ทำให้การเรียนรู้งอกงามจากภายในด้วยการ “เผยตน” (๒)


กระบวนการ “เผยตน”จึงเปรียบได้กับกระจกที่ช่วยให้ไอน้ำที่ลอยอยู่ในอากาศได้มาปะทะ จนกระทั่งกลั่นตัวเป็นหยดน้ำในที่สุด

จากการที่โรงเรียนเพลินพัฒนาได้สร้างกระบวนการ ทำให้การเรียนรู้งอกงามจากภายในด้วยการ เผยตนhttp://gotoknow.org/blog/krumaimai/229991 ขึ้นเป็นครั้งแรกในภาควิริยะ เมื่อเวลาผ่านไปอีกครึ่งปี การเติบโตของผู้เรียนแต่ละคนก็เริ่มที่จะชัดเจนมากขึ้น

 

กระบวนการ เผยตนจึงเปรียบได้กับกระจกที่ช่วยให้ไอน้ำที่ลอยอยู่ในอากาศได้มาปะทะ จนกระทั่งกลั่นตัวเป็นหยดน้ำในที่สุด

 

คุณพิชิต อิทธิศานต์ คุณพ่อท่านหนึ่งที่นำลูกมาเข้าเรียนที่โรงเรียนตั้งแต่ชั้นประถม ๑ ได้เขียนเล่าการเปลี่ยนแปลงที่เห็นว่าเกิดขึ้นกับลูกสาว ซึ่งปัจจุบันเรียนอยู่ชั้น ๖ ไว้ดังต่อไปนี้

 

ในปีการศึกษาที่ผ่านมาได้เห็นการเปลี่ยนแปลงหลังจากที่นำ Port AAR มาเป็นเครื่องมือเรียนรู้ตัวตน จึงอยากบอกเล่าประสบการณ์การใช้ Port AAR ว่าเกิดอะไรขึ้นกับลูกของเรา และเพื่อยืนยันความพยายามของโรงเรียนตลอดหกปีที่ลูกเข้ามาอยู่ในโรงเรียนนี้ว่า วันนี้สิ่งที่อดทนรอคอยใกล้จะเห็นผลแล้ว จึงขอเขียนเป็นจดหมายที่ค่อนข้างยาวเพื่อให้กำลังใจดังกล่าว และหวังว่ากรณีตัวอย่างของน้องพิม เด็กหญิงธรรมดาที่อยู่ในแนวทางการเรียนรู้ของโรงเรียนมาตั้งแต่ต้นจนมาถึงวันนี้ อาจเป็นประโยชน์กับผู้อื่นได้บ้าง

 

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดหกปีในส่วนต่างๆของโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักสูตร เรื่องคุณครู เรื่องการประเมินผลต่างๆ แม้ในมุมผู้ปกครองจะดูว่ายังไม่นิ่ง และไม่มั่นใจ แต่สำหรับพัฒนาการของเด็กเล่าเป็นเช่นไร เด็กๆ ซึมซับบรรยากาศ สัมผัสจิตวิญญาณของแนวคิดดีๆที่พวกเราต่างทุ่มเทลงมาได้ และหกปีที่ผ่านมาไม่ได้สูญเปล่า เมื่อเด็กคนหนึ่งสามารถเรียนรู้จนวันหนึ่งก็ประกาศให้ทุกคนรู้ว่า หนูต้องการจะเดินไปทางใดในอนาคต และจริงจังกับมันมากๆ ทำไมจึงเป็นเช่นนี้

 

background

 

เด็กถนัดซ้ายแต่ถูกบังคับให้ใช้ขวา ปรับแก้โดยการเรียนเปียโน

 

ลูกสาวเป็นคนถนัดซ้ายแต่กำเนิด แต่พ่อแม่ไม่ได้สังเกตละเอียด คุณยายพยายามหัดให้ใช้ขวา ไปเข้าโรงเรียนอนุบาลก็ถูกใช้ลูกเต๋าล็อคนิ้วให้เขียนขวา เมื่อนานวันพบว่ามีผลต่อพัฒนาการและการกล้าแสดงออก หมอเด็กจึงแนะนำให้ลองหากิจกรรมพัฒนาสองมือเช่นการเรียนเปียโน จึงเรียนเปียโนเรื่อยมา ครูเปียโนทุกคนจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นเปียโนซ้าย(ดังมาก) เมื่อเห็นว่าค่อยๆมีความมั่นใจขึ้นเป็นลำดับ จึงส่งเสริมให้เรียนต่อมาเรื่อยๆไม่ได้คาดหวังว่าลูกจะต้องเป็นนักดนตรีหรือสนใจในเส้นทางสายนี้

 

 

งานชื่นใจ ดนตรีชีวิต และ Perfect Pitch

 

เมื่ออยู่ชั้น ๒ในงานชื่นใจปลายภาค น้องพิมใช้ดนตรีชีวิตเป็นแกนนำเสนอ ทำขวดใส่น้ำต่างระดับหลายใบมาตีเป็นเพลง น้องพิมบอกพ่อว่า เขารู้ว่ามันตรงกับเสียงอะไรในคีย์เปียโน แต่พ่อไม่มีความรู้เรื่องนี้เลย เลยไม่ได้ใส่ใจและไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาเรียกว่า perfect pitch (ซึ่งทั่วโลกจะมีคนที่มีหูแบบนี้ประมาณ ๖ %) และก็ไม่ได้ปรึกษากับผู้รู้ท่านใดเลย เพราะในใจลึกๆก็ไม่ได้ตั้งใจจะให้ลูกมาทางสายนี้ แน่นอนอยากให้มาทางสายวิทยาศาสตร์ที่พ่อแม่ถนัดอยู่ เพราะมีเครือข่ายมากมายที่ลูกจะต่อยอดไปได้ ส่วนสายทางด้านดนตรี พ่อแม่ไม่มีฐานมาเลย

จนลูกเรียนอยู่ชั้น ๔  น้องพิมได้เห็นเพื่อนเล่นไวโอลินในงาน ลมข้าวเบา...เงาเดือนเพ็ญ (เทศกาลลอยกระทงของโรงเรียน)  ลูกบอกว่าหนูอยากเล่นไวโอลิน ครูเปียโนก็บอกว่าให้ลองเรียนดู

 

จนปีถัดมาลูกก็มาเล่นไวโอลินในงานลมข้าวเบา ก็สีเพลงพระราชนิพนธ์ได้หลายเพลงอยู่ ในงานมีคุณพ่อท่านหนึ่งเห็นน้องพิมสีไวโอลินได้ดี บอกว่าเขาเปิดร้านขายเครื่องดนตรีอยู่ที่เวิ้ง ไม่ได้ตั้งใจมาขายของ แต่เขามีไวโอลินส่วนตัวคุณภาพดีที่หิ้วมาจากเยอรมัน ยินดีขายให้ตามราคาที่คุณพ่อต้องการ เพราะอยากให้น้องพิมได้สีไวโอลินที่เสียงเพราะๆ กว่าที่มีอยู่

หมายเลขบันทึก: 251974เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2009 17:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 05:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท