ชีวิตที่พอเพียง : ๕๖๘. ความสุขในวันขึ้นปีใหม่


 

          ปีใหม่นี้ได้หยุดยาว ๕ วัน   และได้ “พร” จากลมฟ้าอากาศ ประทานความเย็นมาจากทางเหนือของโลก   วันแรกของปี ๒๕๕๒ ของผมจึงเป็นวันที่รื่นรมย์ยิ่ง   เป็นวันแห่งความสุขที่พอเพียง

          ใครถามว่าปีใหม่ผมไปไหน   ผมจะตอบว่า “ไปตากอากาศ” อยู่กับบ้าน   เพราะที่บ้านผมอากาศดีมาก   และเมื่ออากาศเย็นสบายอย่างนี้ แค่ผมย้ายที่อ่านหนังสือไปอ่านใต้ต้นไม้ รับลมเย็นที่พัดมาจากทิศเหนือ ก็ได้ความสุขล้นเหลือแล้ว    เป็นความสุขที่ไม่ต้องใช้จ่ายเงิน หรือความสุขที่พอเพียง

          ยิ่งลูกสาวย้ายบ้านมาอยู่บ้านติดกัน   และลูกสาวลูกชายทุกคนมาบ้านพร้อมหน้ากัน (ยกเว้นคนที่อยู่นิวยอร์ก) ยิ่งมีความสุข  

          ดนตรีธรรมชาติบรรเลงตั้งแต่เช้า   คือเสียงนกหลากหลายชนิด   จะมีดนตรีนี้บรรเลงตลอดวัน สลับช่วงกัน   โดยปีนี้เราได้ดนตรีธรรมชาติเพิ่มมาอีกชนิดหนึ่ง   มากับครอบครัวลูกสาว ซึ่งเป็นครอบครัวใหญ่ ๖ ชีวิต   เป็นคน ๓  สุนัข ๓    เจ้าสุนัขนี่แหละเป็นผู้ให้เสียงดนตรีชนิดใหม่แก่เรา   เมื่อวันก่อนน้องชายโทรศัพท์มาหาจากเชียงราย   เขาคงได้ยินเสียงสุนัขเห่าขรม   จึงถามว่าหมาที่ไหน   ผมจึงบอกว่าผมได้เสียงดนตรีเพิ่มขึ้นอีกชนิดหนึ่งจากการที่ลูกสาวย้ายมาอยู่บ้านติดกัน   น้องชายหัวเราะชอบใจ ว่าถ้าลูกของเขาคิดอย่างนี้บ้างก็จะดี  

          ปีนี้สารภีไม่ออกดอกเลย   ช่วงปีใหม่ ๒๕๕๑ สารภีที่บ้านผมออกดอกเต็มต้น ส่งกลิ่นหอมอ่อนๆ ไปทั่ว   แต่สะเดาก็ออกดอกดกมากเหมือนปีที่แล้ว    โดยปีนี้เราได้พนักงานสอยดอกสะเดา คือลูกสาวกับแม่บ้านของเขา    เราจึงได้กินสะเดาลวกเกือบทุกวัน   ทำให้นอนหลับสบายและถ่ายอุจจาระคล่อง   

          ภรรยาชอบใจที่ลูกมาอยู่กัน (เกือบ) พร้อมหน้า    ต้มข้าวต้มกินกับปลากุเลาแดดเดียว ผักทอด ไข่เจียว และยำผักดองกระป๋อง เป็นอาหารเช้า   และนัดกันออกไปกินอาหารเที่ยงที่ร้านแม่ลาปลาเผาที่เมืองทองธานี   แต่ในที่สุดก็เปลี่ยนเป็นกินสุกี้ที่เอ็มเค คาร์ฟูแจ้งวัฒนะ   โดยลูกชายเป็นเจ้ามือ   เขาบอกว่าเขาเพิ่งได้รับเงินค่าวิทยากรจาก สคส. โดยที่ยังไม่ได้ทำงาน   คือช่วงเวลาฝึกอบรมคือ ๖ – ๙ ม.ค.  

          ตากอากาศไป เข้าอินเทอร์เน็ตไปก็ได้   โลกสมัยนี้สะดวกดีจริงๆ   ปีใหม่นี้ผมต้องเป็นนักเรียนเรียนรู้เรื่องระบบอุดมศึกษาไทย    ว่ามีสภาพเป็นอย่างไรเมื่อมองจากภาพใหญ่   เว็บไซต์ของ สกอ. www.mua.go.th บอกว่ามีจำนวนถึง ๑๕๒ มหาวิทยาลัย   เป็นของรัฐ ๖๕  เอกชน ๖๘  และวิทยาลัยชุมชน ๑๙   การที่มีมหาวิทยาลัยเอกชนจำนวนมากเป็นหลักฐานบอกว่าเป็นธุรกิจที่ดี   ผมสรุปกับตัวเองว่าบางสาขาเป็นธุรกิจที่ดี   บางสาขาไม่ดี   รัฐควรเลือกให้ทุนสนับสนุนเฉพาะสาขาที่มหาวิทยาลัยเอกชนเลี้ยงตัวเองไม่ได้จะดีไหม   หรือจะต้องคิดซับซ้อนกว่านี้      

          อ่านข้อสรุปการไป study tour ของ ดร. วิบูลย์ ที่สหรัฐเมื่อเดือน เม.ย. ๕๑   พบว่าสถาบันดุดมศึกษาของสหรัฐอเมริกามีมากและซับซ้อน (complex) หลากหลาย กว่าของไทยมาก   เขามีถึง ๔,๓๕๒ สถาบัน    โดยที่กว่า ๑ ใน ๓ เป็นวิทยาลัยชุมชน และจำนวนนักศึกษา ๓๘% เรียนในวิทยาลัยชุมชน    และมีเพียง ๒๕๗ สถาบัน (๖%) เป็นสถาบันที่ให้ปริญญาเอก   ตัวเลขเหล่านี้เป็นของปี พ.ศ. ๒๕๔๘    ถ้าใช้ตัวเลข ๖% มาใช้กับประเทศไทย    เราก็ควรมีมหาวิทยาลัยที่ให้ปริญญาเอก ๙ – ๑๐ แห่งเท่านั้น    ตรงกับจำนวนที่ได้รับทุน คปก. จำนวนมากพอดี

          ผมยิ่งมีความสุข เมื่ออากาศในวันที่ ๒ ม.ค. เย็นลงและลมแรงขึ้น  

วิจารณ์ พานิช
๒ ม.ค. ๕๒

        

หมายเลขบันทึก: 235190เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2009 16:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 04:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เห็นอาจารย์มีความสุข ผมก็พลอยรู้สึกเป็นสุขไปด้วยครับ

กราบขอบคุณสำหรับบัตรอวยพรและคำอวยพรที่เป็นกำลังใจในการพัฒนาเยาวชนร่วมกับทีมงานที่เข้มแข็งของธนาคารไทยพาณิชย์และมูลนิธิสยามกัมมาจลที่ท่านเป็นเสาหลักอันสำคัญยิ่งของพวกเราค่ะ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท