ต้นจอกแต่ไม่กระจอกถ้ารู้จักนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์


ป้องกันกำจัดศัตรูข้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการนำปัจจัยในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูง และประหยัดสุด ไม่ต้องนำปัจจัยเดินเข้าร้านให้สิ้นเปลืองสตางค์ในกระเป๋า

จากกระแสการตื่นตัวของเกษตรกรที่มีต่อการใช้สารสมุนไพรและสารชีวภาพต่างๆ  กลายเป็นช่องทางของแวดวงธุรกิจที่เปิดทางเลือกของเกษตรกรในการเลือกซื้อสารสกัดสมุนไพรเพื่อความสะดวกสบายไม่ต้องทำเอง เพียงพาปัจจัยเข้าไปในร้านขายวัสดุทางการเกษตรก็จะได้สารสกัดจากสมุนไพร ที่มีคุณสมบัติหรือสรรพคุณ ตามความต้องการ  แต่สถานการณ์ดังกล่าวเป็นการตอบสนองต่อนโยบายเพียงประเด็นเดียวคือการอนุรักษ์สภาพแวดล้อม แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกรได้ ในการนี้นายรังสรรค์   กองเงิน  เกษตรจังหวัดชัยนาท  แจ้งว่ากรมส่งเสริมการเกษตรจัดแนวทางการส่งเสริม  ด้วยการจัดทำโครงการส่งเสริมและขยายผลการลดต้นทุนการผลิต โดยให้เกษตรกรร่วมกันวิเคราะห์ พิสูจน์ทราบร่วมกันผลิตและใช้ปัจจัยการผลิตที่มีอยู่อย่างหลากหลายในท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อนำไปใช้ในการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน โดยครูติดแผ่นดิน(เกษตรกรต้นแบบ) เป็นผู้ร่วมคิดร่วมประสานการเรียนรู้ร่วมกันของเพื่อนเกษตรกร  ในพื้นที่ของตนเอง  สำหรับฉบับนี้ผู้เขียนจึงขอนำแนวคิดจากครูติดแผ่นดิน  ต.แพรกศรีราชา อ.สรรคบุรี  คือ พันจ่าโท  เฉลียว  น้อยแสง ที่ได้ร่วมกับสมาชิกพิสูจน์ สรรพคุณของต้นจอกวัชพืชน้ำตัวสำคัญที่ขึ้นหนาแน่นในสระน้ำจนได้น้ำหมักชีวภาพ  เพื่อป้องกันกำจัดศัตรูข้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการนำปัจจัยในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูง และประหยัดสุด ไม่ต้องนำปัจจัยเดินเข้าร้านให้สิ้นเปลืองสตางค์ในกระเป๋า

คิดได้อย่างไร

                ..ท . เฉลียว   น้อยแสง   ครูติดแผ่นดิน (เกษตรกรต้นแบบ) ซึ่งเพื่อนเกษตรกรเรียก จ่าเหลียว  เลขาศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนบ้านพระแก้ว  หมู่ที่ 10  ต.แพรกศรีราชา  อ.สรรคบุรี   จ.ชัยนาท  ได้กล่าวถึงแนวคิดการนำต้นจอกมาใช้ประโยชน์ว่าเมื่อฤดูการผลิตที่ผ่านมาได้นำต้นจอกที่ขึ้นมากเต็มพื้นที่ มาทำเป็นปุ๋ยหมัก และนำไปใช้ในบ่อพิสูจน์ ทราบของข้าวที่ได้ปลูกไว้เพื่อสังเกตการณ์เจริญเติบโตและการเข้าทำลายของโรคเมลงศัตรูพืช พบว่าโรคแมลงไม่เข้าทำลายในแปลงที่ใช้ปุ๋ยหมักจากต้นจอก แต่แปลงซึ่งไม่ใช้ปุ๋ยหมักจากต้นจอกถูกแมลงเข้าทำลาย  อีกทั้งจากการสังเกตยังพบอีกว่าในช่วงปลายของอายุของข้าวคือ  ช่วงข้าวระยะเมล็ดน้ำนม พบเมลงเข้าทำลายจึงตั้งสมมุติฐานว่าเกิดจากสารที่เป็นประโยชน์สลายตัวไป  รวมทั้งการสังเกตผักที่ขึ้นตามกองปุ๋ยหมัก ของต้นจอกไม่พบการเข้าทำลายของศัตรูพืช  จากผลที่ได้จึงนำไปปรึกษาเพื่อนสมาชิก นำความรู้การหมักน้ำหมักชีวภาพ  และการสกัดสมุนไพร และทดลองนำไปใช้จึงได้วิธีทำ เพื่อนำต้นจอกวัชพืชน้ำมาใช้ไม่ยากแก่การปฏิบัติ

การทำน้ำสกัดจากต้นจอก  

                การนำต้นจอกมาสกัดเพื่อใช้ป้องกันและกำจัดศัตรูข้าว โดยเก็บต้นจอกจากแหล่งน้ำเทียบโดยน้ำหนักคือ  ต้นจอก 3 กก. กากน้ำตาล    1  กก. และน้ำหมักจากหน่อกล้วย (จุลินทรีย์หน่อกล้วย) จำนวน 1 ลิตร  เมื่อได้วัสดุแล้วนำต้นจอกมาขยี้ให้แหลกก่อนเทกากน้ำตาล และน้ำหมักจุลินทรีย์หน่อกล้วยลงไป คลุกเคล้าให้ทั่ว   เทลงหมักในถังพลาสติกปิดฝาเก็บไว้ในที่ร่ม ซึ่งมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก หมั่นคนทุกวันทิ้งไว้  15  วัน  ก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์โดย ด้วยการกรองนำน้ำที่ไม่มีกาก  อัตราส่วน 20-30 CC :  น้ำสะอาด  20  ลิตร เพราะถ้ามีกากปนลงไปจะทำให้หัวฉีดพ่นอุดตัน เป็นอุปสรรคต่อการฉีดพ่นได้ และควรฉีดพ่นในช่วงแดดอ่อน อีกทั้งหลังจากฉีดพ่นแล้วควรรีบอาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย เพราะน้ำหมักมีกลิ่นแรง  อีกทั้งคันด้วย จึงต้องอยู่เหนือลมขณะฉีดพ่น  และรีบทำความสะอาดร่างกายภายหลังฉีดพ่นด้วย

ผลที่ได้หลังการฉีดพ่น

                จากการสังเกตและเปรียบเทียบแปลงข้าวระหว่างแปลงที่ฉีดพ่นน้ำหมักต้นจอกและแปลงทั่วไปของเกษตรกรทั่วไปที่ปลูกพร้อมกันและอยู่บริเวณใกล้เคียงกัน พบว่า แปลงที่ฉีดพ่นน้ำหมักจากต้นจอกไม่พบการเข้าทำลาย ของแมลงศัตรูพืชถึงขั้นเสียหาย ในขณะที่แปลงเปรียบเทียบของเกษตรกร ที่ปฏิบัติโดยการฉีดพ่นสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชต้องฉีดพ่นสารเคมีเป็นระยะ เพราะพบการแพร่กระจายของศัตรูพืช เข้ามาเยี่ยมเยือนแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ แมลงศัตรูพืชมี  หาสารเคมีมา  นำพาเงินหลีกหนี  หลากหลายชีวีในแปลงนาล้มตาย  แล้วผลกำไรจะได้มาจากไหน แต่ถ้าใช้สมุนไพร ยังสงสัยอยู่ว่าแมลงที่เป็นมิตรของชาวนาจะไปหาอาหารจากไหนไปประทังชีวิตของเขา  เนื่องจากไม่มีแมลงศัตรูข้าวให้เขาได้กินเป็นอาหาร

ข้อคิดดีๆ เพื่อใช้อย่างได้ผล

                การใช้สารสมุนไพร  หากท่านนำวิธีการไปใช้พบว่าไม่ได้ผลนั้น ขอแสดงความคิดเห็นเพื่อปรับความเข้าใจ  เพื่อนำไปใช้ได้อย่างถูกต้องว่า สารสมุนไพรที่ใช้แล้วได้ผลนั้น  ปัจจัยบางส่วนที่สามารถรับรู้ได้โดยง่าย คือกลิ่นที่ไม่พึงปรารถนานั่นเอง  ซึ่งจะมีกลิ่นแรงในระยะแรกๆ  ซึ่งกลิ่นจะลดลง  ตามวันเวลาที่ผ่านไป เกษตรกรที่จะนำวิธีไปใช้ให้ได้ประโยชน์จะต้องหมั่นสังเกตจากการสูดกลิ่นดู ถ้ากลิ่นจางลงควรนำต้นจอกใหม่ลงไปหมักอีก  ถ้าเห็นว่ามีกากมากควรนำกากเก่าออกไปทำปุ๋ยหมัก  ก่อนเติมต้นจอกใหม่ลงไป   เพื่อมีใช้อย่างสม่ำเสมอฉีดพ่นไว้ก่อน แก้ปัญหาไม่ทันลุกลามทำลายไร่นา

หมายเลขบันทึก: 251294เขียนเมื่อ 27 มีนาคม 2009 15:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • สวัสดีค่ะ
  • ชื่นชมจริงๆ กับความคิดนำของที่มีในท้องถิ่นไปทำให้เกิดประโยชน์ อีกหน่อยอาจมีการซื้อขายจอกกันแล้ว
  • ทุกสิ่งในธรรมชาติย่อมมีประโยชน์ที่เกื้อกันได้ ถ้าไม่คิด ไม่ค้น ไม่ทดลองทำดู ก็ไม่รู้ค่ะ

สวัสดีค่ะ

  • ขอขอบพระคุณกับการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์
  • ที่โรงเรียนมีต้นจอกมากมายค่ะ  โรงเรียนเปิดจะให้เด็ก ๆนักเรียนทดลองฝึกทำค่ะ

ดีมากครับเเต่อยากให้มีเรื่องจอกกับผักตบชนิดไหนทำให้น้ำใสมากกว่ากัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท