รัฐฉาน(ไทยใหญ่)จากปากคำชาวสเปนที่พลัดหลงเข้าไป


กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 27 กรกฎาคม 2552 ตีพิมพ์เรื่อง "โดดเดี่ยวในแดนต้องห้าม" โดยท่านอาจารย์ชุติมา ซุ้นเจริญ ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟัง [ กรุงเทพธุรกิจ ]

ถ้าท่านได้รับประโยชน์จากบทความนี้ เรียนเสนอให้แวะไปชม "ภาพจากมืออาชีพ" ได้ที่เว็บไซต์ "กรุงเทพธุรกิจ" ขอให้ช่วยกันเชียร์สื่อมวลชนไทยดีๆ ที่นำเสนอเรื่องราวดีๆ สู่สังคมไทยครับ [ กรุงเทพธุรกิจ ]

...

[ ข้อความคัดลอก ] > [ กรุงเทพธุรกิจ ]

พม่าและลาวเป็นเพื่อนบ้านที่ดีกับไทยมากที่สุดในอาเซียน พวกเราควรศึกษาเรื่องพม่าอย่างรอบคอบ รู้เขารู้เรา และรักษามิตรภาพกับเพื่อนบ้านที่ดีไว้ให้ได้

ประเทศอื่นปากหวานกับไทย แต่ไม่ค่อยช่วยอะไรไทย ไม่จริงใจเท่าลาวกับพม่า ตรงนี้ควรพิจารณาไว้เสมอ

...

[ ข้อความคัดลอก ] > [ กรุงเทพธุรกิจ ]

การเดินทางซอกแซกถึงเขตหวงห้ามในรัฐฉาน อันตรายยิ่ง แต่สำหรับ Xavier Comas ช่างภาพชาวสเปน สองสัปดาห์คือ ความท้าทายที่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่าแท้

เช่นเดียวกับคนทำงานทั่วไป ชีวิตในแต่ละวันของ Xavier Comas เริ่มต้นในห้องสี่เหลี่ยม ถูกตรึงไว้นานนับชั่วโมงด้วยจอสี่เหลี่ยม และจบวันอันอ่อนล้าในเหลี่ยมมุมของความเป็นเมืองใหญ่ 

... 

หลังจบการศึกษาจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบาเซโลน่า ประเทศสเปน ในปีพ.ศ.2538 เขาทำงานด้านการออกแบบกราฟฟิค ถ่ายภาพ วาดภาพประกอบ จนมีสตูดิโอของตัวเองชื่อ Opalworks

แต่นั่นยังไม่ใช่คำตอบของชีวิต บางเสียงในใจเรียกร้องให้เขาออกไปเผชิญโลกกว้าง ปีพ.ศ. 2545 เขาพาตัวเองจากสถานที่ที่คุ้นเคยมายังเอเชีย-แปซิฟิก โดยเลือกเดินทางไปยังเมืองเล็กๆ ที่ห่างไกลความเจริญและอ่อนเดียงสาต่อการท่องเที่ยว

...

การตัดสินใจครั้งนั้นเริ่มต้นด้วยเงินเก็บจำนวนหนึ่ง กับกล้องฟิล์มอีกหนึ่งตัว ที่เหลือคือหัวใจของนักผจญภัย 

เขาเดินทางไปมาแล้วหลายแห่ง ทั้งหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย กัมพูชา พม่า ลาว และไทย

... 

แต่เมืองที่ทำให้แววตาของเขาเป็นประกายขึ้นมาทุกครั้งเวลาที่พูดถึง คือดินแดนที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศไทย ทว่ากลับห่างไกลจากการรับรู้ของคนทั่วไป

“ใครๆ ก็ไปรัฐฉานได้ แต่ที่ผมไปคือเขตที่นักท่องเที่ยวห้ามเข้า”

...

เขาเริ่มต้นเล่าถึงแรงบันดาลใจที่พาสองเท้าก้าวข้ามพรมแดนจากท่าขี้เหล็ก จังหวัดเชียงราย ไปยังไปรัฐฉาน ก่อนจะหลงทางเข้าไปในเขตหวงห้ามของรัฐบาลทหารพม่า จนได้ชื่อว่าเป็นชาวต่างชาติคนแรกในรอบ 30 ปีที่ได้เข้าไปในเขตหวงห้ามนี้

“หลังจากที่ผมไปมาเลเซียแล้วได้รับบาดเจ็บก็เลยมาพักผ่อนที่เกาะสมุย แล้วได้ไปเจอกับสามีภรรยาชาวเยอรมันคู่หนึ่งที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากพม่า

... 

เขาโชว์แผนที่ให้ดูว่าไปที่นั่นที่นี่มา ซึ่งมันน่าสนใจมาก เพราะตอนนั้นผมเริ่มเบื่อสมุยแล้ว เบื่อชายหาด เบื่อปาร์ตี้ เบื่อทุกอย่าง ก็เลยคิดว่ามันเป็นสถานที่ที่น่าสนใจ น่าตื่นเต้น ผมอยากไปที่นั่น”

จากเชียงตุงถึงรัฐฉาน ในเส้นทางที่เปิดให้ท่องเที่ยว ชีพจรของนักเดินทางยังเต้นในจังหวะที่ควรจะเป็น 

...

“ผมรู้สึกว่า ชีวิตที่นี่เรียบง่าย ทุกอย่างผสมกลมกลืนกับธรรมชาติ แต่ที่แตกต่างจากประเทศอื่น อย่างกัมพูชาก็คือ ที่นั่นจะขาดแคลนเรื่องอาหาร แต่สำหรับรัฐฉาน อาหารมีอุดมสมบูรณ์ ปัญหาคือเรื่องโรคภัยต่างๆ เอชไอวี มาลาเลีย”

แม้ว่าวิถีชีวิตของผู้คนในเมืองหลักของรัฐฉานที่เปิดให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินเตร็ดเตร่ได้โดยสะดวกจะมีเสน่ห์ไม่น้อยสำหรับช่างภาพหนุ่มที่มาจากคนละซีกโลก

... 

แต่เขาก็ยังแอบหวังลึกๆ ว่าจะได้เห็นวิถีแบบดั้งเดิมของคนพื้นเมืองที่มีอยู่หลากหลายเผ่าพันธุ์ ดังนั้นแม้จะมีคำเตือนว่าไม่ให้ออกนอกเส้นทางที่กำหนด

แต่เขาก็พาตัวเองไปจนถึง Mong La เมืองหลวงของเขตแดนพิเศษ 4 ใกล้ชายแดนจีน ซึ่งเป็นอาณาเขตภายใต้การดูแลของทหาร The National Democratic Alliance Army (NDAA)

...

“ที่ Mong La ผมไปเจอคนขับปิ๊กอัพก็เลยขอนั่งรถไปกับเขาเข้าไปในป่าซึ่งเป็นที่อยู่ของชนพื้นเมือง จริงๆ แล้วเป็นการละเมิดกฎหมาย แต่มันก็ทำให้ผมได้พบกับชาวบ้านซึ่งเป็นชนเผ่า ผมประทับใจมากๆ”

เขาเล่าว่า ทันทีที่ไปถึงหมู่บ้าน คนส่วนใหญ่ไม่เคยเจอนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวตะวันตก บางคนก็ไปแอบอยู่ในบ้าน เด็กๆ ร้องไห้กระจองอแง หมาเห่ากันใหญ่ โชคดีที่มีผู้หญิงคนหนึ่งมาคอยดูแล และให้ที่พัก ทั้งที่ไม่สามารถสื่อสารกันได้

...

“ก่อนไปพม่า มีคนสอนผมสามคำคือ กินข้าว หิวน้ำ นอน นอกนั้นเวลาจะคุยกันก็ต้องใช้ทั้งภาษามือ ภาษากาย แล้วก็วาดรูป”

เขาบอกถึงเทคนิคการเอาตัวรอดซึ่งนอกจากจะต้องใช้ความจริงใจแล้ว สิ่งสำคัญคือต้องเคารพต่อสถานที่ เคารพต่อผู้คนซึ่งเปรียบเสมือนเจ้าของบ้าน 

...

“ผมรู้สึกว่าการอยู่ในป่าเหมือนอยู่ในบ้านของคนเหล่านั้น การจะไปตัดไปแตะต้องหรือไปตะโกน มันเป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง ฉะนั้นผมจึงพยายามไม่แตะต้องอะไร”

แต่ไม่ใช่แค่อุปสรรคเรื่องภาษา ที่นี่ไม่มีไฟฟ้า ใช้ประปาภูเขา ส่วนร้านสะดวกซื้อไม่ต้องพูดถึง การใช้ชีวิตในแต่ละวันไม่สะดวกแต่ก็มีความสุข

... 

สำหรับเขาการใช้กล้องแมนนวลกับฟิล์มทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น ยิ่งได้ลิ้มลองอาหารแบบพื้นๆ ของชาวบ้าน เขาบอกเป็นภาษาไทยว่า "อร่อยมาก" (ลากเสียงยาว)

การได้ใช้ชีวิตในหมู่บ้านที่ห่างไกลจากโลกของนักกราฟฟิคดีไซน์อย่างสิ้นเชิง ดูเหมือนจะทำให้ชีพจรของนักเดินทางเต้นในจังหวะที่เร้าใจขึ้น

... 

แต่การเดินทางโดยไม่มีทั้งแผนที่และภาษาที่สามารถสื่อสารกันได้ ทำให้เขาหลงทางอยู่นาน  

“ผมหลงทาง มีแต่ท้องฟ้ากับป่า ผมถามตัวเองว่าผมอยู่ที่ไหน ผมเป็นใคร แต่ผมรู้สึกได้ถึงเสรีภาพ มันทำให้รู้สึกเป็นอิสระอย่างแท้จริง”

...

ที่เมืองนี้เขาบันทึกภาพผู้คน สถานที่ อันเป็นส่วนหนึ่งในเรื่องราวการเดินทางที่น้อยคนนักจะได้สัมผัส

ไม่ว่าจะเป็น ผู้หญิงที่ช่วยดูแลเขา เด็กๆ หรือพระสงฆ์ที่เขาบังเอิญไปพบ ทั้งหมดคือความทรงจำอันมีค่า ทว่า..การเดินทางยังไม่สิ้นสุด

...

-2-

เขาแอบไปกับรสบัสโดยสารของคนพื้นเมืองเพื่อเดินทางต่อไปยัง Mong Yang เขตแดนพิเศษ 2

...

“จริงๆ แล้วเขาไม่ได้อนุญาตให้ชาวต่างชาติไป แต่มีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งมาช่วยซื้อตั๋วให้ แล้วผมก็ซ่อนตัวอยู่หลังรถ ทำเป็นนอนหลับอยู่เบาะหลังเอาผ้าคลุมหัวไว้

ตอนผ่านด่านตรวจที่จะเข้าไปในเขตหวงห้าม เจ้าหน้าที่คงมองไม่เห็น แล้วคนที่อยู่ในรถก็ไม่ได้บอกอะไร ผมเลยผ่านเข้าไปที่นั่นได้”

...

สองสัปดาห์ในเขตหวงห้าม เขาสัมผัสได้ถึงการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอดของชนเผ่าพื้นเมือง ขณะเดียวกันก็ได้ตื้นตันกับน้ำใจที่คนเหล่านั้นมอบให้กับคนแปลกหน้า

เขาเก็บภาพทุกภาพด้วยความกระตือรือร้น จนกระทั่งวันหนึ่งบุคคลที่ถูกโฟกัสกลายเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งไม่ได้รู้สึกยินดีกับการเดินทางเข้ามาของคนต่างชาติ

...

“ตอนที่โดนจับ ผมกำลังเดินป่าแต่ว่าใกล้เมืองมากไปหน่อย บังเอิญตรงนั้นมีกระท่อมเล็กๆ ของเจ้าหน้าที่ ผมกำลังส่องกล้องอยู่บังเอิญส่องไปเจอเจ้าหน้าที่พอดี

แต่คิดว่าถ้าวิ่งหนีอาจจะทำให้สถานการณ์แย่กว่าเดิม ก็เลยเดินเข้าไปหาเลย เจ้าหน้าที่ซึ่งน่าจะเป็นทหารเขาก็ตกใจว่าทำไมมีชาวต่างชาติมาอยู่ตรงนั้นได้ เขาก็เลยขอพาสปอร์ต จากนั้นก็พาไปด่านตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งก็แทบไม่มีใครพูดภาษาอังกฤษได้เลย”

...

ระหว่างที่ถูกคุมตัวอยู่ เขาถูกซักถามถึงวัตถุประสงค์ในการเดินทางเข้ามาในเขตหวงห้ามหลายครั้ง ซึ่งคำตอบเหมือนกันทุกครั้งก็คือ มาท่องเที่ยว ไม่ได้มีเจตนาอย่างอื่น เอกสารทุกอย่างรวมทั้งยารักษาโรค

เจ้าหน้าที่จะนำไปตรวจสอบว่าเป็นยาเสพติดหรือไม่ ขณะนั้นแม้ไม่รู้ชะตากรรมของตัวเอง แต่เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เขาขอร้องให้เจ้าหน้าที่คนหนึ่งซึ่งพอจะคุยกันรู้เรื่องพาไปดูโรงเรียนและโรงพยาบาล 

...

“ผมแปลกใจมาก โรงเรียนที่นี่ไม่เหมือนที่เคยเห็นที่ไหน มันเหมือนไปดูแคมป์ทหารมากกว่า นักเรียนทุกคนนั่งก้มหน้าร้องเพลงซึ่งน่าจะเป็นเพลงปลุกใจ อีกที่หนึ่งเจ้าหน้าที่บอกว่าเป็นโรงพยาบาล แต่มันไม่มีอะไรเลยแม้กระทั่งยา”

นอกจากจะได้เห็นสิ่งที่ต่างไปจากที่คิดแล้ว เขายังได้ยินสิ่งที่ไม่อยากได้ยิน นั่นคือบรรดาทหารพม่ามักพูดจาดูถูกชนเผ่าพื้นเมือง โดยเฉพาะผู้หญิง

... 

เขาเริ่มคิดถึงการนำภาพผู้คนเหล่านี้ออกมาแสดงให้คนทั่วโลกได้เห็น แต่เวลานั้นการกลับบ้านอย่างปลอดภัยคือสิ่งที่เขาต้องทำให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรก

หลังจากนั้นทหารได้คุมตัวเขาออกจากเขตหวงห้ามเพื่อมาพบกับเจ้าหน้าที่ระดับสูง การตรวจสอบดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้น ขณะที่เขายังยืนยันอย่างเข้มแข็งว่าตนเองเข้าเมืองถูกต้องตามกฎหมาย ในที่สุดเจ้าหน้าที่จึงสั่งให้เขาออกจากรัฐฉานทันที 

...

สองสัปดาห์ในดินแดนต้องห้าม เขาเดินทางกลับออกมาพร้อมกับความรู้สึกที่ว่า ยังมีคนจิตใจดีงามอยู่ในที่ที่ห่างไกลในประเทศต่างๆ อีกมากมาย และดูเหมือนว่าเขาจะหลงรักแววตาใสซื่อและรอยยิ้มที่ปราศจากการปรุงแต่งของคนพื้นเมืองชนเผ่าต่างๆ เข้าแล้ว 

“หลังจากที่ออกมาจากพม่า ผมพยายามที่จะไปเมืองหรือประเทศต่างๆ ที่มีคนพื้นเมือง คนชนเผ่าอาศัยอยู่เพราะรู้สึกว่าพวกเขาจริงใจ และมีความเป็นธรรมชาติ”

...

Comas เดินทางไปยังเมืองเล็กๆ ที่ห่างไกลจากการรับรู้ของผู้คนอีกหลายแห่ง แต่ภาพของผู้คนในรัฐฉานยังโลดแล่นอยู่ในความทรงจำ

ในที่สุดเขาก็ได้รับโอกาสให้เผยแพร่ภาพเหล่านี้ในนิทรรศการ “Off Limits" -Tresspassing in the Shan State ระหว่างวันที่ 29 กรกฎาคม-30 สิงหาคม 2552 ที่จัดขึ้น ณ  เอท ทองหล่อ 

...

ท่ามกลางความวุ่นวายย่านใจกลางเมืองของกรุงเทพฯ ช่างภาพหนุ่มเล่าถึงนิทรรศการครั้งนี้ว่า ภาพที่นำมาจัดแสดงมี 18 ภาพ ทั้งหมดเป็นภาพบุคคล

ด้วยความที่ไม่ได้วางแผนเรื่องการถ่ายภาพไว้ก่อน ภาพเหล่านี้จึงไม่ได้แฝงด้วยเจตนาทางการเมือง หรือเป้าหมายทางศิลปะ แต่เป็นการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก ณ ขณะนั้น 

...

“ตอนแรกผมไม่ได้ตั้งใจจะแสดงแค่เฉพาะภาพคนอย่างเดียว อาจเป็นสถานที่ท่องเที่ยวด้วย แต่เวลาดูภาพกลับกลายเป็นว่ารูปคนสื่อความหมายและเรื่องราวได้มากที่สุด”

แม้จะไม่ใช่ภาพที่สมบูรณ์แบบในเชิงเทคนิค แต่ทั้งหมดสามารถร้อยเรียงเรื่องราวการเดินทางของผู้ชายคนหนึ่งได้อย่างน่าติดตาม

... 

แต่ละภาพบอกเล่าถึงชีวิตที่ดำเนินไปอย่างเรียบง่ายของผู้คนในดินแดนที่หลายคนอาจหลงลืม เป็นชีวิตที่ร่มเย็นแม้ไร้ซึ่งปัจจัยพื้นฐานและเสรีภาพ 

Comas บอกว่าเขาไม่ใช่ช่างภาพสารคดี ไม่ใช่นักข่าว และไม่ใช่นักเดินทางที่ต้องการพิชิตเป้าหมาย

... 

แต่ภาพถ่ายทำให้การเดินทางแต่ละครั้งมีความหมาย และการเดินทางทำให้เขาตระหนักถึงความหมายของการมีชีวิต

“ตอนแรกผมแค่ต้องการออกไปข้างนอก มีประสบการณ์ ผมอยากรู้ว่าผมเป็นใคร เกิดมาทำไม แต่การได้เห็นโลกกว้างทำให้ได้เรียนรู้มากจริงๆ

... 

ตอนเดินทางเราอาจไม่ได้ตระหนัก แต่พอกลับไปคุยกับคนที่บ้าน ผมรู้ว่าทัศนคติของผมเปลี่ยนไป สิ่งสำคัญคือมันทำให้เราได้มองเข้าไปในตัวเอง

เหมือนมองจากภายนอกกลับเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นตัวเรา ประเทศของเรา วัฒนธรรมของเราว่ามันมีลักษณะพิเศษความแตกต่างกันอย่างไร”

...

เช่นเดียวกับสุภาษิตของนักเดินทางว่าไว้ "คนที่กลับมาจากการเดินทาง จะไม่ใช่คนเดิมที่ออกเดินทางไป"

หลังสิ้นสุดการการแสดงภาพในกรุงเทพฯ การผจญภัยครั้งใหม่ของผู้ชายคนนี้คือ ภารกิจที่ไม่มีวันสิ้นสุด

...

รัฐฉาน ใต้เงาพม่า

รัฐฉานในอดีตมีชื่อเรียกว่า “ไต” หรือที่เรียกกันว่า เมืองไต มีประชากรหลายชนชาติและอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข โดยมีชนชาติไทยใหญ่อาศัยอยู่มากที่สุด

เมืองไตเคยมีเอกราชในการปกครองตนเองมาเป็นเวลาหลายพันปี ก่อนที่อังกฤษจะขยายอิทธิพลเข้ามาถึง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเมืองไตกับพม่าในอดีตนั้นจัดเป็นอิสระต่อกัน แต่ละเมืองปกครองด้วยระบบเจ้าฟ้าสืบต่อเนื่องกันมาตั้งแต่อดีต 

...

ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทางการพม่าพยายามโน้มน้าวเหล่าบรรดาเจ้าฟ้าไตให้เข้าร่วมเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ

เจ้าฟ้าไตจึงได้ร่วมลงนามในสนธิสัญญาปางโหลง เมื่อปี พ.ศ. 2490 กับชาวพม่าและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เพื่อขอเอกราชจากอังกฤษ

... 

โดยสัญญาดังกล่าวได้นำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งระบุให้ชนชาติที่ร่วมลงนามในสัญญา สามารถแยกตัวเป็นอิสระได้หลังจากอยู่ร่วมกันครบสิบปี

แต่เมื่ออังกฤษได้ให้เอกราชกับพม่าและไตแล้ว รัฐบาลกลางพม่าไม่ยอมทำตามสัญญา และพยายามรวมดินแดนให้เป็นของประเทศพม่า

... 

เหตุนี้จึงทำให้ชาวไตหรือไทยใหญ่ จึงก่อตั้งกองกำลังกู้ชาติของตนเองขึ้นในปี พ.ศ. 2491

รัฐบาลทหารพม่าได้ใช้ระบอบเผด็จการทหารกับชาวไต อีกทั้งยังได้ทำลายพระราชวังของไทยใหญ่ในเมืองเชียงตุงและอีกหลายเมือง

... 

ปัจจุบันสถานการณ์ภายในรัฐฉานยังไม่มีเสถียรภาพเท่าใดนัก แต่พวกเขายังหวังลึกๆ ว่าสักวันหนึ่งรัฐฉานจะได้เป็นเอกราชของตนเอง

(หมายเหตุ : ข้อมูลจากวิกิพีเดีย) [ กรุงเทพธุรกิจ ]

[ ข้อความคัดลอก ] > [ กรุงเทพธุรกิจ ]

หมายเลขบันทึก: 280673เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2009 12:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2012 11:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อยากเห็นรูปจังครับ

คลิกที่ลิ้งค์ มีภาพในกรุงเทพธุรกิจครับ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท