ชีวิตที่พอเพียง : ๖๙๔. หรือว่าผมไม่มีน้ำยา


 

          ตอนนี้ผมกำลังคร่ำเคร่งอยู่กับงานของ กกอ.   งานตำแหน่งใหญ่ปอเต๊กตึ้ง   เป็นงาน “กล่องใหญ่ข้างในว่างเปล่า”   คือมีแต่กล่องไม่มีเงิน   เป็นงานที่ตอนนี้ผมใช้สมองมากที่สุด   สนุกกับมันที่สุด   โดยที่ค่าตอบแทนเป็นเงินแทบไม่มี    แต่ค่าตอบแทนทางใจสูงมาก   เพราะมันเป็นงานใหญ่ของบ้านเมือง    ผมแปลกใจที่คนออกแบบระบบ Governance ต่อระบบอุดมศึกษาที่มี turnover ไม่ต่ำกว่าปีละแสนล้านบาท (งบประมาณแผ่นดินปีละกว่า ๖ หมื่นล้าน)   และมูลค่าจริงๆ ไม่น่าจะต่ำกว่าปีละ ๒ แสนล้านบาท   กำหนดให้ค่าตอบแทนประธานบอร์ด เดือนละ ๖,๒๕๐ บาท

          ผมสงสัยว่าวิธีออกแบบระบบกำกับดูแลระบบแบบที่เราใช้อยู่นี้ (คือถือเป็นงานเกียรติยศ ไม่มีค่าตอบแทน) จะดีหรือไม่ดีต่อบ้านเมือง   ผมสงสัยว่าระบบแบบนี้ ถ้าไม่ได้คนที่มีแรงจูงใจเพื่อทำประโยชน์ให้แก่สังคมจริงๆ    ก็จะได้คนที่มุ่งใช้ กกอ. เป็นที่ไต่เต้าของตนเอง หรือเข้ามาใช้อำนาจเพื่อเอื้อประโยชน์แก่สถาบันบางกลุ่ม    หรือเพื่อเกียรติยศเท่านั้น   ไม่ได้มุ่งทุ่มเทให้แก่ภารกิจกำกับดูแลระบบ

          ผมถือว่า รับตำแหน่ง แต่ไม่ทุ่มเท ไม่เอาใจใส่  ไม่ทำหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง เพื่อประโยชน์ส่วนรวม เป็นบาป

          คำถามหลักต่อบ้านเมืองก็คือ เราจะจัดระบบกำกับดูแลระบบอุดมศึกษาอย่างไร เพื่อให้เพื่อให้ได้ระบบอุดมศึกษาที่แข็งแรง เป็นพลังขับเคลื่อนสังคมไทยได้อย่างแท้จริง

          ถามตรงๆ ก็คือ ระบบ กกอ. แบบที่ใช้อยู่นี้ ดีจริงหรือ

          นี่คือนิสัยไม่ดีของผม ที่ชอบตั้งคำถามให้บ่อนแตก   และจริงๆ แล้ว ไม่ใช่ประเด็นสำคัญของบันทึกนี้   ที่ต้องการตั้งคำถามแก่ตัวเองว่า “หมอวิจารณ์! คุณมีน้ำยาจริงหรือ?”  

          หมายถึงน้ำยาในการทำงาน กกอ. หรืองานกำกับดูแลระบบอุดมศึกษา    ซึ่งคนทั่วไปเขามองเป็นงานที่เน้น “ควบคุมดูแล” โดยออกข้อบังคับ ระเบียบ กฎ   แต่ผมกลับมองต่าง    ผมมองว่าต้องทำงานแบบเน้น “ส่งเสริมดูแล” (stewardship)    สร้างแรงจูงใจสนับสนุน ให้สถาบันอุดมศึกษาทำงานได้ผลอย่างมีคุณภาพ ประสิทธิผล ประสิทธิภาพ    สร้างแรงต้าน ต่อการทำงานแบบด้อยคุณภาพ และสิ้นเปลืองมาก ได้ผลน้อย

          สังคมทั่วไป มีวัฒนธรรมอำนาจ   สวมวิญญาณ “ควบคุมสั่งการ” (Control Mode)   แต่ผมเชื่อในวัฒนธรรมความรู้ (ปัญญา)   มีวิญญาณ “ส่งเสริมแบบแยกแยะ” (differential stewardship)    และเชื่อว่า ต้องทำงานร่วมกับสังคมวงกว้าง   ให้สังคมวงกว้างเป็นผู้มีอำนาจ   ไม่ใช้ผูกขาดอำนาจไว้ในวงแคบๆ ของ กกอ.   และสังคมวงกว้างจะมีอำนาจได้ ต้องใช้สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา

          ผมเป็นชนกลุ่มน้อย จะมีน้ำยาอะไร

          ผมจึงตั้งคำถามกับตัวเองว่า ผมกำลังโง่งมงายเล่นเกมที่แพ้แหงๆ หรือเปล่า    ผมกำลังเปลืองชีวิตไปกับงานที่ไม่มีวันสำเร็จหรือเปล่า   ถ้ารู้แน่ว่าทวนกระแสไม่สำเร็จแน่ๆ ผมควรจะหันไปใช้เวลายามชรากับเรื่องอื่นจะมีประโยชน์กว่าหรือไม่   ผมใฝ่ฝันจะมีเวลายามชราในการเดินทางท่องเที่ยว ชมธรรมชาติ ชมศิลปวัฒนธรรม แต่ไม่มีบุญจะได้มีชีวิตแบบนั้น    กลับมีบุญ (กรรม?) ทำเรื่องที่ยิ่งใหญ่ แต่เป็นเรื่องที่มีความขัดแย้งอยู่ในความเชื่อและวิธีการ    ที่ผมเป็นชนกลุ่มน้อย

         ก็คงต้องทุ่มเทไป สนุกไป ผูกมิตรไป และตั้งคำถามไป    เมื่อไรสภาพ “ไม่มีน้ำยา” แจ่มชัด ผมก็คงมีบุญที่จะได้ไปท่องเที่ยว    หวังว่าจะไม่ต้องรอนานจนแก่มากและไม่มีแรงเที่ยว   

 

วิจารณ์ พานิช
๕ ก.พ. ๕๒

 

หมายเลขบันทึก: 243228เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2009 13:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 05:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับ ท่านอาจารย์หมอที่เคารพ

ผมคิดว่า หลายๆ คนชอบที่จะรู้สึกว่าตัวเองมี "น้ำยา" ซึ่งสะท้อนออกมาในรูปของ "อำนาจ"
เพื่อ "ควบคุมและสั่งการผู้อื่น"

แต่น้อยคน กลับชอบที่จะทำตัวเอง
ให้ "ไร้น้ำยา" โดยการกระจาย
พยายามทำให้คนอื่นๆ มีอิสรภาพ
ที่จะ  "ควบคุมและสั่งการตนเอง"

ผมชื่นชมศรัทธาในคนประเภทหลังมากๆ เลยครับ

และผมอยากเห็นและขอเป็นกำลังใจ
ให้ท่านสร้าง "ขบวนการไร้น้ำยา"
ให้เป็นกระแสหลักในสังคมไทยให้ได้

ผมคิดว่า มันคงเป็นเรื่องที่เหนื่อยมากๆ
แต่มันก็มีความสุขมากๆ เช่นกันใช่ไหมครับ

ไม่ใช่นั้น อาจารย์คงไม่ทำงานแบบ "ไร้น้ำยา" มาจนถึงทุกวันนี้

อยากบอกอาจารย์ว่า
ผมขอเป็นอีกคนหนึ่งที่จะพยายาม
ฝึกฝนตนเองเพื่อสักวันหนึ่ง
จะได้เข้าร่วมใน
"ขบวนการไร้น้ำยา" ได้อย่างเต็มภาคภูมิครับ

แต่วันนี้วิทยายุทธยังอ่อนครับ
จึงขอติดตามศึกษากระบวนท่า
จากท่านอาจารย์อย่างเงียบๆ ไปก่อนครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท