พุทธสังเวชนียสถาน (ตอนที่ ๑๑)สารนาถ : ปฐมเทศนา


สารนาถ : ปฐมเทศนา - อนุสรณ์สถานแห่งการประกาศพระสัทธรรม


 ปัจจุบันสารนาถอยู่ในเขตกรุงพาราณสี แห่งจากตัวเมืองพาราณสี 10 กิโลเมตร ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของกรุงพาราณสี และอยู่ในเขตรัฐอุตตรประเทศ คำว่าสารนาถ มีความหมายว่า สวนกวาง กร่อนมาจากคำว่า สารังคนาถ( คำว่า สารังค แปลว่า กวาง + นาถ แปลว่าที่พึ่ง รวมหมายถึงสวนเป็นที่พึ่งของกวาง ) คือเป็นที่อยู่อาศัยของกวาง ซึ่งเป็นความหมายเดียวกับคำว่า มฤคทายวัน ในอดีต 

  สารนาถหรือป่าอิสิปตนมฤคทายวันนั้น เป็นสถานที่อภัยทานแก่สัตว์มาแต่ครั้งก่อนพุทธกาล ในสมัยพระพุทธเจ้ายังบำเพ็ญบารมี เสวยพระชาติเป็นพญากวางโพธิสัตว์ ดังปรากฏในมิคราชชาดก ได้ทรงสละชีวิตพระองค์ ให้พระราชาในเมืองนั้น แทนกวางสองแม่ลูก พระราชาทรงเลื่อมใสในคุณธรรมของพญากวาง จึงได้ทรงปล่อยไปและประกาศให้เขตป่านั้น เป็นสถานที่อภัยทาน และเป็นที่อยู่อาศัยของกวางมาจนถึงปัจจุบัน แม้ปัจจุบันจะมีกวางน้อยลงแล้ว 

  คำว่า อิสิปตนมฤคทายวัน นอกจากจะหมายถึงป่าอันเป็นที่ให้อภัยทานแก่สัตว์ ยังเป็นที่ประชุมสนทนาธรรมของพวกฤาษี มาแต่ครั้งก่อนพุทธกาล คำว่า อิสิปตน หมายความว่าฤาษีตกซึ่งหมายถึง ฤาษีผู้ได้ฌานสมาบัติมักเหาะมาลงที่ตรงนี้ และเป็นที่ชุมนุมของบรรดาฤาษีทั่วไป คงเป็นเพราะเหตุนี้ที่เมื่อบรรดาปัญจวัคคีย์ อันมีท่านโกณทัญญะเป็นหัวหน้า เมื่อละจากพระโพธิสัตว์สิทธัตถะ คราวที่ทรงเลิกการบำเพ็ญทุกรกิริยามาบำเพ็ญตามแบบทางสายกลาง จึงได้พากันหลีกหนีมายังที่นี่

  ราวๆ พ.ศ. 300 ถึงช่วงยุคสมัยของพระเจ้าอโศก พระองค์ได้เสด็จมานมัสการพุทธสถานแห่งนี้ และทรงสร้างถาวรวัตถุไว้มากมาย เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานถึงพระพุทธเจ้า ในสมัยราชวงศ์คุปตะ สารนาถเจริญถึงขีดสุด ท่านสมณเฮี่ยนจังหรือพระถังซำจั๋ง เดินทางมาได้บันทึกไว้ว่ามีพระภิกษุประจำอยู่ 1,500 รูป มีพระสถูปสูงประมาณ 100 เมตร และมีอนุสรณ์สถานมากมายจนมาถึงในสมัย พ.ศ. 1700 พวกกองทัพมุสลิม ได้ยกทัพมาตีอินเดียและทำลายทั้งพุทธสถาน เทวสถานของพราหมณ์เสียมากแม้แต่ที่สารนาถนี้ก็ไม่เว้น จนกระทั่งในสมัยอังกฤษปกครองอินเดีย สถานที่แห่งนี้ก็ถูกฟื้นฟูขึ้นโดยการขุดค้นพบของนักโบราณคดีชาวอังกฤษ คือท่าน เซอร์ คันนิ่งแฮมและต่อมาท่านอนาคาริกธรรมปาละชาวพุทธศรีลังกา ได้เดินทางมาที่นี่และฟื้นฟูบูรณะขึ้นใหม่อีกครั้ง.

.

.

.ธัมเมกขสถูป  

พุทธศาสนาได้ประดิษฐานขึ้นในโลก นับถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 2,500 ปีมาแล้ว เมื่อย้อนไปครั้งอดีตกาลในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงปฐมเทศนา ‘ธัมมจักรกัปปวัตนสูตร’ แก่ปัญจวัคคีย์ ทั้ง 5 คือ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวันเมืองพาราณสี จนกระทั่งท่านอัญญาโกญฑัญญะหนึ่งในปัญจวัคคีย์ได้บรรลุโสดาบัน และทูลขอบวชกับ พระพุทธองค์นับเป็นพระอริยสาวกรูปแรก และเป็นวันที่พระรัตนตรัยครบองค์สาม คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เราเรียกวันนี้ว่า ‘วันอาสาฬหบูชา’

  ป่าอิสิปตนมฤคทายวันหรือป่ากวางในอดีตนั้น ปัจจุบันคือตำบลสารนาถเมืองพาราณสี ซึ่งอยู่ในรัฐอุตตรประเทศ สาธารณรัฐอินเดียและที่เรียกว่า ‘สารนาถ’ นั้น สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า ‘สารังคนาถ’ แปลว่า ที่พึ่งของเนื้อ เหตุเพราะในป่าแห่งนี้บรรดาเนื้อทั้งหลายอยู่ด้วยความปลอดภัย เพราะมีพระโพธิสัตว์และพระราชาเป็นที่พึ่ง 

  สำหรับสถานที่ที่ทรงแสดงธรรมเพื่อประกาศพระศาสนาเป็นครั้งแรกในโลกนั้น ได้มีพุทธานุสรณ์สถานเป็นระลึกถึง นั่นก็คือ ‘ธัมเมกขสถูป’ ซึ่งเป็นหนึ่งในสังเวชนียสถาน 4 แห่งที่สำคัญของพุทธศาสนิกชน 

  ธัมเมกขสถูป มาจากคำว่า ‘ธัมเมกขะ’ หมายถึง เห็นธรรม ส่วน ‘สถูป’ หมายถึงสิ่งก่อสร้างที่บรรจุของควรบูชา เป็นอนุสรณ์เตือนใจให้เกิดกุศลธรรม ดังนั้นธัมเมกขสถูปที่สร้างขึ้นนี้ ก็เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ท่านผู้เห็นธรรมในครั้งนั้น คือพระอัญญาโกณทัญญะ นั่นเอง 

  ความเป็นมาของธัมเมกขสถูปนี้ ไม่แน่ชัดว่าเริ่มสร้างขึ้นในสมัยใด สันนิษฐานกันว่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช (พ.ศ.269-311) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองอย่างสูงสุด และอาจมีการบูรณะปฏิสังขรณ์ต่อเติมขึ้นมาในสมัยราชวงศ์คุปตะ (ราวพ.ศ.900-1100) เพราะแผ่นอิฐด้านในพระสถูปนั้น มี อายุเก่าแก่กว่าแผ่นอิฐด้านนอก และลวดลายที่ปรากฏบนองค์พระสถูปด้านนอกนั้นเป็นลวดลายใบไม้ ดอกไม้ นก และรูปทรงเรขาคณิต ซึ่งเป็นศิลปะที่นิยมมากในสมัยคุปตะ 

  ธัมเมกขสถูปเป็นสถูปขนาดใหญ่ มีความสูง 31.3 เมตร และมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 28.3 เมตร ด้านล่างก่อด้วยหิน สูงขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง ทำเป็นช่องๆแต่ละช่องประดิษฐานพระพุทธรูปแบบต่างๆ ส่วนช่องใหญ่รอบองค์พระสถูปนั้นมี 8 ช่อง ซึ่งมีความหมายถึง มรรคมีองค์ 8 ประการ 

  กว่า 2,200 ปีแล้วที่สังเวชนียสถานแห่งนี้ ได้น้อมนำให้ผู้พบเห็นได้เข้าไปสู่เรื่องราวแห่งครั้งพุทธกาล ที่พระพุทธองค์ทรงประกาศพระพุทธศาสนา ด้วยการขับเคลื่อนวงล้อแห่งธรรม ให้หมุนออกไปสู่ทุกผู้นาม และ ณ วันนั้นเองที่พระพุทธศาสนาได้ตั้งมั่นและเริ่มเผยแผ่ออกไปแล้ว

บริเวณสถานที่แสดงปฐมเทศนา ได้มีการสร้างพระสถูปใหญ่ คาดว่าสร้างขึ้นในราวๆ พ.ศ. 1000 เป็นศิลปะของยุคคุปตะ แต่จากการขุดค้นสำรวจพบว่า แผ่นอิฐด้านในพระสถูป มีอายุเก่ากว่าแผ่นอิฐด้านนอก ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นการสร้าง ต่อเติมมาภายหลังอีกซึ่งพระสถูปนี้ น่าจะสร้างมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชแล้วก็เป็นได้

  พระสถูปนี้ตั้งอยู่บนที่เนิน ขนาดของพระสถูปเส้นผ่าศูนย์กลาง 28 เมตรครึ่งสูง 33 เมตรครึ่ง ส่วนล่างก่อด้วยหินมีภาพสวัสดิกะเป็นแผ่นหินอยู่โดยรอบ สูงขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งทำเป็นช่องเล็กๆ แต่ละช่องประดิษฐาน พระพุทธรูปแบบต่างๆช่องเหล่านั้นมีขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้าง คละกันไปช่องใหญ่รอบองค์พระสถูปนั้นมี 8 ช่อง ซึ่งมีความหมายถึงมรรคมีองค์ 8 ประการ (อัฏฐังคิกมรรค)

  พระสถูปนี้ชื่อว่าธัมเมกขสถูปหรือธรรเมกขสถูป ซึ่งมีหลายท่าน สันนิษฐานว่า มาจากคำว่า ธัมม + มุข หมายถึง พระธรรมจากพระโอษฐ์ บางท่านก็สันนิษฐานว่า มาจากคำว่า ธัมมะ+อิกข ตามหลักไวยากรณ์บาลี แปลงตัว อิ ให้เป็น เอ สนธิ กับคำว่า ธัมมะ เป็น ธัมเมกขะ หมายถึงเห็นธรรม สรุปคือพระสถูปนี้เป็นตัวแทนแห่งการเห็นธรรมจักษุ หรือในอีกความหมายหนึ่ง สถูปนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ท่านผู้เห็นธรรมจักษุ คือพระอัญญาโกณทัญญะนั่นเอง

เจาคัณฑีสถูป  

 

เมื่อพระพุทธเจ้า เสด็จมาถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวันแล้ว ปัญจวัคคีย์ ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาแต่ไกล จึงทำสัญญากันว่าจะไม่ลุกรับจะไม่ต้อนรับ แต่เมื่อพระองค์เสด็จมาถึง ต่างก็ลืมสัญญานั้นเสียหมดและสถานที่ที่พระพุทธเจ้า ทรงพบปัญจวัคคีย์เมื่อเสด็จมาถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน (ปัจจุบันเรียกว่า สารนาถ) ปัจจุบันอยู่ห่างจากสถานที่แสดงปฐมเทศนา ไม่ไกลนักห่างจากที่แสดงปฐมเทศนาประมาณ 1 ไมล์ ได้มีการสร้างพระสถูปเป็นเครื่องระลึกว่า นี่เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้า ทรงพบกับปัญจวัคคีย์เรียกว่า เจาคันธีสถูป สันนิษฐานว่าสร้างราวๆ พุทธศักราช 1000 ช่วงราชวงศ์คุปตะ 

  เดิมพระสถูปนี้มีความสูง 300 ฟุต แต่ผุพังไปตามกาลเวลาเหลือเพียง 70 ฟุต และลักษณะส่วนบนที่เบี่ยงเบนไปจากพุทธศิลป์ดั้งเดิมมาก ด้วยว่าบิดาของพระเจ้าอักบาร์มหาราช กษัตริย์มุสลิมวงศ์โมกุลพระนามว่าหุมายุน ได้เสด็จลี้ภัยทางการเมืองและมาหลบซ่อนข้าศึกที่สถูปนี้ เมื่อพ้นจากข้าศึกแล้ว พระเจ้าอักบาร์มหาราช ทรงสำนึกบุญคุณของพระสถูป ที่ทำให้พระบิดามาหลบซ่อนและรอดพ้นจากข้าศึกได้จึงทรงให้มีการก่อสร้าง ต่อเติมพระสถูปขึ้นไปอีก แต่เพราะพระองค์เป็นมุสลิม ทำให้ศิลปะของพระสถูปที่ถูกต่อเติมนี้ ออกมาในแนวศิลปแบบมุสลิมและเพราะเป็นที่ระลึกต่อพระบิดา ของพระเจ้าอักบาร์มหาราชพระสถูปนี้จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า สถูปหุมายุน

 โปรดติดตามตอนต่อไป

หมายเลขบันทึก: 240468เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2009 09:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอบคุณมากค่ะ ที่นำเรื่องราวพระพุทธศาสนา มาให้ได้อ่าน และเข้าใจ  ทบทวน  และรู้ใหม่หลายเรื่องเลยค่ะ

จะติดตามอ่านต่อไปนะคะ  ชอบมากค่ะ

ยินดีครับ ครูอ้อย แซ่เฮ

หลายเรื่องที่คนไทยยังไม่รู้ไม่ทราบ จะนำมาลงให้อ่านน่ะครับ

  • สวัสดีค่ะ
  • ขอบคุณค่ะสำหรับข้อมูลดี ๆ
  • เหมาะกับช่วงเวลา วันหยุด เนื่องในวันสำคัญทางพุทธศาสนาค่ะ
  • จะมาติดตามตอนต่อไปนะคะ

สวัสดีครับ อิงจันทร์

ยินดีนำเสนอครับ กำลังทยอยลงให้อ่าน คงอีกหลายตอนน่ะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท