ฝนหลงฤดู ...กับความทรงจำที่ยังอยู่กับตัวเอง


 


ริ้วรอยของฝนหลงฤดูที่จากไปในเช้ามืด

 

แค่ยังไม่พ้นสองสัปดาห์  อากาศก็เริ่มร้อนจัด 

ร้อนราวกับจะเผาไหม้สิ่งมีชีวิตบนโลกให้แหลกเป็นผุยผง  จนหลายคนออกอาการบ่นเพ้อว่า  “มีนาฯ ยังร้อนขนาดนี้  แล้วเมษาฯ จะร้อนขนาดไหน”

          ครับ, ฟังดูเป็นกระต่ายตื่นตูม-ตีตั๋วพยากรณ์ล่วงหน้าไปอย่างเสร็จสรรพ

แต่ก็อย่างว่า  ประสบการณ์ชีวิตที่ฝังจำมาตั้งแต่เด็ก 
เจออีหรอบนี้  เป็นใครก็อดที่จะหวั่นไหวไปไม่ได้

          หลายคนทำตัวเป็นกบจำศีลอยู่ในห้องทำงาน  โดยไม่จำเป็นก็ไม่ปรารถนาที่จะกรีดกรายออกไปนอกห้อง  สู้นั่งตากแอร์เย็นๆ  ให้เป็นมงคลต่อชีวิตเสียดีกว่า 

ที่เคยเฉยๆ เฉื่อยๆ กับการทำงาน  ก็พลิกบุคลิกใหม่ด้วยการหยิบโน่นหยิบนี่มาทำอย่างกระฉับกระเฉง  เพราะหากยังขืนทำตัวแบบเดิมๆ  มีหวัง “งานเข้า” ถูกผลักออกไปทำงานนอกสำนักงานเป็นแน่

ถึงตรงนั้น  ก็คงเลี่ยงที่จะ “ละลาย” ไปกับเปลวแดดไม่ได้

 

แต่สำหรับผม  วันอังคารที่ผ่านมา  กลับต้องนั่งรถฝ่าคลื่นทะเลแดดอันเริงแรงไปตามหมู่บ้านต่างๆ 

ตลอดเส้นทางที่รถวิ่งไปนั้น  ผมมองเห็นเปลวแดดจับกลุ่มเต้นระบำกันอย่างสุดเหวี่ยง  จนเหมือนท้องถนนเต็มไปด้วยทะเลเพลิงเลยทีเดียวแหละ

แต่พอถึงเที่ยงวัน  ขณะที่กำลังนั่งทานมื้อเที่ยงกับทีมงานอยู่ดีๆ   เมฆก้อนใหญ่หลายๆ ก้อน  กลับเริ่มตั้งเค้าเป็นเมฆฝนอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย

สายลมอันไร้ทิศทางพัดกลิ่นจางๆ ของฝนหลงฤดูมาเยือน คล้ายกับจะบอกว่า  ในไม่ช้านี้  ฝนหลงฤดูจะมาเยือนแล้วนะ

ใบไม้หลายใบหลุดร่วงจากกิ่งก้าน   บ้างหลุดหล่นทิ้งตัวลงใกล้ๆ กับโคนต้น 
          เสมือนลูกที่ไม่ยอมห่างจากอกแม่

ขณะที่ส่วนหนึ่ง กลับลอยเคว้งไปกับสายลมแห่งความเจ้าชู้  ก่อนถูกทิ้งขว้างอยู่ไกลจากโคนต้น 
         
ประหนึ่งคนพลัดถิ่นที่เงียบ-เศร้า

ถัดจากนั้นไม่นานนัก  เจ้าฝนหลงฤดูก็เทลงมาห่าใหญ่
ดับร้อนได้อย่างชื่นใจ 

ครั้นบ่ายคล้อยไปสู่มืดค่ำ  ลมเย็นๆ  ก็โบกโบยอย่างน่ารัก  พลอยให้ชีวิตได้แช่มชื่น

          แต่พอตกดึก  เจ้าฝนหลงฤดูก็กลับมาเยือนอีกรอบ  คราวนี้ตกโปรยปรอยอยู่นานแสนนาน 
         
ราวกับกำลังทำตัวเป็นดนตรีแห่งราตรีกาล  กล่อมขับให้ชีวิตได้หลับฝันอย่างเป็นสุข

          ซึ่งมันก็จริงตามนั้น  เพราะไม่นานนัก  ผมก็หลับปางตาย

          มาตื่นอีกทีก็ดึกแสนดึก  จึงได้รู้ว่าเจ้าฝนหลงฤดูนั้นหนีหายไปแบบไม่ล่ำลา  ปล่อยให้ความหนาวเย็นเข้ามาแนบชิดอยู่ในห้องอย่างหน้าตาเฉย

 

          ครับ, เพียงวันเดียว  แต่ผมกลับมีโอกาสได้สัมผัสถึงความมหัศจรรย์ของธรรมชาติอย่างน่าหยิก 

          ไม่ถึง ๒๔ ชั่วโมง  ก็สามารถสัมผัสฤดูกาลได้ครบทั้ง ๓ ฤดู  
          
ครบรสชาติทั้ง ร้อน-ฝน-หนาว

          จะเรียกว่าธรรมชาติได้ให้ของขวัญแก่ชีวิตก็คงไม่ผิดนัก กระมัง

 

 

 

 

(๒)

 

 

ย้อนกลับไปยังภาคกลางวันของวันอังคารที่แล้วกันอีกสักยก (นะครับ)

          ผมใช้เวลาคลุกอยู่ในหมู่บ้านดอนมันหลายชั่วโมงเลยทีเดียว 

ทั้งผมและทีมงาน  พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพ่อกำนันอดิศร  เหล่าสะพานอย่างสนุก 

          ไม่เพียงความสนุกอย่างเดียวหรอกนะครับ  แต่ยังหมายถึงการได้รับรู้ถึงกระบวนการของการใช้ชีวิตอย่างมี ระบบคิด”  ของชุมชน

          โดยเฉพาะเรื่องของการจัดการ “น้ำ” นั้น ถือได้ว่าสนใจเอามากๆ  เพราะหมู่บ้านที่ว่านี้เป็นพื้นที่ดินเค็ม-น้ำกร่อย  ปลูกพืชผักก็ลำบาก  แถมน้ำกินน้ำใช้ก็มีไม่มากพอ

          ดังนั้น  คนในชุมชนจึงจับมือกันบริหารจัดการเรื่องน้ำในชุมชนอย่างเป็น “ทีม”

          โดยเริ่มจากการพยายามศึกษาถึงแนวทางของการปลูกพืชผักให้สอดรับกับสภาพดิน 
         
มีการเตรียมดินเตรียมผักอย่างมีระบบ  จนที่สุดแล้วก็สามารถปลูกผักปลอดสารพิษได้ตามเจตนารมณ์

          ขณะเดียวกัน  ก็มีการวางแผนเรื่องระบบน้ำไปพร้อมๆ กัน  โดยมีการขุดรอกสระไว้ใกล้ๆ กับพื้นที่การเพาะปลูก  เพื่อให้สะดวกต่อการดึงน้ำที่ว่านั้นไปใช้รดพืชผักอย่างไม่ขัดเขิน

พร้อมๆ กับการดึงไปจัดเก็บไว้ในถังประปาเล็กๆ ที่ทำขึ้นเองเพื่อส่งต่อไปยังครัวเรือนต่างๆ  ซึ่งมีการวิเคราะห์แผนระยะสั้นระยะยาวว่า  สระที่ขุดขึ้นนั้น  จะมีปริมาณน้ำใช้ได้นานแค่ไหน 

และย้ำถึงการใช้น้ำอย่างประหยัด  ทั้งในระบบการเกษตรและการใช้สอยในครัวเรือน
         โดยหากจะมีการขุดสระน้ำในแต่ละครั้ง  ชุมชนก็จะเป็นผู้ร่วมคิดร่วมกำหนดด้วยกัน 
        
ไม่ใช่ใครใคร่ขุดก็ขุด  ...ใครใคร่ใช้น้ำก็ใช้ตามอำเภอใจ

 

ครับ, ฟังดูเป็นกฎกติกาที่ชวนอึดอัดไม่ใช่น้อย 

แต่ผมก็ชื่นชอบนะ  เพราะมันหมายถึงการอยู่ร่วมแบบ “เป็นสุข” 
        
มีน้อยก็ร่วมใช้น้อย – แบ่งปันกันอย่างเสมอภาค

และที่สำคัญก็คือ  การตระหนักถึงการเป็นเจ้าของร่วมอย่างน่ายกย่อง 

ตลอดจนการคิดคำนึงถึงอนาคตของลูกหลานที่ต้องใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำในชุมชนไปในตัวด้วยเหมือนกัน


          ครับ, เกี่ยวกับกระบวนการของการบริหารจัดการเรื่องน้ำในชุมชนแห่งนี้  ผมถือได้ว่า  เป็นชุมชนที่มีการปฏิบัติการจริงอย่างน่ายกย่อง

เช่นเดียวกับการศึกษาสภาพดิน-สภาพน้ำ  และการศึกษาลักษณะพืชผักที่เหมาะต่อการเพาะปลูกในชุมชน  ก็ทำได้เยี่ยมยุทธ

ทำไปเรียนรู้ไป..
เรียนรู้ด้วยการลงมือทำ 
มีการถอดบทเรียนกันเป็นระยะๆ
 
และที่สำคัญคือการทำแบบเป็นทีม
– ตรงนี้ผมชื่นชมเอามากๆ  

รียกได้ว่าครบสูตรทั้งการเรียนรู้ก่อนทำ  (Learn  before)  เรียนรู้ระหว่างทำ (Learn

during)  และเรียนรู้หลังทำ (Learn after) 

          นี่สิ,  ผมถึงบอกว่า บ้านดอนมันเป็นอีกชุมชนของการจัดการความรู้ที่น่าสนใจมาก 
         
เป็นชุมชนแห่งนักปฏิบัติที่ยืนหยัดด้วยลำแข้งของตัวเอง  และยังพูดได้เต็มปากว่าสามารถเป็น
“ห้องเรียนชีวิต” ของใครๆ ได้อย่างไม่อาย

 

 

 

 

(๓)

 

 

ก่อนลาจากกันในวันนั้น  ผมถามพ่อกำนันฯ ว่า  น้ำดื่ม-ได้มากันอย่างไร”

          ซึ่งพ่อกำนันก็บอกกล่าวแบบตรงไปตรงมาว่า  “ดื่มน้ำฝน”

          ครับ,  ฟังดูยิ่งยิ่งต้องอึ้งกันไปใหญ่  หมู่บ้านที่พัฒนาแล้ว  กลับกลายเป็นหมู่บ้านที่ยังถือว่าขาดแคลนน้ำดื่ม 

          น้ำที่มีในหมู่บ้านเป็นน้ำกร่อย ดื่มกินกันไม่ได้  ที่ขุดเป็นสระนั้น  หลักๆ ใช้รดน้ำผักและใช้อาบใช้สอยทั่วๆ ไปในครัวเรือนเท่านั้น

          แต่ก็มีบางครัวเรือนยังต้องซื้อน้ำกินกันอยู่บ้าง

          แต่ส่วนใหญ่แล้ว  จะรองน้ำฝนไว้ดื่มกันทั้งนั้น  สังเกตได้จากแต่ละครัวเรือน  จะมีถังน้ำ หรือตุ่มน้ำใบใหญ่เรียงรายกันอยู่หลายใบ 

 

            พอถึงตรงนี้-ผมก็อดที่จะหวนคิดไปถึงชีวิตในวัยเด็กของตัวเองไม่ได้

          พอเข้าหน้าฝน  พ่อจะขึ้นไปบนหลังคาบ้าน  ทำการปัดกวาดใบไม้บนหลังคาให้เกลี้ยง 

          บางครั้งไม่แต่เฉพาะเศษดินเศษใบไม้เท่านั้นที่สุมทับกันอยู่บนหลังคาบ้าน  แต่ยังรวมถึงรังหนู รังนก และเศษซากสัตว์เล็กๆ แมลงเล็กๆ อีกหลายชนิด  ที่ดูยังไงผมก็ยังขนลุกอยู่ดี

          และเช่นเดียวกันนั้น  พ่อก็จะจัดแจงพาผมและพี่ๆ ล้างตุ่มน้ำ (โอ่งแดง)  กันอย่างสนุก 

          ลงไปเช็ด ไปถูให้เกลี้ยง ... อย่าให้เหลือคราบไคลใดๆ ทั้งสิ้น

          เสร็จจากนั้นก็ปิดด้วยฝาอย่างมิดชิด 

          แต่พอฝนแรกมาเยือน  พ่อจะยังไม่ให้เปิดมาตุ่มเพื่อรองรับน้ำเป็นเด็ดขาด  เพราะยังถือว่าเป็นการชะล้างหลังคา  จวบจนผ่านไปสักระยะนั่นแหละ  จึงค่อยเปิดฝารองรับน้ำไว้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

          ตอนนั้น ดึกแค่ไหน  พ่อก็ไม่เคยละเลยที่จะลงมาเปิดฝาตุ่ม  โดยไม่กลัวเกรงต่อห่าฝนและเสียงคำรามลั่นของฟ้า

          กระทั่งผมโตขึ้น  ผมก็ได้รับช่วงหน้าที่นี้มาอย่างภาคภูมิ 

          ไม่เพียงตื่นมาเปิดฝาตุ่มเท่านั้น  แต่ยังหมายถึงการขนน้ำฝ่าสายฝนขึ้นไปบนเรือนเพื่อเทใส่ตุ่มในครัวและห้องน้ำให้เต็มไว้ก่อน 

          ผมชอบบรรยากาศเช่นนี้มาก  ไม่ว่าจะเป็นกลางคืน หรือกลางวัน

          ถ้าไม่นับความสดชื่นของชีวิตจากสายฝน  ก็หนีไม่พ้น ความสะดวกสบายในเรื่องน้ำดื่มน้ำใช้นั่นเอง

          เพราะถ้ากักเก็บน้ำฝนได้มากๆ และนานๆ  ก็เท่ากับว่า  ไม่จำเป็นต้องลงแรงโยกบาดาลให้แขนล้า
          ไม่จำเป็นต้องขุดบ่อชักรอกให้มือพองมือแตก  ...
          รวมถึงไม่จำเป็นต้องลากสังขาร
ไปตัก ไปหาบ หรือไปเข็นมาจากที่ไกลๆ ให้เมื่อย

         

          ถึงแม้ทุกวันนี้  หมู่บ้านอันเป็นที่รักของผม  จะไม่เหลือริ้วรอยเช่นนั้นอีกแล้ว

          เพราะบัดนนี้  หมู่บ้านทั้งหมู่บ้าน  มีประปาชุมชนใช้อย่างไม่ติดขัด

          แต่การได้หวนคิดถึงเรื่องราวบางอย่างผ่านความเป็น “บ้านดอนมัน”  ในครั้งนี้

          ก็ช่วยให้ชีวิตเบิกบาน   มีความสุข   ได้เห็นคุณค่าของอดีตที่เรียบง่ายและแสนงาม

          และที่สำคัญคือ 

          ได้เห็นพลังชีวิตของชุมชนเล็กๆ  ที่ยังหยัดยืนอย่างมีสติ

          รู้ค่าของ “น้ำ”

          และบริหารจัดการเรื่อง “น้ำ”  ได้อย่างน่าทึ่ง

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 250896เขียนเมื่อ 25 มีนาคม 2009 22:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (22)

สวัสดีค่ะ

  • ขอนแก่นฝนตกช่วงเช้าวันนี้ค่ะ
  • ฝนตกบ้างดีได้คลายร้อนไปบ้าง..
  • สังเกตว่าปีนี้อากาศเปลี่ยนไปเปลี่ยนมานะคะ
  • เดี๋ยวหนาวจัด ร้อนจัด ฝนตก ...
  • รักษาสุขภาพค่ะ
  • อ่านแล้วรู้คุณค่าของน้ำเลยครับ
  • ฝนตกไหมครับวันนี้
  • ที่กาญจนบุรี
  • ตกเต็มเลย
  • หลานน้อยสบายดีไหมครับ
  • สวัสดีค่า
  • ฝนพรำฉ่ำใจไอฝน
    ฟ้าดลน้ำหลั่งรินไหล
    ดินชุ่มหญ้างามทันใด
    มองไหนเ็ย็นตาพาเพลิน
  • สวัสดีอาจารย์
  • เล่าทำให้มองเห็นภาพสภาพความจริงของหมู่บ้านได้ดี
  • ทำให้คิดถึงหมุ่บ้านอื่น ๆ ในอีสานที่มีปัญหาเรื่องน้ำ
  • ขอบคุณ

สวัสดีค่ะ คุณแผ่นดิน

น่าหยิกจริงๆด้วยที่คุณมีโอกาส
ได้เจอฤดูกาลถึง 3 ฤดูในคราเดียวกัน
กับแป๋มคงไม่น่าพิสมัยเท่าไหร่ เพราะตัวเอง
เป็น Indicator สำหรับสภาวะอากาศได้ดี (จนไม่น่าเชื่อ...แม่หมอ..)

กับการจัดการน้ำที่บ้านดอนมัน
แม้สภาพจะเปลี่ยนแปลงไปแล้ว
แต่การเล่าเรื่องย้อนอดีตวัยเด็ก
ที่พ่อและลูกๆช่วยกันล้างโอ่งแดง
ชวนให้นึกถึงตัวเองที่คุณตาเคยพา
พวกเราทำแบบนี้เช่นกันค่ะ..สนุก..สมวัยค่ะ.

ได้คุยกับคนแก่..ท่านบอกว่าถ้าฝนมาแบบนี้..ปีนี้แล้งแน่ๆ

เราก็ไม่อยากเห็นความแห้งแล้งเลยนะคะ

สงสารทุกคนที่ต้องการน้ำ

ภาพสวยมาก น่าจะมีรูป 2 กุมารเล่นดินเล่นน้ำ

ช่วยเขียน เจ้าเป็นไผหน่อย

ฟ้า ฝน เปลี่ยนแปลงไปหมด หรือ ฤดูกาลแบบเก่าจะใช่ไม่ได้แล้วนะ โลกเปลี่ยนแปรไปแล้ว ต้องตั้งฤดูกันใหม่มั้ง?

อ่านแล้วคิดถึงช่วงวัยเด็กเช่นกันค่ะ

เวลาฝนตก จะเอากะละมัง ถัง ไปรองรับน้ำ สนุกสนาน เปียกปอน

เห็นภาพนี้แล้ว คิดถึงอดีตปีกลายจังค่ะ

ทางใต้ ฝนกระหน่ำ หลงฤดูมาเช่นกัน ... ฝนตกทั่วฟ้า แล้วยามนี้ :)

อ่านแล้วซึมซับความหมายของน้ำ

น้ำจากฟ้า ที่ให้ความชุ่มช่ำ คลายร้อน

และไพร่ไปนึกถึงวิธีเก็บกักน้ำ และฝายชะลอน้ำโน่นไปเลย ค่ะ

ทำไมคิดไปไกลถึงนั้นไม่ทราบ

น้ำจากธรรมชาตื ถ้าสามารถเก็บกักไปใช้ประโยชน์ได้เยอะๆ น่าจะดีนะคะ

สวัสดีคอนเช้าค่ะ

ดอกคูนหน้าคณะวิทยาศาสตร์

บานสะพรั่ง...

แวะมาด้วยความคิดถึงค่ะ

มาส่งขนมหวาน...ให้หวานไปทั้งวัน 

อากาศสดชื่น...ฟ้าหลังฝนค่ะ

เมื่อคืนฝนตก

เช้านี้มาชวนเที่ยว....นะคะ

(¯`°.•°•.★* ตลาดนัดอาหาร *★ .•°•.°´¯)

            

สวัสดีครับ คุณน้อง-พิชชา

สบายดีนะครับ ขออภัยที่ตอบบันทึกช้าไปมากๆ ผมเองก็เพิ่งกลับจากการเดินทางไกล และนี่ก็ยังอยู่ระหว่างการเดินทางด้วยเช่นกัน

ปีนี้อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยมากครับ  พลอยให้คิดวิตกไม่ได้ว่า ธรรมชาติกำลังจะบอกอะไรกับเราบ้าง และเราควรรับมืออย่างไรกับสิ่งที่เราเกินหยั่งคิดได้

ปีนี้สงกรานต์กลับเชียงใหม่หรือเปล่าครับ  แต่ถึงอย่างไร ก็ขอให้มีความสุขกับวันปีใหม่ไทยของเรานะครับ

 

  • สวัสดีครับ อ.ขจิต ฝอยทอง

    ตอนนี้มหาสารคาม ฝนหายหย้าไปร่วมสัปดาห์แล้วครับ
  • อากาศร้อนตามแบบฉบับอีสานๆ ..
  • ขณะนี้ น้องดิน บวชเณรไปแล้ว..
  • ส่วนเจ้าจุก ..ขอเป็นเด็กวัดเช่นเคย ครับ

สวัสดีครับ. อ.เก็จถะหวา

ขอบคุณกลอนไพเราะๆ ที่นำมาฝากครับ..

สายฝน นำพาความชุ่มเย็นมาสู่ชีวิต..ก็ไม่แปลกครับ ที่คนเรามักเปรียบเปรยว่า ฤดูฝน คือฤดูกาลของการเริ่มต้นชีวิต

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ...ศรีกมล

อีสาน-ไม่แล้วก็น้ำท่วมเท่านั้นแหละครับ

สมัยเด็กๆ ไปโรงเรียน ยังต้องกรอกน้ำใส่ขวดน้ำปลา (ที่ล้างแล้ว) ไปดื่มที่โรงเรียน  สมัยนั้น  โรงเรียนยังไม่มีโอ่งน้ำ หรือถังน้ำขนาดใหญ่รองรับน้ำฝนให้นักเรียนได้ดื่มกิน  ที่มีอยู่ก็ชำรุด หรือไม่ก็สกปรก มีสัตว์ชนิดต่างๆ ตกลงไปตาย  โรงเรียนเองก็ไม่มีภารโรง ลำบากนักเรียนลงไปล้างถังกันยกใหญ่ ..

นั่นคืออีกหนึ่งความทรงจำที่เป็นรสชาติชีวิตของผมครับ

 

สวัสดีครับ ครูแป๋ม

ผมเองก็กล้ายืนยันได้ว่า...ชีวิตทุกวันนี้ ได้ดีก็เพราะอดีตแทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะอดีตอันเป็นวิถีการเรียนรู้ในบ้านเกิดเมืองนอนที่สอนให้อดทน ไม่โทษโชคชะตา ..กล้าและจริงจัง-จริงใจ

บางครั้งเหนื่อยกับบางเรื่องในปัจจุบัน การหวนคิดถึงอดีตอันดีงาม ก็เป็นประหนึ่งการเติมพลังใจให้กับตัวเองด้วยเช่นกัน

ขอบคุณนะครับ..
ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมเยียนอย่างสม่ำเสมอ

สวัสดีครับ.. add

ในทุกๆ ปี ผมเองก็มักได้ยินคนแก่เฒ่าพยากรณ์อากาศว่ายังไงเสีย ปีนี้จะแล้งกว่าทุกปี..ฟังแล้วก็ใจหาย  แต่ก็จริงนะครับ ผมเองก็รู้สึกว่าโลกร้อนขึ้นทุกปี  ยกตัวอย่างง่าย ๆ ในอดีต ผมเป็นคนสู้แดดมาก ใช้ชีวิตอยู่กลางแดด แบกหาม รับจ้างได้อย่างไม่สะทกสะท้าน แต่พอหลายปีมานี้ รู้สึกว่า แดดร้อนจัดขึ้น ต้องหลบร้อนเข้าร่มบ่อยๆ

นั่นคงไม่ใช่เพราะผมแก่ขึ้นกระมัง แต่น่าจะหมายถึง อากาศร้อนขึ้นจริงๆ...

สวัสดีครับ พ่อฯ 
ครูบา สุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์

สงกรานต์ที่ผ่านมาสองหนุ่มเล่นน้ำอย่างเมามันเลยทีเดียวครับ  ส่วนเรื่อง "เจ้าเป็นไผ"  ผมจะลองๆ เขียนดูนะครับ แต่ไม่รับรองว่าจะเป็นไปตามเป้าแค่ไหน..

สุขภาพแข็งแรงๆ ...นะครับ

สวัสดีครับ..ครู ป.1

จริงครับ ไม่มีอะไรจีรัง โลกเปลี่ยนไปทุกวัน ฤดูกาลก็ผันแปรไม่นิ่งไม่นอน พอๆ กับจิตใจของคนเรา ก็เปลี่ยนผัน วอกแวก จนเหนื่อยใจ

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ คุณปู poo

ตอนเด็กๆ หลังคารั่วครับ
พ่อกับแม่ พาเอากาละมังไปรองน้ำฝนที่หยดติ๋งๆ มาจากหลังคา
พาทีฝนตกฟ้าร้อง พ่อก็ลุกมาเคาะไม้เคาะเหล็ก ไล่ลมไล่ฝน
ดูแล้ว ราวกับกำลังเผชิญกับอะไรบางอย่างที่มองไม่เห็น-

แต่สิ่งนั้นมองเห็นเรา...

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ พี่ใบบุญ

ผมเองก็คิดถึงการลงแรงกับฝายแม้วที่เมืองปายไม่หาย  ถึงแม้จะไม่ค่อยได้ลงแรงกายกับใครนัก เพราะมัวแต่ยุ่งๆ กับการบันทึกภาพ แต่ก็จดจำความงดงามของงานและผู้คนได้เป็นอย่างดี

และสิ่งที่จดจำนั้น ก็เป็นความทรงจำอันดีงามของชีวิต...ของผมเอง

สุขกาย สบายใจนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท