เล่าเรื่องต่อ..สุขที่ใจในการทำงาน


ทุกครั้งเมื่อเสร็จสิ้นการทำงาน เรามีความสุขและอิ่ม"ใจ" มาก

       เมื่อเราๆ พี่ๆน้องในที่ทำงานเริ่มเปิดใจเข้าหากันในการทำงาน โดยที่เราไม่ได้ทำ OD อะไรเลย เพราะหลายปีก่อนๆ เพราะมักมัวแต่คิดว่า "ทำไม..เพราะอะไร .."(สำนวนพี่เบิร์ด) มีปัญหามากๆ ก็ทำ OD แต่ไม่มีอะไรดีขึ้นเลย ปัญหาก็ยังมีอยู่..

       หากเมื่อเราเปลี่ยนมุมมองในการทำงาน (จริงๆ ทุกคนก็มุมมองเดียวกันหากแต่ไม่ได้ลงมือทำตามมุมมอง...)ใช้ "ใจ" ในการทำงานมากขึ้น เริ่มไม่สนใจเกณฑ์ที่มี ที่โรงพยาบาลกำหนด ควบคุม เราเกือบทุกคนไม่สนใจ จนบางครั้งเราถูกมองว่า "จิตเวช" ไม่ให้ความร่วมมือ จากการมองนั้นไม่ใช่ว่าเราไม่ใส่ใจ แต่ในตอนนั้นเราคิดแต่เพียงว่า เราขอกู้ "ใจ" คนทำงานให้กลับมาหนึ่งเดียวกันก่อน แม้จะใช้เงื่อนเวลามากและนานแค่ไหนก็ตาม เกณฑ์ที่มีและถูกกำหนด ทำให้ "เรา" รู้สึกเครียดในการทำงาน อาจเป็นเพราะมุ่งหวังอยากได้ "HA" หรือคุณภาพมากเกินไปหรือเปล่าไม่แน่ใจ แต่ก็ทำให้เราอึดอัดและไม่มีความสุขในการทำงาน เราเริ่มไม่สนใจ แต่เราทุ่ม "ใจ" มาที่งานและ "ผู้ป่วย" มากกว่า เราจะช่วยกันคิดในแต่ละวันที่มี case มา ว่าเพราะอะไรและทำไม case ถึงไม่ดีขึ้น หรือที่ดีขึ้นนั้นเพราะอะไร ขั้นตอนการทำงานอะไรที่ติดขัด สะดุดบ้าง แล้วเราจะทำอย่างไรดี เราใช้การพูดคุยกันมากขึ้น หลังจากที่เราย้ายมานั่งรวมกัน และมีโต๊ะกลางมานั่งคุยกันยามว่าง(หากเปิดอ่านบันทึกก่อนหน้านี้จะเห็นภาพบรรยากาศ) ทำให้เราใกล้ชิดกันมากขึ้น และข้อสังเกตที่เราพบสิ่งที่เราคุยกันนั้นส่วนใหญ่มักคุยกันเรื่องงาน เรื่องคนไข้ ไม่เคยได้ยินใครนินทาใคร นี่แหละคะคือ สิ่งที่ดิฉันรู้สึกภูมิใจในเพื่อนร่วมงานเป็นอย่างยิ่ง

       เมื่อถึงคราวที่เขามาประเมิน HA ที่กลุ่มงาน ซึ่งเป็นการประเมินตนเอง และประเมินภายในโรงพยาบาล เราไม่กังวลอะไรเลย ถึงแม้ว่าเรื่องเอกสารจะเป็นดิฉันรู้เรื่องอยู่คนเดียวก็ตาม(เมื่อก่อนเราจะกังวลเอาเอกสารมาช่วยกันอ่านล่วงหน้า-เพื่อคอยตอบคำถาม)  แต่ทุกวันนี้เราเชื่อว่าเราตอบคำถามต่างๆ ได้...เมื่อคณะกรรมการมาประเมิน "โจทย์"นี้ดูเหมือนท้าทาย สุดท้ายเมื่อการประเมินผ่านไป...เราทุกคนก็ตอบคำถามคณะกรรมได้โดยที่ไม่ต้องเตรียมอะไรกันก่อนเลย ...เพราะอะไรเหรอ? ก็เพราะว่าเอกสาร HA ที่ดิฉันเขียนและจัดทำขึ้น รวมทั้งแบบประเมินตนเอง ดิฉันเขียนขึ้นจากการทำงานของทุกคนอย่างแท้จริง ดิฉันใช้การทำงานของแต่ละคนเป็นตัวตั้ง แล้วเขียนเอกสารตามตัวตั้งนั้นภายใต้กรอบวิชาการ ลองทำดูน่ะคะ เพราะปกติเราจะใช้กรอบวิชาการเป็นตัวตั้งตามเกณฑ์ที่ส่วนกลางกำหนด(เช่นตามกรอบ/เกณฑ์ HA) แต่คราวนี้ดิฉันใช้การวิเคราะห์จากการทำงานของแต่ละคน แล้วค่อยมาเขียนเอกสาร การทำงาน

       จากที่ลองทำ..มองว่าได้ผลคะ ทุกคนไม่เครียดอย่างเมื่อก่อนที่คอยทำตามกรอบ แต่ทำงานเป็นไปอย่างธรรมชาติ เพราะทุกคนทำงานด้วย "ใจ" อยู่แล้ว จึงไม่กังวลที่จะทำ"หน้าที่"..แต่หากทำหน้าที่ที่เป็น"ธรรม"ชาติ มากกว่า ผลลัพธ์ที่มองว่าได้ผลนั้น ประเมินได้จาก ใครจะมาประเมินอะไร..ก็มาประเมินเถอะ..เราก็ตอบตามความเป็นจริงที่เราทำ เพราะเราทำงานกันจริงๆ ไม่ใช่สักแต่ว่าทำไปวันๆ หากเริ่มทำอย่างเป็นธรรมชาติของเรามากขึ้น ไม่ยึดติดอยู่ที่กรอบ หากยึดอยู่ที่ "ผู้ป่วย" ที่มาหาเรา "ใจ" ไปตรงนั้นมากกว่า เพราะ"สุขใจ" กว่าคอยทำตามกรอบและเกณฑ์ เราเลือกที่จะทุ่มเทไปตรงมากกว่า เพราะทุกครั้งเมื่อเสร็จสิ้นการทำงาน เรามีความสุขและอิ่ม"ใจ" มาก

 

 

หมายเลขบันทึก: 24614เขียนเมื่อ 20 เมษายน 2006 12:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2013 12:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
     เมื่อเราทำงาน โดยถือว่าเป็นหน้าที่ของชีวิต งานนั้นก็เนียนเข้าไปในเนื้อของชีวิต เป็นชีวิต เราจึงมีความสุขได้เพราะเหมือนเราทำหรือเราจัดการกับชีวิตเราเอง เราจึงมีความสุข เพราะเราได้คิดว่าเป็นชีวิตของเราเอง...ว่าไหมครับ

                        " ศัพท์ หรือ แก่น ในการทำงาน "

ตอนที่ไปเที่ยวภูใจใส ตอนเช้าที่นั่นมีไอหมอกเรี่ยดิน และมีเมฆลอยบางๆ อยู่เหนือพื้นเนื่องจากเป็นพื้นที่สูง ..เห็นแล้วก็นั่งคิดว่า อะไร..คือหมอก อะไร..คือเมฆ ซึ่งในการเรียนรู้ที่ผ่านมา เรารู้ว่าหมอกคือไอน้ำที่ลอยอยู่เหนือพื้นดินแต่ไม่สูงเท่าเมฆ..  ส่วนเมฆคือไอน้ำที่ลอยอยู่บนท้องฟ้า

แต่ในส่วนที่เป็นพื้นที่สูง..หมอกคือเมฆหรือเมฆคือหมอกได้หรือไม่ ? และทั้งสองสิ่งนี้จริงแท้แล้วคือ " ไอน้ำ " ทั้งคู่ใช่มั้ย ..เมื่อใดก็ตามที่เราตั้งชื่อให้แก่ธรรมชาติ เราจะสอดใส่เอาบริบทหรือปัจจัยที่แตกต่างเข้าไปจนบางครั้งเราลืม " แก่น " ของสิ่งนั้น  ..การกำหนดศัพท์เพื่อเรียกขานสิ่งต่างๆทำให้เกิดการกำหนดขอบเขต..กำหนดกฎเกณฑ์มากมายเพื่อการปฏิบัติ แต่จริงแท้แล้วเรากำลังลืม " แก่น " ที่แท้จริงไปหรือไม่ ? อย่างเช่น " แก่นของการทำงาน " ที่ควรเป็นการทำงานเพื่อ

" การชนะตัวเราเอง...

    ...การทำให้ผู้อื่นได้รับรู้และได้รับผลดีจากพลังแห่งการสร้างสรรค์ของตัวเรา

       ...และเรียนรู้ถึงการทำงานร่วมกัน "

"คุณภาพ " ก็เปรียบเหมือน " ไอน้ำ " ที่มีแนวคิดของการพัฒนาคุณภาพหลากหลาย มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป ถ้าเราไม่คืน " แก่น " ให้กับหลักการสำคัญของการพัฒนาคุณภาพ เราก็จะถูกสิ่งสมมติบดบังความเข้าใจที่แท้จริง.. เพียงเพราะเราเรียกชื่อไม่เหมือนกัน ..หลุดพ้นจากชื่อสมมติเมื่อไหร่การประสานเชื่อมโยงก็จะเกิดขึ้น ดุจหมอกกับเมฆที่รวมตัวเข้ากันตามธรรมชาติที่ภูใจใส..

...ขอบคุณภูใจใสที่ทำให้จิตใจผ่องใสและได้เรียนรู้จากธรรมชาติ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท