ประเภทและลักษณะของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ


ประเภทและลักษณะของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ
ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ

 
ประเภทและลักษณะ

     การจัดแบ่งประเภทของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ มักจะทำเพื่อเป็นการจัดให้สอดคล้องกับการจัดบริการ และให้การช่วยเหลือตามความเหมาะสม ซึ่งการจัดแบ่งประเภทจึงมีความแตกต่างกัน ดังนี้
 
องค์การอนามัยโลก (WHO)ได้จัดแบ่งเด็กที่มีความต้องการพิเศษตามลักษณะไว้  ดังนี้
 
  1. แบ่งตามความบกพร่อง (Classification of Impairment) ได้แก่
 
    1.1 บกพร่องทางสติปัญญาหรือความทรงจำ (Intelligence or Memory Impairment)
 
    1.2 บกพร่องทางจิตอื่น ๆ (Other Psychological Impairment)

    1.3 บกพร่องทางภาษาหรือการสื่อความหมาย (Language or Communication Impairment)

    1.4 บกพร่องทางการได้ยิน (Aural Impairment)

    1.5 บกพร่องทางการมองเห็น (Ocular Impairment)

    1.6 บกพร่องทางอวัยวะภายใน (Visceral Impairment)

    1.7 บกพร่องทางโครงกระดูก (Skeletal Impairment)

    1.8 บกพร่องทางประสาทสัมผัส (SensoryImpairment)

    1.9 อื่น ๆ

  2. แบ่งตามการไร้ความสามารถ (Classification of Disabilities)

    2.1 ไร้ความสามารถทางอุปนิสัย (Behavior Disabilities)

    2.2 ไร้ความสามารถทางการสื่อความหมาย (Communication Disabilities)

    2.3 ไร้ความสามารถทางการดูแลตนเอง (Personal Care Disabilities)

    2.4 ไร้ความสามารถทางการเคลื่อนไหว (Locomotor Disabilities)

    2.5 ไร้ความสามารถทางความคล่องแคล่วของอวัยวะ (Dexterity Disabilities)

    2.6 ไร้ความสามารถทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Disabilities)

    2.7 ไร้ความสามารถในบางสถานการณ์ (Situational Disabilities)

  3. แบ่งตามการเสียเปรียบ (Classification of Handicap)

    3.1 เสียเปรียบทางความสำนึก (Orientation Handicap)

    3.2 เสียเปรียบทางกายไม่เป็นอิสระ ต้องพึ่งผู้อื่น (Physical Independence Handicap)

    3.3 เสียเปรียบทางการเคลื่อนไว (Mobility Handicap)

    3.4 เสียเปรียบทางด้านกิจกรรม (Occupation Handicap)

    3.5 เสียเปรียบทางด้านสังคม (Social Integration Handicap)

    3.6 เสียเปรียบทางสภาพเศรษฐกิจ (Economic Self- Sufficiency Handicap)

     เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา (Children with Intellectual Disabilities)


     คณะกรรมการร่วมขององค์การกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ (UNICEF) กับองค์การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการระหว่างประเทศ ได้กำหนดประเภทของเด็กที่มีความต้องพิเศษ โดยอาศัยลักษณะของความพิการและปัญหาของเด็กเป็นเกณฑ์ คือ

  1. ตาบอด

  2. มองเห็นได้อย่างเลือนลาง หรือบางส่วน

  3. มีความบกพร่องทางการได้ยิน

  4. ปัญญาอ่อน

  5. พิการเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว ซึ่งเกิดจากความพิการทางสมอง ความพิการทางแขน ขา ลำตัว

  6. มีความบกพร่องทางการพูด หรือ การใช้ภาษา

  7. มีปัญหาการเรียนรู้เฉพาะด้าน

  8. มีปัญหาทางพฤติกรรมต่าง ๆ

  9. เรียนหนังสือได้ช้า

  10. มีปัญหาความพิการซ้อน

     สำหรับทางการแพทย์ มีการจัดประเภทความต้องการพิเศษ เพื่อการบำบัดรักษาตามสภาพความพิการเป็นประเภทอย่างกว้าง ๆ ดังนี้

  1. ความพิการทางแขน ขา ลำตัว

  2. ความพิการทางหู

  3. ความพิการทางตา

  4. ความพิการทางสติปัญญา

  5. ความพิการทางอารมณ์และจิตใจ


     กองการศึกษาเพื่อคนพิการ กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดประเภทเด็กที่มีความต้องการพิเศษตามลักษณะที่ได้ดำเนินการจัดให้บริการทางการศึกษา โดยแบ่งเป็น

  1. เด็กพิเศษประเภทตาบอด

  2. เด็กพิเศษประเภทหูหนวก

  3. เด็กพิเศษประเภทปัญญาอ่อน

  4. เด็กพิเศษประเภทพิการทางร่างกาย รวมทั้งเด็กเจ็บป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาล

  5. เด็กขาดโอกาสที่จะเรียน หรือเด็กศึกษาสงเคราะห์ ได้แก่ เด็กชาวบ้าน ชาวเขา ชาวเรือ ชาวแพ ชาวเกาะ


     คณะอนุกรรมการโครงการการศึกษาพิเศษ โครงการพัฒนาศึกษาอาเซี่ยน ได้จัดประเภทเด็กที่มีความต้องการพิเศษที่จะให้บริการทางการศึกษาไว้ ดังนี้

  1. เด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น

  2. เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน

  3. เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา

  4. เด็กที่มีความบกร่องทางร่างกายและสุขภาพ

  5. เด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้


     ตามพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534 แบ่งประเภทของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ เพื่อการจดทะเบียนและการฟื้นฟูสมรรถภาพไว้ คือ

  1. คนพิการทางการเห็น

  2. คนพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย

  3. คนพิการทางกายหรือการเคลื่อนไหว

  4. คนพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม

  5. คนพิการทางสติปัญญาหรือการเรียนรู้

 

     เด็กบกพร่องทางสติปัญญา หมายถึง เด็กที่มีระดับสติปัญญา หรือเชาว์ปัญญาต่ำกว่าเกณฑ์ เฉลี่ยเมื่อเทียบเด็กในระดับอายุเดียวกัน มี 2 กลุ่ม คือ

  1. เด็กเรียนช้า หมายถึง เด็กที่มีความสามารถในการเรียนล่าช้ากว่าเด็กปกติ จัดเป็นพวกขาดทักษะในการเรียนรู้ หรือมีความบกพร่องทางสติปัญญาเพียงเล็กน้อย เด็กเหล่านี้จะมีระดับสติปัญญา (IQ) ประมาณ 71-90

  2. เด็กปัญญาอ่อน หมายถึง เด็กที่มีภาวะพัฒนาการของจิตใจหยุดชะงัก หรือเจริญไม่เต็มที่ ซึ่งแสดงลักษณะเฉพาะ คือ มีระดับสติปัญญาต่ำ มีความสามารถในการเรียนรู้น้อย มีพัฒนาการทางกายล่าช้าไม่เหมาะสมกับวัย มีความสามารถจำกัดในการปรับตัวต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม

เด็กปัญญาอ่อนแบ่งตามระดับสติปัญญา (IQ) ได้ 4 กลุ่ม คือ

  1. เด็กปัญญาอ่อนขนาดหนักมาก มีระดับสติปัญญาต่ำกว่า (IQ) 20 ลงไป

  2. เด็กปัญญาอ่อนขนาดหนัก มีระดับสติปัญญา (IQ) ระหว่าง 20-34

  3. เด็กปัญญาอ่อนขนาดปานกลาง มีระดับสติปัญญา (IQ) ระหว่าง 35-49

  4. เด็กปัญญาอ่อนขนาดน้อย มีระดับสติปัญญา (IQ) ระหว่าง 50 -70 กลุ่มนี้พอจะเรียนในระดับประถมศึกษาได้ และสามารถฝึกอาชีพและงานง่าย ๆ ได้ เรียกโดยทั่ว ๆ ไปว่า E.M.R. (Educable Mentally Retarded)

เด็กที่มีความพกพร่องทางการได้ยิน (Children with Hearing Impaired)

     เด็กบกพร่องทางการได้ยิน หมายถึง ผู้ที่มีความบกพร่อง หรือสูญเสียการได้ยิน เป็นเหตุให้การรับฟังเสียงต่าง ๆ ได้ไม่ชัดเจน มี 2 ประเภท คือ

  1. เด็กหูตึง หมายถึง ผู้ที่สูญเสียการได้ยินถึงขนาดที่ทำให้มีความยากลำบากจนไม่สามารถเข้าใจคำพูดและการสนทนาได้ แต่ไม่ถึงกับหมดโอกาสที่จะเข้าใจภาษาพูดจากการได้ยินด้วยหูเพียงอย่างเดียว โดยไม่มี หรือไม่ใช้เครื่องช่วยฟัง แบ่งตามระดับการได้ยิน ซึ่งอาศัยเกณฑ์การพิจารณาอัตราความบกพร่องของหู โดยใช้ค่าเฉลี่ยการได้ยินที่ความถี่ 500, 1000 และ 2000 รอบต่อวินาที (เฮิร์ท: Hz) ในหูข้างที่ดีกว่า จำแนกได้ 4 กลุ่ม คือ

    1.1 เด็กหูตึงระดับน้อย มีการได้ยินเฉลี่ยระหว่าง 26 -40 เดซิเบล (dB)

    1.2 เด็กหูตึงระดับปานกลาง มีการได้ยินเฉลี่ย 41 - 55 เดซิเบล (dB)

    1.3 เด็กหูตึงระดับมาก มีการได้ยินเฉลี่ยระหว่าง 56 - 70 เดซิเบล (dB)

    1.4 เด็กหูตึงระดับรุนแรง มีการได้ยินเฉลี่ยระหว่าง 71 - 90 เดซิเบล (dB)

  2. เด็กหูหนวก หมายถึง เด็กที่สูญเสียการได้ยินมากถึงขนาดที่ทำให้หมดโอกาสที่จะเข้าใจภาษาพูดจากการได้ยินด้วยหูเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีหรือมีเครื่องช่วยฟังจนเป้นเหตุให้ไม่สามารถเข้าใจหรือใช้ภาษาพูดได้ หากไม่ได้รับการฝึกฝนเป็นพิเศษ ถ้าวัดระดับการได้ยินแล้วจะมีการได้ยินตั้งแต่ 91 เดซิเบล (dB) ขึ้นไป


เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพ (Children with Physical and Health Impairments)

     เด็กบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพ หมายถึง ผู้ที่มีอวัยวะไม่สมส่วน อวัยวะส่วนใด ส่วนหนึ่งหรือหลายส่วนหายไป กระดูกกล้ามเนื้อพิการ เจ็บป่วยเรื้อรังรุนแรงหรือเฉียบพลัน มีความพิการทางระบบประสาทสมอง มีความลำบากในการเคลื่อนไหวจนเป็นอุปสรรคต่อการศึกษาเล่าเรียน และทำกิจกรรมของเด็ก จำแนกได้ดังนี้

  1. อาการบกพร่องทางร่างกาย ที่มักพบบ่อย ได้แก่

    1.1 ซีพี หรือ ซีรีรัล พัลซี (C.P. : Cerebral Passy) หมายถึง การเป็นอัมพาตเนื่องจากระบบประสาทสมองพิการหรือเป็นผลมาจากสมองที่กำลังพัฒนาถูกทำลายก่อนคลอด อันเนื่องมาจากการขาดอากาศ ออกซิเจน ฯ เด็กซีพี มีความบกพร่องที่เกิดจากส่วนต่าง ๆ ของสมองแตกต่างกัน ที่พบส่วนใหญ่ คือ

      1.1.1 อัมพาตเกร็งของแขนขา หรือครึ่งซีก (Spastic)

      1.1.2 อัมพาตของลีลาการเคลื่อนไหวผิดปกติ (Athetoid) จะควบคุมการเคลื่อนไหวและบังคับไปในทิศทางที่ต้องการไม่ได้

      1.1.3 อัมพาตสูญเสียการทรงตัว (Ataxia) การประสานงานของอวัยวะไม่ดี

      1.1.4 อัมพาตตึงแข็ง (Rigid) การเคลื่อนไหวแข็งช้า ร่างการมีการสั่นกระตุกอย่างบังคับไม่ได้

      1.1.5 อัมพาตแบบผสม (Mixed)

    1.2 กล้ามเนื้ออ่อนแรง (Muscular Distrophy) เกิดจากประสาทสมองที่ควบคุมส่วนของกล้ามเนื้อส่วนนั้น ๆ เสื่อมสลายตัว โดยไม่ทราบสาเหตุ ทำให้กล้ามเนื้อแขนขาจะค่อย ๆ อ่อนกำลัง เด็กจะเดินหกล้มบ่อย

    1.3 โรคทางระบบกระดูกกล้ามเนื้อ (Orthopedic) ที่พบบ่อย ได้แก่

      1.3.1 ระบบกระดูกกล้ามเนื้อพิการแต่กำเนิด เช่น เท้าปุก (Club Foot) กระดูกข้อสะโพกเคลื่อน อัมพาตครึ่งท่อนเนื่องจากกระดูกไขสันหลังส่วนล่างไม่ติด

      1.3.2 ระบบกระดูกกล้ามเนื้อพิการด้วยโรคติดเชื้อ (Infection) เช่น วัณโรค กระดูกหลังโกง กระดูกผุ เป็นแผลเรื้อรังมีหนอง

      1.3.3 กระดูกหัก ข้อเคลื่อน ข้ออักเสบ มีความพิการเนื่องจากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง

    1.4 โปลิโอ (Poliomyelitis) เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งเข้าสู่ร่างกายทางปาก แล้วไปเจริญต่อมน้ำเหลืองในลำคอ ลำไส้เล็ก และเข้าสู่กระแสเลือดจนถึงระบบประสาทส่วนกลาง เมื่อเซลล์ประสาทบังคับกล้ามเนื้อถูกทำลาย แขนหรือขาจะไม่มีกำลังในการเคลื่อนไหว

    1.5 แขนขาด้วนแต่กำเนิด (Limb Deficiency) รวมถึงเด็กที่เกิดมาด้วยลักษณะของอวัยวะที่มีความเจริญเติบโตผิดปกติ เช่น นิ้วมือติดกัน 3-4 นิ้ว มีแค่แขนท่อนบนต่อกับนิ้วมือ ไม่มีข้อศอก หรือเด็กที่แขนขาด้วนเนื่องจากประสบอุบัติเหตุ และการเกิดอันตรายในวัยเด็ก

    1.6 โรคกระดูกอ่อน (Osteogenesis Imperfeta) เป็นผลทำให้เด็กไม่เจริญเติบโตสมวัย ตัวเตี้ย มีลักษณะของกระดูกผิดปกติ กระดูกยาวบิดเบี้ยวเห็นได้ชุดจากระดูกหน้าแข็ง

  2. ความบกพร่องทางสุขภาพ ที่มักพบบ่อย ได้แก่

    2.1 โรคสมชัก (Epilepsy) เป็นลักษณะอาการที่เกิดเนื่องมาจากความผิดปกติของระบบสมองที่พบบ่อยมีดังนี้

      2.1.1 ลมบ้าหมู (Grand Mal)

      2.1.2 การชักในช่วยเวลาสั้น ๆ (Petit Mal)

      2.1.3 การชักแบบรุนแรง (Grand Mal)

      2.1.4 อาการชักแบบพาร์ชัล คอมเพล็กซ์ (Partial Complex)

      2.1.5 อาการไม่รู้สึกตัว (Focal Partial)

    2.2 โรคระบบทางเดินหายใจโดยมีอาการเรื้อรังของโรคปอด (Asthma) เช่น หอบหืด วัณโรค ปอดบวม

    2.3 โรคเบาหวานในเด็ก เกิดจากร่างกายไม่สามารถใช้กลูโคสได้อย่างปกติ เพราะขาดอินชูลิน

    2.4 โรคข้ออักเสบรูมาตอย มีอาการปวดตามข้อเข่า ข้อเท้า ข้อศอก ข้อนิ้วมือ

    2.5 โรคศีรษะโต เนื่องมาจากน้ำคั่งในสมอง ส่วนมากเป็นมาแต่กำเนิด ถ้าได้รับการวินิจฉัยโรคเร็วและรับการรักษาอย่างถูกต้องสภาพความพิการจะไม่รุนแรง เด็กสามารถปรับสภาพได้และมีพื้นฐานทางสมรรถภาพดีเช่นเด็กปกติ

    2.6 โรคหัวใจ (Cardiac Conditions) ส่วนมากเป็นตั้งแต่กำเนิด เด็กจะตัวเล็กเติบโตไม่สมอายุ ซีดเซียว เหนื่อยหอบง่าย อ่อนเพลีย ไม่แข็งแรงตั้งแต่กำเนิด

    2.7 โรคมะเร็ง (Cancer) ส่วนมากเป็นมะเร็งเม็ดโลหิต และเนื้องอกในดวงตา สมอง กระตูก และไต

    2.8 บาดเจ็บแล้วเลือดไหลไม่หยุด (Hemophilia)


เด็กที่มีความบกพร่องทางการพูดและภาษา (Children with Speech and Language disorders)

     การพูดและภาษาเป็นสิ่งที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน ทั้งนี้เพราะการพูดเป็นการแสดงออกทางภาษา ดังนั้นเด็กบกพร่องทางการพูด และภาษา จึงหมายถึง ผู้ที่พูดไม่ชัด และลีลาจังหวะการพูดผิดปกติ ออกเสียงผิดเพี้ยน อวัยวะที่ใช้ในการพูดไม่สามารถเป็นไปตามลำดับขั้น การใช้อวัยวะเพื่อการพูดไม่เป็นไปดังที่ตั้งใจ คำพูดที่ยากหรือซับซ้อนหรือยาวจะยิ่งมีปัญหามากหรือมีอาการพูดและใช้ภาษาที่ผิดปกติ โดยการพูดนั้นเห็นได้ชัดว่าผิดแปลกไปจากการพูดของคนทั่วไป ทำให้ฟังไม่รู้เรื่อง สื่อความหมายต่อกันไม่ได้ หรือมีอากัปกิริยาที่ผิดปกติขณะพูด ซึ่งความบกพร่องทางการพูดและภาษาสามารถจำแนกได้ ดังนี้ คือ

  1. ความผิดปกติด้านการออกเสียง

    1.1 ออกเสียงผิดเพี้ยนไปจากมาตรฐานของภาษาเดิม เช่น พูดเสียงขึ้นจมูกเนื่องมาจากอิทธิพลของภาษาถิ่น

    1.2 เพิ่มหน่วยเสียงเข้าในคำโดยไม่จำเป็น

    1.3 เอาเสียงหนึ่งมาแทนอีกเสียงหนึ่ง เช่น กวาด -> ฟาด

  2. ความผิดปกติด้านจังหวะเวลาของการพูด เช่น การพูดรัว การพูดติดอ่าง

  3. ความผิดปกติด้านเสียง

    3.1 ระดับเสียง เช่น การพูดเสียงสูงเกินไป ต่ำเกินไป หรือพูดระดับเสียงเดียวกันหมด

    3.2 ความดัง เช่น พูดเสียงดังมาก หรือเบามากจนเกินไป

    3.3 คุณภาพของเสียง เช่น พูดเสียงแตกพร่า เสียงแหบ เสียงหอบ

  4. ความผิดปกติทางการพูดและภาษาอันเนื่องมาจากพยาธิสภาพที่สมอง โดยทั่วไปเรียกว่า Dysphasia หรือ aphasia ที่ควรรู้ ได้แก่

    4.1 Motor aphasia (Expressive หรือ Broca's apasia)

    4.2 Wemicke's aphasia (Sensory หรือ Receptive apasia)

    4.3 Conduction aphasia

    4.4 Nominal aphasia (Anomic aphasia)

    4.5 Global aphasia

    4.6 Sensory agraphia

    4.7 Motor agraphia

    4.8 Cortical alexia (Sensory alexia)

    4.9 Motor alexia

    4.10 Gerstmann's syndrome

    4.11 Visual agnosia

    4.12 Auditory agnosia

เด็กที่มีความบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์ (Children with behaviorally and Emotional disorders)

     เด็กที่มีความบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์ (Children with behaviorally and Emotional disorders)เด็กบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์ หมายถึง ผู้ที่มีการควบคุมอารมณ์ให้อยู่ในสภาพปกติ เช่นคนปกตินาน ๆ ไม่ได้ หรือผู้ที่ควบคุมพฤติกรรมบางอย่างของตนเองไม่ได้ ซึ่งพฤติกรรมที่แสดงออกมานั้นไม่เป็นที่ยอมรับและพอใจของมาตรฐานความประพฤติปฏิบัติของสังคม ทำให้ไม่สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างเรียบร้อย สอดคล้องกับสภาพการณ์ ซึ่งการจะจัดว่าใครมีความบกพร่องทางพฤติกรรม และอารมณ์ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบต่าง ๆ ดังนี้

  1. สภาพแวดล้อม พฤติกรรมและอารมณ์ที่เป็นที่ยอมรับในสถานการณ์อย่างหนึ่ง

  2. ความคิดเห็นของแต่ละบุคคล ความคิดเห็นของคนสองคนที่มีต่อพฤติกรรมอย่างเดียวกัน ย่อมไม่เหมือนกัน

  3. เป้าหมายของแต่ละบุคคล ซึ่งเป้าหมายจะเป็นตัวกำหนดทำให้การมองพฤติกรรมเดียวกันของคนสองคนมองกันคนละแง่

 


เด็กที่มีความบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์จะได้รับผลกระทบในลักษณะต่าง ๆ อาจจะเพียงข้อใดข้อหนึ่ง หรือหลายข้อก็ได้ และเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นและมีมาเป็นเวลานานแล้วได้แก่

  1. ไม่สามารถเรียนหนังสือได้เช่นเด็กปกติ

  2. ไม่สามารถรักษาความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนนักเรียนด้วยกัน หรือกับครูได้

  3. มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กปกติอื่น ๆ ในวัยเดียวกัน

  4. มีความคับข้องใจ และมีความเก็บกดอารมณ์

  5. แสดงอาการทางร่างกาย เช่น ปวดศรีษะ ปวดตามส่วนต่าง ๆของร่างกายหรือมีความหวาดกลัว


เด็กที่มีความบกพร่องทางพฤติกรรม ซึ่งจัดว่ามีความรุนแรงมาก และกำลังได้รับความสนใจจากทางการแพทย์ ทางจิตวิทยา และทางการศึกษา ได้แก่

  1. เด็กสมาธิสั้น (Children with Attention Deficit and Hyperactivity Disorders)

  2. เด็กออทิสติก (Autistic) หรือบางคนเรียกว่า ออทิสซึ่ม (Autisum)


เด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ (Children with Learning Disabilities)
     เด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ (Children with Learning Disabilities) เด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ หรือเรียกย่อๆ ว่า L.D. (Learning Disability) หมายถึง ผู้ที่มีปัญหาทางการเรียนรู้เฉพาะอย่าง โดยมีความบกพร่อง หรือปัญหาหนึ่ง หรือมากกว่าหนึ่งอย่าง ในกระบวนการทางจิตวิทยาทำให้เด็กเหล่านี้มีปัญหาทางการใช้ภาษา หรือการพูด การเขียน โดยจะแสดงออกมาในลักษณะของการนำไปปฏิบัติทั้งนี้ไม่นับรวมเด็กที่มีปัญหาเพียงเล็กน้อยทางการเรียน ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจาก การขาดแรงเสริม ด้วยโอกาสทางสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม หรือเป็นเพราะครูสอนไม่มีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุนี้ในการพิจารณาเรื่องปัญหา ทางการเรียนรู้จึงต้องอาศัยลักษณะร่วมกันคือ เป็นผู้ที่มีระดับสติปัญญาปกติ หรือมีสติปัญญาอยู่ในช่วงเช่นเดียวกับเด็กปกติแต่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนจะต่อกว่าปกติ และจะต้องไม่มีความพิการหรือความบกพร่องในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย สุขภาพอนามัย ระบบประสาทการสัมผัสและวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง


เด็กออทิสตึก (Autistic)

     เด็กออทิสติก หรือบางครั้งเรียกว่า ออทิซึ่ม (Autism) หมายถึง เด็กที่มีความบกพร่องอย่างรุนแรงในการสื่อความหาย พฤติกรรม สังคม และความสามารถทางสติปัญญาในการรับรู้ อาการต่าง ๆ จะมีการเปลี่ยนแปลงไม่แน่นอนเป็นระยะ ๆ ไป เด็กออทิสติกแต่ละคนจะมีเอกลักษณ์ของตนเอง และย่อมแตกต่างไปจากเด็กคนอื่น ๆ ซึ่งเป็นเด็กออทิสติกเหมือนกัน ทั้งนี้เป็นเพราะอาการที่เป็นออทิสติกนั้นจะคงอยู่ติดตัวเด็กไปจนเป็นผู้ใหญ่จนตลอดทั้งชีวิต ไม่สามารถรักษาให้หายได้หากพิจารณาเปรียบเทียบด้านพัฒนาการของทักษะด้านต่าง ๆ ของเด็กออทิสติกใน 4 ด้าน คือ ด้านทักษะการเคลื่อนไหว ด้านทักษะการรับรู้เกี่ยวกับรูปทรง ขนาดและพื้นที่ ด้านทักษะภาษาและการสื่อความหมาย และด้านทักษะทางสังคม จะพบว่าเด็กออทิสติกจะมีพัฒนาการด้านภาษาและพัฒนาการด้านสังคมต่ำมาก แต่จะมีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว ด้านการรับรู้รูปทรง ขนาดและพื้นที่โดยเฉลี่ยสูงถ้าความแตกต่างระหว่างทักษะด้านภาษา และสังคมยิ่งต่ำกว่า ทักษะด้านการเคลื่อนไหว และการรับรู้รูปทรงมากเท่าใดความเป็นไปได้ของออทิสติกก็ยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น พัฒนาการที่ผิดปกตินี้ ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงตลอดชีวิต ซึ่งปกติปรากฎในระยะ 3 ปี แรกของชีวิต


เด็กพิการซ้อน (Children with Multiple Handicaps)

     เด็กบกพร่องซ้อน หมายถึง ผู้ที่มีความบกพร่องที่มากกว่าหนึ่งอย่าง เป็นเหตุให้เกิดปัญหาขัดข้องในการเรียนรู้อย่างมาก เช่น ปัญญาอ่อน-ตาบอด ปัญญาอ่อน-ร่างกายพิการ หูหนวก-ตาบอด ฯลฯ

 

บทความจาก  http://www2.se-ed.net/thaieducate/

http://dekspecial.blogspot.com

หมายเลขบันทึก: 222069เขียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2008 00:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท