ห้องสมุดอิเลคทรอนิกส์ต้านกระแส "กูเกิลครองเมือง"


ห้องสมุดอิเลคทรอนิกส์

หยาดพิรุณ นุตสถาปนา

จากสถิติค้นหาข้อมูลจากหน้าเวบกว่า 4 พันล้านหน้า ในเวลาเพียงเสี้ยววินาที "กูเกิล" จึงได้ชื่อว่าเป็นเครื่องมือสืบค้นข้อมูลอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ครองใจชาวไซเบอร์ทั่วโลก กระแสความนิยมกูเกิลนี้ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ขึ้นมาในหมู่นักเรียน นักศึกษา ชนิดที่เรียกว่า "คิดไม่ออก บอกกูเกิล"

ปรากฏการณ์ได้สร้างความอึดอัดใจให้กับบรรณารักษ์ห้องสมุดไม่ใช่น้อย ถึงขนาดประกาศกลางเวทีการสัมมนาห้องสมุด ว่า "กูเกิล" เป็นความท้าทายบทใหม่ที่ห้องสมุดในศตวรรษที่ 21 ต้อง "เผชิญ"

ปัจจุบันกูเกิลมีดัชนีหน้าเวบอยู่ในกำมือราว 4.28 พันล้านหน้า คลังรูปภาพอีกกว่า 880 ล้านภาพ ชอนไชค้นหาข้อมูลในรูปเอกสารดิจิทัลได้หลากสกุล และมีแฟนๆ มาใช้บริการมากถึง 200 ล้านครั้งต่อวัน แซงหน้าคู่แข่ง อย่าง ยาฮู และเอ็มเอสเอ็น ชนิดไม่เห็นฝุ่น แถมทำท่าจะเป็นภัย "คุกคาม" ห้องสมุดอีกต่างหาก

"น่ากังวลว่าต่อไปอาจไม่มีใครใช้สารสนเทศจากห้องสมุดอีก" ประดิษฐา ศิริพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการสารสนเทศทางเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หนึ่งในสาวกกูเกิลให้ความเห็น "จากการสอบถามวิทยากรที่บรรยายในการสัมมนาครั้งนี้ว่ายังใช้ข้อมูลจากห้องสมุดกันบ้างหรือเปล่า หลายคนตอบว่าเลิกเข้าห้องสมุดมานานแล้ว เพราะใช้กูเกิลก็มีทุกอย่างที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจากทั่วโลกและทันสมัยกว่าหนังสือของห้องสมุดเยอะ"

แม้แต่ อุไรวรรณ วิพุทธิกุล รองผู้อำนวยการสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยมหิดล ยังยอมรับบอกว่า "กูเกิล" เป็นผู้ช่วยสำคัญเมื่อต้องค้นหาข้อมูลขณะอยู่บ้าน "ไม่ต้องเสียเวลาเข้าห้องสมุด เราก็ได้ข้อมูลที่ต้องการ"

หรือกูเกิลจะกลายเป็นมหาอำนาจด้านการสืบค้นข้อมูลไปเสียแล้ว แม้แต่คนในแวดวงบรรณารักษ์ยังยอม "ซูฮก" แถมมีสโลแกนพ่วงท้ายให้ด้วยว่า "คิดไม่ออกบอกกูเกิล..!!"

รศ.ดร.วันชัย ริ้วไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา (ยูนิเน็ต) สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) อธิบายถึงสาเหตุที่เครื่องมือสืบค้นข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต อย่าง กูเกิล ได้รับการต้อนรับอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง เป็นเพราะค้นหาหัวข้อได้ "ตรงใจ" ผู้ใช้

"เวลาสืบค้นข้อมูลในห้องสมุดแต่ละที ต้องใช้ชื่อหนังสือ หรือผู้แต่งเป็นหลัก แต่เสิร์ชเอ็นจิ้นสามารถค้นหาประเด็นที่ต้องการได้ทันที เช่น ป้อนคำว่า 'ไข้หวัดนก' ก็จะรู้ได้เลยว่าคำๆ นี้ปรากฏอยู่ในวารสารที่ไหนบ้าง ทำให้เราค้นหาองค์ความรู้ต่างๆ ได้เร็วขึ้น แต่หากจะนำเสิร์ชเอ็นจิ้นมาประยุกต์ใช้ในห้องสมุดอาจยังไม่ดีพอ เพราะเอกสารทั้งหมดไม่ได้อยู่ในรูปอิเล็กทรอนิกส์ ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเป็นการเอาหนังสือมาสแกน ก็จะเป็นแค่รูปหน้าหนังสือที่ไม่สามารถค้นหาคำได้"

แต่ใช่ว่าเสิร์ชเอ็นจิ้นจะเป็นพระเจ้า เพราะยังมีบางจุดที่ผู้ใช้แอบมาบ่นให้บรรณารักษ์ได้ยินอยู่บ่อยครั้ง

"ถามว่าข้อมูลบนเสิร์ชเอ็นจิ้นเชื่อถือได้แค่ไหน ตอบยากนะ เพราะบางคนอาจไม่สนใจแค่ขอให้ได้ในสิ่งที่ต้องการเป็นพอ แต่ในแง่ของห้องสมุด การจะจัดหาอะไรเข้ามาสักชิ้น จะต้องผ่านการวิเคราะห์ว่ามันมีคุณค่าไหม ไม่ใช่เลือกสุ่มๆ ของที่มีในห้องสมุดต้องผ่านการคัดสรรก่อนจะให้บริการ" อุไรวรรณ เผย

ขณะที่ประดิษฐาเล่าให้ฟังว่าห้องสมุดมหาวิทยาลัยบีลเฟลด์ ในเยอรมนี ก็เป็นอีกแห่งที่โดนกูเกิลลอบโจมตี ทีมงานจึงแก้เกมด้วยการพัฒนา "เสิร์ชเอ็นจิ้น" เวอร์ชั่นเฉพาะตัวเพื่อต่อกรกับกูเกิลโดยตรง

"คลังข้อมูลทางวิชาการคือจุดเด่นที่ห้องสมุดมี ขณะที่กูเกิลกำลังเจอปัญหาข้อมูลล้นตัว บางทีเรื่องเดียวกันก็แสดงผลออกมาเป็นสิบๆ ลิงค์ น่ารำคาญเหมือนกัน หรือบางทีข้อมูลที่เคยค้นๆ เจอก็หายไป กลับมาค้นครั้งหลังก็ไม่เจอแล้ว"

อุไรวรรณ บอกว่าตอนนี้พฤติกรรมของผู้ใช้เปลี่ยนไปแล้ว ถ้ามัวชักช้าก็จะไม่มีใครมาใช้บริการห้องสมุด ทุกสิ่งที่ลงทุนไปก็ย่อมจะ "สูญเปล่า"

"มันเป็นความท้าทายเหมือนกันนะที่เราต้องทำอะไรใหม่ๆ ให้ทันเวลา แม้ตอนนี้จะเริ่มทำกันบ้างแล้ว แต่ยังไม่พอต้องตื่นตัวและทำให้เร็วขึ้นกว่านี้ มัวแต่นั่งรอไม่ได้แล้ว ต้องพยายามทำให้ผู้ใช้เข้าถึงข้อมูลให้ง่ายที่สุด ไม่เช่นนั้นห้องสมุดมีสิทธิถูกลืมได้เหมือนกัน"

ห้องสมุด "เปลี่ยนไป"

วิกฤติที่เกิดขึ้นทำให้ห้องสมุดของสถาบันอุดมศึกษาจึงเริ่มปรับตัวและมีท่าที "เปลี่ยนไป" จากห้องสมุดเก๋ากึ๊กที่มีเพียงตู้วางหนังสือ ตู้บัตรรายการ โต๊ะ-เก้าอี้ขนาดเขื่อง พร้อมด้วยบรรณารักษ์ที่แสนจะใจดีเหมือนเสือ (ยิ้มยาก) กลายมาเป็นห้องสมุดสุดทันสมัย พร้อมอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศหลากชนิด

ไม่ว่าจะเป็น "ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ" ที่นำเอาคอมพิวเตอร์มาช่วยในการวิเคราะห์เลขหมู่หนังสือ บริการสืบค้น (WebOPAC) และบริการยืม-คืนหนังสือด้วยตัวเอง หรือจะเป็นบริการสืบค้นฐานข้อมูลออนไลน์ เช่น อีบุ๊ค อี-เจอร์นัล (วารสารอิเล็กทรอนิกส์) ของห้องสมุดเองและศูนย์ข้อมูลต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ

ยังไม่นับรวมระบบบริการยืม-คืนระหว่างห้องสมุดโดยใช้อีเมลติดต่อระหว่างกันของบรรณารักษ์ และนำส่งหนังสือผ่านทางไปรษณีย์ หรืออาจใช้วิธีสแกนเอกสารและส่งไฟล์แนบมาพร้อมอีเมล รวมถึงการใช้เทคโนโลยีอาร์เอฟไอดี และระบบประตูอัตโนมัติตรวจสอบการเข้าออกห้องสมุด เป็นต้น

ล่าสุดประกาศวาง "เดิมพัน" ครั้งสำคัญ ขอเป็น "ห้องสมุดมีชีวิต" หรือ "ห้องสมุดเสมือน" (virtual library) ที่พร้อมให้บริการผู้ใช้ทุกที่ทุกเวลา

"สิ่งที่จะทำให้เกิดห้องสมุดเสมือนได้อย่างเต็มรูปแบบ หนีไม่พ้นการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วย ทั้งกริดคอมพิวติ้ง เครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และเทคโนโลยีไร้สาย รวมถึงการให้บริการผ่านหน้าเวบในหลากรูปแบบ นั่นทำให้ห้องสมุดอยู่ได้ทุกแห่งหน เป็นห้องสมุดเสมือนที่ผู้ใช้สามารถเข้าใช้บริการได้ทุกเมื่อที่ต้องการ" ประดิษฐา กล่าว

และอินเทอร์เน็ตไร้สาย หรือไวไฟ กลายเป็น "หมัดเด็ด" ที่สถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งเริ่มนำมาใช้ ต่อยอดบริการเรียกดูข้อมูลห้องสมุดโดยตรงจากที่บ้าน เท่ากับว่าเอกสารฉบับเต็มของวารสารวิชาการต่างประเทศในทุกสาขา บริการวิทยานิพนธ์เรื่องเต็ม และรายงานวิจัย สามารถแสดงผลบนหน้าจอคอมพิวเตอร์เพียงปลายนิ้วคลิก

แต่ด้วยข้อจำกัดที่เปิดบริการเฉพาะสมาชิก ห้องสมุดที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน จึงอาจไม่นับว่าเป็น "ห้องสมุดเสมือน" แม้แต่รองผู้อำนวยการสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยมหิดลเองก็ยังไม่แน่ใจว่ารูปแบบของห้องสมุดที่เป็นอยู่ ใช่ห้องสมุดเสมือนจริงๆ หรือไม่..?

"ทุกอย่างในห้องสมุดเสมือนจะต้องอยู่ในรูปของอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด สามารถเข้าถึงผ่านทางออนไลน์โดยไม่ต้องมาถึงห้องสมุด แต่ในความเป็นจริงเรายังมีเอกสารที่เป็นกระดาษอยู่อีกเยอะ แม้แต่ในต่างประเทศเองก็ยังไม่รู้ว่าในอีกห้าปีข้างหน้าจะเป็นเวอร์ชวลไลบรารีได้หรือเปล่า" อุไรวรรณ กล่าว แต่ยืนยันว่าทุกคนกำลังมุ่งไปในทิศทางนั้น

ก้าวสู่คลังข้อมูลดิจิทัลแห่งชาติ

จะเป็นไปได้หรือไม่...คงต้องวัดผลสำเร็จของ "โครงการพัฒนาเครือข่ายระบบห้องสมุดในประเทศไทย" (Thai Library Integrated System : ThaiLIS) หนึ่งแนวคิดที่สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) ขอแจ้ง "เกิด"

รศ.ดร.วันชัย ผู้รับผิดชอบโครงการโดยตรง บอกว่า 'ไทยลิส' เป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนกลาง (Thai Library Network - Metropolitan : Thailinet) เครือข่ายห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค (Provincial University Library Network : Pulinet) และสำนักงานปลัดทบวงมหาวิทยาลัยเข้าด้วยกันบนครือข่ายยูนิเน็ต และมีแผนขยายไปยังเครือข่ายห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาต่างสังกัด และห้องสมุดประเภทอื่นๆ ด้วยในอนาคต ภายใต้คอนเซปต์ 'ค้นครั้งเดียวได้ทุกแหล่ง'

"ปัจจุบันเชื่อมโยงเครือข่ายเพียง 24 แห่ง โดยเน้นไปที่สถาบันอุดมศึกษาของรัฐก่อน การรวมตัวในลักษณะนี้เริ่มตั้งแต่ปี 2540 เพื่อประโยชน์ในการใช้ทรัพยากรห้องสมุดร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่ง สกอ.จะเป็นผู้จัดซื้อฐานข้อมูลจากต่างประเทศที่ส่วนใหญ่ต้องใช้ร่วมกัน เพื่อลดต้นทุนไม่ต้องต่างคนต่างซื้อ"

"อาวุธลับ" ของโครงการประกอบด้วย "โครงการสหบรรณานุกรม" (Union Catalog) ที่ผู้ใช้สามารถเข้าถึงบรรณานุกรมทรัพยากรสารนิเทศทุกประเภทที่จัดเก็บไว้ในห้องสมุดสมาชิกทุกแห่งในรูปของห้องสมุดอัตโนมัติ

"โครงการสร้างฐานข้อมูลเพื่อการจัดเก็บเอกสารฉบับเต็มในรูปอิเล็กทรอนิกส์" (Digital Collection) มุ่งพัฒนาฐานข้อมูล จัดเก็บ และแสดงเอกสารฉบับเต็มพร้อมภาพ โดยเฉพาะข้อมูล วิทยานิพนธ์ งานวิจัยของห้องสมุดในประเทศ ตลอดจนให้บริการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างห้องสมุดของทุกมหาวิทยาลัย/สถาบัน

และท้ายสุด "โครงการฐานข้อมูลอ้างอิง" ที่สมาชิกสามารถสืบค้นบรรณานุกรม (Bibliographic) สาระสังเขปบทความ (Abstract) หรือเอกสารฉบับเต็ม (Fulltext) จากแหล่งข้อมูลต่างประเทศหลากหลายสาขาวิชา ได้แก่ ACM Digital Library ฐานข้อมูลสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในรูปรายการบรรณานุกรม สาระสังเขป และเอกสารฉบับเต็มของวารสาร และรายงานการประชุมทางวิชาการ ตั้งแต่ปี ค.ศ.1947 - ปัจจุบัน

ProQuest Digital Dissertations ฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทและปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยทั่วโลก ครอบคลุมทุกสาขาวิชา ให้รายการบรรณานุกรมตั้งแต่ปี ค.ศ.1861 ให้สาระสังเขปตั้งแต่ปี ค.ศ.1981 และให้ข้อมูล 24 หน้าแรกตั้งแต่ปี ค.ศ.1997 - ปัจจุบัน H.W.Wilson ฐานข้อมูลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศิลปศาสตร์ ชีววิทยาและเกษตรศาสตร์ บรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ ธุรกิจ กฎหมาย และวิทยาศาสตร์ทั่วไป

IEEE Xplore ฐานข้อมูลวิศวกรรมไฟฟ้าที่ให้ข้อมูลฉบับเต็มมากกว่า 1,200 รายการ ให้ข้อมูลตั้งแต่ ค.ศ.1950 - ปัจจุบัน LexisNexis ฐานข้อมูลข่าวและหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วิทยุ โทรทัศน์ ที่มีเนื้อหาครอบคลุมด้าน กฎหมาย ธุรกิจการเงิน ข้อมูลบริษัท วิจัยการตลาด การแพทย์ และ ScienceDirect ฐานข้อมูลวารสารสาขาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สุขภาพ สังคมศาสตร์ และ มนุษยศาสตร์ มีข้อมูลตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 - ปัจจุบัน ให้ข้อมูลบรรณานุกรม สืบค้นสาระสังเขปของบทความวารสารได้ 5,500 ชื่อ และวารสารอิเล็กทรอนิกส์ฉบับเต็ม 1,500 ชื่อ

"แทนที่จะต้องเข้าไปค้นทีละห้องสมุด โครงการนี้จะรวมศูนย์ข้อมูลของสถาบันอุดมศึกษาทั้งหมดให้เป็นหนึ่งเดียว ค้นหาครั้งเดียวรู้เลยว่าอยู่ที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยไหนบ้าง สามารถสั่งยืมได้ทันที ส่วนในเรื่องการพัฒนาไปสู่มาตรฐานของเสิร์ชเอ็นจิ้นนั้น คงต้องใช้เวลาสักระยะ เพราะการจะใช้งานได้เต็มรูปแบบนั้น ต้องแปลงกระดาษที่มีอยู่ในห้องสมุดทั้งหมดให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์เสียก่อน " ผอ.ยูนิเน็ต กล่าว และว่าโอกาสที่ประชาชนทั่วไป (ที่ไม่ใช่สมาชิก) จะเข้าถึงบริการในรูปแบบดังกล่าวมีความเป็นไปได้สูง เหมือนกับที่สนามกีฬาภายในมหาวิทยาลัยเปิดกว้างให้ประชาชนเข้าใช้ได้อย่างอิสระในขณะนี้

"ชุมชนต้องเข้ามามีส่วนร่วม เป็นการเปลี่ยนมุมมองห้องสมุดที่เปิดกว้างให้ประชาชนเข้าถึงได้ เชื่อว่าในที่สุดห้องสมุดมหาวิทยาลัยก็จะต้องกลายไปเป็นห้องสมุดของประชาชน ไม่ได้จำกัดเฉพาะบุคลากรของมหาวิทยาลัยอีกต่อไป เพียงแต่ยังบอกเวลาที่แน่นอนไม่ได้"

แม้ว่าจะต้องร้องเพลงรอไปก่อน แต่ใช่ว่าความหวังของ "ห้องสมุด" ที่จะเทียบชั้น "กูเกิล" จะหมดไป เพราะไม่แน่ เราอาจได้เห็น "ห้องสมุด" ในมุมที่คาดไม่ถึงก็เป็นได้

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 27411เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2006 11:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 12:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

รัฐบาลน่าจะสนับสนุนให้สถาบันการศึกษาทุกระดับร่วมกันสร้างห้องสมุดอิเลคทรอนิกส์  และร่วมกันสร้างเครือข่ายชุมชนความรู้ร่วมกัน

บล็อกนี้คงจะเป็นชุมชนโครงการวิจัยนะคะ

ขอบคุณที่เข้าร่วมชุมชน  เราคงจะได้ทำงานร่วมกันต่อไป

เมื่อคณะวิจัยมาเยี่ยม กทม.เรามีความประทับใจต่อโรงเรียนของอาจารย์ ดังนี้ค่ะ

โรงเรียนพระมารดานิจจานุเคราะห์  กลุ่มผู้บริหารมีความพร้อมที่จะรับนวัตกรรมในการปรับปรุงองค์กร  โรงเรียนเคยเข้าร่วมโครงการวิจัยและพัฒนาปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งโรงเรียนมาแล้ว  และได้รับผลสำเร็จในระดับมาก บุคลากรทุกคนในสถานศึกษารู้เรื่องเดียวกันในการพัฒนาองค์กร   บุคลากรส่วนใหญ่เข้าร่วมโครงการพัฒนาองค์กรโดยความสมัครใจ  โรงเรียนได้พัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่อง  มีงานวิจัยเป็นแม่บทในการพัฒนา   ระบบสนับสนุนการทำงานอยู่ในระดับดี  และมีการใช้ประสบการณ์เดิมเชื่อมกับประสบการณ์ใหม่ในการพัฒนา   

 

ยังมีสิ่งดีๆอีกหลายอย่างใช่ไหมคะ  นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันสิคะ

ผมว่าบางทีต่อไปในอนาคต ห้องสมุดอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของกูเกิ้ลก้ได้ คือ กูเกิ้ลสามารถดึงข้อมูลจากห้องสมุด ไปเป็นส่วนหนึ่งในการค้นหาจาก กูเกิ้ล ถึงตอนนั้น คงต้องมองกันอีกทีนะครับว่า การให้บริการของห้องสมุด มีวัตถุประสงค์หลักอะไรบ้าง และมีข้อมูลเฉพาะอะไรบ้าง ที่มีที่ห้องงสมุดแห่งนั้น เท่านั้น

อาจารย์คะ  ถ้าอาจารย์เป็นคุณวิศาสตร์ของทีมจัดการความรู้ในโครงการวิจัย  ช่วยกรุณาใส่เรื่องเล่าของอาจารย์ในโรงเรียนหน่อยสิคะ   ในการอบรมเชิงปฏิบัติการเราได้ยินเรื่องเล่าจากอาจารย์ภาษาอังกฤาที่ประทับใจ  เราได้เชิญให้ไปเล่าให้ที่เขตสุพรรณ ลพบุรีและอยุธยาฟังแล้วค่ะ  แต่อยากจะให้อาจารย์นำมาใส่ในบล็อกนี้ด้วยค่ะ

หนูเรียนอูย่ที่พระมารดา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท