นักข่าวพลเมือง


ครูฉิ้น บัวบาน : นักข่าวพลเมืองแห่งแดนทะเลน้อย

ครูฉิ้น   บัวบาน  :  นักข่าวพลเมืองแห่งแดนทะเลน้อย

 

โดย

สุจิตรา   หนูชู

ธนพร  อุเทนพันธ์

พิยดา  พิชัยยุทธ

วัชรินทร์  รุ่งทอง

 

            นายฉิ้น  บัวบาน  หรือเป็นที่รู้จักกันในนาม  ครูฉิ้น เกิดเมื่อปี  พ.ศ.  2498    ตำบลทะเลน้อย อำเภอควนขนุน  จังหวัดพัทลุง  ครูฉิ้นเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปกป้องดินแดนทะเลน้อยอันเป็นถิ่นฐานบ้านเกิด  จากกระแสสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป 

 

การสื่อสารของครูฉิ้นเพื่อแดนทะเลน้อย

 

                        ครูฉิ้นได้เริ่มต้นบทบาทของการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของทะเลน้อยด้วยตนเองเพียงลำพัง  อาศัยความรู้และความชำนาญของตนเองในการเลือกใช้สื่ออย่างหลากหลายเพื่อเป็นการกระตุ้นให้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสู่การช่วยกันอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของทะเลน้อย  จนมีโอกาสเข้าสู่การเป็นนักข่าวพลเมือง  ที่เป็นการทำข่าวของชุมชนและเพื่อชุมชน

 

        แนวคิด / แรงบันดาลใจ : กว่าจะเป็นนักข่าวของชุมชน

 


 

พื้นเพเดิมครูฉิ้นเป็นคนตำบลทะเลน้อย  จังหวัดพัทลุง  โดยตั้งแต่ตอนเด็กๆ  ครูฉิ้นได้สัมผัสและผูกพันกับวิถีธรรมชาติมาโดยตลอด    จนกระทั่งสามารถมองเห็นถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรในพื้นที่อย่างเป็นลำดับขั้น        ซึ่งกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ครูฉิ้นบอกว่า ทุกๆ  ปีทรัพยากรทางธรรมชาติของ


ทะเลน้อยจะถูกทำลายเรื่อยๆ  มีความเปลี่ยนแปลงไปในทางลบ  ทั้งการลดลงของทรัพยากรที่เกิดจากการบุกรุกและการทำลายของชาวบ้านในพื้นที่ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์  รวมถึงกลุ่มนายทุนผู้แสวงหาผลประโยชน์ ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตำบลทะเลน้อยเป็นแรงบัลดาลใจให้ครูฉิ้น ต้องลุกขึ้นมาเพื่อทำอะไรสักอย่าง  เนื่องจากไม่สามารถทนเห็นสภาพการทำลาย  การช่วงชิงผลประโยชน์สาธารณะ  ซึ่งเป็นพื้นที่บ้านเกิดของตน  เอาเป็นทรัพย์สินส่วนตัว

 

 

 

        นักข่าวของชุมชน

 

                จากสถานการณ์ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนทะเลน้อย  ทำให้ครูฉิ้นครูผู้ที่มีความรักและสนใจในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติมาตั้งแต่ต้น  ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้นและคิดหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว  โดยเริ่มต้นจากวิเคราะห์และรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสาเหตุของปัญหา  จนนำมาสู่การใช้สื่อในการรณรงค์อย่างเข้มข้นและเป็นรูปธรรม เพื่อให้คนหันมาใส่ใจและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในทะเลน้อย  ทั้งสิ่งที่อยู่ไกลตัวและใกล้ตัว  โดยมุ่งเป้าหมายไปที่คนในชุมชนในเขตพื้นที่ห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย 

 


 

ในปี  พ.ศ.  2527  ครูฉิ้นได้เริ่มการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมของทะเลน้อย  โดยเริ่มจากการหารือร่วมกับนักเรียนชั้นมัธยมปลายของโรงเรียนพนางตุง  เพื่อต้องการให้นักเรียนเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญเพื่อเป็นกลไกหลักในการสื่อสารกับคนในครอบครัว  และสมาชิกในชุมชน โดยการตั้งคำถามถึงประเด็นปัญหา


ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นกับทะเลน้อย  เพื่อให้นักเรียนคิดวิเคราะห์และต่อยอดคำถามนั้น  จนทุกคนรับรู้และเข้าใจตรงกันว่าปัญหานั้นเป็นปัญหาของทุกคน  และหันมาอนุรักษ์และฟื้นฟูทะเลน้อยร่วมกัน

                จะเห็นได้ว่าครูฉิ้นเริ่มต้นการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทะเลน้อยผ่านการใช้สื่อบุคคล  ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของครูฉิ้นเอง  ในการเป็นกระบอกเสียงเพื่อนำเสนอสภาพปัญหาไปสู่คนในชุมชน  เพื่อเป็นการกระตุ้นให้คนในชุมชนได้รับทราบถึงสภาพปัญหาและหันมามีจิตสำนึกในการร่วมกันอนุรักษ์ทะเลน้อยอันเป็นบ้านเกิดของทุกคน

                ไม่เพียงแต่การใช้สื่อผ่านตัวบุคคลเท่านั้น  ในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทะเลน้อยครูฉิ้นยังได้ทำโปสเตอร์  ป้ายประกาศ  และจดหมายข่าวของชุมชนทะเลน้อย  แต่จดหมายข่าวก็ไม่ใช่สื่อที่เหมาะสำหรับชุมชนนี้  เนื่องจากจดหมายข่าวไม่เป็นที่สนใจของคนในชุมชน  คนในชุมชนไม่ให้ความสำคัญกับการอ่านมากนัก  ครูฉิ้นจึงแก้ปัญหาโดยการให้เด็กนักเรียนอ่านจดหมายข่าวให้คนในครอบครัวฟัง  พร้อมทั้งติดตามผลด้วยวิธีการให้เด็กจดบันทึกการกระจายข่าวสาร  จะเห็นได้ว่าครูฉิ้นได้พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้คนในชุมชนได้รับทราบข้อมูลที่ครูฉิ้นพยายามนำเสนอและหันมามีส่วนร่วมในการฟื้นฟูและอนุรักษ์

                นอกจากนี้หอกระจายข่าวยังเป็นสื่ออีกช่องทางหนึ่งที่ครูฉิ้นนำเอามาใช้  แต่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้  เนื่องจากเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบหอกระจายข่าวไม่ได้เห็นถึงความสำคัญในสิ่งที่ครูฉิ้นต้องการนำเสนอ 

                ครูฉิ้นได้พยายามใช้สื่อในรูปแบบต่างๆ ข้างต้นอย่างเข้มข้นตลอดระยะเวลา  10  กว่าปี  ซึ่งก็มีทิศทางการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น  แต่ครูฉิ้นก็ไม่ได้หยุดเพียงเท่านั้น 

                ต่อมาในปี  พ.ศ.  2539  พื้นที่ทะเลน้อยได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ (Wetland  Inter)  เป็นพื้นที่แรกของประเทศไทย เมื่อวันที่  31  กันยายน  เมื่อโครงการนี้เข้ามาก็ได้งบประมาณในการพาคนชราในชุมชนไปศึกษาดูงานที่ป่าพรุโต๊ะแดงที่จังหวัดนราธิวาส  สาเหตุที่เลือกคนชราเป็นกลุ่มเป้าหมายในการศึกษาดูงานในครั้งนี้  เนื่องจากคนชราเหล่านี้  ในอดีตเคยเป็นผู้ที่มีส่วนทำลายป่าพรุ (ป่าเขียว)  และมองเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของป่าพรุมากที่สุด   เพื่อที่จะให้กลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ได้กลับมาเป็นสื่อในการพูดคุยกับคนรุ่นหลังในชุมชนในการร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าพรุ

                วิธีการศึกษาดูงานถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ครูฉิ้นใช้เป็นสื่อ  ในการถ่ายทอดให้กับกลุ่มเป้าหมายได้รับทราบถึงสภาพปัญหา  โดยครูฉิ้นมองว่าการศึกษาดูงานจะทำให้มองเห็นแนวทางในการพัฒนาและสามารถนำกลับมาประยุกต์ใช้กับการฟื้นฟูป่าพรุทะเลน้อย

                ปี  พ.ศ.  2545   ครูฉิ้นได้ทำสื่อเป็นชุดการเรียนรู้เรื่องการฟื้นฟูและการอนุรักษ์เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย   สำหรับเด็กชั้นประถมศีกษา  ที่ประกอบด้วย  โปสเตอร์  วีดิโอ  เทป  บรรจุเป็นกล่องและแจกตามโรงเรียนที่อยู่บริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อยเป็นหลัก 

                จะเห็นได้ว่าชุดการเรียนรู้เป็นสื่อที่ครูฉิ้นทำขึ้น  โดยมุ่งส่งสารไปยังกลุ่มเป้าหมายกลุ่มใหญ่ที่เป็นเด็กนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษา  ภายในบริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อยซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมาย  อันเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์ตั้งแต่วัยเด็ก

                ปี  พ.ศ.  2548  ครูฉิ้นได้มีโอกาสเข้าไปจัดรายการวิทยุของ  อสมท.  เรื่องการอนุรักษ์ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา  และแผนแม่บทชุมชน เนื่องจากครูฉิ้นมีความสนใจด้านสิ่งแวดล้อม  และเล็งเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ทะเลสาบสงขลาสามารถเชื่อมโยงมาสู่ปัญหาของทะเลน้อยได้เช่นกัน โดยครูฉิ้นได้ใช้งบประมาณส่วนตัวในการเช่าชั่วโมงสำหรับการออกอากาศ  แต่ก็ทำได้ไม่นาน  เนื่องจากไม่สามารถสู้ราคาในการเช่าชั่วโมงออกอากาศได้

                ถึงแม้วิทยุชุมชนจะเป็นสื่อที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ทุกเพศทุกวัย  แต่มีข้อจำกัดในเรื่องของงบประมาณที่มีราคาสูง  ประกอบกับขาดผู้สนับสนุนในด้านงบประมาณ  ทำให้ครูฉิ้นไม่สามารถใช้สื่อชนิดนี้ต่อไปได้

               จากการที่ครูฉิ้นได้เลือกใช้สื่อในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายหลากหลายรูปแบบ  ไม่ว่าจะเป็นบุคคล  จดหมายข่าว  โปสเตอร์  ป้ายประชาสัมพันธ์  หอกระจายข่าว  การศึกษาดูงาน สื่อการเรียนรู้  และวิทยุชุมชน  ก็ล้วนที่จะมุ่งให้กลุ่มเป้าหมายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยการหันมาอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่ห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย 

                ครูฉิ้นจึงเปรียบเสมือนนักข่าวของชุมชน  ที่คอยแจ้งข่าวสาร  และสะท้อนปัญหาของชุมชนออกมาในฐานะคนในพื้นที่ที่มีความรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของทะเลน้อย

        ย่างก้าวสู่การเป็นนักข่าวพลเมือง

 

                หลังจากที่ครูฉิ้นได้มีโอกาสสื่อสารกับคนในชุมชนโดยการใช้สื่อในรูปแบบต่างๆ แล้ว  ครูฉิ้นก็ได้มีโอกาสผันตัวเองสู่การเป็นนักข่าวพลเมืองอย่างเต็มตัว

                ในปี  พ.ศ.  2550  ไทย  PBS  มีแนวคิดเพื่อต้องการให้ประชาชนใช้เป็นสื่อช่องทางในการเสนอข่าวสารในชุมชน    ซึ่งก็สอดคล้องกับความต้องการของครูฉิ้นที่ต้องการนำเสนอสภาพปัญหาของทะเลน้อย  ให้สังคมภายนอกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับรู้ถึงปัญหาและหันมาใส่ใจและร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น 

 


          

 

ครูฉิ้นเชื่อว่า  การใช้สื่อทางโทรทัศน์นั้นเป็นสื่อที่มีอิทธิพลและมีคุณภาพที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด  ทั้งตัวบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  สื่อโทรทัศน์สามารถเข้าถึง / กลุ่มเป้าหมายได้ดีที่สุด    เพราะเป็นสื่อที่ได้รับความนิยมและแพร่หลายในสถานการณ์ปัจจุบัน 


เพราะครูเห็นว่า  ทีวี  จะเป็นสื่อที่มีอิทธิพลและคุณภาพมากที่สุด  สามารถเข้าถึงคนได้มากที่สุด  เพราะคนชอบดูทีวี  ประมาณร้อยละ  80  ตาได้ดู  หูได้ฟัง  เป็นสื่อที่มีคุณภาพ  และเป็นสื่อที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด 

                ครูฉิ้นได้เริ่มต้นการทำข่าว  โดยได้ร่วมมือกับเด็กนักเรียนระดับ ม.ปลาย ที่โรงเรียนอุดมวิทยายนต์  ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของครูฉิ้นเอง  จำนวน 8 คน  เพื่อจะได้ร่วมกันขับเคลื่อนการแก้ปัญหาได้ดียิ่งขึ้น  โดยได้ส่งเด็กไปเข้ารับการฝึกอบรมเรื่องการทำสื่อ  ทำสารคดี  การตัดต่อที่ไทย PBS  จัดขึ้น   ไทย PBS  เขาคิดว่ามีข่าวอีกมากที่นักข่าวเข้าไม่ถึง  ส่วนสถานีที่มีอยู่แล้ว  ข่าวร้ายออกฟรี  ข่าวดีเสียเงิน  ตัวครูเองเป็นนักข่าวพลเมืองที่ทำเกี่ยวกับข่าว  มีรายละเอียดสรุปภายใน  2  นาที  เขาฝึกอบรมให้ทำทุกอย่าง

                ครูฉิ้นได้เริ่มการทำข่าวเรื่องแรก  คือ เรื่องหมอชาวบ้าน  เรื่องต่อมา คือ เรื่องควายทะเล            ที่ครูฉิ้นต้องการสะท้อนให้เห็นว่า  เมื่อเกิดปัญหาน้ำท่วมความจะไม่มีหญ้ากินเลยต้องดำน้ำไปกินหญ้าใต้น้ำ  เพื่อความอยู่รอดของชีวิต  อันเกิดมาจากความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติของทะเลน้อย เรื่องต่อมา  คือ เรื่องปาล์มยิกควาย  ครูฉิ้นต้องการสะท้อนให้เห็นว่า  ได้มีนายทุนเข้ามาลงทุนทำสวนปาล์มลุกล้ำเข้ามาในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อยมากขึ้น  จนแปรสภาพจากพื้นที่ป่าเสม็ดที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติกลายเป็นสวนปาล์มที่เป็นธุรกิจของมนุษย์  และเรื่องสุดท้าย  คือ  เรื่องผักกะเฉด  ที่ครูฉิ้น ต้องการสะท้อนให้เห็นว่า  ผักกะเฉดเป็นพืชที่ขยายพันธุ์เร็วในทะเลน้อย  ซึ่งผักกะเฉดจะมีรากลึกลงไปในดินใต้น้ำทำให้เรือไม่สามารถแล่นผ่านได้  สัตว์น้ำก็จะน้อยลงไป 

                ข่าวทั้ง 4 เรื่องที่ครูฉิ้นได้นำเสนอในรายการที่นี่ทีวีไทย  ที่ออกอากาศในวันจันทร์ ศุกร์  ในระยะเวลา 2 นาที  ซึ่งล้วนแต่ต้องการสะท้อนให้เห็นถึงสภาพปัญหาในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย  ทั้งที่เป็นปัญหาที่เกิดในชุมชนเอง  และเป็นปัญหาที่เกิดจากภาจนอกชุมชนที่ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติของทะเลน้อยเสื่อมโทรมลง 

ผลจากการนำเสนอข่าวทั้ง 4 เรื่องของครูฉิ้น  ทำให้คนทั้งภายในและภายนอกชุมชนรับทราบข้อมูลข่าวสารที่ครูฉิ้นต้องการนำเสนอ  ซึ่งก็ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น  หน่วยงานท้องถิ่นมีการตื่นตัวสำหรับการเข้ามารับผิดชอบในการแก้ไขปัญหามากขึ้น  คนในชุมชนก็มีทิศทางในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสู่การอนุรักษ์มากยิ่งขึ้น  ครูได้เอารูปถ่ายให้ สมเด็จพระเทพฯดู หน่วยงานต่างๆ  ก็เต้นผางๆ  เรื่องผักกระเฉดก็เมื่อออกทีวีแล้ว  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น  อบจ.  กรมเจ้าท่า  พาณิชย์ราชนาวี  และทางอำเภอก็ออกมาจัดการ  และเรื่องปาล์มยิกควาย  เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อยก็ได้ทำการตรวจสอบการบุกรุกการทำสวนปาล์มของนายทุนมากขึ้น 

จะเห็นได้ว่าการสื่อสารของครูฉิ้นที่เลือกใช้โทรทัศน์เป็นสื่อช่องทางนั้น เป็นวิธีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ และเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายที่มีจำนวนมาก  สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ทุกเพศทุกวัย  เนื่องจากสื่อโทรทัศน์เป็นสื่อช่องทางที่เป็นที่นิยมของคนในปัจจุบัน  กลุ่มเป้าหมายสามารถรับรู้  รับทราบข้อมูลผ่านสื่อด้วยประสาทสัมผัสทั้ง  2   ด้าน   ทั้งตาดู   หูฟัง   และกลุ่มเป้าหมายเหล่านั้นสามารถรับทราบข้อมูลได้พร้อมกันและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน สื่อโทรทัศน์เป็นสื่อช่องทางที่มีอิทธิพลจนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนในชุมชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการหันมา ร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของทะเลน้อย   ทั้งนี้สื่อโทรทัศน์เป็นสื่อที่ครูฉิ้น เลือกใช้   ทำให้ประสบความสำเร็จและได้รับการตอบรับจากชุมชนและหน่วยงานมากที่สุด

 

ปัจจุบันของครูฉิ้นกับบทบาท  ครูนักอนุรักษ์

 

                ปัจจุบันครูฉิ้นยังคงเดินทางบนเส้นทางแห่งอุดมการณ์ของตนเอง  ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างไม่หยุดยั้ง

 


             

จากความพยายามของครูฉิ้นในการใช้สื่อต่างๆ สำหรับมุ่งเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนในชุมชน  ทำให้คนในชุมชนหลายคนหันมาให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกับครูฉิ้น

มากขึ้น

หมายเลขบันทึก: 247524เขียนเมื่อ 10 มีนาคม 2009 19:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 เมษายน 2012 14:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ครูฉิ้นผู้ชนะสิบทิศ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท