สพท.พิษณุโลกเขต 1 กับภารกิจเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรทางการศึกษา ตอนที่ 1


ภารกิจเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กร

สพท.พิษณุโลกเขต 1 ได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาให้เข้าร่วมโครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรทางการศึกษาด้วยการจัดการความรู้ ในการเป็นเขตพื้นที่นำร่องในการดำเนินการวิจัย พร้อมกับโรงเรียนในสังกัด 4 แห่ง คือ โรงเรียนพุทธชินราชพิทยา  โรงเรียนจ่านกร้อง  โรงเรียนชุมชนที่ 11 วัดสุวรรณประดิษฐ์  และโรงเรียนเซนต์นิโครลัส (โรงเรียนเอกชน)

03.00 น. วันที่ 8 พ.ค.49 ผมและคณะ รวม 4 ชีวิต เดินทางจากจังหวัดพิษณุโลก เพื่อเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการทีมนักจัดการความรู้ด้าน IT และการสร้าง Blog เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามโครงการฯ ถึงสถานที่อบรม ณ ม.ราชภัฏสวนสุนันทา โดยสวัสดิภาพหลังจากเสี่ยงกับการนั่งรถตู้มานานกว่า 4 ชั่วโมง ทุกท่านที่ได้รับมอบหมายจากโรงเรียนต่างมีความมุ่งมั่น ตื่นเต้น ที่จะสัมผัสกับนวัตกรรมรูปแบบใหม่ที่ยังไม่เคยรู้มาก่อน ผมพอมีความรู้ในเรื่องนี้เล็กน้อยได้เล่าให้พรรคพวกฟังพอเป็นน้ำจิ้มเท่าที่ได้ศึกษาจาก gotoknow.org มาบ้าง

หลังจากทุกคนจัดการตัวเองให้เกิดความพร้อมทางกายซึ่งหมายถึงการใช้บริการห้องน้ำที่สะอาดมาก และดับความกระหายหิวที่เกิดจากการเดินทางมาตลอดคืนสูญเสียพลังงานไปมากกับการกระแทกกระทั้น กวัดแกว่งไปมาของรถยนต์ ตลอดระยะทางกว่าสี่ร้อยกิโลเมตร ที่ร้านอาหารภายใน ม.ราชภัฏสวนสุนันทา ผมจัดการคนเดียวไป 2 จาน กาแฟร้อน1 แก้ว ไม่นานพลังงานก็กลับคืนมา จิตใจชุ่มชื่นขึ้น ยังพอมีเวลาเหลือก่อนเข้ารายงานตัวผมและคณะจึงพากันเดินชมสถานที่ใน มอ.

ม.ราชภัฏสวนสุนันทาแห่งนี้ ผมเคยมาใช้บริการมาครั้งหนึ่งเมื่อ 3 ปีก่อน จำได้ว่ามาอบรมเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศ ใช้เวลาอบรมเกือบหนึ่งอาทิตย์ที่ตึกศูนย์คอมพิวเตอร์ ตอนนั้นเป็นโครงการทดลองนำร่องเขตพื้นที่การศึกษาซึ่งเป็นเป้าหมายหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษาที่จะมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารทางการศึกษาที่จัดอยู่ในระยะนั้น ที่เป็นบริหารเป็นระดับต่างๆ ตั้งแต่ระดับกระทรวง ระดับกรม ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ อย่างในระดับกรมก็แบ่งเป็นหลายกรม ได้แก่  สปช.(สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ) กรมสามัญศึกษา กรมอาชีวศึกษา เป็นต้น ระดับจังหวัดแบ่งเป็น สปจ.(สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัด) สศจ.(สามัญศึกษาจังหวัด) ศธจ.(ศึกษาธิการจังหวัด) ส่วนในระดับอำเภอแบ่งเป็น สปอ.(สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอ) ศธอ.(ศึกษาธิการอำเภอ) เมื่อมีการปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจังจึงมีการหยิบยกระบบการบริหารการศึกษามาพิจารณาด้วย โดยมีการทดลองรูปแบบที่พัฒนาโดยนักวิจัยของกระทรวงศึกษาธิการให้มีการวิจัยเชิงพัฒนา(R&D) รูปแบบโครงสร้างการบริหารในระดับต่างๆ อย่างในระดับจังหวัดให้มีการบริหารเป็นสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาโดยยุบรวมหน่วยงานการศึกษาต่างๆเข้าด้วยกัน กล่าวคือ ยุบ สปจ.,สศจ.,ศธจ.  ระดับอำเภอยุบหน่วยงาน สปอ.,ศธอ.ไปรวมอยู่ที่เดียวคือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา

ตอนนั้นที่พิษณุโลกมีการทดลองแบ่งเขตพื้นที่การศึกษาเป็น 5 เขต ใช้ชื่อว่า”สำนักงานเขตพื้นที่นำร่องปฏิรูปการศึกษาพิษณุโลกเขต 1-5”  เขต 1 มีพื้นที่รับผิดชอบ 1 อำเภอคือ เมืองพิษณุโลก เขต 2  อำเภอวังทอง เนินมะปราง เขต 3 อำเภอนครไทย ชาติตระการ เขต 4 อำเภอวัดโบสถ์ พรหมพิราม เขต 5  อำเภอบางระกำ บางกระทุ่ม ผมมีตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป 7ว ทำหน้าที่หัวหน้าบริหารงานทั่วไป สปอ.บางระกำ โชคดีหน่อยที่เขาเลือก อ.บางระกำเป็นที่ตั้งสำนักงานเขตพื้นที่ฯ ใช้ สปอ.บางระกำเป็นที่ตั้งสำนักงานเขตฯ มีการคัดเลือกบุคลากรจากหน่วยต่างๆที่ยุบมารวมกันทำหน้าที่ในกลุ่มงานต่างๆที่กำหนดขึ้น 4 กลุ่ม ได้แก่กลุ่มงานบริหารทั่วไป กลุ่มงานบุคลากร กลุ่มงานนโยบายและแผน และกลุ่มนิเทศติดตามและประเมินผล(หน่วยศึกษานิเทศก์เดิม) ผมสมัครเข้ารับการคัดเลือกจากคณะกรรมการฯในตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มงานนโยบายและแผน มีพรรคพวกมาสมัครกันหลายคน จำได้ว่าใน สปจ.พิษณุโลกก็มีมา เช่น พี่เชน คุณนั้ง ฯลฯ และผมได้รับการคัดเลือกเป็นหัวหน้ากลุ่มนโยบายและแผนในที่สุด

อ้างถึงเรื่องราวต่างๆมายืดยาวเพียงเพื่อจะสนับสนุนประโยคที่ว่าผมเคยมาอบรมที่นี่เพราะอะไร ต่ออีกนิดให้สมบูรณ์ พอผมได้รับหน้าที่ “หัวหน้ากลุ่มงานนโยบายและแผน”แล้ว ในโครงการนำร่องเขตพื้นที่ฯ มีกิจกรรมการพัฒนาระบบสารสนเทศให้กับเขตพื้นที่นำร่องทั่วประเทศ ด้วยเหตุที่กลุ่มงานนโยบายและแผนมีหน้าที่รับผิดชอบในด้านงานข้อมูลสารสนเทศ หัวหน้ากลุ่มฯจึงต้องมารับการพัฒนาการใช้โปรแกรมระบบบริหารสารสนเทศซึ่งจัดการอบรมขึ้นที่นี่

ม.ราชภัฏสวนสุนันทา เมื่อก่อนที่ยังไม่ได้ยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัย ใช้ชื่อว่า”วิทยาลัยครูสวนสุนันทา” สถานที่สะอาด ร่มรื่น ถึงแม้จะไม่กว้างขวางมาก มีนักศึกษาหลายระดับเข้ารับการศึกษาจำนวนมาก ผมเดินมานั่งที่ซุ้มหน้าอาคาร 31 เห็นนักศึกษาจับกลุ่มติววิชากันอย่างขะมักเขม้น มองผ่านไปในหลายพื้นที่ นึกถึงบรรยากาศเก่าๆ เหตุผลที่มาในตอนนั้นกับตอนนี้ที่เหมือนกันคือ “เป็นการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กร”

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 27410เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2006 11:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
จะเข้าร่วม "Workshop" วันที่ 22-24 มิ.ย. ไหมคะ
ขอโทษครับที่ตอบอาจารย์ช้าไป ผมและทีมงานจัดการความรู้ของ สพท.พล.1 และสถานศึกษาเป้าหมายในสังกัด 4 แห่ง เข้าร่วม workshop Full Team ครับ
  • สวัสดีครับอาจารย์ชายน้อย
  • เชิญแวะเยี่ยมโรงเรียนเซนต์นิโกลาสด้วยนะครับ
  • ถ้าจะกรุณาให้คำแนะนำน้องใหม่ ก็ยินดีและขอบคุณเป็นอย่างยิ่งครับ

สวัสดีครับพี่ชายน้อย

พึ่งมีโอกาสเข้ามาอ่าน Blog ของเขตพื้นที่ครับ  ขอแสดงความเห็นครับว่าควรอบรมเจ้าหน้าที่เขตให้รู้จักการใช้ Blog ให้มากขึ้นครับ  เพราะเป็นการสร้างความรู้ให้ทันชาวบ้านครับ เพราะผมรู้ว่าชาว สพท.พล1 มีเรื่องเล่าเยอะแยะแต่ไม่มีที่จะเขียนกัน  และนี่แหละคือที่ที่สมาชิกจะได้มีโอกาสแสดงความเห็นให้ชาว สพท. ทั้ง 175 เขต รับรู้เรื่องของพิษณุโลกเราไงครับ

ประโยชน์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท