เรียนสถิติด้วยภาพ ตอนที่ 6 ความแตกต่างที่แตกต่าง


ความแตกต่าง มีความเป็นไปได้สองทางคือ เห็นชัด และเห็นไม่ชัด แต่เรื่องเดียวกันเมื่อมีฉลากว่า สถิติ แปะไว้ กลับใช้มาตรฐานที่ต่างออกไป กลายเป็นเห็นชัดอย่างชัดเจน เห็นชัดอย่างไม่ชัดเจน เห็นไม่ชัดอย่างชัดเจน และเห็นไม่ชัดอย่างไม่ชัดเจน ซึ่งทำให้ได้ข้อสรุปว่า "คนบ้ามี 4 จำพวก" เท่านั้นเอง

Windows1or2
นี่คือภาพถ่ายหน้าต่างที่ถ่ายซูมจากระยะไกลมากกกกกกกกก

คำถามคือ มีหน้าต่างกี่บานในภาพนี้ ?

สมมติว่ามีใครสักคน ฟันธงว่า "นี่เป็นภาพหน้าต่างสองบาน โดยภาพหน้าต่างสองบานนี้ แยกขาดจากกัน แต่แยกกันไม่ขาด"

คนส่วนใหญ่ฟังแล้วก็คงขมวดคิ้วนิ่วหน้าว่า คนพูด คงสติไม่ดี วิปลาส เอ๊ะ มันบ้ารึเปล่า

อยู่ตรงนี้ จะเสี่ยงโดนมันกระโดดกัดมั้ย ?

แล้วถ้าโดน วัคซีนหมาบ้านี่จะใช้การได้มั้ย ?

แต่สถานการณ์คล้ายกัน คนส่วนใหญ่ จะมองอย่างทึ่ง พิศวง ชื่นชม แกมงงงวย และอุ่นใจ อยากสนิทสนมชิดใกล้ เมื่อมีใครอีกคนหนึ่ง ฟังธงว่า "นี่เป็นภาพหน้าต่างสองบาน โดยศูนย์กลางของกลุ่มข้อมูลจุดแสดงภาพหน้าต่างสองบานนี้ แตกต่างกันทางสถิติอย่างไม่มีนัยสำคัญ"

แต่จริง ๆ แล้ว ทั้งคู่กำลังสับสนในชีวิตพอ ๆ กัน และอยู่ในระยะที่กำลังอันตราย พร้อมจะกระโจนกัดคนรอบข้าง

โดยหลักการแล้ว ถ้าต่าง (เห็นเป็นสองบานแน่ๆ) ก็ควรจะบอกว่า "ต่างกันทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญ"

หรือหากไม่ต่างทางสถิติ (เห็นเป็นบานเดียว) ก็ควรบอกว่า "ไม่ต่างทางสถิติ"

การห้อยพ่วงท้ายกรณีหลัง คือพูดว่า "ไม่ต่างทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญ" ฟังทะแม่ง ๆ หน่อย แต่ยังสื่อว่า ไม่...แตกต่างทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญ

ทะแม่ง ๆ เพราะสมองอาจตีความว่า ไม่แตกต่างทางสถิติ....อย่างมีนัยสำคัญ

แปลตามคำภาษาอังกฤษน่ะ ถูกแหละ แต่ไม่เหมาะสม

เพราะฟังแล้ว สร้างความสับสนคล้ายฟังประโยคว่า "จืดชืด อย่างน่าตื่นเต้น" ยังไงยังงั้น

การสื่อเพื่อสร้างความสับสนโดยเจตนา แสดงว่า คิดจะโกง

ถ้าสื่อแล้วสร้างความสับสนโดยไม่เจตนา แสดงว่า คิดสับสน

แย่ทั้งคู่ แต่ยังไม่ถึงที่สุด

เพราะถ้าเจอ "ไม่ต่างทางสถิติอย่างไม่มีนัยสำคัญ" หรือ "แตกต่างอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ" แสดงว่า กำลังสับสนในชีวิตอย่างหนัก อันตรายมาก

รีบหนีไปให้ไกล ๆ เลย

"ต่างกันทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญ" คือ สองกองนั้น แยกขาดออกจากกันได้อย่างชัดเจนคมชัด

"ไม่ต่างทางสถิติ" คือ ดูไม่ออกหรอก เพราะเห็นไม่ชัด

Large_blur001b

ภาพนี้ จะจัดว่า "เห็นไม่ชัดอย่างชัดเจน" หรือ "เห็นไม่ชัดอย่างไม่ชัดเจน" หรือ "เห็นชัดอย่างไม่ชัดเจน" ?

เห็นไม่ชัด ก็บอกว่า "เห็นไม่ชัด" ไปเถอะครับ อย่ากระแดะไปกว่านี้อีกเลย

ใครบอกว่า "เห็นไม่ชัดอย่างชัดเจน" หรือ "เห็นไม่ชัดอย่างไม่ชัดเจน" แสดงว่า อาการใกล้เข้าขั้นวิกฤติอย่างชัดเจนแม่นแล้ว

วิกฤติพอกันกับคนที่บอกว่า " แตกต่างทางสถิติอย่างมีไม่นัยสำคัญ" หรือ "ไม่ต่างทางสถิติอย่างไม่มีนัยสำคัญ" นั่นแหละครับ

แตกต่างทางสถิติอย่างไม่มีนัยสำคัญ = เห็นได้ชัดอย่างไม่ชัดเจน

ไม่แตกต่างทางสถิติอย่างไม่มีนัยสำคัญ = เห็นไม่ชัดอย่างไม่ชัดเจน

ไม่แตกต่างทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญ = เห็นไม่ชัดอย่างชัดเจน

อ่านมาก ๆ แล้วเมาครับ ใครลึกล้ำระดับนี้ ถือว่า ฝีมือเทียบเคียงได้กับกงซุนลุงจื่อ

อยากรู้จักกงซุนลุงจื่อ ลองไปดูการถกตรรกบทใน " ม้าขาวมิใช่ม้า" สิครับ

แล้วจะรู้ว่า กงซุนลุงจื่อ ยังมีชีวิตอยู่ในสังคมไทย ภายใต้ชื่อว่า "นักวิชาการ"



สนใจอ่าน เรียนสถิติด้วยภาพ แบบครบทุกตอน เข้าไปที่

http://www.gotoknow.org/posts?tag=เรียนสถิติด้วยภาพ

หมายเลขบันทึก: 238028เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2009 21:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 13:23 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

พอพูดถึงสถิติ  หลายคนเบือนหน้าหนีเพราะมีแต่ตัวเลข มีแต่สูตร จนไม่อยากทำความเข้าใจเว้นแต่ถูกบังคับ

แต่จริงๆ สถิติเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับคนทุกคนนะคะ  ในการทำความเข้าใจกับเรื่องต่างๆ ต้องให้เหตุผลโดยใช้สถิติ(ตัวเลข) ประกอบ

 

สถิติเป็นเรื่องที่คนไม่ชอบแต่หนีไม่พ้นค่ะ

สวัสดีครับ พี่P  Sasinand

 

  • สถิติ ใช้หลอกคนโง่ก็ได้ ใช้ป้องกันคนฉลาดกว่ามาหลอกก็ได้
  • เกมส์นี้ ใครหนี คนนั้นแพ้ครับ

ขอบคุณมากค่ะอ. ทันเวลามาก ดีใจที่มัทคลิกเข้ามาอ่าน

มัทกำลังอ่าน proposal นศ.ปี 5

ตรงทบทวนวรรณกรรมมีประโยคนี้เป๊ะๆเลยค่ะ "ไม่ต่างทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญ"

พรุ่งนี้นศ.จะมาพบ ประเด็นนี้ได้หยิบยกมาถกกันแน่ๆค่ะ

สวัสดีครับ คุณแม่พุงโต P มัทนา

 

  • เรื่องนี้ เป็นประเด็นที่ใช้กันสนั่นเมือง
  • ผมได้ยินใครพูดเรื่อง แตกต่างทางสถิติอย่างมีหรือไม่มีนัยสำคัญทีไร มีอาการวิงเวียนเหมือนโดนคุณไสย
  • เพิ่งรู้ว่า อาจารย์ก็เป็น
  • ไม่แตกต่างอย่างไม่มีนัยสำคัญเลยนะนี่ ฮี่ฮี่ฮี่

เข้ามาอีก เพราะพักนี้ มีแต่เรื่อง สถิติๆๆ คำๆนี้ ฮิตมากๆ ในปีนี้ 2009

วันนี้ (27 ม.ค.) มีรายงานจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ว่า ภาวะการว่างงานของประชาชนในเดือน ธ.ค. 2551 มีจำนวน 540,000 คน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.4 สูงกว่าปีก่อน 220,000 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 ขณะที่สูงกว่าเดือน พ.ย. 20,000 คน โดยแนวโน้มการว่างงานยังคงสูงขึ้น หากการจ้างงานในภาคผลิตยังลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

รายงานระบุต่อว่า จำนวนผู้ว่างงานทั้งหมดแยกเป็นผู้ที่ไม่เคยทำงานมาก่อน 150,000 คน และผู้ที่เคยทำงานมาก่อน 390,000 คน ในกลุ่มนี้เป็นผู้ว่างงานนอกภาคเกษตรกรรม 300,000 คน ประกอบด้วยภาคการผลิต 140,000 คน ภาคการบริการ 160,000 คน
ส่วนผู้ว่างงานจากภาคเกษตรกรรมมีประมาณ 90,000 คน โดยการว่างงานเกิดขึ้นในภาคใต้สูงสุดที่ร้อยละ 2.8 รองลงมาเป็นกรุงเทพมหานคร ( กทม.) ร้อยละ 1.6
ภาคกลางร้อยละ 1.5 ภาคเหนือร้อยละ 1.1 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอัตราน้อยที่สุดที่ร้อยละ 0.9
ทำไมภาคใต้ ว่างงานสูงสุด???

ก่อนอื่น ต้องขอคารวะคุณ wwibul

ด้วยว่ากระทู้นี้ "โดน" มากๆ

ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง กับการใช้ถ้อยคำ"ไม่ต่างทางสถิติ"

ในหน่วยงานของผม มีคณะกรรมการตรวจผลงานวิชาการ ที่เค้าเห็นต่างในเรื่องนี้

กรรมการชุดดังว่านั้น เมื่อเห็นใครใช้ถ้อยคำ "ไม่แตกต่างกัน" "ไม่แตกต่างกันทางสถิติ" แล้ว

เขาหรือเธอเหล่านั้น จะแก้ไขโดยให้เขียนว่า "แตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญ" ซึ่งผมฟังดูแล้ว รู้สึกวิงเวียนอยากจะเป็นลมซัก 3 หนติดๆกัน

แต่ตัวผมเองก็ยังยืนยันที่จะใช้ "ไม่แตกต่างกันทางสถิติ" หรือบางที อาจจะมีวงเล็บข้างท้ายประโยคนั้นว่า P>0.05

โดยเรื่องนี้ ผมได้โพสต์แสดงความเห็นไว้ใน webboard ของหน่วยงานแล้ว

หากว่าพอจะมีเวลา เชิญเข้าไปอ่านดูตามนี้สิครับ

http://www.coastalaqua.com/webboard/index.php?topic=1174.0

สวัสดีครับ คุณ อดุลย์

  • เข้าไปอ่านแล้วครับ
  • อ่านแล้วอึ้ง
  • ภาษา มีหน้าที่พื้นฐาน คือ สื่อสาร
  • สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ คือ ความชัดเจน ความคมชัด จึงจะสื่อสารได้ดี
  • ภาษาที่ชัดเจน เหมือนใส่แว่นที่เหมาะกับตัว ที่ล้างสะอาดสะอ้าน มองอะไรก็เห็นคมชัด ไม่เบลอ
  • ภาษาที่เจตนาสร้างความเข้าใจผิด เป็นภาษาที่ทำร้ายสังคม เพราะทำให้คนฉลาด กลายเป็นคนโง่ไปได้ เพราะทำให้คิดไม่ชัดตามภาษาไปด้วย
  • เรื่องนี้คงต้องรณรงค์กันขนานใหญ่จริงด้วยครับ

ตอนแรก ผมแค่อ่านเฉพาะตอนที่ 6 ก็ขอคารวะคุณ wwibul เป็นเบื้องต้นแล้ว

เมื่อวานนี้ พอจะมีเวลา เลยได้เปิดอ่าน "เรียนสถิติด้วยภาพ" ย้อนไปตั้งแต่ตอนที่1 ขึ้นมาจนถึงตอนที่ 5 แถมเรื่อง เมื่อ "เท่ากับ" เป็นมากกว่านั้น

คราวนี้ ผมก็ต้องขอคารวะคุณ wwibul อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู อีกครั้งหนึ่ง

ด้วยเรื่องราวเหล่านั้น เป็นการอธิบายเรื่องราวเกี่ยวกับทางสถิติ ที่ชัดเจนแจ่มแจ้งดีมาก

คุณสามารถย่อยเรื่องยากให้กลายเป็นเรื่องง่าย ได้อย่างไม่น่าเชื่อ

อ่านแล้ว ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้มันสมองได้ดีมากเลยครับ

ขอบคุณเป็นอย่างสูง

สวัสดีครับ คุณอดุลย์

  • กลุ่มเป้าหมายที่ผมเขียนคือกลุ่มที่เริ่มเรียนสถิติครับ รวมถึงคนทั่วไปที่อยากใช้สถิติ แต่ไม่รู้จะเริ่มตรงไหน
  • ถ้าว่ากันถึงความถูกต้องตามหลักวิชา คงแค่พอแกล้มแกล้ม
  • แต่อยากให้นึกภาพติดตาได้มากกว่า
  • สถิติในชีวิตประจำวันมีบทบาทมากแบบคนทั่วไปนึกไม่ถึง ผมเองมองว่า สถิติเป็นเกราะป้องกันตัวด่านแรกของผู้บริโภคด้วยซ้ำ
  • แต่ก็ยังรู้สึกเขียนได้ไม่ดีเท่าไหร่ เพราะจะเผลอข้ามขั้นตอน
  • อ่านแล้วตรงไหนที่รู้สึกว่าเรียบเรียงแล้วยังสะดุด ก็ช่วยวิจารณ์นะครับ
  • หรือถ้าประเด็นไหนยังรู้สึกรูปไม่ค่อยสื่อตรงใจ ก็บอกได้นะครับ จะพยายามปรับ

สวัสดีค่ะ...

เพิ่งเข้ามาคั่นกลางระหว่างอารมณ์ทำงานหรือจะไปปั่นจักรยาน ได้เข้ามาเจอบันทึกนี้ ชอบๆๆ ค่ะ... โดนใจ

กว่ากะปุ๋มจะเข้าใจก็เรียนสถิติไปตั้งห้าไม้... ประมาณว่าเรียนรู้ได้ช้า แต่พอได้มาอ่านบันทึกนี้...โดนเข้าไปที่ใจอย่างจังเลยค่ะ

ขอบพระคุณค่ะ

(^____^)

ขออนุญาตนำไปใช้เล่าในวง R2R หน่อยนะคะ

สวัสดีครับ คุณ Ka-Poom

  • ขอบคุณที่ให้เกียรติ
  • ด้วยความยินดีครับ
  • ขอเตือนว่า ประเด็นนี้ คงอ้างอิงทางวิชาการไม่ได้ เพราะเรื่องนี้ เป็นปัญหาทางภาษา มากกว่าทางสถิติ ที่ผมเชื่อว่า ไม่มีข้อสรุป เป็นปัญหาเรื่องการเลือกใช้ถ้อยคำ ที่ต่างคน คงต่างใจ
  • แต่ก็อย่างที่กล่าวถึงไว้ก่อนนี้ว่า ภาษาที่มักสร้างความเข้าใจผิดได้ง่าย เป็นภาษาที่ทำร้ายสังคม เพราะทำให้คนฉลาด กลายเป็นคนโง่ไปได้ เพราะคิดไม่ชัดตามภาษาไปด้วย

 

เหมือน 0,1 กับ 00,01,10,11 ตัวเลือกมากกว่า

ขอบคุณมากค่ะ พอดีกำลังเรียนวิชาสถิติ ปวดหมองมากๆพอได้อ่านบทความนี้ โดนใจมากๆ ทำไมคนเราถึงชอบใช้คำให้น่าเวียนหัวอยู่เรื่อย งงงงงงงง...

ปล.จะติดตามเรื่อยๆค่ะ

สวัสดีครับ

ด้วยเหตุนี้หรือเปล่า ที่สถิติทำให้คนปวดหัว มึนงงอย่างไม่มีนัยสำคัญ

เรียนสถิตสมัยมหาลัย ก็พึ่งเข้าใจดีวันนี้ครับ ขอบคุณจริงๆครับ

แต่อยากให้ช่วยอธิบายด้วยภาพ เรื่อง รูปแบบการแจกแจงแบบต่อเนื่องทั้งหมด สมัยเรียนหนังสือ ยัง งงง ไม่หายเลยครับ

คุณธเนศหมายถึงการแจกแจงปรกติหรืออะไรครับ อ่านแล้วไม่แน่ใจ คือชินกับศัพท์ภาษาอังกฤษมากกว่า แปลแล้วนึกไม่ออก -_-!

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท