เมื่อป่วยเบาหวานและคิดฆ่าตัวตาย


ถึงที่ทำงาน วันนี้เข้าสาย ไม่รีบมากเพราะนั่งแก้โปรแกรมที่ทำสำหรับ...ใช้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบสิ่งแวดล้อมทางการเรียนรู้ เมื่อเช้าจึงนั่งสบายๆ ทำงานที่บ้าน มาถึงที่ทำงานยังเงียบ สักพักพี่นางก็ถือแฟ้มผู้ป่วยมาให้และบอกว่ามีผู้ป่วยจากแผนกอายุรกรรมหญิง ทานยาฆ่าแมลงมา...

ข้าพเจ้าเดินไปดู พบคุณยายอายุ 65 ปี นอนอยู่บนเปล...ร้องไห้ เราได้พูดคุยกัน ทำความรู้จักกันพอสมควร ได้ทราบว่ายายป่วยเป็นโรคเบาหวานมานาน และตนเองนั้นควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ คิดน้อยใจในตนเองที่ทำไมอาการไม่ดีขึ้น เป็นภาระให้กับลูกหลาน... ตอนที่เราคุยกันนั้นคุณยายมีลูกหลานมาด้วยห้อมล้อมอย่างอบอุ่น และมีน้องสาวชื่อยายจอมที่มีอายุไล่เลี่ยห่างกันไม่มากที่คอยดูแลพูดคุยกัน

เป็นภาพที่อบอุ่นเหมือนกัน...

ถามความแล้วคุณยายน้อยใจ เป็นความคิดชั่วขณะที่ถูกอารมณ์และความรู้สึก ผลัก ปะทุให้กระทำการที่ไม่อยากจะมีชีวิตอยู่

ทุกข์กายหรือทุกข์ใจ... ทุกข์กายนั้นคือ สภาวะแห่งความเจ็บป่วย และทุกข์ใจก็คือความเศร้าหมอง ต่ำต้อยในตัวเอง ปฏิกิริยาที่ตอบสนองออกมาก็จะเป็นการทำร้ายตนเอง สำหรับคุณยายท่านนี้จะแตกต่างจากบางราย ที่การตอบสนองต่ออารมณ์ ความรู้สึกที่ปะทุอยู่ภายในของตนเองนั้น คุณยายผู้ป่วยท่านตอบข้าพเจ้าว่า ท่านนั้นทุกข์ใจ...ทุกข์มากด้วย เมื่อเราคุยเรื่องการปฏิบัติตัว ท่านค่อนข้างปฏิบัติในฐานะผู้ป่วยเบาหวานได้ค่อนข้างดี เสียแต่เรื่องจิตใจอย่างเดียว ที่มีผลต่อค่าระดับน้ำตาลในเลือด...

การพูดคุยทำให้เราได้รู้จักคนไข้มากขึ้น... ทราบถึงว่าเราจะดำเนินแนวทางการเยียวยาตนเองเป็นไปในลักษณะอย่างใดบ้าง...เมื่อทราบแล้ว โดยเป็นการทราบร่วมกันผ่านการค้นหาสาเหตุที่ก่อให้เกิดสภาวะทุกข์ที่บีบคั้นได้แล้วนั้น ...

ก็มาถึงกระบวนการหรือวิธีการเยียวยาตนเอง

ผู้ป่วยทราบว่า ตนเองต้องหยุดจากอาการเป็นคนคิดมาก...

แต่จะมีหนทางใดเล่าที่ทำให้ตนเองไม่คิดมาก หรือไม่ให้ความคิดมามีอิทธิพลอยู่เหนือวิถีชีวิตของตนเอง สำหรับรายนี้ข้าพเจ้าได้ตัดสินใจนำแนวทางของจิตวิทยาแนวพุทธมาเป็นเครื่องมือนำทาง... ให้ผู้ป่วยได้เรียนรู้ทุกข์ ค้นหาสาเหตุของความทุกข์ การมีความระลึกรู้อยู่ตามลมหายใจของตนเอง... ซึ่งผู้ป่วยก็พอมีต้นทุนอยู่บ้างในการฝึกฝน การเพิ่มกิจกรรมในวิถีประจำวัน แทนการนั่งนอนเฉยๆ เพราะทำให้ไร้ค่า การที่ได้ทำกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ เช่น ปลูกต้นไม้ รดน้ำต้นไม้... ก็ยังทำให้คุณยายได้เคลื่อนไหวร่างกาย

กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญต่อการเยียวยา

นอกจากได้พูดคุยกับคุณยายแล้ว เราได้ตั้งวงเล็กๆ คุยกับลูกๆ ของคุณยายด้วย ลูกๆ ค่อนข้างอารมณ์ดี ต่างพากันบอกเล่าเรื่องราวดีดี ของคุณยายให้ฟัง ณ ขณะนั้นข้าพเจ้าให้คุณยายนอนฟังและร่วมรับรู้ในเรื่องราวที่เราคุยกันได้ ข้าพเจ้ามองว่าเป็นการเติมน้ำพรวนดินให้หน่อเนื้อเมล็ดพันธุ์แห่งความดีที่มีอยู่ในหัวใจของคุณยาย และญาติด้วย

เป็นแนวทางการเยียวยาที่ต่างออกไปจากเดิมที่คอยแต่จะขุดค้นปัญหา เพ่งมองแต่ปัญหา แต่เปลี่ยนมาเป็นปฏิบัติต่อปัญหาด้วยความสร้างสรรค์มากขึ้น คือ หันไปบ่มเพาะพลังด้านดี เติมความเกลื้อหนุนพลังด้านดีดี ให้มีเพิ่มมากขึ้นในจิตใจ

นั่นก็คือ ... ฝึกมองเรื่องราวทางบวกมากกว่าด้านลบ...

การที่เราตั้งวงคุยกัน พูดถึงแนวทางการเยียวยาคุณยาย ซึ่งคุณยายจอมผู้เป็นน้องสาวขันอาสาที่จำพาคุณยายสวดมนต์ ทำวัตรเช้าเย็น...และฟังเทศน์เพื่อเป็นกุศลและช่วยทำให้จิตใจเยือกเย็น ลูกชายและลูกสะใภ้รับอาสาเรื่องการดูแลการฉีดยา แนวทางการรักษาดูแลตามแผนการรักษา...และการปฏิบัติตัวเพื่อนำไปสู่การฟื้นฟูทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ

สำหรับลูกๆ นั้น ต่างแบ่งเบาหน้าที่กัน...

คนที่ดูแลและอาศัยอยู่ด้วยกัน รับอาสาฉีดยา ตลอดจนการทำหน้าที่ในการส่งเสริมกิจกรรมการฟื้นฟูตนเอง การได้ทำกิจกรรมเล็กๆ น้อย การดูแลเรื่องอาหารการกิน...

การที่เราได้ตั้งวงคุยกัน...ทัศนะของข้าพเจ้ามองว่า เป็นสิ่งที่ทุกคนได้ร่วมเข้ามารับผิดชอบต่อชีวิต ความรู้สึก นึกคิดร่วมกัน มากกว่าการที่จะให้ผู้ให้การบำบัดยัดเยียดให้ฝ่ายเดียว

ข้าพเจ้าบอกคุณยายไปว่า...ปีนี้คุณยายอายุ 65 ปี และจากวันนี้ไปจะอยู่ได้ด้วยใจที่เป็นสุขขึ้นแม้ว่าจะป่วยเป็นโรคเบาหวานก็ตาม แต่ก็สามารถอยู่ได้ด้วยการดำรงตนอย่างไม่ทุกข์ทั้งกายและใจ หรือหากจะทุกข์ก็ขอเป็นเพียงแค่กาย แต่ต้องไม่ทุกข์หนักหน่วงที่ใจ เมื่อคุณยายทำได้ ก็สามารถดำรงวิถีต่อไปได้จนกว่าจะหมดอายุขัยไปเอง และก็พูดแหย่ๆ ไปว่า ... เมื่อคุณยายอายุ 75 ปีเราจะกลับมาพบกันอีกครั้ง

 

 ----------------------------------------

เรื่องเล่าผู้ป่วยเรื้อรังและการเยียวยา

สำหรับรายนี้ไม่มีความคิดฆ่าตัวตายซ้ำ

1 เมษายน 2552

 

หมายเลขบันทึก: 252506เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2009 14:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท