028 : ตำนาน 'สุริยคราส' ในวัฒนธรรมต่างๆ ทั่วโลก


 

บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อให้ นสพ. ASTV ผู้จัดการรายวัน

นำไปเผยแพร่เป็นวิทยาทาน

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนขอสงวนลิขสิทธิ์ของเนื้อหา

หากผู้ใดต้องการนำไปเผยแพร่ ควรบอกกล่าวแก่ผู้เขียน และอ้างอิงมายัง URL นี้

 


 

ตำนาน สุริยคราส ในวัฒนธรรมต่างๆ ทั่วโลก

บัญชา ธนบุญสมบัติ

E-mail : [email protected]

Web : http://portal.in.th/buncha  




ผู้คนทั่วโลกมักจะมีตำนานเกี่ยวกับการเกิดสุริยคราสกันทั้งนั้น บ้างก็คล้ายคลึงกัน

แต่ส่วนใหญ่จะแตกต่างกัน โดยมักจะอิงกับสิ่งที่คนในแต่ละวัฒนธรรมคุ้นเคย



ชาวไวกิ้ง (Viking) มีตำนานเกี่ยวกับหมาป่า 2 ตัว ตัวหนึ่งไล่ล่าดวงอาทิตย์ อีกตัวหนึ่งไล่ล่าดวงจันทร์

หากหมาป่าตัวแรกไล่ทันดวงอาทิตย์ก็เกิดสุริยคราส

และหากหมาป่าอีกตัวหนึ่งไล่ทันดวงจันทร์ ก็เกิดจันทรคราส 

เมื่อเกิดคราสขึ้น ผู้คนสามารถช่วยเหลือดวงอาทิตย์และดวงจันทร์โดยการทำให้เกิดเสียงดัง เพื่อให้หมาป่าตกใจหนีไป



ชาวจีนโบราณ
เชื่อว่าสุริยคราสเกิดจากการที่มังกรกินดวงอาทิตย์

ด้วยเหตุนี้ขณะเกิดคราส คนจีนจะตีกลองให้เกิดเสียงดัง และยิงธนูขึ้นไปบนท้องฟ้า เพื่อขับไล่มังกร


ที่มาของภาพ : http://www.colorsofindia.com/eclipse/mythchinese.htm



ชาวโพโม (Pomo)
ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองอเมริกันที่อาศัยอยู่ในแถบมลรัฐแคลิฟอร์เนียตอนเหนือ ก็มีตำนานเกี่ยวกับหมีซึ่งเดินทางไปในท้างช้างเผือก

เมื่อหมีพบกับดวงอาทิตย์ ต่างฝ่ายต่างก็โต้เถียงกันว่าใครควรจะหลีกทางให้

เมื่อเถียงไม่ได้ผลก็ต้องต่อสู้กันจนเกิดเป็นสุริยคราส

แต่ในที่สุดทั้งสองฝ่ายก็แยกจากกันไปทางใครทางมัน (จนกว่าจะพบกันอีก)

ส่วนจันทรคราสก็เกิดขึ้นในทำนองเดียวกัน คือ หมีไปพบกับดวงจันทร์บนทางช้างเผือก โต้เถียงและต่อสู้กัน
 


ชาวอินเดียนเซอร์ราโน (Serrano Indian) ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองอเมริกันอีกกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ในแถบมลรัฐแคลิฟอร์เนียมีความเชื่อแตกต่างออกไป

พวกเขาเชื่อว่าคราสเกิดจากการที่วิญญาณของคนตายพยายามจะกลืนกินดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์

ดังนั้น ในช่วงระหว่างการเกิดคราส พ่อมดหมอผี (shaman) และบริวารจะร้องรำทำเพลงและเต้นรำ

เพื่อขอให้วิญญาณปลดปล่อยดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์

ในขณะที่คนอื่นๆ จะตะโกนร้องเสียงดังเพื่อให้วิญญาณตกใจหนีไป



ชาวฮินดูโบราณ ก็มีตำนานราหูอมอาทิตย์และราหูอมจันทร์ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากการกวนเกษียรสมุทร

กล่าวคือ อสูรตนหนึ่ง ชื่อ ราหู ได้แปลงตัวเป็นเทวดา และได้มีโอกาสดื่มน้ำอมฤตเข้าไปเล็กน้อย

แต่เมื่อเทพพระอาทิตย์และเทพพระจันทร์เห็นเข้าก็ฟ้องนางโมหิณี

นางโมหิณีนี้แท้จริงแล้วก็คือ พระวิษณุซึ่งจำแลงพระองค์มาหลอกเอาน้ำอมฤตจากพวกอสูรกลับไปให้เหล่าเทวดา

นางโมหิณีจึงใช้จักรสุทรรศนะบั่นเศียรของราหู

โมหิณีบั่นเศียรราหูด้วยจักรสุทรรศนะ

ที่มาของภาพ : http://www.virtualtemple.net/kumbhamela/images/mohini.jpg

 

แต่เนื่องจากราหูดื่มน้ำอมฤตลงไปจนถึงลำคอแล้ว เศียรจึงยังคงเป็นอมตะอยู่

ด้วยเหตุนี้ราหูจึงโกรธแค้นพระอาทิตย์กับพระจันทร์ที่ปากโป้ง

และจะคอยจ้องแก้แค้นโดยงาบพระอาทิตย์กับพระจันทร์เมื่อสบโอกาส

เกิดเป็นสุริยคราส (ราหูอมอาทิตย์) และจันทรคราส (ราหูอมจันทร์) มานับแต่นั้น



 

ราหูอมพระอาทิตย์

ที่มา (ซ้าย) : http://rahuomchan.blogspot.com/2008/04/eclipse-myths-of-india.html

ที่มา (ขวา) : http://blog.baliwww.com/wp-content/photos/kala_rahu_1.jpg





สำหรับชาวไทใหญ่นั้น ในหนังสือ ไทบ้านดูดาว เขียนโดยคุณนิพัทธ์พร เพ็งแก้ว ระบุว่า

“คนไทใหญ่นั้นเป็นเช่นเดียวกับคนร่วมเชื้อสายวัฒนธรรมภาษาตระกูลไท-ลาว ซึ่งเรียกการเกิดคราสว่า กบกินเดือน และกบกิน (ตะ)วัน”

โดยชาวไทใหญ่จะมีคำทำนายที่พ่วงมากับการเกิดคราส รวมทั้งคำทำนายเกี่ยวกับปรากฏการณ์บนท้องฟ้า

เช่น การดูสีของท้องฟ้า สีของพระจันทร์ทรงกลด และตำแหน่งของกลุ่มดาวสำคัญ (ที่ใช้บอกระยะเวลาตกล้า ทำนาได้อย่างแม่นยำ) อีกด้วย




มีเกร็ดเล็กๆ ที่น่าสนใจไม่น้อยว่า ในสมัยโบราณนั้น สงครามระหว่างชาวเมเดส (Medes) และชาวลิเดีย (Lydian)

ซึ่งห้ำหั่นกันมานานถึง 6 ปีได้ยุติลงเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ในปี 585 ก่อนคริสต์ศักราช 

เนื่องจากทั้งสองฝ่ายต่างเกรงว่า พระเจ้าจะลงโทษ หากไม่เลิกรบราฆ่าฟันกัน

(ชาวเมเดสเป็นคนโบราณที่อาศัยอยู่ในแถบดินแดนอิหร่านในปัจจุบัน

ส่วนชาวลิเดียอาศัยอยู่ในแถบตะวันตกของอะนาโตเลีย หรือประเทศตุรกีในปัจจุบัน)




นี่เป็นเพียงตัวอย่างคติความเชื่อเกี่ยวกับการเกิดคราสในสังคม-วัฒนธรรมต่างๆ

จะเห็นได้ว่ารายละเอียดของความเชื่อมักจะผูกพันกับสิ่งที่คนในสังคม-วัฒนธรรมนั้นๆ คุ้นเคย

เช่น หมาป่าในตำนานของชาวไวกิ้ง มังกรในตำนานของจีน และราหูในตำนานของฮินดู เป็นอาทิ

 

ขุมทรัพย์ทางปัญญา



สนใจข้อมูลเพิ่มเติม หรือ ต้องการแสดงความคิดเห็น สามารถไปที่ : http://gotoknow.org/blog/civilization/278371   

 
(ข้อความปิดท้ายสำหรับตีพิมพ์ใน นสพ. ASTV ผู้จัดการรายวัน)


 

คำสำคัญ (Tags): #ตำนาน#สุริยคราส
หมายเลขบันทึก: 278371เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2009 14:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:06 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

สุดยอดเลยอาจารย์ครับ เป็นการรวบรวมความารู้ด้านนี้ไว้มากทีเดียว จะเอาไปฝากเด็กๆในชุมชนครับ   ขอบคุณครับ

ดีมากเลยค่ะ หนูได้ความรู้เยอะและได้ความรู้เพิ่มเรื่องตำนานที่น่าอัศจรรย์อย่างนี้ หนุจะเอาไปบอกเพื่อนๆ และน้องในโรงเรียนนะคะ ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ พี่บางทราย

         ถ้าในชุมชนมีตำนานของตนเองก็ยิ่งดีนะครับ เด็กๆ จะได้เห็นมุมมองที่หลากหลาย

         อยากรู้เหมือนกับครับว่า คนไทยในภาคต่างๆ เข้าใจเรื่องนี้ว่าอย่างไร ผมทราบแต่เรื่อง กบกินเดือน กับ กบกินตาเว็น (ตะวัน) ครับ

สวัสดีครับ น้อง 'เด็กชอบตำนานไทย'

       เรื่องตำนานต่างๆ นี่จะสนุกขึ้นถ้าหาก...

             - มีการตีความ เช่น ในเชิงจิตวิตวิทยา เชิงสังคม

             - มีตำนานของวัฒนธรรมอื่นๆ ที่คล้ายคลึงกันให้เปรียบเทียย เรียกว่า เทพปกรณัมเชิงเปรียบเทียบ (comparative mythology)

       แต่แม้จะไม่มีการตีความ หรือตำนานอื่นๆ ให้เทียบเคียง เรื่องเล่าเหล่านี้ก็สนุกโดยตัวมันเองอยู่แล้ว

       ขอให้สนุกกับการเรียนรู้ครับ ^__^

ชาวโพโม (Pomo) ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองอเมริกันที่อาศัยอยู่ในแถบมลรัฐแคลิฟอร์เนียตอนเหนือ ก็มีตำนานเกี่ยวกับหมีซึ่งเดินทางไปในท้างช้างเผือก

เมื่อหมีพบกับดวงอาทิตย์ ต่างฝ่ายต่างก็โต้เถียงกันว่าใครควรจะหลีกทางให้

เมื่อเถียงไม่ได้ผลก็ต้องต่อสู้กันจนเกิดเป็นสุริยคราส

แต่ในที่สุดทั้งสองฝ่ายก็แยกจากกันไปทางใครทางมัน (จนกว่าจะพบกันอีก)

ส่วนจันทรคราสก็เกิดขึ้นในทำนองเดียวกัน คือ หมีไปพบกับดวงจันทร์บนทางช้างเผือก โต้เถียงและต่อสู้กัน

------------ชอบชาวโพโมนะคะ เถียงกัน สู้กัน แล้วเดี๋ยวก็แยกย้ายกันไป (จนกว่าจะพบกันอีก)เรียบๆ ง่ายๆ สบายๆ

สวัสดีค่ะ

มาขอความรู้ค่ะ

สวัสดีครับ คุณธนิตา

        คุณหมีของชาวโพโมนี่นักเลงโตน่าดูเลยนะครับ ประจันหน้าดะทั้งดวงตะวันและดวงจันทรา ;-)

สวัสดีครับ คุณณัฐรดา

         ด้วยความยินดีครับ

มาหากับแกล้มสมองเพื่อเติมแต่งส่วนที่พร่องจากบันทึกอาจารย์ขอรับ..

ความเชื่อนี้จะจริงเท็จเพียงไหนก็ตามแต่ก็ยังทรงพลังทุกยุคสมัยนะขอรับอาจารย์

ขอบคุณครับขอความรู้อีกนะครับอาจารย์

กราบนมัสการพระคุณเจ้าครับ

         จริงด้วยครับ ความเชื่อของคนเรานี่ทรงพลังจริงๆ ถึงขนาดย้ายภูเขา หรือเปลี่ยนทิศทางของอารยธรรมได้ทีเดียวครับ

คุณคนไม่แสดงตนครับ

        ด้วยความยินดีครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท