คัมภีร์


คัมภีร์มัญชุสารวิเชียร       

                มีลม ๑๐ ประการ บังเกิดในลำดับโรคอื่นก็มี บังเกิดแต่ก่อนไข้ทั้งปวงก็มี และลม ๑๐ ประการ ซึ่งเป็นก้อนเป็นดานนั้นคือ ทักษิณะคุละมะ วามะกะคุละมะ กูปะคุละมะ โลหะคุละมะ เสลสะมะกะคุละมะ กรึตะคุละมะ ปิตตะคุละมะ รัตตะคุละมะ ทัศพุคุละมะ ปะระวาตะคุละมะ ลมก้อนลมดาน ลมมี ๑๐ ประการ ดังนี้

                ๑. อันว่าลมก้อนดาน       ตั้งอยู่เบื้องขวา มีนาภีเป็นที่สุด ชื่อว่า ทักษิณะคุละมะ

                ๒. อันว่าลมก้อนดาน      ตั้งอยู่เบื้องซ้าย มีนาภีเป็นที่สุด ชื่อว่า วามะกะคุละมะ

                ๓. อันว่าลมก้อนดาน      อันตั้งอยู่เบื้องต่ำแห่งนาภี         ชื่อว่า กูปะคุละมะ

                ๔. อันว่าลมก้อนดาน      อันตั้งอยู่เบื้องบนแห่งนาภี        ชื่อว่า โลหะคุละมะ

                ๕. อันว่าลมก้อนดาน      อันตั้งอยู่ในอุระประเทศ            ชื่อว่า เสลสะมะกะคุละมะ

                ๖. อันว่าลมก้อนดาน       อันตั้งอยู่ในไส้ มีนาภีเป็นเบื้องต่ำ มีเสมหะกระจายออกเป็นอันมาก ชื่อว่า กรึตะคุละมะ

                ๗. อันว่าลมก้อนดาน      อันตั้งอยู่ในอุรา มีดีซึมอยู่เป็นอันมาก ชื่อว่า ปิตตะคุละมะ

                ๘. อันว่าลมก้อนดาน      อันตั้งอยู่หน้าขา มีโลหิตแตกออกมา   ชื่อว่า รัตตะคุละมะ

                ๙. อันว่าลมก้อนดาน       อันตั้งแอบก้อนลมวามะกะคุละมะอยู่ ชื่อว่า ทัสถะคุละมะ

                ๑๐. อันว่าลมก้อนดาน  อันชื่อว่า ปาระวาตะคุละมะ ตั้งแอบก้อนลมทักษิณะคุละมะ อยู่

                อันว่าลมก้อนดานเถาอันใด อันตั้งอยู่ในอก และตั้งอยู่บนยอดไส้ เกียวผ่านลงไปในนาภีนั้นตั้งอยู่ได้เดือนหนึ่ง  แพทยาจารย์อย่าพึงรักษาเลย อันว่าลมก้อนดานเถาอันอื่นนอกจากลม ๑๐ ประการนี้ แพทย์พอจะเยี่ยวยารักษาให้หายได้

                อันว่าลมปิตตะคุละมะ แพทย์มิพึงจะรักษา ถ้าแหละแพทย์จะรักษา ก็ถึงให้เผาเหล็กแดงเอาทาบลงบนสรรพยา เพื่อจะให้ที่เผานั้นพองขึ้น ทำทั้งนี้เพื่อมิให้พยาธิเจริญขึ้นมาได้ สรรพยาที่จะนาบนั้น เอาขมิ้นอ้อย ว่านน้ำ เปราะหอม เมล็ดผักกาด เมล็ดงาดำ เทียนดำ เอาสิ่งละ ๖ สลึง ตำให้แหลกเคล้ากับน้ำมันหมู แล้ววางลงที่เจ็บนั้น แล้วเอาเหล็กแดงนาบลงแก้ลมก้อนเถาหาย

                ยาชื่อจิตระกาธิคุณ เอาผักแพวแดง รากหัวลิง รากระหุ่งแดง ขิงแห้ง มหาหิงคุ์ ผลโมกมัน เกลือสินเธาว์  เอาสิ่งละ ๗ ส่วน ตำเป็นผงละลายน้ำร้อนกิน แก้ลมคุละมะ ให้เสียดแทงหายแล

                ยาชื่อขิปปะกะโอสถ เอารากสะค้าน เกลือสินเธาว์ เปลือกมะขามป้อม ของแห้ง เอาสิ่งละ ๔ ส่วน ตำเป็นผงละลายน้ำร้อนกิน แก้ลมเสียดแทงและลมคุละมะทั้งปวง หายแล

                ยาชื่อพละหะตาธิคุณ เอารากมะแว้งเครือ รากจุกโรหินี รากกำจาย เปราะหอม โหรามิกสิงคลี โกฐจุฬาลัมพา รากบัวบก รากสัก ผลกระดอม ข่าลิง เอาสิ่งละ ๑๐ ส่วน ตำผลละลายน้ำผึ้งกิน แก้ลม ปิตตะคุละมะอันเสียดแทง แก้ไข้สันนิบาตก็หาย แก้ไอผอมแห้ง ผอมเหลือง และหมองใจให้บวม แก้หืด แก้หิดเปื่อยพุพอง หนองไหล ก็หายแล

                ยาชื่อปัตโตลาธิกะวาต เอาผลกระดอม ผลสมอไทย ผลสมอพิเภก มะขามป้อม ใบสะเดา เอาสิ่งละ ๕ ส่วน ต้มกิน แก้ลมอยู่เบื้องซ้าย แก้ไข้เพื่อดีตัวเหลือง และแก้ไขเพื่อเสมหะมักให้อาเจียน แก้ลมเสียดให้ร้อนเป็นกำลัง หายแล

                ยาชื่อวิไสโอสถ เอาขิงแห้ง ระหุ่งแดงทั้งใบทั้งราก เทียนเยาวพานี รากไม้ไผ่สีสุก สารส้ม มหาหิงคุ์ เกลือเทศ เกลือสินเธาว์ เกลือกะตัง รากจุกโรหินี เอาสิ่งละ ๑๑ ส่วน ตำเป็นผงละลายน้ำร้อนกิน แก้ลมก้อนดานเถาให้เสียดแทง หายแล

                ยาชื่อสรรพโอสถ เอาตรีกฏุก ยางสน เกลือสินเธาว์ โคกกระสุน กระถิ่นป่า รากมะเขือขื่น รากกรรนิการ์ รากคนทิสอ รากคนทีเขมา รากมะแว้งทั้งสอง รากอ้ายเหนียว รากมะเขือคางแพะ หัศคุณทั้งสอง มหาหิงคุ์ กำลังหนุมาน หัวเอื้องเพชรม้า หัวหอม เอาสิ่งละ ๑๒ ส่วน ตำเป็นผงละลายน้ำร้อนกิน แก้ลมก้อนเพื่อเสมหะให้เสียดแทง หายแล

                ยาชื่อพระโยสาธิคุณ เอาตรีกฏุก กำลังหนุมาน เง่าอุบล ผลช้าพลู สะค้าน ผักแพวแดง เทียนเยาวพานี จันทน์เทศ เอาสิ่งละ ๑๐ ส่วน ตำเป็นผงละลายน้ำนมโคกิน ทำให้ชื่นใจ แก้โรคบังเกิดแต่ดีเสมหะ ให้ร้อนและให้ผูก แก้โรคผอมเหลือง และเจ็บอก หายแล

                ยาชื่อตรีผลา เอาตรีผลา ลูกผักชี ขิง สะค้าน ผักแพวแดง เอาสิ่งละ ๗ ส่วน ตำเป็นผง บดด้วยน้ำเถาวัลย์เปรียงต้ม ละลายน้ำเถาวัลย์เปรียงแทรกยางสนกินแก้ลมก้อนและลมเสียดแทง หายแล

                จะกล่าวมูตรโรคมี ๒๐ ประการ คือ น้ำเบาเป็นโลหิต น้ำเบาเหลืองดังน้ำขมิ้น เบาเป็นดังน้ำนมโค เบาดังน้ำข้าวเช็ด เบาดังน้ำใบไม้เน่า น้ำเบาเป็นหนอง น้ำเบาไหลซึม เบาร้อน เบาขัด เบาดังน้ำล้างเนื้อ เบาขัดเพราะดีให้โทษ เบาขัดเพาะลมให้โทษ เบาขัด เพราะโรคปะระเมหะให้โทษ เบาขัดเพราะเกิดจากความเพียรกล้า เบาขัดเกิดแต่เป็นไข้ตรีโทษ เป็นนิ่วให้เบาขัดและเบาวันละ ๗ ครั้ง เบาวันละ ๑๐ ครั้ง และเบาบ่อย ๆ

                ยาชื่อติกาธิคุณ เอาเถายอดด้วน ผักขวง พญารากเดียว บอระเพ็ด เอาสิ่งละ ๔ ส่วน ต้มไว้ให้เย็นแล้วดื่มกิน แก้มูตรขาว หายแล

                ยาชื่อมันยาธิคุณ เอาผลสมออัพยา (ผล ๖ เหลี่ยม) ผลมะขามป้อม รากแฝกหอม หัวแห้วหมู เอาเท่ากันต้ม เวลากินแทรกน้ำผึ้ง แก้มูตรพิการ หายแล

                ยาชื่อกะเรริมาละโอสถ เอารากกุ่มบก ๗ ส่วน รากมะแว้ง ๓๕ ส่วน ขิงแคลง ๓๗ ส่วน ตำเป็นผงละลายน้ำผึ้งกิน แก้โรคปัสสาวะ หายแล

                ยาชื่ออุทระโอสถ เอารากจิงจ้อน้อย รากโคกกระสุน รากรกฟ้า รากหมอน้อย หญ้าแพรก จันทน์ทั้งสอง รากพิลังกาสา เอาสิ่งละ ๘ ส่วน ต้มไว้ให้เย็นเวลากินแทรกน้ำผึ้งแก้ขัดเบาเพื่อดี หายแล

                ยาชื่อพฤกษนิบรรณ เอาช้าเลือดตัวผู้ กำลังหนุมาน โคกกระสุน รากมะแว้ง ทั้งสองเอาสิ่งละ ๕ ส่วนต้มกิน แก้เบาขัดเพื่อดีเพื่อลมซึ่งทำให้ผูกนั้น หายแล

                ยาชื่อวิกขโอสถ เอารากเอื้องใหญ่ ชะลูด รากบุนนาค รากโหรามิคสิงคลี เง่าปีนตอ รากขมิ้นชัน เอาสิ่งละ ๖ ส่วน ต้มกิน แก้เบาขัดเพื่อดีและเพื่อลม หายแล

                ยาชื่อวิกขโอสถ เอารากเอื้องใหญ่ ชะลูด รากบุนนาค รากโหรามิคสิงคลี เง่าปีนตอ รากขมิ้นชัน เอาสิ่งละ ๖ ส่วน ต้มกิน แก้เบาขัดเพื่อดีและเพื่อลม หายแล

                ยาชื่อปะระสะกันพะโอสถ เอารากยอ รากแคฝอย รากหญ้าแพรก เอาสิ่งละ ๓ ส่วน ต้มคั้นเอาน้ำแล้วเอาข้าวตอกกับน้ำผึ้งระคนลงในน้ำยาต้ม เอาไว้ให้เย็นแล้วจึงกิน แก้ลม แก้ดี แก้ร้อนนอกร้อนกาย แก้กระหายน้ำ แก้เสียดแทงถึงสลบ แก้อาเจียน แก้สะท้านและวิงเวียน แก้เบาเหลืองเพื่อดีและเบาเป็นป่วง หายสิ้นแล

                ยาชื่อกูละโอสถ เอารากหญ้าคา รากอ้อ รากแขม รากเลาแดง รากหญ้าแพรก เอาสิ่งละ ๕ ส่วน ต้มกินก่อนยาทั้งปวง เป็นยาประจุหมู่ แก้เบาขัดหายดีนัก

                ยาชื่อมูละกาธิคุณ เอาหัวแห้วหมู กรุงเขมา ขมิ้นอ้อย ขมิ้นชัน ขมิ้นเครือ เถายอดด้วน เครือเขาไฟ ว่านน้ำ รากจำปา เปราะหอม โกฐสอ รากมะกอก ผลกระจับ น้ำตาลจีน เทียนเยาวพานี สารส้ม เอาสิ่งละ ๑๖ ส่วน ตำเป็นผงละลายน้ำร้อนกิน แก้เบาขัดเบาข้น เป็นยาประจุปัสสาวะดีนัก

                ยาชื่อสรวิครึมูล เอารากกุ่มบก พริกไทย ดีปลี ขิง เอาสิ่งละ ๗ ส่วน ต้มกินแก้ขัดเบา เพื่อริดสีดวง เป็นยาประจุมูตร

                ยาชื่อทัพยาธิคุณ เอาสะค้าน ผักแพวแดง ดองดึง ว่านน้ำ ยาดำ มหาหิงคุ์ โกฐสอ โกฐจุฬาลัมพา โกฐพุงปลา กัญชา หัวอุตพิด เนื้อฝักราชพฤกษ์ ชะเอมเทศ ดีปลี แก่นแสมทะเล เอาสิ่งละ ๑ ส่วน พริกไทยล่อนเท่ายาทั้งหลาย ตำเป็นผง เอาน้ำใบกะเม็ง น้ำลูกประคำดีควาย เคล้ายาผงตากแดดให้แห้งสิ่งละ ๗ ครั้ง แล้วบดด้วยน้ำผึ้งกินหนักหนึ่งสลึง แก้กล่อน ๕ ประการ ซึ่งให้จุกเสียดและเป็นพรรดึก แก้ลมเป็นก้อนในอุทร ให้เจ็บทั่วร่างกาย เจ็บสะเอว มือเท้าตายกระด้างและเมื่อยขบทุกข้อทุกลำ ขัดแข้งขา เจ็บทวารหนัก เบาพิการต่างๆ เจ็บศีรษะ เวียนหน้าตา เจ็บไหล่ทั้งสอง ปากเปรี้ยว เสียงแหบแห้ง ขัดสีข้าง ขัดอก ท้องขึ้น กินอาหารไม่มีรส นอนไม่ใคร่หลับ โรคทั้งนี้เป็นเพราะเสมหะแห้ง บุรุษและสตรีเป็นเหมือนกัน

                ยาต้มคู่กัน เอารากส้มกุ้งทั้ง ๒ สิ่งละ ๒ บาท ขี้เหล็กทั้ง ๕ สิ่งละ ๑ บาท รากโคกกระออม รากทรงบาดาล แก่นสักหิน สิ่งละ ๕ บาท รากกระทกรก ๖ บาท รากช้าพลู รากเจตมูลเพลิง แก่นแสมสาร แก่นมะเกลือ แก่นลั่นทม แก่นมะกา แก่นมะขาม แก่นราชพฤกษ์ โคกกระสุน ชะเอมทั้ง ๒ สิ่งละ ๑๐ บาท แก่ปรู แก่นแสมทะเล แก่นมะหาด สิ่งละ ๑๘ บาท รากตองแตก ๒๐ บาท ผักเสี้ยนผี ๒๔ บาท ยาข้าวเย็นทั้ง ๒ สิ่งละ ๓๐ บาท ต้มด้วยน้ำ ๗ สระ แล้วเอาหิงคุยางโพ การะบูน พริกไทย สิ่งละสลึงเฟื้อง ขิงแห้ง ดีปลี สะค้าน สิ่งละ ๑ สลึงเฟื้อง ลูกจันทน์เทศ ๑ บาท ตำเป็นผงแล้วรินยาต้มตั้งไว้ แล้วกลั้นใจหยิบยาผง ๓ หยิบใส่ลงกิน แก้กล่อนเลือดกล่อนลม กล่อนหิน กล่อนเส้น กล่อมน้ำ และแก้ธาตุเสียท้องขึ้น นอนไม่ใคร่หลับกระสับกระส่าย มือเท้าตาย แก้ริดสีดวงมองคร่อ ไอหืด แก้ลมเสียดแทงตามสีข้าง แก้ขัดเบาเพื่อลมกล่อนให้ถ้วนหัวเหน่าและเบาเหลือง ให้ร้อนในอก มึนตึง พูดไม่ออก ชัดเท้างอ มือกำ แก้ลมพรรดึก จุกเสียด ให้ร้อนตามกระเบนเหน็บและเบาบ่อยๆ เกิดเพราะเตโชธาตุกำเริบในกองปถวีธาตุ และกินของผิดฤดูจึงเป็น แก้ลมดานธิคุณ ย่อมเบาเป็นหนอง เหตุมักมากในกามคุณกระทบกระทั่งช้ำชอกจึงเป็นโรคต่างๆ แก้ลมอัมพาต ราชยักษ์ ชักปากเบี้ยวตาแหก แก้ไส้เลื่อนให้ปวดตามหัวเหน่า และท้องน้อย แก้อุปทมเป็นหนองใน ให้ผอมเหลืองให้เสมหะเหนียว แก้เถาดานเป็นก้อนและเป็นลูกกลิ้งในท้อง เพราะวาโยกำเริบ บางทีให้อยากดื่มน้ำในเวลาเที่ยงคืน เหตุเพราะอาโปกำเริบ บางทีให้คันตัวเหมือนมดไต่ ด้วยลมในกองปถวีธาตุกำเริบ บางทีบริโภคของเข้าไปให้ท้องขึ้น พะอืดพะอมเพราะธาตุไฟหย่อน บางทีให้หิวหาแรงมิได้ เพราะธาตุวาโยหย่อน บางทีให้เหนื่อย กินอาหารไม่มีรส ไม่อยากข้าวอยากน้ำ เพราะธาตุอาโปหย่อน บางทีให้เป็นฝีในอกและตกเลือดทางทวารทั้ง ๙ ก็อาศัยด้วยธาตุเตโช กำเริบ บางทีกลายเป็นมานเลือด มานลม มานหิน เพราะธาตุทั้ง ๔ ไม่บริบูรณ์ ยานี้แก้โรค ตามที่กล่าวมานี้ให้หายสิ้นแล

 

 

คำสำคัญ (Tags): #คัมภีร์
หมายเลขบันทึก: 223603เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2008 17:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2012 12:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท