ส้มโอ อ่างกะป่อง
นางสาว เรณู ส้มโอ อ่างกะป่อง หิริโอตัปปะ

การพูดอย่างสร้างสรรค์


การพูดอย่างสร้างสรรค์

การพูดอย่างสร้างสรรค์


ลองคิดดูว่าถ้าในการทำงานแต่ละวัน ต้องได้ยินได้ฟังแต่เสียงบ่น ได้ยินแต่คำพูดที่ตำหนิติเตียน คำพูดในแง่ร้าย คำพูดที่ไม่เป็นมิตร คำพูดที่เต็มไปด้วยอารมณ์รุนแรง ชีวิตการทำงานของเราจะเป็นอย่างไร คงเครียดและหดหู่ใจ คับแค้นใจ ไม่อยากจะทำงานในที่นั้นอีกต่อไปอย่างแน่นอน

ดังนั้น จึงควรให้ความสำคัญกับการพูดจากันให้มาก ลองมาฝึกพูดจากันด้วยดี ซึ่งแม้จะฝืนความเคยชินไปบ้าง แต่ก็เป็นประโยชน์ช่วยสร้างบรรยากาศที่ดี ในการทำงานและช่วยให้ความสัมพันธ์ในระหว่างผู้ร่วมงานดีขึ้น ควรหมั่นพูดคำว่า "สวัสดี ไม่เป็นไร ขอโทษ และ ขอบคุณ" ให้ติดปาก จะช่วยทำให้จิตใจผู้พูดอ่อนโยนลง และผู้ฟังก็สบายใจด้วย

การทักทายกันด้วยคำว่า "สวัสดี" พร้อมทั้งยิ้มให้กันอย่างจริงใจ หรือยกมือไหว้ทักทายกัน จะแสดงถึงความมีอัธยาศัยไมตรีแสดงความเป็นมิตร ความมีมารยาท ช่วยสร้างบรรยากาศที่อบอุ่นระหว่างกัน โดยไม่ต้องเสียเงินลงทุนเลย

การพูดว่า "ไม่เป็นไร" แสดงถึงการให้อภัย ไม่ถือโกรธเคือง ผู้พูดจะรู้สึกสบายใจ เพราะได้ให้อภัยไปแล้ว ส่วนผู้ฟังก็จะรู้สึกดีด้วย ที่อีกฝ่ายไม่ถือโทษโกรธเคือง

การกล่าวคำ "ขอโทษ" แสดงถึงการยอมรับผิด การอ่อนน้อมถ่อมตน แม้จะเป็นผู้ใหญ่แต่ถ้าทำผิดก็ควรขอโทษผู้น้อยได้เช่นกัน คำขอโทษจะทำให้อีกฝ่ายลดความรู้สึกโกรธเคืองลง ช่วยให้บรรยากาศที่กำลังตึงเครียดดีขึ้นได้

สำหรับคำว่า "ขอบคุณ" เป็นการแสดงออกถึงความรู้สำนึกในน้ำใจ หรือเห็นคุณค่าในการกระทำของอีกฝ่าย ทำให้ผู้ฟังรู้สึกชื่นใจ ดีใจและอยากจะทำดีเช่นนั้นต่อไปอีกเรื่อยๆ


นอกจากคำพูดเหล่านี้แล้ว การพูดในเชิงสร้างสรรค์ ชมเชย ให้กำลังใจ ไต่ถามทุกข์สุขของกันและกันอยู่เสมอ รู้จักพูดจายกย่องชื่นชมผู้อื่นอย่างจริงใจ หลีกเลี่ยงการนินทา กล่าวโทษหรือกล่าวถึงความไม่ดีของผู้อื่น และการพูดแบบประนีประนอมในฐานะคนกลางที่ช่วยประสานความเข้าใจระหว่างสองฝ่าย จะช่วยให้ผู้ร่วมงานไว้วางใจเรา


สำหรับ ผู้ที่ชอบน้อยใจ ว่าไม่มีใครเข้าใจ หรือมักจะหงุดหงิด อารมณ์เสียที่ผู้ร่วมงานทำไม่ถูกใจ ควรฝึกที่จะพูดถึงความต้องการในใจออกมา เช่น ถ้าต้องการให้ใครทำอะไร ควรบอกไปตามตรง โดยใช้วิธีขอร้อง ขอความช่วยเหลือดีๆ จะทำให้ผู้ร่วมงานรู้ถึงความต้องการและสามารถตอบสนองได้ถูกต้อง อย่าปล่อยให้ผู้อื่นต้องคอยเดาใจอยู่ตลอดเวลา เพราะไม่มีใครที่รู้ใจใครไปเสียทุกเรื่อง แม้จะสนิทกันเพียงใดก็ตาม


ในกรณีที่เกิดความขัดแย้งกับผู้ร่วมงาน ถ้ายังอารมณ์ไม่ดี ควรสงบปากสงบคำอย่าเพิ่งพูดหรือทำอะไรออกไป เพราะอาจจะทำให้เรื่องราวลุกลามใหญ่โต หรืออาจจะต้องเสียใจในภายหลัง ควรหลบหน้ากันไปสักพัก รอให้อารมณ์ดีขึ้นก่อน จึงค่อยกลับมาพูดจากันใหม่ด้วยเหตุด้วยผล ถ้ายังตกลงกันไม่ได้ ควรหาคนกลางที่ทั้งสองฝ่ายเชื่อถือมาไกล่เกลี่ย หรือถ้าเป็นเรื่องที่กระทบกระเทือนถึงคนหลายคน ควรมีการประชุม และให้ผู้เกี่ยวข้องช่วยตัดสินใจ หรือไม่อาจจะต้องอาศัย กฎ ระเบียบของหน่วยงาน หรือใช้กฎหมายมาเป็นตัวช่วยตัดสินใจ


ถ้าสามารถปรับปรุงการพูดให้ดีขึ้นได้ นอกจากจะช่วยพัฒนาตัวเองให้ มีเสน่ห์ เป็นที่ชื่นชอบของผู้ร่วมงานแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างบรรยากาศ สร้างมิตรภาพ ในที่ทำงานให้ดีขึ้น ทำให้มีความเครียดในการทำงานน้อยลงด้วย

ข้อมูล: กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

คำสำคัญ (Tags): #ความรู้
หมายเลขบันทึก: 230350เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2008 10:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 04:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท