บวชให้แม่ (ที่วัดพระราม ๙) ตอนที่ ๔ อุปสรรควันซ้อม (นั่งท่าเทพบุตรและกราบเบญจางคประดิษฐ์)


บางคนอาจคิดว่ากะแค่ท่ากราบพระ ทำไมต้องวุ่นวายแบบนี้ ผมขอบอกว่า การกราบนี่เป็นการฝึกสติที่ดีมาก ทำให้เราต้องมีสติรู้เนื้อรู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่

แล้วก็ถึงวันซ้อมใหญ่ แม้จะรู้ว่าท่องได้ขึ้นใจแล้ว ผมก็ยังรู้สึกตื่นเต้น มาถึงวัดพระราม ๙ ก่อนเวลานัด ได้นั่งฟังเสียงบรรยายธรรมะ (ภายหลังจึงทราบว่าเป็นเสียงจากการเปิดแผ่นบรรยายธรรมะของสมเด็จพระสังฆราช)  สักพักหนึ่ง ใจค่อยสงบขึ้นจึงเดินไปที่โบสถ์ตามเวลานัด

ในโบสถ์มีหลวงพี่รินและพระอาจารย์บุญยืนมารออยู่แล้ว เป็นครั้งแรกที่ผมได้พบกับว่าที่นาครูปอื่นๆ  มีคนที่น่าจะอายุไล่เรี่ยกับผมหนึ่งคน นอกนั้นน่าจะอ่อนกว่า และปรากฏว่าผู้ที่จะขอบวชลดจาก ๙ รูปเหลือ ๗ รูป  

เมื่อพร้อมกันแล้ว หลวงพี่รินก็ให้พวกเรานั่งเรียงหน้ากระดานตามลำดับอาวุโส  ผมได้นั่งเป็นหมายเลข ๒  แสดงว่าหมายเลข ๑ หรือคนที่นั่งข้างซ้ายผมมีอาวุโสมากกว่า  

ในพิธีอุปสมบทนี้  พบกับเรื่องยุ่งยากนอกจากการท่องบทขออุปสมบท  คือนาคต้องนั่งพนมมือในท่า เทพบุตร

 ท่าเทพบุตร คือการนั่งคุกเข่า ก้นวางบนส้นเท้าที่ตั้งขึ้น  ฟังดูง่ายๆ แต่ท่านี้เชื่อว่าหลายคนจะทนนั่งนานไม่ไหว โดยเฉพาะคนร่างใหญ่ เพราะน้ำหนักจะกดทับลงบนนิ้วเท้าที่งอเกร็งอยู่  นั่งไปสักพักต้องขยับตัวขยับก้นเพื่อผ่อนน้ำหนักอยู่เป็นระยะๆ  หากใครขยับบ่อยก็จะแลดูว่านั่งหยุกหยิกไม่เรียบร้อยเอาเสียเลย   ยิ่งในพิธีการอุปสมบทซึ่งใช้เวลานับชั่วโมงที่นาคต้องนั่งท่านี้ต่อหน้าพระอุปัชฌาย์ คณะสงฆ์ และยังมีญาติโยมนั่งมองอยู่ข้างหลังด้วยแล้ว จึงเป็นท่าที่เรียกร้องความอดทนและสมาธิของนาคอย่างยิ่ง  

ใครไม่เคยก็ลองดูได้ว่าจะนั่งได้นานกี่นาที  

สำหรับผม อาจเพราะน้ำหนักตัวไม่มาก ในวันบวชจึงเอาตัวรอดมาได้  แต่เมื่อบวชแล้ว เวลาทำวัตรเย็น ต้องนั่งท่านี้อีกทุกวัน  มีหลายครั้งที่ปวดเท้าเอาเรื่อง  อาศัยขยับตัวบ้างแล้วใช้ขันติอดทนนั่งไปเรื่อย วันหลังๆ ก็ชินไปเอง  

รู้จักนั่งท่าเทพบุตรแล้ว ก็หัดกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ ซึ่งเป็นท่ามาตรฐานของกราบพระ ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูปหรือพระประธานในโบสถ์ หรือพระภิกษุสงฆ์ 

การกราบท่านี้ เป็นของใหม่ของผมอีกเช่นกัน และเชื่อว่าหลายคนยังทำไม่ถูก จึงขออธิบายไว้หน่อย  (แม้แต่ในวันบวช  ว่าที่พระใหม่หลายรูปก็ยังทำท่าผิดอยู่ พระอาจารย์ต้องบอกให้ทำใหม่อยู่หลายครั้งทีเดียว)

การกราบเบญจางคประดิษฐ์ เริ่มจากการนั่งท่าเทพบุตร หลังตรง อย่างอตัว  พนมมือตรงบริเวณหน้าอก ให้มือตูมคล้ายดอกบัว ไม่ใช่ประกบกันแบบแบนๆ  ยกมือขึ้นจรดตรงระหว่างคิ้ว  จากนั้นก้มกราบลงโดยช่วงท่อนแขนวางราบแนบกับพื้น คือจากข้อศอกถึงฝ่ามือราบติดพื้น  ส่วนฝ่ามือก็กางราบกับพื้นเช่นกัน 

ตรงนี้ส่วนใหญ่ที่ทำผิดคือ ศอกไม่ติดพื้น เอาแต่ฝ่ามือวางบนพื้น หรือมือยังงอเป็นอุ้งมืออยู่ ไม่แบให้ราบกับพื้น

จุดปลีกย่อยอีกอย่างคือ พอก้มลงแล้ว ข้อศอกสองข้างจะวางชิดต่อกับหัวเข่า ช่วงห่างระหว่างฝ่ามือสองข้างที่วางลงกับพื้นนั้น ให้ห่างพอกับที่เมื่อศีรษะเราก้มหน้าผากแตะพื้นแล้ว ฝ่ามือก็อยู่สองข้างหน้าผากพอดี  อย่ากางมือสองข้างให้ห่างออกไปมาก จึงจะถือว่างาม  บางคนวางมือห่างกันมาก ก็ต้องแก้ให้ถูกต้อง   

วางมือ ก้มศีรษะหน้าผากแตะพื้นแล้ว ก็กลับขึ้นมานั่งตรง พนมมือจรดหน้าผาก แล้วมาตั้งที่หน้าอก ก็นับเป็นการกราบ ๑ ครั้ง  จากนั้นก็เริ่มต้นกราบต่อจนครบ ๓ ครั้ง 

จะเห็นว่าการกราบเบญจางคประดิษฐ์นี้ มีรายละเอียดยุ่บยั่บเหมือนกัน บางคนอาจคิดว่ากะแค่ท่ากราบพระ ทำไมต้องวุ่นวายแบบนี้  ผมขอบอกว่า การกราบนี่เป็นการฝึกสติที่ดีมาก ทำให้เราต้องมีสติรู้เนื้อรู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่   ระหว่างบวช ถ้าไม่มีสติ เผลอใจลอย คิดเรื่องอื่น ผมก็จะพบว่าตัวเองกราบผิดท่า  ก็รู้ตัวมีสติคืนมา รีบแก้ โดยกราบให้ถูกในครั้งต่อไป  

หลวงพี่รินให้พวกเราลองซ้อมกราบเบญจางคประดิษฐ์ พร้อมกับกำชับให้กลับไปซ้อมที่บ้านให้คล่อง  แล้วหลวงพี่รินก็ให้พวกเรากล่าวบทขออุปสมบทพร้อมกัน 

เอส้าหังภันเต...

พอทุกคนเปล่งเสียงออกมาเท่านั้นเอง ในหัวผมก็หมุนติ้ว เพราะสำเนียงเสียงแต่ละคนนั้นไปสุดคนละทิศละทางจริงๆ  ในใจเกิดคิดสงสัยทันทีว่า...เอ๊ะนี่เราท่องถูก คนอื่นท่องผิด หรือเราท่องผิด คนอื่นท่องถูก...เพราะเหมือนไม่ใช่ท่องบทเดียวกัน  ขนาดว่าบทแรกที่ผมคิดว่าแม่นมากๆ  ท่องไปได้ไม่กี่ประโยค ผมก็หลงเสียดื้อๆ

พยายามดึงสติกลับมาว่าไปตามที่เราฝึกมาแล้วอย่างดี  ปิดหู ไม่ฟังเสียงคนอื่น  ท่องไปจนจบ ระหว่างนั้นมีบางคนท่องตามไม่ได้บ้าง เสียงหลงไปบ้าง  ผมค่อนข้างมั่นใจว่าผมท่องถูก แต่คนอื่นท่องผิด  (มารู้เอาภายหลังว่าบางคนก็เพิ่งมาหัดท่องไม่กี่วันนี้เอง...)   

หลวงพี่รินไล่ลำดับขั้นตอนพิธีการต่างๆ ในวันบวชจริงให้พวกเราได้ลองซ้อมกัน ผมพบว่าบทสวดที่ฝึกท่องมาแบบรวดเดียวนั้น พอถึงวันจริง แต่ละบทจะถูกขั้นด้วยพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งอาจทำให้เราสับสนได้ว่า พอถึงจังหวะนั้นแล้วเราต้องท่องบทอะไรกันแน่  จึงคิดไว้ว่าต้องกลับมาทบทวนขั้นตอนและบทสวดคู่กันไปด้วย จะได้ไม่หลง   (แต่เอาเข้าจริง ก็พบว่าตัวเองจำไม่ค่อยได้ว่าแต่ละขั้นตอนต้องทำอะไรบ้าง) 

เสร็จการซ้อม หลวงพี่รินกำชับทุกคนอย่างห่วงใยสุดๆ ว่า ใครที่รู้ตัวว่ายังท่องไม่ได้ ให้กลับไปท่องให้ได้  ทิ้งเรื่องอื่นให้หมด

 เพราะถ้าท่องไม่ได้ ก็บวชไม่สำเร็จ หรืออาจบวชได้แค่เป็นเณรเท่านั้น 

 (หลังบวชกันผ่านแล้ว  หลวงพี่รินเผยความในใจว่ากลัวพระใหม่ชุดนี้จะบวชไม่ได้มากที่สุด ทำเอาพระใหม่ชุดนี้ขำไปตามๆ กัน ว่าผ่านมาได้อย่างไรหนอ)

ระหว่างทางจากวัดกลับบ้าน  สิ่งที่ผมกังวลมากที่สุดคือ ในวันบวชจริง ผมจะมีสติท่องบทขอบรรพชาอุปสมบทพร้อมกับเสียงของนาครูปอื่นๆ ได้หรือไม่  และนาครูปอื่นจะฝึกท่องให้คล่องได้ทันหรือไม่  

คิดในแง่ร้าย พวกเขาจะทำให้การบวชของผมล่มไปด้วยหรือเปล่า...ไม่มีอะไรที่ผมจะทำได้ นอกจากกลับไปทบทวนตัวเองให้แม่นยำยิ่งขึ้นไปอีก พร้อมกับส่งใจช่วยพวกเขาอยู่ลึกๆ  เพราะเหลือเวลาอีกเพียงวันเดียวเท่านั้น

                คืนวันซ้อมใหญ่ นาคทุกคนได้ทราบฉายาของตนเองแล้ว  ฉายาของผมคือ ธมฺมคุตฺโต แต่ยังไม่ทราบความหมาย

หมายเลขบันทึก: 240353เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2009 21:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 12:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับ พี่ดำ

     ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับเหรียญกษาปณ์ครับ

  • การใช้ 'เหล็กชุบทองแดง' เพราะราคาถูกครับ! 555 ต้องการลดค่าใช้จ่ายในการผลิตนั่นเอ
  • สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับ คิวโปรนิกเกิล อะลูมิเนียมบรอนซ์ ฯลฯ อ่านได้จากบทความนี้ครับ (เคยตีพิมพ์ในวารสารเทคโนโลยีวัสดุ) 

เหรียญกษาปณ์ไทย..ทำจากอะไร (pdf)

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท