ลิ้นชักความจำอันมหัศจรรย์


เรื่องที่จะเขียนนี้เป็นเรื่องของการขยายโครงสร้างทางปัญญาที่เป็นในรูปแบบที่เรียกว่า ความจำ... การพูดถึงเรื่องนี้ข้าพเจ้าพูดอยู่ในฐานของความคิดความเชื่อในเรื่องกระบวนการทางปัญญาของบุคคล (Cognitive theory) ว่ามีศักยภาพแห่งการเรียนรู้ที่สามารถเกิดขึ้นได้ภายใต้เงื่อนไขเดียวคือ "ความเป็นมนุษย์" เพราะหากไม่ใช่มนุษย์แล้วโอกาสของการเกิดกระบวนการทางปัญญานี้แทบจะไม่มีโอกาสเลย นอกจากว่าจะมีสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่เท่านั้น ที่มีปัญญาสื่อสารผ่านโทรจิต (เป็น imagin ของข้าพเจ้าเอง)

โครงสร้างทางปัญญา หรือเวลาที่อ่านหนังสือจะเจอเขาใช้คำว่า schemata ค่อนข้างที่เป็นเรื่องที่พูดในเชิงนามธรรม แต่หากจะอธิบายว่ามนุษย์เรานั้นที่ฉลาด ... เรียนรู้ได้ดี ได้เร็ว มีกระบวนการทางปัญญาที่เกิดขึ้นส่งผลต่อความฉลาด...นั่นน่ะเพราะว่ามีการขยายโครงสร้างทางปัญญาต่างๆ เกิดขึ้น รูปแบบหนึ่งที่มีการทำงาน คือ การทำงานในลักษณะที่เป็นโครงสร้างของความจำ อันเปรียบเสมือนลิ้นชักอันซับซ้อนที่ใช้เก็บข้อมูล นึกดูเอาแล้วกันว่า ลิ้นชักทีเราเคยเห็นนั้น เปิดออกมาจะโล่งและมีที่ว่างของการเก็บของ

แต่ลิ้นชักของความจำ เปิดออกมาจะมีความซับซ้อนอย่างมาก เป็นความซับซ้อนของการเก็บข้อมูลและเรื่องราวต่างๆ ที่ผ่านการเรียนรู้ของเราเกิดขึ้น การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นนี้ส่งผ่านไปเก็บไว้ในลิ้นชักได้หลายทาง ไม่ว่าจะเป็นการมองเห็น การได้ยินเสียง การสัมผัส การลิ้มรส การได้กลิ่น และใจที่รู้สึก อันเป็นช่องทางผ่านตา หู กาย ลิ้น จมูก และใจ ... เชื่อเลยว่าหากช่องทางต่างๆ เหล่านี้ของเรายังเปิดรับสิ่งที่ส่งผ่านเข้ามาก็จะถูกนำไปเก็บไว้ในลิ้นชักอันมหัศจรรย์นี้

ในลิ้นชักดังกล่าวนี้...ช่องเก็บมีทั้งลึกยาว และตื้นสั้น...

ในส่วนที่เก็บไว้ลึกๆ หรือในช่องยาวๆ นั้น เวลาที่เราจะนำของที่เก็บไว้นั้นมาใช้ ก็ค่อนข้างจะใช้เวลารื้อค้นนาน ... เปรียบก็คือ ความจำที่เนิ่นนาน หรือความจำระยะยาวของเรานั้นเอง อ๋อ! กว่าจะนึกได้นี่ก็ใช้เวลานานเหมือนกัน ซึ่งจะต่างกับที่เก็บไว้ในส่วนตื้นไม่ลึกมาก นั่นก็คือ ความจำระยะสั้น... นึกปุ๊บรู้ปั๊บ...

ทีนี้ถามว่า...หากส่วนที่เราเก็บไว้ในลิ้นชักลึกนั้น ถ้าเรารื้อและเปิดบ่อย แม้จะเก็บอย่างซับซ้อนแต่เราก็รู้และนึกได้เร็ว เหมือนเปิดลิ้นชักบ่อยๆ ก็ทำให้รู้ตำแหน่งแล้วว่าสิ่งของไหนวางอยู่ตรงไหน...

การที่จะนึกได้เร็วและนำของที่เก็บไว้ในลิ้นชักมาใช้ได้เร็วนั้น ... ตัวช่วยที่วิเศษสุด ก็คือ สติและสมาธิ...การที่มีเรามีสติจะนำไปสู่การระลึกรู้ นึกได้เร็วขึ้น (Recall) ว่าอะไรจัดวางไว้อยู่ตรงไหน และการมีสมาธินั้นนำไปสู่การจดจ่อจดจำ ... รวมถึงการที่เรากำลังจัดเก็บข้อมูล จิตใจ (Mind) เราไม่วอกแวกไปไหน เมื่อไม่วอกแวกการนำข้อมูลไปจัดเก็บไว้จะค่อนข้างทำได้ดี มีประสิทธิภาพ ... เปรียบได้กับการที่เรากำลังจัดเรียงสิ่งของในห้องเก็บของ หากว่าเรามีสมาธิในการทำงาน เราก็ค่อนข้างจะเก็บเรียงสิ่งของไว้ได้ดี จัดลำดับได้ ของชิ้นใหญ่วางข้างล่าง ชิ้นเล็กวางข้างบน ของเหมือนกันจัดวางในหมวดหมู่เดียวกัน สิ่งของต่างกันจัดวางต่างๆ กันตามการใช้สอย ฉันใดก็ฉันนั้น การจัดเก็บข้อมูลในลิ้นชักความจำของเราก็เช่นเดียวกัน...

หากว่าเรามีสมาธิในการจัดเก็บแล้ว...ข้อมูลที่ถูกนำเข้ามาก็จะถูกจัดวางอย่างเป็นระบบระเบียบ สะดวกและง่ายต่อการนำออกมาใช้งาน

และการที่เราจะรู้ได้ว่าอันไหนเหมาะต่อการใช้งานแบบไหน ประสบการณ์จะเป็นตัวบอกเรา ดังนั้น การที่มนุษย์เราได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์จึงเป็นเรื่องที่ดีที่ส่งผลต่อการขยายทางปัญญาอันเป็นโครงสร้างความจำ คือ ประสบการณ์จะเป็นตัวสอนเราเองว่าสถานการณ์แบบไหนจะต้องใช้อะไรอย่างไรบ้าง...จะไปดึงข้อมูลอะไรจากลิ้นชักช่องไหน ...

และที่สำคัญ...ลิ้นชักทางปัญญาที่เรามีนี้ เราเท่านั้นจะเป็นผู้เลือกว่าจะนำอะไรไปเก็บไว้ บางคนจะนำเมล็ดพันธุ์ที่ดีดีมาเก็บไว้ นั่นก็คือ เรื่องราวดีดี แต่บางคนก็จะชอบเก็บขี้วัวเปียกมาเก็บไว้นั่นก็เปรียบเรื่องราวด้านลบต่างๆ ... เราจะรู้หรือเรียนรู้ได้อย่างไรว่าจะนำอะไรมาเก็บ... ก็ตัวสติและสมาธินั่นน่ะแหละจะเป็นผู้คัดกรองให้เก็บถ้าใครไม่ค่อยมีสติและสมาธิ ก็จะมีรูปแบบการจัดเก็บตามความเคยชินตามสัญชาตญาณ นั่นก็คือ เคยเก็บขี้วัวก็จะเก็บขี้วัวอยู่ตลอด พอนานเข้าลิ้นชักนั้นก็จะส่งกลิ่นเหม็นตลบอบอวลทำความเดือดร้อนให้กับเจ้าของลิ้นชัก

Note ; ขี้วัว... ข้าพเจ้าเคยได้ฟังเทศน์ของพระอาจารย์พรหม ลูกศิษย์หลวงปู่ชา ที่ท่านเปรียบขี้วัวเหมือนดั่งเป็น "ความทุกข์" หรือเรื่องราวทางลบ

 

 เมษายน ๒๕๕๒

 ------------------------------------------------------

 

Cogtech2

 

 

หมายเลขบันทึก: 258055เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2009 23:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท