุณไสย หรือใช้สำหรับสักบนร่างกาย ตลอดจนพัฒนาเป็นตะกรุดให้ได้ใช้ตามใจประสงค์ ในที่นี้จะนำเอายันต์ดังกล่าวมาแสดงประกอบพอเป็นตัวอย่าง เช่น

ยันต์ที่ใช้ลงบนแผ่นผ้าหรือแผ่นโลหะ : ยันต์นี้มีสรรพคุณด้านเมตตามหานิยม คลาดแคล้วและป้องกันภัยจากมนุษย์และภูตผีปีศาจ

ยันต์ที่ลงใส่กระดาษเป็นไส้เทียน : ยันต์นี้ลงใส่กระดาษเขียนชื่อผู้ที่ต้องการให้รักกันใส่แล้วนำไปม้วนพันไส้เทียน จะทำให้ผู้ที่มีชื่อในนั้นรักกัน

ยันต์สำหรับทำคุณไสย : ยันต์นี้ลงใส่แผ่นกระดาษ หากเกิดถ้อยคดีความท่านให้เขียนชื่อคู่กรณีใส่ แล้วบริกรรมคาถาเสกเป่า เอาไปเผาไฟ จากนั้นนำขี้เถ้าไปคลุกข้าวให้สุนัขกิน เชื่อว่าจะชนะความในศาล

ยันต์สำหรับสักบนร่างกาย : ยันต์นี้ ท่านให้สักลงบนร่างกายในบริเวณที่เห็นสมควร เชื่อว่าจะเกิดคุณด้านเมตตามหานิยม เป็นที่รักของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย

ยันต์(ตะกรุด) จักกิ้มสองหาง : นอกจากยันต์รูปต่างๆแล้ว ยังมียันต์ที่อาจารย์บางท่านลงใส่แผ่นโลหะแล้วม้วนผูกเชือกเป็นตะกรุด โดยเน้นการให้คุณทางเมตตามหานิยมและแคล้วคลาดจากภยันตราย

จักกิ้มสองหาง : เป็นที่น่าสังเกตว่า ยันต์ส่วนใหญ่มักมีรูปจักกิ้มที่มีหางถึงสองหาง ทั้งนี้มีความเชื่อมาแต่เดิมว่า จักกิ้มที่มีลักษณะนี้ สามารถบันดาลโชคลาภให้แก่เจ้าของอาคารหรือเคหสถานที่มีจักกิ้มสองหางอาศัยอยู่ รวมทั้งสามารถบันดาลสิ่งที่พึงปรารถนาให้แก่ผู้ครอบครอง ดังนั้น บ้านเรือนใดมีจักกิ้มสองหาง จะพยายามรักษาไว้โดยไม่มีการทำร้าย แต่ก็พบว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่จับเอามาทำให้ตายแห้งแล้วอัดกรอบพลาสติกเก็บไว้พกพาติดตัวหรือใส่ไว้ในภาชนะเก็บเงิน และวิธีการจับจักกิ้มสองหางอาจมีหลายวิธีด้วยกัน แต่มีอยู่วิธีหนึ่งเป็นวิธีที่ใช้กันมาแต่โบราณ คือ นำเอายางที่ได้จากก้านของใบ "เปล้าต๋องแตก" เขียนรูปจักกิ้มไว้ที่ใดที่หนึ่ง เช่น ฝาผนัง คานหรือเสาตัวอาคาร ในชั่วระยะเวลาไม่นาน บริเวณนั้นจักกิ้มจำนวนมาจะมาชุมนุมกัน จักกิ้มทุกตัวจะมีอาการรื่นเริง ส่งเสียงร้องหยอกกันเล่นอย่างมีความสุข และในจำนวนนั้นอาจมีจักกิ้มสองหางปรากฏตัวมาเริงร่ากับหมู่คณะด้วย ซึ่งสามารถจับเอาได้ตามกลวิธีของแต่ละคน

เรื่องจักกิ้มที่เสนอมาแต่ต้น เป็นจักกิ้มในความเชื่อของชาวล้านนา ซึ่งหากจะศึกษาในวงกว้างออกไป ชนชาติอื่นก็มีความเชื่อเรื่องของสัตว์ชนิดนี้อีกไม่น้อยเช่นกัน.

สนั่น ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 285877เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2009 19:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท