พุทธสังเวชนียสถาน (ตอนที่ ๑๒)ธรรมราชิกสถูป


ธรรมราชิกสถูป

ธรรมราชิกสถูป  

 ธรรมราชิกสถูป  


ธรรมราชิกสถูป (สถูปเป็นอนุสรณ์ถึงพระธรรมราชา - พระพุทธเจ้า) สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ปัจจุบันเหลือเพียงฐานสถูป อยู่ไม่ห่างจากบริเวณพระมูลคันธกุฏี ซึ่งกล่าวว่าเป็นที่ที่พระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษา ในช่วงฤดูฝนแรกหลังจากตรัสรู้ บริเวณฐานสถูปเป็นลานหินมีที่นั่งพอนั่งได้ 30 คน 

  ธรรมราชิกสถูปสร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์ในสถานที่ๆเชื่อว่า เป็นที่ประทับแสดงทุติยเทศนาคืออนัตตลักขณสูตร แก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 หลังจากวันที่ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตนสูตรแล้ว ประวัติแสดงไว้ว่าหลังจากที่โปรดอัญญาโกณทัญญะ จนได้บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว ทรงโปรดปัญจวัคคีย์คนอื่นๆอีก ในวันต่อๆมา คือ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ อัสสชิ ทั้ง 4 ท่านได้บรรลุโสดาปัตติผลและทูลขอบวช และในวันแรม 5 ค่ำ เดือน เดือน 8 นั่นเอง พระองค์ได้ทรงแสดงอนัตตลักขณสูตร แก่พระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ทำให้ ทั้งหมดได้เข้าใจชัดเจน ถึงความเป็นอนัตตา ความไม่มีตัวตนถาวรเที่ยงแท้ของขันธ์ของสังขารธรรมทำให้พระปัญจวัคคีย์ ทั้ง 5 รูป สามารถเพิกถอนอุปทาน อาสวะในจิตของตนได้ และได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในที่สุด

 

มูลคันธกุฏีวิหาร  

  

 มูลคันธกุฏี เป็นที่ที่พระพุทธเจ้าประทับจำพรรษาแรกและพรรษาที่ 12 ลักษณะเป็นอาคารปลูกสร้าง แบบอินเดียโบราณในที่ใกล้ๆจากมูลคันธกุฏี มีเสาหินพระเจ้าอโศกมหาราชสูง 50 ฟุต แม้จะหักออกเป็น 4 ท่อน ก็ยังเก็บไว้เป็นอย่างดีและที่นี่เอง ที่ค้นพบเสาหัวสิงห์ 4 ทิศ อันหมายถึงการประกาศพระธรรมไปทั่ว 4 ทิศ ประดุจการบันลือสีหนาทของสีหราช ซึ่งเดิมประดิษฐานอยู่บนยอดเสาศิลาจารึก แต่หักลงมา ขณะนี้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สารนาถ และใช้เป็นตราราชการประจำแผ่นดินอินเดีย ส่วนตัวเสาศิลาจารึกนั้นได้จารึกคำประกาศของพระเจ้าอโศกมหาราช ประกาศให้พระภิกษุ ภิกษุณี ขอให้มีความสามัคคีกันและใครก็ตามที่ทำให้สงฆ์แตกกัน จะให้ผู้นั้นสึกออกมานุ่งผ้าขาวเสีย 


ปัจจุบันได้มีการขุดค้นพบซากพระมูลคันธกุฎีเดิมของพระพุทธเจ้าที่สารนาถ ต่อมาท่านอนาคาริก ธรรมปาละ บุรุษชาวลังกาผู้ก่อตั้งสมาคมมหาโพธิ ได้ใช้เงินส่วนตัวสร้างวัดมูลคันธกุฎีขึ้นอีกแห่งหนึ่ง ห่างจากบริเวณพระมูลคันธกุฎีเดิมไม่มากนักตั้งชื่อว่า วัดมูลคันธกุฏีวิหาร ซึ่งถือว่าเป็นวัดแห่งแรกของพระพุทธศาสนาในอินเดีย หลังจากที่พระพุทธศาสนาถุกลืมเลือนไปจากความทรงจำของชาวอินเดียกว่า 700 ปี และต่อมาได้มีการผูกพัทธสีมาขึ้นในวัดแห่งนี้ พระภิกษุรูปแรกที่อุปสมบทในวัดนี้ คือท่านธรรมปาละเอง ภายในวัดมูลคันธกุฎีวิหาร ประดิษฐานพระประธานปางปฐมเทศนาเนื้อทองคำ ศิลปะคุปตะอันงดงามซึ่งจำลองแบบมาจากพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา ศิลปคุปตะที่ทำจากหินทรายแดง ซึ่งถือกันว่ามีความเป็นพุทธศิลปะที่งดงามมากที่สุด 


 

(พระพุทธรูปปางปฐมเทศนาที่ค้นพบนี้ ปัจจุบันถูกเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์สารนาถ)


ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2474 วัดมูลคันธกุฎิวิหารก็ได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ และมีการผูกพัทธสีมาเป็นวัดโดยสมบูรณ์ โดยคณะสงฆ์ลังกาสิ้นเงินการสร้างวัด ตลอดจนเงินค่าจ้างช่างชาวญี่ปุ่นคือ โกเซทซุ โนสุ มาเขียนภาพฝาผนัง พุทธประวัติรวมทั้งหมด 130,000 รูปี

  ในวันเปิดมูลคันธกุฎิวิหาร มีชาวพุทธและข้าราชการ รัฐบาลอินเดียหลายท่าน และชาวพุทธจากต่างประเทศมากมาย ได้มาร่วมงานกว่าพันคน รัฐบาลอินเดียได้มอบ พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ให้กับผู้แทนสมาคม ได้มีการนำพระธาตุขึ้นสู่หลังช้างแห่รอบพระวิหารสามรอบแล้ว จึงนำขึ้นประดิษฐานยังยอดพระเจดีย์ในพระวิหาร ท่านธรรมปาละได้กล่าวปราศัยในงานเปิดวันนั้น ความตอนสุดท้ายที่น่า ประทับใจ ว่า

"...หลังจากที่พระพุทธศาสนาได้ถูกเนรเทศออกไปเป็นเวลานานถึง 800 ปี ชาวพุทธทั้งหลายก็ได้กลับคืนมา ยังพุทธสถานอันเป็นที่รักของตนนี้อีก ... เป็นความ ปรารถนาของสมาคมมหาโพธิ ที่จะมอบพระธรรมคำสอนอันเปี่ยม ด้วย พระมหากรุณา ของพระพุทธองค์ ให้แก่ประชาชนชาวอินเดียทั้งมวล ไม่เลือกชาติชั้นวรรณะ และลัทธินิกาย.. ข้าพเจ้ามั่นใจ ว่าท่านทั้งหลาย จะพร้อมใจกันเผยแผ่ " อารยธรรม " (ธรรมอันประเสริฐ) ของพระตถาคตเจ้า ไปให้ตลอดทั่วทั้งอินเดีย... "


ยสเจติยสถาน  

 ยสเจตียสถาน สร้างเป็นอนุสรณ์ที่ระลึกถึงสถานที่ๆ พระพุทธเจ้า ทรงพบกับยสกุลบบุตร ยสเป็นบุตรเศรษฐี ในบริเวณตำบลคยาสีสะ มีชีวิตที่หรูหราที่บิดาจัดให้ คล้ายคลึงกับพระศาสดาครั้งยังเป็นเจ้าชายสิทธัตถะอยู่คือ มีปราสาท 3 ฤดู มีนางทาสีมีนางรำคอยขับกล่อม แต่ในคืนหนึ่งยสะตื่นมากลางดึก เห็นการนอนของนางระบำ ของนางทาสีนอนกลิ้งเกลือก เสื้อผ้าหลุดลุ่ยดูแล้วน่าอนาถรำพึงว่า "ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ" เดินออกมาจากปราสาทบ่นมาตลอดทาง จนกระทั่งมาถึงที่พระพุทธเจ้าประทับ พระองค์ได้ยินเสียงบ่นนั้น จึงตรัสไปว่า "ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง เธอจงนั่งลงตรงนี้เถิด เราจะแสดงธรรมแก่เธอ" ยสะได้ฟังเช่นนั้นจึงได้เข้าถวายบังคมพระศาสดาและสดับพระธรรมเทศนา พระองค์ทรงตรัสอนุบุพพิกถา คือธรรมที่กล่าวเป็นลำดับว่าด้วย ทาน ศีล สวรรค์ โทษของกาม และอานิสงส์แห่งการออกบวช ละจากกาม ซึ่งเป็นธรรมะระดับที่ทรงแสดงต่อฆราวาส แล้วทรงแสดงอริยสัจ 4 ยสะ ได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุเป็นพระโสดาบันในที่นั้น

  หลังจากนั้นบิดาของยสะได้ทราบว่า บุตรของตนหายไปจากบ้านจึงออกตามหามาถึงที่พระองค์ทรงประทับ พระพุทธเจ้าทรงใช้ฤทธิ์บังยสะไม่ให้บิดาเห็น เพื่อจะได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาต่อบิดาของยสะก่อนบิดาตามหายสะมาถึง พบกับพระพุทธเจ้า จึงถวายบังคมพระศาสดาจึงทรงแสดงพระธรรมเทศนา บทเดียวกับที่ทรงแสดงต่อยสะ 

  จบพระธรรมเทศนา บิดาของยสะได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุโสดาปัตติผลและได้ประกาศตน ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ เป็นอุบาสกคนแรกที่ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ส่วนยสะที่นั่งอยู่เบื้องหลังพระพุทธองค์ ได้ฟังพระธรรมเทศนานั้นอีก ครั้งหนึ่ง ก็ได้บรรลุอรหัตตผลเป็นพระอรหันต์รูปแรกที่บรรลุขณะยังครองเพศฆราวาส

พระพุทธเจ้าทรงคลายฤทธิ์ให้บิดาและบุตรได้เห็นกัน บิดาของยสะได้ขอให้บุตรของตน กลับไปยังบ้านของตนเอง พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า บัดนี้ยสะได้บรรลุอรหัตตผลแล้ว จึงไม่สมควรจะกลับไปครองเรือน บิดาได้ทราบดังนั้น จึงยินดี โสมนัสกล่าวว่า เป็นลาภของยสะ ยสะได้ดีแล้ว จึงทูลนิมนต์พระศาสดา และยสะไปเสวยกระยาหารในเรือนของตน ในวันรุ่งขึ้น นับเป็นครั้งแรกเช่นกันที่พระองค์ทรงรับนิมนต์ไปเสวยในเรือนของอุบาสก เมื่อบิดากลับไปแล้วยสะได้ทูลขออุปสมบท พระศาสดาทรงประทานเอหิภิกขุอุปสมัปทาให้ ในขณะนั้น มีพระอรหันต์บังเกิดในโลก รวมพระศาสดาด้วยเป็น 7 องค์แล้ว

ครั้นเช้าวันรุ่งขึ้น พระศาสดามีพระยสะเป็นปัจฉาสมณะ(ตามเสด็จ) ได้เสด็จไปเสวยกระยาหารในเรือนของบิดาพระยสะ ภายหลังพระศาสดาทรงทำภัตตกิจ เสวยพระกระยาหารแล้วทรงกระทำอนุโมทนา แสดงพระธรรมเทศนาโปรดมารดาและภรรยาเก่าของพระยสะ ทำให้ทั้งสองได้ด้วงตาเห็นธรรมและประกาศถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ เป็นอุบาสิกาคู่แรกที่ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ

หลังจากนั้น สหายเก่าของพระยสะได้ทราบว่ายสะสหายของตนได้บวชแล้ว พระธรรมวินัยที่ยสะได้บวชนั้นคงจักดีเป็นแน่ จึงได้ชวนกันมาทั้งหมด 54 คน เฝ้าพระศาสดาสดับพระธรรมเทศนาแล้ว ได้บรรลุอรหัตตผลและทูลขอบวชใน พระพุทธศาสนา ครั้งนั้นมีพระอรหันต์รวมพระศาสดาด้วยทั้งหมด 61 องค์

เมื่อได้พระสาวก 60 รูปแล้ว พระศาสดาทรงประชุมพระสาวก ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ตรัสว่า 

"...ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราพ้นแล้ว จากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็น ของมนุษย์ แม้พวกเธอก็พ้นแล้วจากบ่วง ทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ พวกเธอจงเที่ยวจาริก เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ พวกเธออย่าได้ไปรวม ทางเดียวกันสองรูป จงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะครบบริบูรณ์ บริสุทธิ์ สัตว์ทั้งหลาย จำพวกที่มีธุลีคือกิเลศ ในจักษุน้อย มีอยู่ เพราะไม่ได้ฟังธรรมย่อมเสื่อม ผู้รู้ทั่วถึงธรรม จักมี 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็จักไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสดงธรรม..."

จึงกล่าวได้ว่าสารนาถนั้น เป็นทั้งจุดที่ทรงแสดงปฐมเทศนา และเป็นจุดเริ่มแห่งพระพุทธศาสนาด้วย ในประการ เดียวกัน นั่นเอง

ปัจจุบันนี้สารนาถเป็นที่ตั้งของวัดไทย


พิพิธภัณฑ์ของเมืองนี้มีความสำคัญมาก สิ่งแรกที่เดินเข้าไปจะเห็นรูปจาตุรสิงห์ ซึ่งเป็นยอดเสาศิลาของอโศกมหาราช เป็นหินซึ่งขัดให้มันจนเป็นเงา สวยงามมากเสาศิลาเป็นรูปสิงห์โต 4 ตัว หันหลังชนกันยืนอยู่บนฐานวงกลม มีธรรมจักรอยู่ 4 ด้าน ระหว่างธรรมจักรเป็นรูปสิงห์โต ช้าง ม้า และโค ล้วนแต่มีความหมายเกี่ยวข้องกับพระพุทธองค์ทั้งสิ้น โดยที่ช้างหมายถึงพระพุทธมารดาทรงสุบินเห็นช้างเผือก โคหมายถึงตอนที่พระพุทธเจ้าทรงพระเยาว์ ได้ถูกนำไปใช้ในพิธีแรกนาขวัญ ม้าคือ พาหนะที่ทรงใช้ในการเสด็จออกทรงผนวช และสิงห์โตหมายถึงพระสุรเสียงที่ประกาศพระธรรมเทศนาตอนที่ประเทศอินเดียได้เอกราช ได้ค้นคิด กันว่าควรจะใช้เครื่องหมายอะไรเป็นตราแผ่นดิน เนื่องจากอินเดีย มีศาสนาใหญ่ ๆ อยู่ 2 ศาสนา คือ ฮินดูกับอิสลาม ซึ่งมักจะมีปัญหากัน จึงไม่สามารถจะเลือกเอาเครื่องหมายที่เป็น ลักษณะของใครมาใช้ได้ รัฐบาลอินเดียจึงตกลงใจใช้รูปเสาศิลาของอโศกมหาราช ซึ่งเป็นเครื่องหมายแห่งพระพุทธศาสนาให้เป็นตราแผ่นดินของอินเดียจนถึงปัจจุบัน

หินสลักพระพุทธรูปที่อยู่ภายในพิพิธภัณฑ์มีลักษณะงดงามมาก ซึ่งก็ได้รับคำบอกเล่าว่า พระพุทธรูปที่นี่งดงามที่สุดในโลก

  พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมเป็นครั้งแรก ณ สารนาถ หรือ อิสิปตนมฤคทายวัน ซึ่งเป็นสถานที่โล่งมีซากอิฐปรักหักพังมากมาย ด้านหน้าจะมีบริเวณซึ่งกั้นเอาไว้เป็นลูกกรงล้อมรอบ 4 ด้าน ภายใน นั้นมีเสาหินของพระเจ้าอโศกมหาราชปักอยู่แต่ปลายจะหัก ส่วนยอดเสาก็จะเป็นรูปจาตุรสิงห์ที่แสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ เสาหินนี้ได้สร้างไว้ ณ ที่ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเป็นครั้งแรกพระมูลคันธกุฎี เป็นที่ประทับของพระพุทธองค์ ยังปรากฏเป็นร่องรอยชัดเจนอยู่ ซึ่งตั้งติด ๆ กับเสาหินนั้น

  พระพุทธเจ้าได้ทรงจำพรรษาแรกที่สารนาถนี้ และเป็นพรรษาเดียวเท่านั้นหลังจากที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วที่ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พุทธคยา ก็ทรงพิจารณาเห็นว่าปัญจวัคคีย์ ทั้ง 5 ที่ได้หนีพระองค์มาอยู่ในป่าอิสิปตนมฤคทายวันเป็นผู้มีบารมีมาก ควรที่จะได้ฟังพระธรรมเทศนา

ครั้งแรกของพระองค์ จึงได้เสด็จมาที่นี่และได้แสดงปฐมเทศนาที่ "ธัมเมกขสถูป" ซึ่งมีปรากฏให้เห็น ณ สถานนี้ และธรรมที่แสดงนั้นชื่อ "ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร"ผลของการแสดงพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร พระโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมว่า สิ่งใดมีความเกิดเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับเป็นธรรมดา เมื่อได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้วจึงขอบวชเป็นพระเอหิภิกขุสงฆ์สาวกโสดาบันองค์แรกของโลก ดังนั้นพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เกิดครบครั้งแรกในโลกก็ที่นี่ 

  นอกจากธัมมจักกัปปวัตตนสูตรแล้ว พระพุทธองค์ได้แสดงสูตรอื่น ๆ ที่นี่อีกหลายสูตร เช่น ปัญจสูตร รถการสูตร ฯลฯ และจากการแสดงอนัตตลักขณสูตร ถือว่าด้วยเรื่องเบญจขันไม่ใช่ตัวตนจนเกิดความเบื่อหน่ายในเบญจขันธ์ พระปัญจวัคคีย์ก็สำเร็จพระอรหันต์ เป็นอันว่าในครั้งนั้นพระอรหันต์มีในโลกขึ้นแล้ว 6 พระองค์ คือพระพุทธเจ้าและพระสาวกอีก 5 พระองค์ 


การเดินทางสู่สารนาถ

  พาราณสีมีท่าอากาศยานชื่อ บาบัตปูร์ อยู่ห่างจากสารนาถประมาณ 32 กิโลเมตร มีเที่ยวบินติดต่อกับเดลฮี อัครา ถูบันเนสวอร์ กัลกัตตา คะชุระโห และกาฏมัณฑุ ซึ่งสามารถเดินทางจากท่าอากาศยานบาบัตปูร์ มาถึงสารนาถได้โดยไม่ยากนัก แต่การเดินทางจะล่าช้าบ้างโดยทั่วไป ชาวพุทธผู้เดินทางจาริกนมัสการสังเวชนียสถาน มักเดินทางจากพุทธคยาถึงสารนาถ ระยะทาง 230 ก.ม. โดยรถยนต์ จะใช้เวลา 11.15 ช.ม. เรียกว่าใช้เวลาครึ่งวัน จึงจะเดินทางถึง

 

โปรดติดตามตอนต่อไป

หมายเลขบันทึก: 240473เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2009 10:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ทราบ  จะติดตามตอนต่อไปค่ะ  ขอบคุณมากค่ะ

ขอให้มีความสุขในวันหยุดครับ ครูอ้อย

ติดตามต่อไปน่ะครับ

อยู่ที่โรงเรียน มีความสุขกับการทำงานมากๆๆค่ะ ขอบคุณมากค่ะ  มีความสุข เช่นกัยนะคะ

ครับผม ติดตามชมรูปภาพอินเดียได้ที่นี่ กำลังลงรูปในอดีตให้ชมครับ

  • หวัดดีค่ะ
  • แวะตามมาอ่าน "ธรรมราชิกสถูป" ด้วยคนค่ะ
  • ขอบคุณนะค่ะ ที่ทำให้ทราบประวัติความเป็นมา

สวัสดีครับ อ้อยควั้น ติดตามอ่านต่อนะครับ ยังมีอีกหลายตอนครับ

รูปภาพอินเดีย ดูได้ทั้งหมดที่นี้น่ครับ http://picasaweb.google.co.th/home

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท