ตอนที่ ๑๓ สำหรับพระใหม่ ห่มจีวร เหนื่อยมาก...ขอบอก


คราวนี้ขยับไม่กี่ทีมือขวาก็เมื่อย แขนซ้ายก็เมื่อย แล้วก็เริ่มเหนื่อย แต่ผ้ายังม้วนไปไม่ถึงไหน (ผ้าผืนหย่ายมากครับ) ในที่สุดพระใหม่ก็ต้องลดแขนลงมาหอบหายใจกันทุกรูป

จีวรเป็นผ้าผืนใหญ่มากครับ รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า (สำหรับพระธรรมยุติ สีจีวรจะออกคล้ำๆ หน่อย ไม่สีแป๊ดเหมือนสายมหานิกาย)  เห็นสีเดียวกันทั้งผืนแบบนี้ แต่มีด้านหน้าและด้านหลังนะครับ โดยมีเครื่องหมายเป็นแถบสี่เหลี่ยมเล็กๆ เย็บติดอยู่ใกล้ขอบผ้า ด้านที่มีแถบนี้คือด้านใน และยังมีด้ายติดเป็นวงเล็กๆ ตรงกลางด้านยาวของผ้า ช่วยเป็นเครื่องหมายบอกจุดกึ่งกลางผ้า และบอกด้วยว่าเป็นด้านบนของผ้า

                เวลาจะห่มก็ต้องสังเกตหาด้ายเล็กๆ ตรงกึ่งกลางนี้ กับดูว่าเป็นด้านนอกหรือด้านใน เพื่อจับผ้าเอาด้านบนห่มไว้ทางศีรษะ แล้วห่มผ้าจีวรคลุมตัว (เอาด้านในเป็นด้านติดกับตัวเรา)  เนื่องจากผ้าผืนใหญ่มาก ชายผ้าจะกองแผ่ไปหลายคืบ  ก็ไม่ต้องสนใจ  จับปลายผ้ามาชนกันด้านหน้าเรา  จากนั้นค่อยๆ ม้วนปลายมุมผ้าด้านบน โดยใช้มือจับจีบให้เป็นวงเล็กๆ แล้วม้วนทบเข้ามาเรื่อยๆ ๆ ๆ ให้ทบกันแน่นๆ ๆ ด้วยนะครับ

ครั้งแรกที่ม้วนตรงนี้ นิ้วจะเกร็งมากครับ เพราะต้องจับบังคับวงให้เล็กที่สุด และผ้าใหม่ก็แข็ง ทบไปทบมาบางทีนิ้วหลุด ผ้าหลุดต้องม้วนใหม่อีก  เรียกว่าต้องใช้ความพยายามสูง ถึงกับทำให้ท้อง่ายๆ (วันหลังๆ เมื่อได้ซักจีวรแล้ว ผ้าก็นิ่มขึ้น ช่วยให้ขั้นตอนนี้ง่ายขึ้น บวกกับการมีรอยพับเดิมอยู่แล้ว)

ตอนม้วนนี้บางคนก็ถนัดม้วนผ้ากันกลางอากาศเลย ส่วนผมถนัดเอามาวางไว้แนบอกแล้วใช้อกเป็นพื้นสำหรับม้วนผ้า รู้สึกว่าม้วนง่ายขึ้น  

พอม้วนมาได้ระยะหนึ่งแล้ว (ซึ่งจะมีจุดสังเกตบนผ้าจีวร) ปลายผ้าจะม้วนเข้ากันเป็นลำ  (คิดถึงว่าคล้ายๆ ม้วนกระดาษก็ได้) แต่จะเป็นลำช่วงบนๆ ของผ้า คราวนี้เราต้องม้วนปลายผ้าที่เหลือทั้งหมดซึ่งยังกองอยู่เข้ามาด้วย  ตรงนี้ละครับ เป็นเรื่อง! เราต้องใช้มือซ้ายจับปลายผ้าที่ม้วนแล้ว จากนั้นยกแขนซ้ายขึ้นเฉียงๆ ออกไปจนสุด แล้วใช้มือขวาช่วยขยับจับตรงกลางผ้า ขยับมือจับผ้าม้วนเข้าๆๆๆ  ส่วนแขนซ้ายก็ต้องจับผ้าเกร็งแขนชูไปนะครับ อย่าลดแขนลงมา  

โดยส่วนตัวผมเรียกท่านี้ว่า ท่าเทพีเสรีภาพชูคบไฟครับ คิดว่าคงช่วยให้ท่านนึกภาพออกนะครับ

คราวนี้ขยับไม่กี่ทีมือขวาก็เมื่อย แขนซ้ายก็เมื่อย แล้วก็เริ่มเหนื่อย แต่ผ้ายังม้วนไปไม่ถึงไหน (ผ้าผืนหย่ายมากครับ) ในที่สุดพระใหม่ก็ต้องลดแขนลงมาหอบหายใจกันทุกรูป  ลดมาไม่ดี หรือเผลอปล่อยมือ หลุดอีก...ทำไง..ก็เริ่มต้นใหม่อีกครั้ง และอีกครั้งครับ

เอาละ หลังจากหลุดไปหลุดมา ในที่สุดก็จะผ่านมาได้จนผ้าม้วนเข้ามาเป็นแถบลำตลอดชายแล้ว ก็ถึงขั้นที่อยากเรียกว่าเป็นการตลบม้วนไปด้านหลัง เพื่อล็อกจีวรให้คงรูป  (อธิบายยากมากครับ อยากให้เห็นภาพเอง)  ตอนแรกก็ต้องลดแขนซ้ายลงมา แล้วปล่อยมือที่จับปลายม้วน ตรงนี้พระใหม่ส่วนใหญ่ไม่กล้าปล่อยมือ เพราะกลัวม้วนหลุด แต่ไม่หลุดครับ ถ้าม้วนมาอย่างแน่นดีแล้ว จากนั้นใช้มือขวาจับม้วนผ้าสบัดม้วนข้ามไหล่ซ้ายไป ผ้าจะตลบกลับแล้วลำม้วนผ้าจะพาดมาอยู่ระหว่างแขนซ้ายกับลำตัวเรา

ขั้นสุดท้ายนี้ สำหรับวันแรกๆ พระใหม่ส่วนใหญ่ทำเองไม่ค่อยได้ ต้องให้พระพี่เลี้ยงช่วยตลบให้ ถ้าตลบไม่ดี ตรงบริเวณไหล่ซ้ายซึ่งจะมีส่วนของจีวรที่ห่มคลุมไว้ตั้งแต่แรกนั้น เลื่อนหลุดออกไปได้ ทำให้ไหล่ซ้ายเปลือย ต้องเอามือขวาไปล้วงดึงผ้ากลับมาปิดไหล่

ตรงม้วนผ้า นี้หากใครเคยสังเกตพระดีๆ ก็จะเห็นครับ ว่าที่แขนซ้ายท่านจะมีลำม้วนของจีวรอยู่แนบกับแขน ซึ่งพระจะใช้มือซ้ายจับปลายม้วนไว้ เหมือนจับคันบังคับ สำหรับล็อกจีวรไว้ไม่ให้หลุด

ถึงตรงนี้อ่านแล้วเหนื่อยไหมครับ แค่นึกถึงตอนนั้นผมเองก็เหนื่อยเหมือนกัน

รายละเอียดยังมีอีกครับ คือตอนท่าเทพีเสรีภาพ ถ้าเราชูแขนเฉียงน้อยไป เวลาเสร็จแล้ว ชายผ้าจีวรด้านล่างอาจจะยาวไป จะทำให้เวลาเดินแล้วติดเท้า หรือถ้าเฉียงไป ชายผ้าก็สั้นเต่อไป ดูไม่ดี อีก

ส่วนใหญ่พระใหม่มีปัญหาคือมักจะม้วนผ้าไม่แน่น ทำให้จีวรหลุดได้ง่ายๆ  หรือดูแล้วไม่เรียบร้อย เพราะผ้าจะเป็นขยุ้มๆ ไม่เป็นลำม้วนเรียบๆ

                การห่มจีวรนั้นยังแบ่งเป็นสองวิธี คือห่มคลุม (ไม่เห็นไหล่ทั้งสองข้าง) กับห่ม..(อ้าวดูสิ ลืมไปแล้วว่าเรียกอะไร ขอติดไว้ก่อนแล้วกัน) คือห่มแบบเห็นไหล่ข้างขวานะครับ

                ห่มคลุมใช้เวลาพระออกนอกวัด จะไปบิณฑบาตร หรือไปกิจนิมนต์นอกวัด ก็จะต้องห่มคลุม ฆราวาสจะเห็นพระที่อยู่นอกวัดในชุดห่มคลุมแบบนี้เสมอ  ส่วนห่มแบบเห็นไหล่นั้นเฉพาะสำหรับเวลาอยู่ในวัด

                วันแรกๆ พระใหม่หลายคนท้อมากกับการห่มจีวรนี้ครับ แต่ผ่านไปก็คล่องขึ้นเรื่อยๆ โชคดีที่วันแรกๆ เราห่มคลุมด้วยผ้าจีวรผืนเดียว แต่วันหลังพระอาจารย์ก็บอกว่าต้องห่มสองผืน ซึ่งตามกฎแล้วการห่มคลุมต้องห่มสองผืนครับ !  โชคดีว่าตอนนั้นพระใหม่ห่มคล่องแล้ว มานึกว่าถ้าวันแรกต้องห่มสองผืน จะเมื่อยกันขนาดไหน

                พอห่มจีวรได้คล่องพอควรแล้ว ผมอดสงสัยไม่ได้ว่า ใครหนอเป็นคนคิดวิธีห่มจีวร เพราะเป็นวิธีที่ฉลาดมากอย่างไม่น่าเชื่อ ผ้าสี่เหลี่ยมผืนเดียว ไม่ต้องมีกระดุม ไม่ต้องใช้เข็มกลัด ห่มเปิดไหล่ก็ได้ ห่มคลุมไหล่ก็ได้ ...และสิ่งสำคัญ พอถึงวันหลังๆ ขณะห่มจีวร เป็นช่วงเวลาหนึ่งที่เราจะได้ฝึกสติได้ดียิ่งครับ

                สติหลุด ม้วนหลุด เริ่มตั้งสติกันใหม่

                วิถีของเพศบรรพชิต จึงเป็นวิถีที่ทำให้เราต้องฝึกสติอยู่ตลอดเวลา...ยังมีตัวอย่างอีกเยอะซึ่งจะนำมาเล่าต่อๆ ไปครับ

หมายเลขบันทึก: 246824เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2009 01:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

มีอีก 2 แบบที่เคยเห็นพระท่านห่มครับ

1. ห่มเหมือนวันแรกที่เราออกอุโบสถ์ใหม่ๆ หรือ คล้ายๆกับทางวัดธรรมกาย ห่มกัน ที่บ้านผมเข้าเรียก"ห่มดอง"

2. อีกแบบบ้านผมเรียก ห่มมังกร ห่มคล้ายห่มคลุม ต่างกันตรง ผ้าที่ม้วนเข้าหากันพระท่านเอามาม้วนคล้องที่แขนซ้ายคล้ายๆมังกรเลื้อยนะครับ ส่วนใหญ่เคยเห็นแต่พระในกรุงเทพฯ

ขอบคุณคุณ Arunrung ที่ให้ความรู้เพิ่มครับ ห่มดองผมเคยได้ยินเหมือนกัน ส่วนห่มมังกรยังนึกไม่ออก อาจจะเป็นแบบม้วนที่ยาวมาก แล้วพาดแขนมา ถ้าแบบนี้เป็นแบบห่มปกติ เพียงแต่ทำม้วนได้ยาวมาก มีอยู่บางวันที่ผมก็ทำได้เหมือนกันครับ โดยเฉพาะตอนห่มคลุมผ้าจะม้วนเป็นลำใหญ่มากเพราะเป็นผ้าจีวรสองผืนทบกัน

วันทามารีอา เปี่ยมด้วยพระหรรษทาน

พระสวามีสถิตกับท่าน ผู้มีบุญกว่าหญิงใดๆ

และพระเยซูโอรสของท่าน ทรงบุญนักหนา

สันตะมารีอา มารดาพระเจ้า

โปรดภาวนาเพื่อเราคนบาป บัดนี้และเมื่อจะตาย

ื อาเมน....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท