ประวัติพ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์ วัดสวนขัน


ประวัติพ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์วัดสวนขัน เทพเจ้าแห่งแดนใต้

พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์ 

  

 

 พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์ 

พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์ วัดสวนขัน วัดพระธาตุน้อย พระครูพิศิษฐ์อรรถการ หรือ 

ที่รู้จักกันทั่วไปว่า 

"พ่อท่านคล้าย" วาจาสิทธิ์ เทวดาเมืองคอน 

เทพเจ้าแห่งแดนใต้


                                พระครูพิศิษฐ์อรรถการ หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า "พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์" นามตามสมณศักดิ์ท่านคือ  พระครูพิศิษฐ์อรรถการ  เป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดสวนขัน  จังหวัดนครศรีธรรมราช     พ่อท่านคล้าย  นามเดิมว่า  "คล้าย สีนิล"  เกิดตรงกับวันอังคาร  ที่  27  มีนาคม พ.ศ.2419  ตรงกับขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ปีชวด  จ.ศ.1238  ร.ศ.95  ที่บ้านโคกทือ หมู่ที่ 10  ตำบลหลักช้าง  อำเภอฉวาง (ปัจจุบันคืออำเภอช้างกลาง)  จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นบุตรของนายอินทร์ นางเหนี่ยว สีนิล มีพี่สาว 1 คน    ชื่อนางเพ็งเป็นภรรยานายซ้าย เพ็ชรฤทธิ์ ไม่มีบุตรสืบสกุลแต่มีบุตรบุญธรรมหนึ่งคน ชื่อนายครื้น เพ็ชรฤทธิ์

 

การศึกษาเบื้องต้น 

                                 เมื่อพ่อท่านอายุประมาณ  10  ขวบ  พอจะเรียนอักษรสมัยตามประเพณีในสมัยนั้น  บิดาก็เริ่มให้เรียนหนังสือ  โดยบิดาเป็นผู้สอนเองที่บ้าน  พ่อท่านได้เรียนจนชำนิชำนาญทั้งอักษรไทยและขอมอ่านออกเขียนได้เป็นอย่างดี  เมื่ออายุประมาณ  13  ขวบบิดาของท่านก็ได้นำไปฝากให้เรียนวิชาเลขในสำนักของนายขำไม่ทราบนามสกุล  อดีตเจ้าอาวาสวัดทุ่งปอน (จันดี) บ้านโคกทือ เมื่อเรียนจบหลักสูตรแล้วก็ได้อยู่ช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพโดยสุจริตสืบมาต่อมาได้ไปฝึกหัดเล่นหนังตะลุงกับนายทองสาก ประกอบกับพ่อท่านคล้ายมีหน้าตาดี น้ำเสียงไพเราะ จึงมีคนติดใจการเล่นหนังตะลุงของท่านมาก 

 

เหตุการณ์สำคัญในชีวิตของพ่อท่าน 

 

                                พ่อท่านคล้าย มีลักษณะนิสัย เป็นคนมีมานะอดทน ขยันหมั่นเพียร อยู่ในโอวาทคำสั่งสอนของบิดามารดาและครูอาจารย์อย่างเคร่งครัด สุภาพ เรียบร้อย ว่านอนสอนง่าย นิสัยอ่อนโยนละมุนละไม จึงเป็นที่รักของบิดามารดา ครูอาจารย์และญาติมิตรเป็นอันมาก   เมื่ออายุ  15  ปี พ่อท่านคล้าย ประสบอุบัติเหตุในการถางป่าทำไร่ที่ จ.กระบี่ กระดูกปลายเท้า สามนิ้วแตกละเอียด รักษาไม่หาย ด้วยกำลังใจที่เด็ดเดี่ยว พ่อท่านคล้ายได้ใช้มีดปาดตาลตัดปลายเท้าออกด้วยตัวเอง และใช้ยาพอกจนหายเป็นปกติ

 

การบรรพชาอุปสมบท 

                                พ่อท่านคล้าย ได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2438  (อายุ 19 ปี) บรรพชาที่วัดจันดี   ตำบลหลักช้าง  อำเภอฉวาง  จังหวัดนครศรีธรรมราช  บรรพชาโดยอาจารย์ พระอธิการจันเจ้าอาวาสวัดจันดี (ทุ่งปอน)   แต่ผู้เฒ่าบางท่านเล่าให้ฟังว่าพระอุปัชฌาย์กรายให้บรรพชา  พ่อท่านเป็นสามเณรแล้วพูดว่า  สามเณรคล้ายเจ้ามีวัตถุวิบัติทางพระวินัย  แต่ไม่ร้ายแรงอะไรมากนักยังพอที่จะให้อุปสมบทเป็นพระภิกษุได้ ฉันขอให้เจ้าท่องพระปาฏิโมกข์ให้ได้ก่อนจึงจะทำพิธีอุปสมบทให้

                                ถึงวันที่  9  กรกฎาคม  พ.ศ.2439  สามเณรคล้ายพร้อมด้วยสามเณรย้อย (นายย้อย  รุ่งเรือง  บ้านวัวหลุน)  ได้เดินทางจากวัดทุ่งปอนมายังวัดวังม่วงโดยมีช้างเป็นพาหนะ  ในวันที่  10  กรกฎาคม  พ.ศ.2439  เวลา  13.00  น.  ได้อุปสมบท ณ อุทกุกเขปสีมา  (ศาลาน้ำ)  วัดวังม่วง  หมู่ที่ 2  ตำบลฉวาง  จังหวัดนครศรีธรรมราช  โดยมีพระครูกราย  คงฺคสุวณฺโณ  เจ้าอาวาสวัดหาดสูง  เจ้าคณะอำเภอฉวาง  เป็นพระอุปัชฌายะ  พระอาจารย์สังข์  สิริรตโน  เจ้าอาวาสวัดไม้เรียง เป็น       พระกรรมวาจาจารย์  พระอาจารย์ล้อม  ถิรโชโต  (นายล้อม  ธรทฤธิ์  ครูสอนหนังสือไทยคนแรก   แห่งอำเภอฉวาง)  วัดวังม่วงเป็นอาจารย์ผู้ให้สรณคมและศีลก่อนจะทำพิธีอุปสมบท  ได้รับฉายาว่า จนฺทสุวณฺโณ แล้วได้ไปจำพรรษา อยู่ที่วัดทุ่งปอน หรือวัดจันดี  

 

การศึกษาขณะเป็นพระ 

                                ปี พ.ศ.2441  พ่อท่านคล้าย ได้เข้าศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกบาลี เรียนมูลกัจจายนะ ในสำนักพระครูกาแก้ว (ศรี) ณ วัดหน้าพระธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช จบหลักสูตรมูล พอแปลบาลีได้ ศึกษาอยู่เป็นเวลา 2 พรรษา 

                                ปี พ.ศ.2443  ต่อมาได้ศึกษาทางวิปัสสนากัมมัฎฐานที่สำนักวัดสามพัน อำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีอาจารย์หนูเจ้าอาวาสเป็นผู้สอน 

                                ปี พ.ศ.2445  พ่อท่านคล้าย ได้กลับมาอยู่จำพรรษาวัดหาดสูง ใกล้ตลาดทานพอ ในสำนักพระครูกราย ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของพ่อท่าน เพื่อศึกษาวิปัสสนาและไสยศาสตร์ โดยเหตุที่ พระครูกราย เป็นอาจารย์ฝ่ายวิปัสสนาและทรงวิชาคุณทางไสยศาสตร์ในสมัยนั้น 

                                ปี พ.ศ.2447  พ่อท่านคล้าย ได้ไปจำพรรษาที่วัดมะขามเฒ่า อำเภอระโนด จังหวัดสงขลาเพื่อศึกษาภาลีและอภิธรรมเพิ่มเติม 

                                ปีพ.ศ.2448  พ่อท่านกลับจากวัดมะขามเฒ่า มาจำพรรษาอยู่ที่วัดทุ่งปอน (จันดี) ตลอดเวลาที่ท่านจำพรรษา ณ ที่ใดก็ตาม ท่านได้ศึกษาค้นคว้าภาษา บาลี วิชาโหราศาสตร์ และเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ติดต่อกันมาโดยมิได้ประมาท ด้านการก่อสร้างก็ได้สร้างไว้ตามวัดต่างๆพอสมควร 

 

พ่อท่านคล้าย เป็นเจ้าอาวาสวัดสวนขัน 

                                ในปี พ.ศ.2448 พระปลัดคง เจ้าอาวาสวัดสวนขัน ลาสิกขาบท คณะอุบาสกอุบาสิกาของวัดสวนขัน ได้ร่วนกันเสนอไปยัง ท่านพระครูกรายเจ้าคณะแขวงฉวาง ขอแต่งตั้ง "พ่อท่านคล้าย"เป็นเจ้าอาวาส วัดสวนขันแทน ท่านพระครูกรายก็เสนอไปยังเจ้าคณะเมือง (ม่วง เปรียญ) ครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นเจ้าคุณพระศิริธรรมมุนี เจ้าคณะเมือง ได้แต่งตั้งให้พ่อท่านคล้ายเป็นเจ้าอาวาสวัดสวนขันแต่นั้นมา 

 

ประวัติวัดสวนขัน 

                                วัดสวนขันเป็นวัดราษฎร์ เดิมตั้งอยู่ที่ วัดราษฎร์บำรุง ปัจจุบันชาวบ้านเรียกวัดคุดด้วน เพราะตั้งอยู่ริมฝั่งคลองคุดด้วน มีพระปลัดคงเป็นเจ้าอาวาส แต่ที่ตั้งเป็นที่ไม่เหมาะบางประการ เนื่องจากฤดูน้ำก็ถูกน้ำท่วมบ่อยๆและสถานที่คับแคบ จึงทำการย้ายวัดขึ้นไปทางเหนือของคลองคุดด้วน สร้างวัดขึ้นมาใหม่ในป่าไม้ขันอันเป็นที่สวนของอุบาสกผู้มีศรัทธาถวายให้วัด และพร้อมใจกันตั้งชื่อวัดว่า วัดสวนขัน

                                วัดสวนขันปัจจุบันตั้งอยู่ที่ตำบลสวนขัน   อำเภอช้างกลาง  จ.นครศรีธรรมราช  พระปลัดคงได้เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก พระปลัดคงเป็นลูกศิษย์ของพระครูกราย ต่อมาลาสิกขาบทพระครูกรายเสนอพ่อท่านคล้ายให้เป็นพ่อท่านคล้าย ตลอดมาเป็นเวลา 65 ปี จนถึงวันมรณภาพ

                                พ่อท่านคล้ายมีคุณสมบัติพิเศษหลายอย่าง  เช่น  เป็นนักก่อสร้าง  นักประพันธ์          นักปฏิบัติทางวิปัสสนา  เป็นต้น  ทางด้านนักประพันธ์นั้น  พ่อท่านเคยแต่งบทกลอนกำดัดนาคไว้     น่าฟัง  ดังนี้ 

      ศีลสิบโดยตั้ง  รักษาโดยหวัง
      องค์ศีลทั่วผอง  สองร้อยยี่สิบเจ็ด
      สิ้นเสร็จควรตรอง  ศีลสิบหม่นหมองสองร้อยมรณา

 สมณศักดิ์พ่อท่านคล้าย
                                ได้เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรีที่พระครูพิศิษฐ์อรรถการในปี พ.ศ.2498  ต่อมาได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นพิเศษในนามสมณศักดิ์เดิม แต่ประชาชนทั่วไปเรียกท่านตามชื่อเดิมว่า พ่อท่านคล้าย

ตำแหน่ง 

ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสวนขัน ตำบลละอาย อำเภอฉวาง ใน พ.ศ. 2445 จนมรณภาพ 

เป็นเจ้าอาวาสวัดธาตุน้อย ใน พ.ศ.2500 เนื่องจากมีการสร้างถนนผ่านกลางวัดจันดีหรือวัดทุ่งปอน ทำให้วัดถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน ประชาชนได้ประชุมตกลงสร้างวัดใหม่ในเนื้อที่ที่แยกออกไป เรียกว่า วัดพระธาตุน้อย และแต่งตั้งให้พระครูพิศิษฐ์อรรถการ เป็นเจ้าอาวาส เมื่อท่านมรณภาพไปแล้ว วัดนี้ก็เป็นที่ประดิษฐานสรีระของท่านไว้ในโลงแก้ว
      

งานด้านศาสนา

 

                                พระครูพิศิษฐ์อรรถการ เป็นผู้นำในการสร้างวัดพระเจดีย์ พระพุทธรูป และร่วมกันในการปฏิสังขรณ์บูรณะศาสนสถานเป็นจำนวนมาก เช่น  พ.ศ. 2490  สร้างวัดมะปรางงาม ตำบลละอาย อำเภอฉวาง   พ.ศ. 2500  สร้างวัดพิศิษฐ์อรรถราม  โดยทายาทอึ่งค่ายท่ายถวายที่ดินใกล้ตลาดนาบอน  และวัดที่สำคัญที่สุดคือวัดพระธาตุน้อย หรือคนทั่วไปเรียกว่า วัดพ่อท่านคล้าย

                                พ่อท่านคล้ายได้สร้างพระเจดีย์ไว้หลายองค์ ได้แก่ เจดีย์วัดสวนขัน เจดีย์บ้านควนสวรรค์ ตำบลนาแว อำเภอฉวาง เจดีย์วัดยางค้อม อำเภอปูน และที่จังหวัดสุราษฏร์ธานี ได้แก่ เจดีย์วัดสวนขันอำเภอพระแสง และเจดีย์หน้าถ้ำขมิ้น บนภูเขาอำเภอนาสาร

 

พ่อท่านคล้าย สร้างวัดพระธาตุน้อยและเจดีย์

                                ปี พ.ศ.2505  นายกลับ งามพร้อม อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 9 ตำบลช้างกลาง อำเภอฉวาง ได้ยกที่ดินโคกไม้แดง มีเนื้อที่ 40 ไร่ ถวายพ่อท่านโดยมอบให้เป็นที่ธรณีสงฆ์ที่ดินแปลงนี้อยู่ใกล้สถานีรถไฟคลองจันดี ประมาณ  1  กิโลเมตร  พระครูพิศิษฐ์อรรถการได้สร้างเจดีย์องค์ใหญ่ขึ้นในที่ดินแปลงนี้ เริ่มก่อสร้างเมื่อ 14 มกราคม  2505   ตรงกับวันขึ้น 9  ค่ำ เดือนยี่ ปีฉลู เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่นายประคอง ช่วยเพ็ชร ถวายมาจากกว๊านพะเยา (ปัจจุบันเป็นจังหวัดพะเยา) โดยยึดรูปแบบมาจากวัดพระมหาธาตุทั้งหมด ทุนรอนในการก่อสร้างได้มาจาก พ่อค้า คหบดี ข้าราชการ และประชาชน ฝ่ายสงฆ์มีพระใบฏีกาครื้น โสภโณ เจ้าอาวาสวัดจันดีในสมัยนั้น เป็นผู้อำนวยการสร้าง ฝ่ายฆราวาสมี พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ ราชเดช เป็นประธาน พระเจดีย์องค์นี้มีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 27 เมตร สูง 70 เมตร การก่อสร้างสำเร็จในปี พ.ศ. 2513 องค์พระเจดีย์ มองเห็นเด่นแต่ไกล ถ้านั่งรถไฟเข้าสู่กรุงเทพมหานคร ก่อนขบวนรถจะถึงสถานีคลองจันดี จะมองเห็นพระเจดีย์อยู่ทางซ้ายมือ

 

งานด้านพัฒนาท้องถิ่น
                                พ่อท่านคล้าย จัดได้ว่าเป็นนักพัฒนาที่ยิ่งใหญ่ตลอดชีวิต ทำงานโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ได้เดินทางไปพัฒนาในที่ต่าง ๆ มากมาย สร้างถนน สะพานมากมาย ด้วยเมตตาบารมีและความเคารพศรัทธาของศิษย์และประชาชน   ดังเช่น   สร้างถนนเข้าวัดจันดี   ถนนจากตำบลละอายไปพิปูน   ถนนจากวัดสวนขันไปยังสถานีรถไฟคลองจันดี   ถนนจากตำบลละอายไปนาแว   ถนนระหว่างหมู่บ้านในตำบลละอาย   สะพานข้ามคลองคุดด้วนเข้าวัดสวนขัน  สะพานข้ามแม่น้ำตาปีจากตลาดทานพอไปนาแว   สะพานข้ามคลองเสหลา หน้าวัดมะปรางงาม   สะพานข้ามคลองจันดี   เป็นต้น

 

 ด้านความมีเมตตาและวาจาสิทธิ์

 

                                ศิษย์ยานุศิษย์และประชาชนที่เคารพนับถือ ศรัทธาพ่อท่านคล้ายได้เชื่อถือถึงความศักดิ์สิทธิ์ของวาจา พูดอย่างไรเป็นอย่างนั้น พ่อท่านคล้ายจะพูดจากับทุกคนด้วยใบหน้ายิ้มแย้มและแจ่มใสอารมณ์เยือกเย็นอยู่ตลอดเวลา ท่านมักจะให้พรกับทุกคน "ขอให้เป็นสุข เป็นสุข" ผู้ที่เคารพนับถือท่านต่างพากันกลัวคำตำหนิ เพราะผู้ที่ถูกตำหนิทุกรายล้วนแต่พบความวิบัติ คนส่วนมากจึงหวังที่จะได้รับคำอวยพร เพราะคำเหล่านั้นเป็นการพยากรณ์ที่แม่นยำทั้งในทางดีและทางเสื่อมเสีย 

คนที่ไปนมัสการ "พ่อท่านคล้าย" หวังที่จะได้วัตถุมงคล บ้างขอน้ำมนต์ ชานหมาก แหวน ผ้ายันต์ เหรียญ รูปหล่อ รูปพิมพ์ ซึ่งพ่อท่านคล้ายก็ได้มีเมตตาให้กับทุกคน ยิ่งชานหมากของท่านหากใครได้รับจากมือท่านเป็นต้องหวงแหนอย่างที่สุด

 

 จุดเด่นของพ่อท่าน

 

                                1.  วัยวุฒิ  พ่อท่านอายุยืนถึง  76  พรรษา  แม้พระสังฆราชวัดสระเกศ   

( อยู่  ญาโณทยฺ )  ก็ทรงเล่าให้ผู้อื่นฟังว่า  เมื่อพูดถึงหลวงพ่อคล้ายแล้ว  ท่านไม่ใช่คนธรรมดา   

อาจเป็นเทวดาก็ได้

                                2.  คุณวุฒิ  ท่านมีคุณธรรมหรือเรียกว่า  อริยทรัพย์ภายในตัวของท่าน

                                3.  ปัญญาวุฒิ  ท่านเป็นผู้มีปัญญาเฉียบแหลม  ทันคน

 

 พระเจ้าอยู่หัวทรงอาราธนานิมนต์เข้าพระราชวัง

 

                                กิตติศัพท์ทางคุณงามความดีของพ่อท่านคล้ายทรงทราบถึงในหลวงรัชกาลปัจจุบันทรงมีความสนพระทัยและศรัทธาจึงทรงพระกรุณาให้นิมนต์พ่อท่านคล้ายเข้ารับพระราชทานภัทรกิจในพระราชวังสวนจิตรลดา

                                เมื่อพ่อท่านคล้ายกลับวัดลูกศิษย์ลูกหาต่างพากันไปกราบที่บนกุฏิเพื่อให้ท่านเล่าให้ฟัง  ท่านลำดับเหตุการณ์  ตั้งแต่เจ้าพนักงานนำท่านเข้าไปนั่งรอภายในห้องต้อนรับ  ขณะที่รอในหลวงเสด็จออกท่านว่า  หัวใจมันเต้นแรงเหมือนนั่งอยู่ปากถ้ำพระยาราชสีย์ยังไงยังงั้น  เมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออก  ก้มกราบทำให้อิ่มใจพองคับอก  ชื่นชมในพระบารมี  ช่างงดงามเป็นสง่าน่าเกรงขามยิ่งนัก  ในหลวงทรงสนทนาไต่ถาม  โดยมีพระปลัดสุพจน์คอยชี้แจงถวายระหว่างสำเนียงปักษ์ใต้กับภาษากลาง  จนในที่สุดในหลวงทรงก้มพระเศียรเข้าใกล้พ่อท่านคล้ายด้วยพระราชประสงค์ให้ท่านรดน้ำมนต์  พรมพระเศียรให้พร  ด้วยทรงพระราชศรัทธาเคารพ  ถึงตรงนี้พ่อท่านคล้ายพูดว่า  กูขนพองไปหมด  พระมหากษัตริย์  ผู้ทรงกฤดาภินิหาร  ครองบ้านครองเมือง  จะมาก้มให้พระป่าสามัญลูบพระเศียรได้  ท่านเป็นเทวดาของปวงชน  ท่านเลยทูลว่า  มหาบพิตรได้ทรงโปรดยื่นพระหัตถ์มาเถิด  ในหลวงทรงเงยพระพักตร์ยิ้มและทรงยื่นพระหัตถ์ทั้งสองให้พ่อท่านคล้ายจับขึ้นเสมออกอธิษฐานพระชัยมนต์คาถาถวาย  แล้วรดน้ำมนต์ใส่ฝ่าพระหัตถ์ของพระองค์เอง  พร้อมถวายพระพรตลอดเวลา  ในหลวงทรงอิ่มเอิบปลาบปลื้มพระราชหฤทัยและทรงปวารณาทรงรับอุปัฏฐากเป็นส่วนพระองค์

                                ครั้นลูกศิษย์ถามท่านว่า  พ่อท่านถวายของดีอะไรหรือเปล่า   ท่านตอบว่า  ไม่ให้เทวดาผู้เป็นยอดคนแล้ว  จะให้ใครเล่า  และกล่าวอีกว่า  ในหลวงพ่อองค์นี้ ทรงบุญญาภินิหาร  ทรงทศพิธราชธรรมบริบูรณ์

 

 

พ่อท่านคล้าย มรณภาพ

 

                                พ่อท่านคล้ายหรือพระครูพิศิษฐ์อรรถการ เมื่อครั้นถึงวันที่  22  พฤศจิกายน 2513 ตรงกับแรม 9  ค่ำ เดือน 12 ปีจอ  พ่อท่านจะต้องเดินทางไปจังหวัดสุรินทร์ เนื่องในงานพุทธาภิเษกที่คณะพุทธบริษัทจังหวัดนั้นนิมนต์ไว้ เวลา 16.00 น. ของวันเดินทาง คณะศิษย์เป็นว่าพ่อท่านอาพาธกะทันหัน จึงนิมนต์พ่อท่านขึ้นรถด่วนเข้ากรุงเทพ ถึงวันรุ่งขึ้นได้นำพ่อท่านเข้าโรงพยาบาลพระมงกุฎในวันนั้น แพทย์ได้พยายามรักษาจนเต็มความสามารถ เป็นเวลา 14 วัน อาการมีแต่ทรงกับทรุด ครั้นถึงวันที่  5  ธันวาคม 2513  เวลา 23.05 น. พ่อท่านคล้าย มรณภาพด้วยอาการสงบ รวมอายุได้ 96 ปี  เมื่อบำเพ็ญกุศลครบ 100 วัน จึงได้บรรจุสรีระของท่านไว้ในโลงแก้ว ประดิษฐานอยู่ในองค์พระเจดีย์ใน  วัดพระธาตุน้อยจนถึงปัจจุบัน

หมายเลขบันทึก: 255182เขียนเมื่อ 12 เมษายน 2009 11:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
  • สวัสดีค่า มาน้อมกราบนมัสการพ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์ด้วยค่า
  •  ขอตั้งจิตอธิษฐานให้บ้านเมืองสงบ อย่าได้วุ่ยวายมากมายไปกว่านี้เลย

ขอบคุณสำหรับความรู้ใหม่คับ

สนใจค่ะ เพราะในสมัยเด็กยายเคยพาไปกราบพ่อท่านคล้าย เคยได้ชานหมากของท่านด้วย   ตอนนั้นจำได้ว่าขาท่านข้างหนึ่งใส่กระบอกไม้ไผ่  ไม่แน่ใจว่าขาท่านเสียไปขนาดไหน

ยินดีต้อนรับทุกท่านที่มีจิตศรัทธาเดียวกัน

ไปสักการะท่านมา..รู้สึกดีมาก

ศรัทธาท่านแล้วแต่บุญวาสนาอยากมีรูปบูชาสักใบ

โกวิทย์ สิทธิยศ/เชียงใหม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท