ประเภทของบทความเพื่อการประชาสัมพันธ์


ประเภทของบทความเพื่อการประชาสัมพันธ์

 บทความโดยทั่วไปแบ่งได้เป็น 11 ประเภท ถ้าแบ่งตามลักษณะเนื้อหา (สิริวรรณ นันทจันทูล, 2543, หน้า 124 - 128) ดังนี้

 1. บทความแสดงความคิดเห็นทั่ว ๆ ไป

  บทความแสดงความคิดเห็นทั่ว ๆ ไป เป็นบทความที่ผู้เขียนหยิบยกเอาปัญหาในสังคมขึ้นมาเขียน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาของส่วนรวม เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ  สังคม  การเมือง  การปกครอง การศึกษา การคมนาคม การโจรกรรม ฯลฯ หรือปัญหาส่วนบุคคล เช่น การป้องกัน อาชญากรรม การรักษาความปลอดภัยให้ตนเอง การประกันชีวิต เป็นต้น ขึ้นมาเขียน

  บางครั้งผู้เขียนอาจจะเขียนโต้ตอบบทความที่ผู้อื่นเขียนขึ้นเพื่อแสดงความคิดเห็นในแนวหนึ่งแนวใด เนื่องจากปัญหาที่มีข้อขัดแย้งมักจะมีข้อคิดเห็นแตกต่างกันไปเป็นสองแนว ระหว่างความคิดในแนวยอมรับ และโต้แย้ง  ผู้เขียนอาจจะเลือกแสดงความคิดเห็นร่วมในแนวใดแนวหนึ่งก็ได้ หรือแสดงความคิดเห็นของคนทั่วไปในทุก ๆ ด้านก็ได้ เพื่อปล่อยให้ผู้อ่านพิจารณาตัดสินเอาเอง

  วิธีเขียนบทความแสดงความคิดเห็นทั่ว ๆ ไปนี้ ผู้เขียนต้องเริ่มต้นด้วยการแยกแยะปัญหาให้กระจ่างชัดเสียก่อนว่าปัญหาคืออะไร วิธีแก้ปัญหามีอย่างไร ผู้เขียนเห็นชอบด้วยวิธีไหน เหตุที่ชอบ และไม่ชอบ และควรย้ำความคิดเห็นของตนให้เห็นอย่างเด่นชัดอีกครั้งในตอนท้ายของบทความ   

2.  บทความสัมภาษณ์

      บทความสัมภาษณ์  เป็นบทความที่เขียนขึ้นจากการสัมภาษณ์บุคคลเกี่ยวกับความคิดเห็นต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือหลายเรื่อง หรือเกี่ยวกับชีวิตของบุคคลนั้น หรือจากการสัมภาษณ์บุคคลหลายคนในหัวข้อเดียวกัน

  ผู้เขียนบทความสัมภาษณ์ต้องรู้จักเลือกบุคคลที่จะสัมภาษณ์  รวมทั้งมีเทคนิควิธีการเขียนบทความสัมภาษณ์ ที่ช่วยให้ผู้รับสารสนใจที่จะติดตามเรื่องจนจบ ผู้เขียนไม่ควรเขียนเฉพาะเจาะจงแต่ตรงถ้อยคำที่เป็นคำถามและคำตอบเท่านั้น แต่ควรสอดแทรกบรรยากาศในขณะสัมภาษณ์ลงไปในบทความ รวมทั้งมีการคัดเลือกนำเสนอเฉพาะคำถามคำตอบที่น่าสนใจ โดยเลือกข้อความที่น่าประทับใจ ใช้เป็นโปรยของบทความ และใช้กลวิธีต่าง ๆ ในการเขียน

3.  บทความวิเคราะห์

      บทความวิเคราะห์เป็นบทความแสดงความคิดเห็นอย่างหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนจะพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เผยแพร่มาแล้วอย่างละเอียด โดยแยกแยะให้เห็นส่วนต่าง ๆ ของเรื่องนั้น ผู้เขียนเสนอความคิดและวิเคราะห์เหตุการณ์เรื่องราวนั้นอย่างละเอียด แสดงข้อเท็จจริง เหตุผล เพื่อให้ผู้อ่านได้ความรู้ ความคิดเห็นเพิ่มเติม เกิดความคิดที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น บทความวิเคราะห์ข่าว และบทความวิเคราะห์ประเด็นปัญหา เป็นต้น

4. บทความวิจารณ์ 

            บทความประเภทวิจารณ์ ผู้เขียนจะต้องพิจารณาข้อเท็จจริง ลักษณะและคุณสมบัติต่าง ๆ ของเรื่องที่จะวิจารณ์อย่างถี่ถ้วน โดยอาศัยหลักวิชา เหตุผลหรือข้อเท็จจริง ตัดสินว่าดีหรือไม่ดี ควรหรือไม่ควรอย่างไร บทความประเภทวิจารณ์นี้ แบ่งย่อยได้อีกหลายประเภท เช่น

  4.1 บทความวิจารณ์หนังสือ ผู้เขียนจะต้องมีความรู้กว้างขวางในวิชาการหลายแขนง เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาคุณค่าของหนังสือ ผู้เขียนจะวิจารณ์โดยใช้ความรู้สึกส่วนตัวไม่ได้ ต้องอาศัยหลักวิชา หยิบยกประเด็นต่าง ๆ ของหนังสือมากล่าวว่าดีหรือไม่ดี เหมาะสมหรือไม่อย่างไร  เช่น  การวิจารณ์นวนิยายเรื่องหนึ่ง ประเด็นที่จะต้องพิจารณา คือ การใช้ภาษา โครงเรื่อง การจัดฉาก ลักษณะตัวละคร การวาดภาพตัวละคร ความสมจริงของการดำเนินเรื่อง การคลี่คลายเรื่อง ผู้วิจารณ์ต้องกล่าวทั้งแง่ดีและแง่ไม่ดี ท้ายสุดผู้วิจารณ์ต้องสรุปข้อคิดเห็นของตนเองว่าหนังสือเรื่องนั้น มีคุณค่าควรแก่การอ่านหรือไม่ เพียงใด

4.2 บทความวิจารณ์ข่าว ในการเขียนบทความวิจารณ์ข่าว ผู้เขียนจะต้องศึกษาที่มาของข่าว ตลอดจนผลอันเกิดขึ้นเนื่องจากข่าวนั้น แล้วนำมาเขียนวิจารณ์แสดงข้อคิดเห็นของตนว่าควรหรือไม่อย่างไรตามเนื้อหาของข่าว รวมทั้งแสดงข้อคิดเห็นเพิ่มเติมเป็นเชิงเสนอแนะด้วย

4.3 บทความวิจารณ์การเมือง ผู้เขียนบทความวิจารณ์การเมือง จะต้องเป็นผู้ติดตามข่าวคราวให้ทันเหตุการณ์ มีความรอบรู้ทั้งการเมืองภายในและภายนอกประเทศ การเมืองในอดีตและปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยทำนายเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้

4.4 บทบรรณนิทัศน์ ซึ่งแสดงความรู้และความคิดเห็นเกี่ยวกับหนังสือที่พิมพ์ออกใหม่ เพื่อแนะนำหนังสือ

4.5 บทวิจารณ์วรรณกรรม แสดงความคิดเห็นเชิงวิจารณ์และประเมินค่าโดยใช้หลักวิชาและเหตุผล เพื่อให้ผู้อ่านได้รู้จักวรรณกรรมเรื่องนั้น ๆ อย่างลึกซึ้ง

4.6 บทวิจารณ์ศิลปะแขนงอื่น ๆ ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับบทวิจารณ์วรรณกรรมแต่นำผลงานที่เป็นศิลปะแขนงอื่น ๆ เช่น ภาพยนตร์ ละคร ภาพเขียน ดนตรี มาวิจารณ์ 

5. บทความท่องเที่ยว

     บทความท่องเที่ยวจะมีเนื้อหาแนวบรรยาย เล่าเรื่องเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่มีทัศนียภาพสวยงามหรือมีความสำคัญในด้านต่าง ๆ เพื่อแนะนำให้ผู้อ่านรู้จักสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ชักชวนให้สนใจไปพบเห็นสถานที่นั้น ๆ ด้วยตนเอง

     วิธีเขียนบทความท่องเที่ยวให้ดี ผู้เขียนควรจะมีประสบการณ์ตรงด้วยตนเองมาก่อน กล่าวคือ ได้เคยเดินทางไปจนถึงสถานที่นั้น ๆ ได้สังเกต จดจำสิ่งต่าง ๆ มาเป็นอย่างดี แล้วถ่ายทอดประสบการณ์นั้น ๆ ออกมาเป็นตัวหนังสือ นอกจากจะบอกข้อเท็จจริงต่าง ๆ แล้ว ข้อสังเกต คำแนะนำ เกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ คำเตือนใจหรือข้อระวังในการปฏิบัติตนระหว่างเดินทางที่ผู้เขียนเคยได้ประสบหรือผิดพลาด จะช่วยให้เรื่องน่าอ่านยิ่งขึ้น

6. บทความกึ่งชีวประวัติ

     บทความกึ่งชีวประวัติมีลักษณะคล้ายกับบทความสัมภาษณ์ แต่แตกต่างกันในแง่ที่บทความสัมภาษณ์ต้องการแสดงข้อคิดเห็นของบุคคลใดบุคคลหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ส่วนบทความกึ่งชีวประวัตินั้นต้องการแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับตัวบุคคลที่ให้สัมภาษณ์ แต่ไม่ได้เน้นที่อัตชีวประวัติ กลับไปเน้นที่ความสามารถและคุณสมบัติพิเศษที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่กว่าบุคคลทั่วไป ว่าเขามีวิธีการในการดำรงชีวิต ตลอดจนการปฏิบัติตนอย่างไร เรื่องชีวประวัติเป็นสิ่งสำคัญรองลงมา

 ข้อมูลที่เก็บมาเขียนนั้นอาจจะได้จากการสัมภาษณ์บุคคลนั้นเอง หรืออาจได้มาจากการสอบถามบุคคลแวดล้อม ซึ่งมีทั้งญาติมิตร และศัตรู ตลอดจนเอกสารและผลงานต่าง ๆ ที่เขาเคยสร้างสมไว้

  การเขียนบทความกึ่งชีวประวัติจะต้องไม่เขียนถึงเรื่องราวส่วนตัวมากเกินไป เพราะจะกลายเป็นการเขียนชีวประวัติของบุคคลนั้นไป บทความกึ่งชีวประวัติเป็นการเขียนเพียงบางส่วนของชีวิตบุคคล โดยเฉพาะคุณสมบัติ หรือผลงานเด่นที่ทำให้บุคคลนั้นมีชื่อเสียงหรือประสบความสำเร็จในชีวิต เป็นการเขียนถึงเพื่อชื่นชม ยกย่องบุคคลเจ้าของประวัติ โดยเน้นและชี้ให้ผู้รับสารได้แง่คิด เพื่อเป็นตัวอย่างและแนวทางในการดำเนินชีวิตให้ประสบความสำเร็จ

7.  บทความครบรอบปี

      บทความครบรอบปีจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับเหตุการณ์ พิธีการ เทศกาล หรือวันสำคัญที่ประชาชนสนใจ  เมื่อโอกาสหรือเรื่องราวเหล่านั้นเวียนมาบรรจบครบรอบ  เช่น เดือนมกราคมมีเรื่องราวเกี่ยวกับวันขึ้นปีใหม่ วันครู วันเด็ก เดือนกุมภาพันธ์มีวันมาฆบูชา เดือนเมษายนมีวันจักรี วันอนามัยโลก วันสงกรานต์  เดือนพฤษภาคมมีวันพืชมงคล วันฉัตรมงคล  เดือนกรกฎาคมมีวัน

เข้าพรรษา วันอาสาฬหบูชา เดือนสิงหาคมมีวันเฉลิมพระชนมพรรษา  เดือนกันยายนมีเทศกาลสารทไทย เดือนตุลาคมมีการทอดกฐิน วันปิยมหาราช  เดือนพฤศจิกายนมีเทศกาลลอยกระทง วันสาธารณสุข และเดือนธันวาคมมีวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันรัฐธรรมนูญ วันคริสต์มาส วันสิ้นปี เป็นต้น

8.  บทความประเภทคำแนะนำ

     บทความประเภทคำแนะนำเป็นบทความที่ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

หรืออธิบายวิธีการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ในการเขียนควรเลือกเรื่องที่ดึงดูดความสนใจ และผู้รับสารสามารถทำความเข้าใจ ตลอดจนปฏิบัติตามได้ไม่ยาก หัวข้อที่จะเลือกมาเขียนมีจำนวนมาก เช่น วิธีประดิษฐ์ของใช้ต่าง ๆ ที่ทำจากวัสดุหาง่าย ราคาย่อมเยา หรือทำจากของที่ไม่ใช้แล้ว วิธีทำพรมเช็ดเท้าจากเศษผ้า ทำดอกไม้ปักแจกันจากรังไหม วิธีตัดเย็บเสื้อผ้า สำหรับคนในครอบครัวเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย วิธีปรุงอาหาร วิธีรักษาทรวดทรง วิธีเลี้ยงเด็ก วิธีเย็บปักถักร้อย มารยาทการเข้าสังคม การแต่งกายให้เหมาะแก่กาลเทศะและบุคลิกภาพ เคล็ดลับการครองชีวิตคู่ และอื่น ๆ

วิธีเขียนบทความประเภทนี้ควรจะยึดหลักในการให้คำแนะนำว่า เสียค่าใช้จ่ายยิ่งน้อยยิ่งดี ไม่ต้องใช้ฝีมือสูง เป็นของที่คนส่วนมากทำได้ และทำได้สะดวก ไม่เสียเวลาในการทำสิ่งเหล่านั้นมากจนเกินไป ควรบอกเคล็ดลับในการทำให้ผู้อ่านปฏิบัติตามได้ง่าย และทำได้ผลจริง ๆ นอกจากนี้ควรระวังลีลาการเขียน ถ้าเขียนแบบจริงจัง มีแต่เนื้อหาอันเป็นหลักวิชาความรู้ ก็จะกลายเป็นตำราในแนววิชานั้น ๆ บทความประเภทคำแนะนำนี้  ผู้เขียนจะอธิบายให้ความรู้หรือคำแนะนำในเรื่องทั่ว ๆ ไปที่ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน

9.  บทความเชิงธรรมะ

      บทความเชิงธรรมะจะอธิบายข้อธรรมะให้ผู้อ่านทั่ว ๆ ไปเข้าใจได้ง่าย หรือให้คติ ให้แนวทางการดำเนินชีวิตตามแนวพุทธศาสนา เสนอหนทางแก้ปัญหาตามแนวพุทธปรัชญา ปัจจุบันบทความลักษณะนี้มีมากขึ้น เพื่อให้ผู้อ่านมีแนวทางการดำเนินชีวิตในสังคมที่วิกฤตได้อย่างปกติสุขมากขึ้น

10. บทความวิชาการ

   บทความวิชาการเป็นบทความที่ผู้เขียนประสงค์จะให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งทางวิชาการ เช่น วิทยาศาสตร์ ปรัชญา จิตวิทยา รัฐศาสตร์ เป็นต้น บทความวิชาการมีเนื้อหาแสดงข้อเท็จจริง ข้อความรู้ทางวิชาการเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งโดยเฉพาะ ผู้เขียนอาจจะเสนอเฉพาะเนื้อหาสาระทางวิชาการหรือเสนอทั้งเนื้อหาสาระข้อเท็จจริง และแสดงความคิดเห็นในเชิงวิเคราะห์ วิจารณ์ หรืออาจเสนอผลการวิจัยก็ได้

11. บทความประเภทให้แง่คิด

บทความประเภทนี้จะโน้มน้าวใจหรือกระตุ้นให้ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้เขียนอาจเขียนอย่างตรงไปตรงมา หรือเขียนในเชิงอุปมาอุปไมยก็ได้ การเขียนเชิงอุปมาอุปไมยนั้นจะเขียนถึงสิ่งอื่นผูกเป็นเรื่องราวต่อเนื่องกันโดยตลอด ข้อความทั้งเรื่องจะแทนความคิดที่ต้องการให้ผู้อื่นทราบ เช่น กล่าวถึงสัตว์ฝูงหนึ่ง แต่เดิมเคยอยู่เป็นสุขรักใคร่สามัคคีกัน ต่อมาเกิดทะเลาะวิวาทกันแยกตัวไปอยู่ที่อื่นเป็นจำนวนมาก ไม่ช้านักสัตว์ฝูงนั้นก็ถูกสัตว์ฝูงอื่นรักแก ล้มตายหมดสิ้น เรื่องทั้งหมดนี้เป็นการแทนความคิดของผู้เขียนที่จะใช้ชี้ให้เห็นโทษของการแตกความสามัคคี เรื่องที่นำมาเขียนอาจเป็นการให้แง่คิดทั่วไป   เช่น การประหยัด การทำตนเป็นพลเมืองดี ความรักชาติ เป็นต้น

จากประเภทของบทความที่กล่าวไปทั้งหมดนั้น อาจสรุปเป็นบทความเพื่อการประชาสัมพันธ์เพียง 2 ประเภทกว้าง ๆ เท่านั้น คือ บทความประชาสัมพันธ์เชิงสาระ (formal article) และบทความประชาสัมพันธ์เชิงปกิณกะ (informal article)

บทความประชาสัมพันธ์เชิงสาระ จะเน้นหนักไปทางวิชาการ ผู้เขียนต้องการอธิบายความรู้อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นสำคัญ ไม่คำนึงถึงการใช้สำนวนโวหาร หรือความเพลิดเพลินของผู้รับสาร เพราะถือว่าผู้รับสารต้องการใช้ปัญญาความคิดเพื่อให้ได้รับความรู้และความคิดเห็นจากผู้เขียน

  ในทางตรงกันข้าม บทความประชาสัมพันธ์เชิงปกิณกะ จะไม่เน้นหนักทางวิชาการ แต่จะถือว่าการให้ความรู้แก่ผู้รับสารเป็นความมุ่งหมายรอง เพราะผู้รับสารจากบทความเชิงปกิณกะจะต้องการรับข้อมูลข่าวสารไปพร้อม ๆ กับการได้รับความรู้สึกสนุกสนาน เพลิดเพลินจากการรับสารนั้น ๆ ด้วย

  อย่างไรก็ตาม บทความเพื่อการประชาสัมพันธ์ในปัจจุบันจะมีลักษณะผสมผสานกันทั้งเชิงสาระและปกิณกะ กล่าวคือ เพื่อให้ผู้รับสารได้รับความรู้ ข้อมูลข่าวสารและความสนุกสนานเพลิดเพลินไปพร้อมกัน

คำสำคัญ (Tags): #การเขียน
หมายเลขบันทึก: 276408เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2009 13:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 13:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

thank มากๆ คราบ ได้ความรู้เยอะเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท