การวิจัยในชั้นเรียน


การวิจัยในชั้นเรียน

การวิจัยในชั้นเรียน : เครื่องมือนำไปสู่การประกอบวิชาชีพครู

* สุรวาท ทองบุ

จากการที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซี่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และมีผลต่อระบบการศึกษาของประเทศอย่างยิ่ง โดยที่มีข้อกำหนดไว้ในมาตรา 81 ที่กำหนดให้มีการพัฒนาวิชาชีพครู ซึ่งถือว่าเป็นวิชาชีพชั้นสูง เมื่อพิจารณาคำว่า วิชาชีพ ซึ่งน่าจะหมายถึง การประกอบอาชีพใด ๆ ที่จำเป็นต้องอาศัยผู้มีความรู้ความสามารถได้รับการศึกษาเล่าเรียนมาโดยเฉพาะ และมีการพัฒนาอาชีพของตนให้เกิดความก้าวหน้า บรรลุผลสำเร็จของงานอย่างมีคุณภาพยิ่งขึ้นอยู่เสมอ ซึ่งจะต่างจากคำว่า อาชีพที่เป็นการประกอบอาชีพที่อาจจะไม่ต้องศึกษาเล่าเรียนมาโดยเฉพาะ แต่มีความสามารถที่จะทำงานในอาชีพนั้น ๆ ได้ และสามารถทำงานนั้นไปได้เรื่อย ๆ โดยไม่ต้องมีการพัฒนางานหรือเปลี่ยนแปลงไปสู่คุณภาพของการทำงานหรือผลงานก็ได้ ส่วนคำว่า วิชาชีพครู จะหมายถึง อาชีพครูของผู้ที่ได้รับการศึกษามาในสาขา การศึกษาหรือวิชาชีพครูโดยเฉพาะในระดับปริญญา มีการพัฒนากระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้มีความก้าวหน้าอยู่เสมอ รวมทั้งพัฒนาปัจจัย กระบวนการ และผลการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนอยู่ตลอดเวลา และคำว่า วิชาชีพชั้นสูงน่าจะหมายถึง เป็นวิชาชีพที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากวิชาชีพอื่น ๆ อาจจะเป็นเพราะ ผู้ประกอบวิชาชีพนี้ จะต้องเกี่ยวข้องกับบุคลากรของชาติ ต้องอาศัยความเป็นผู้มีคุณธรรมสูงเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูกศิษย์และบุคคลทั่วไปและยังต้องมีความรู้ความสามารถก้าวทัน ต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจ สังคม และวิทยาการ เทคโนโลยี อยู่ตลอดเวลา

สำหรับการที่จะทำให้ผู้มีอาชีพครูเป็นผู้ประกอบวิชาชีพครูและเป็นวิชาชีพชั้นสูงนั้น ครูจะต้องมีกระบวนการพัฒนาอาชีพตนเอง อย่างมีระบบ รอบคอบ รัดกุม ละเอียดถี่ถ้วน อาศัยการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างถูกต้องและครบถ้วน อาศัยหลักวิชาในการพัฒนาและศึกษาค้นคว้าอย่างกว้างขวางรอบด้าน ให้ได้ความรู้ใหม่ในการบรรยายสภาพการณ์ต่าง ๆ หรือได้นวัตกรรมใหม่ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาและพัฒนางานในหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล นั่นคือ คุณภาพของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และคุณภาพของผู้เรียน นั่นเอง ซึ่งกระบวนการนี้เราจะเรียกว่า การวิจัย และเป็นการวิจัยที่มุ่งพัฒนากระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้หรือพัฒนาพฤติกรรมของผู้เรียนให้มีคุณภาพตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตรหรือสังคมคาดหวัง ซึ่งอาจจะดำเนินการโดยครูหรือคณะครู หรือดำเนินการร่วมกับผู้เรียนก็ได้ การวิจัยนี้เราจะเรียกว่า การวิจัยในชั้นเรียน

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังกำหนดให้มีการตรากฎหมายการศึกษาของชาติขึ้น ส่งผลให้มีการตราพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 ขึ้น และเพื่ออนุวัติให้เป็นไปตาม รัฐธรรมนูญ เพื่อยกมาตรฐานวิทยฐานะและจรรยาวิชาชีพครู พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 ได้กำหนดให้ครูใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ (มตารา 24 (5)) ให้ครูทำการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียนในแต่ละระดับการศึกษา (มาตรา 30) ให้มีการวิจัยและพัฒนาการผลิตและการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (มาตรา 67) และยังกำหนดให้ครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษา ต้องใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู อีกด้วย

ด้วยเหตุผลทางกฎหมายและสภาพการณ์ของสังคม เศรษฐกิจ วิทยาการและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และที่สำคัญการจะทำให้ครูเป็นผู้ที่ได้ชื่อเป็นผู้ประกอบวิชาชีพครูและเป็นวิชาชีพชั้นสูง ได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูอย่างภาคภูมิ จึงไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงการใช้การวิจัยโดยเฉพาะการวิจัยในชั้นเรียน เป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่การเป็นผู้ได้ประกอบวิชาชีพครู

ซึ่งบทความนี้จะกล่าวถึง แนวคิดของกระบวนการของการวิจัยในชั้นเรียนเท่านั้น ส่วนรายละเอียด วิธีปฏิบัติไม่สามารถที่จะเสนอได้เนื่องจากเนื้อที่มีจำกัด


ประเภทของการวิจัยในชั้นเรียน

ในการวิจัยโดยทั่วไปสามารถจำแนกประเภทตามเกณฑ์ของการจำแนก หลายเกณฑ์ ขอยกตัวอย่างบางเกณฑ์ดังนี้

1. จำแนกตามประโยชน์ที่ได้จากการวิจัย ได้ 2 ประเภท คือ การวิจัยพื้นฐานหรือการวิจัยบริสุทธิ์ และการวิจัยประยุกต์

2. จำแนกตามระเบียบวิธีการวิจัย ได้ 2 ประเภท คือ การวิจัยเชิงพรรณนาหรือบรรยาย การวิจัยเชิงทดลอง และการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์

3. จำแนกตามสาขาวิชา ได้ 3 ประเภท คือ การวิจัยทางสังคมศาสตร์ การวิจัยทางมนุษยศาสตร์ และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์

4. จำแนกตามข้อมูลที่ใช้ ได้ 2 ประเทภ คือ การวิจัยเชิงปริมาณ และการวิจัยเชิงคุณภาพ

อย่างไรก็ตาม ในการวิจัยเรื่องหนึ่ง ๆ อาจจะไม่สามารถแยกประเภทได้อย่างเด็ดขาดอาจจะจัดอยู่ได้ในบางประเภทหรือหลายประเภทในขณะเดียวกัน เช่น ในการวิจัยเรื่องหนึ่งอาจจะเป็นการวิจัยเพื่อพรรณนาหรือบรรยาย ปัญหา และแสวงหาแนวทางการแก้ปัญหาและทดลองนวัตกรรมการแก้ปัญหา การวิจัยนี้จึงเป็นทั้งการวิจัยเชิงพรรณนาหรือบรรยายและการวิจัยเชิงทดลอง หรือการวิจัยบางเรื่องอาจจะต้องใช้ทั้งข้อมูลเชิงปริมาณและคุณภาพ หรือการวิจัยบางเรื่องอาจจะเกี่ยวข้องกับสาขาวิชาหลายสาขาหรือเรียกว่า สหวิทยาการ” (Interdisciplinary) เป็นต้น

เช่นเดียวกัน ในการวิจัยในชั้นเรียนก็อาจยึดเกณฑ์การจำแนกเช่นเดียวกันกับการวิจัยทั่วไป ก็ได้ อย่างไรก็ตาม การวิจัยในชั้นเรียนมีลักษณะเฉพาะอาจจะจำแนกตามเกณฑ์เฉพาะเพิ่มขึ้นได้ดังนี้

1. จำแนกตามลักษณะความเข้มของกระบวนการวิจัย ได้ 3 ประเภท คือ

1.1 การวิจัยหน้าเดียว ซึ่งเป็นการวิจัยที่สามารถเขียนรายงานเพียงหน้าเดียวหรือหลายหน้าแต่ไม่มากนัก และการเขียนจะเขียนเพียงบอกปัญหาและวิธีแก้ปัญหาและผลการแก้ปัญหาอย่างย่อพอเข้าใจคล้ายกับบทคัดย่อของการวิจัยอื่น

1.2 การวิจัยอย่างง่าย เป็นการวิจัยที่ค่อนข้างมีกระบวนการที่ครบถ้วนแต่การเขียนรายงานการวิจัยบางหัวข้ออาจขาดความสมบูรณ์บ้างเช่น เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

1.3 การวิจัยที่สมบูรณ์ เป็นการวิจัยที่อยู่ในระดับมาตรฐานสากล ดำเนินการตามกระบวนการที่ครบถ้วน เขียนรายงานการวิจัยอย่างสมบูรณ์

2. จำแนกตามจุดมุ่งหมายเฉพาะของการวิจัย ได้ 2 ประภท คือ

2.1 การวิจัยเพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันและปัญหา เช่น การวิจัยเพื่อวิเคราะห์ผู้เรียนหรือวินิจฉัยผู้เรียน การวิจัยเพื่อประเมินคุณภาพการศึกษา การวิจัยเพื่อศึกษาสภาพและปัญหาการเรียนรู้ เป็นต้น

2.2 การวิจัยเพื่อประยุกต์ทฤษฎีในการแก้ปัญหาและพัฒนา เช่น การวิจัยเพื่อสร้างสื่อและนวัตกรรมการเรียนรู้ การวิจัยเพื่อสร้างเครื่องมือประเมินผลการเรียนรู้ การวิจัยเพื่อปรับแก้พฤติกรรมบางอย่างของผู้เรียน การวิจัยเพื่อพัฒนาทักษะหรือพฤติกรรมของผู้เรียนให้มีความเป็นเลิศ เป็นต้น

จากที่ทราบประเภทของการวิจัยดังกล่าวแล้ว การวิจัยที่นิยมหรือควรส่งเสริมให้ครูทำการวิจัยในชั้นเรียน ควรจะเป็นการวิจัยที่มุ่งที่จะศึกษาผู้เรียนโดยเฉพาะปัญหาการเรียนรู้ และนำไปสู่การแสวงหาแนวทางการแก้ปัญหา ทดลองแก้ปัญหาและศึกษาผลการแก้ปัญหา ซึ่งเป็นงานในหน้าที่ของครู และเป็นการวิจัยที่มีความสมบูรณ์ถูกต้องตามหลักวิชา ในบทความนี้ จึงจะนำเสนอกระบวนและขั้นตอนการวิจัยในชั้นเรียนที่เป็นการวิจัยเชิงทดลองและเป็นการวิจัยที่สมบูรณ์

กระบวนและขั้นตอนการวิจัยในชั้นเรียน

การวิจัยโดยทั่วไปประยุกต์จากกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ 5 ขั้นตอน คือ สังเกตปัญหา

ตั้งสมมติฐาน เก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล และสรุปผล เช่นเดียวกัน การวิจัยในชั้นเรียน ที่เป็นการวิจัยเชิงทดลองและเป็นการวิจัยที่สมบูรณ์ก็ได้ประยุกต์จากกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ นี้เช่นกัน และมีขั้นตอน ดังนี้ คือ

1. กำหนดประเด็นปัญหาการวิจัย

2. แสวงหาหรือกำหนดแนวทางการแก้ปัญหา และตั้งสมมติฐาน

3. วางแผนการทดลองแก้ปัญหาและเก็บรวบรวมข้อมูล

3.1 ออกแบบการวิจัย

3.2 กำหนดประชากรและเลือกกลุ่มตัวอย่าง

3.3 สร้างเครื่องมือในการวิจัย

4. วิเคราะห์ข้อมูล แปรผลการวิเคราะห์ข้อมูล

5. สรุปผล

ขั้นตอนต่าง ๆ มีหลักการและแนวคิด ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 กำหนดประเด็นปัญหาการวิจัย เป็นขั้นตอนที่ครูผู้วิจัยจะต้องกำหนดสิ่งต่อไปนี้

1.1 กำหนดขอบเขตที่จะศึกษาพัฒนาหรือแก้ปัญหา โดยที่ครูจะต้องกำหนดขอบเขตให้สอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ของตน เช่น กำหนดวิชา กำหนดเนื้อหาวิชา บทเรียนหรือหน่วยเรียน ระดับชั้น ที่ตนเองรับผิดชอบในการเรียนการสอน หากครูได้รับผิดชอบทุกวิชา (โดยเฉพาะระดับประถมศึกษา) ก็ต้องกำหนดว่าจะพัฒนาวิชาอะไร ควรเป็นวิชาที่มีปัญหาการเรียนรู้ของผู้เรียนมากที่สุดหรือเป็นวิชาที่สอดคล้องกับความถนัดหรือชำนาญของผู้วิจัยและตรงกับวิชาเอกที่ครูผู้วิจัยสำเร็จมา

1.2 กำหนดจุดพัฒนาหรือแก้ปัญหา ในขั้นนี้ครูผู้วิจัยจะพิจารณา ว่าการทำหน้าที่ของตนเองนั้นมีปัญหาหรือไม่จุดใด เพื่อกำหนดว่าจะทำการแก้ปัญหาวิชานี้ตลอดปีหรือตลอดภาคเรียน หรือเป็นบางบทเรียนหรือบางหน่วยเรียน หรือจะเลือกพัฒนาเป็นรายทักษะหรือสมรรถภาพ เช่น ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ทักษะการแก้โจทย์ปัญหา ทักษะการพูดและฟังภาษาอังกฤษ หรือค่านิยมบางประการ เป็นต้น

ครูผู้วิจัยจะต้องทำการวิเคราะห์ปัญหา ซึ่งสามารถทำได้โดยง่ายคือ เปรียบเทียบสภาพที่เป็นจริงกับสภาพที่คาดหวัง หรือพิจารณาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน ว่าผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำในเนื้อหาใด บทใดหรือทักษะใด ครูผู้วิจัยอาจนำเอาผลการประเมินรายจุดประสงค์ การเรียนรู้มาวิเคราะห์ว่าจุดประสงค์ใดที่ผู้เรียนได้คะแนนเฉลี่ยต่ำ หรือครูผู้วิจัยจะใช้เครื่องมือประเมินผลประเภทแบบทดสอบวินิจฉัย โดยเฉพาะก็ได้ นอกจากนี้ ยังสามารถหาจุดพัฒนาโดยการสังเกตพฤติกรรมผู้เรียนของครูผู้วิจัยเอง ถ้าพบว่า พฤติกรรมของผู้เรียนยังขาดคุณลักษณะที่ดีด้านใด ก็สามารถกำหนดจุดพัฒนาได้

เราอาจจะเริ่มพิจารณาที่ผลผลิตและผลกระทบก่อน จากสภาพที่เป็นจริงของคุณภาพผู้เรียนแตกต่างจากสภาพที่คาดหวังหรือไม่ หากแตกต่างจึงพิจารณาว่ากระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และปัจจัยในการเรียนรู้ตามสภาพที่เป็นจริงอยู่นั้นเป็นไปตามที่คาดหวังหรือยัง หากยังแตกต่างกัน การแก้ปัญหาก็คือ จัดให้มีปัจจัยหรือกระบวนการที่เป็นที่คาดหวัง เพราะเหตุว่า หากมีแก้ปัญหาที่ปัจจัย ก็จะส่งผลมายังกระบวนการ และส่งผลต่อผลผลิตและผลกระทบในที่สุด ในขั้นตอนนี้จะทำให้ทราบว่าสาเหตุของปัญหาของผลผลิตหรือผลกระทบ นั่นเอง ดังแผนภูมิที่แสดงข้างล่าง นี้

 

 

สภาพที่เป็นจริง (ปัจจุบัน)

 

สภาพที่คาดหวัง (เป้าหมายที่กำหนด)

ปัจจัยการเรียนรู้

 

ปัจจัยการเรียนรู้

กระบวนการเรียนรู้

 

กระบวนการเรียนรู้

ผลผลิต(คุณภาพผู้เรียน)

 

ผลผลิต(คุณภาพผู้เรียน)

ผลกระทบ

 

ผลกระทบ

 

ปัญหา

 

แผนภูมิ แสดงการวิเคราะห์ปัญหาอย่างเป็นระบบ

ขั้นตอนที่ 2 แสวงหาหรือกำหนดแนวทางการแก้ปัญหา และตั้งสมมติฐาน

จากขั้นตอนที่ 1 ทำให้ทราบว่ามีปัญหาอยู่ที่จุดใด ในขั้นนี้เป็นขั้นตอนที่ครูผู้วิจัยจะต้องแสวงหาแนวทางการแก้ปัญหา และตั้งสมมติฐานว่า แนวทางการแก้ปัญหานี้จะทำให้ปัญหาหมดไป เช่น นักเรียนที่เรียนตามแนวทางที่ครูผู้วิจัยสร้างขึ้นจะมีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์สูงขึ้นหรือสูงกว่าการเรียนรู้โดยวิธีปกติ เป็นต้น สำหรับการแสวงหาแนวทางครูผู้วิจัยจะต้องทำการศึกษาค้นคว้าเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งตีพิมพ์เป็นภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ดังนี้

1) ตำรา เช่น ตำราเกี่ยวกับแนวคิด ทฤษฎีหรือหลักการต่าง ๆ ตำราเกี่ยวกับหลักการสอน จิตวิทยาการเรียนรู้ การประยุกต์ใช้จิตวิทยาในการเรียนการสอน พฤติกรรมการสอนวิชานั้น ๆ การประเมินผลการเรียนทั่วไป หรือการประเมินผลในรายวิชานั้น ๆ การใช้สื่อและเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ เป็นต้น

2) เอกสารเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ทั่วไป เช่น บทความ หรือคอลัมน์ในนิตยสาร วารสาร หนังสือพิมพ์หรือสิ่งตีพิมพ์ต่าง ๆ ที่นำเสนอแนวคิด ทฤษฎี หลักการหรือวิธีปฏิบัติที่ เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ทำวิจัย

3) รายงานการวิจัย วิทยานิพนธ์ หรือบทคัดย่อการวิจัยที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ

เมื่อศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องแล้ว จะทำให้ครูผู้วิจัยเข้าใจแนวคิด ทฤษฎีหรือหลักการ เห็นแบบอย่างการแก้ปัญหาและสามารถเลือกแนวทางการแก้ปัญหา หรือกำหนดนวัตกรรมที่จะใช้แก้ปัญหา ในการดำเนินการในขั้นตอนนี้ครูผู้วิจัยจะต้องทำการรวบรวม แล้วนำมาเรียบเรียงและสรุปจากการศึกษาค้นคว้าในรายงานการวิจัยด้วย

สำหรับนวัตกรรมที่นิยมนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดความเหมาะสมกับผู้เรียนในการแก้ปัญหา การเรียนรู้ ที่ครูผู้วิจัยสามารถเลือกใช้ มี 2 ประเภท คือ

1) ประเภทผลิตภัณฑ์หรือสิ่งประดิษฐ์ แยกเป็น 2 กลุ่ม คือ

1.1) สิ่งพิมพ์ ได้แก่ เอกสาร บทเรียนสำเร็จรูป ชุดการสอน แบบฝึก เกม/นิทาน/การ์ตูน เป็นต้น

1.2) โสตทัศนูปกรณ์ ได้แก่ ภาพยนตร์ สไลด์ คอมพิวเตอร์ช่วยสอน เทปเพลง เทปเสียงเนื้อหา วีดีทัศน์ เป็นต้น

2) ประเภทรูปแบบ/เทคนิค ได้แก่ แผนการสอน การเรียนแบบศูนย์การเรียน การสอนโดยใช้โครงงาน การสอนแบบบูรณาการ การสอนแบบการแก้ปัญหา การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ยึดผู้เรียนสำคัญที่สุด (child center) รูปแบบการสอนอื่น ๆ ที่ผู้วิจัยคิดขึ้นเอง เป็นต้น

ขั้นตอนที่ 3 วางแผนการทดลองแก้ปัญหาและเก็บรวบรวมข้อมูล

เมื่อกำหนดแนวทางหรือนวัตกรรมการแก้ปัญหาแล้ว ครูผู้วิจัยจะดำเนินการ ดังต่อไปนี้

3.1 ออกแบบการวิจัย เป็นขั้นตอนในการกำหนดวิธีการทดลองเพื่อพิสูจน์ว่านวัตกรรมที่กำหนดขึ้นนั้น ใช้ได้ผลหรือไม่ หรือแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ ครูผู้วิจัยสามารถเลือกแบบการวิจัยอย่างง่าย จากตัวอย่างแบบการวิจัยต่อไปนี้ จากรายละเอียดและแผนภูมิการวิจัยแต่ละแบบ โดยมีสัญลักษณ์ในแบบการวิจัย ดังนี้

E แทน กลุ่มทดลอง

C แทน กลุ่มควบคุม

O1 แทน การประเมินก่อนจัดกิจกรรมการเรียนรู้

O2 แทน การประเมินก่อนจัดกิจกรรมการเรียนรู้

X แทน การทดลองใช้นวัตกรรมการเรียนรู้

~X แทน การจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยวิธีอื่นที่ไม่ใช้นวัตกรรม

แบบการวิจัยที่ 1 แบบ One shot case study

E

 

X

O1

แบบนี้จะเป็นแบบทดลองใช้นวัตกรรมในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แล้วประเมินหลังเรียน แล้วนำผลไปเทียบกับเกณฑ์ที่วางไว้ ซึ่งผู้วิจัยสามารถกำหนดเกณฑ์ขึ้นมาเองได้ แบบนี้เหมาะสำหรับการดำเนินการวิจัยที่มีนักเรียนเพียงกลุ่มเดียว และเนื้อหาที่ใช้เป็นจุดพัฒนาหรือแก้ปัญหา เป็นเรื่องใหม่สำหรับนักเรียนจึงไม่จำเป็นต้องประเมินก่อนเรียนรู้

แบบการวิจัยที่ 2 แบบ One group pretest-posttest

E

O1

X

O2

เป็นแบบประเมินผลก่อนแล้วจึงทดลองใช้นวัตกรรมสอนในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และประเมินผลหลังเรียนอีกครั้งหนึ่ง โดยใช้เครื่องมือในการประเมินเดิมหรือคู่ขนานกัน (เครื่องมือที่วัดคุณลักษณะเดียวกัน ระดับความยากง่ายเท่ากัน แต่แตกต่างกันบ้าง) ก็ได้ แล้วทำการเปรียบเทียบคะแนนการประเมินผลก่อนและหลังการทดลองใช้นวัตกรรม แบบนี้จะมีความเหมาะสมกับวิจัยที่ใช้เนื้อหาการเรียนรู้ที่นักเรียนอาจเรียนรู้มาแล้ว และจะเหมาะสมอย่างยิ่งในการทดลองสอนซ่อมเสริม

แบบการวิจัยที่ 3 แบบ Static-group comparison หรือ control group posttest only

E

 

X

O2

หมายเลขบันทึก: 218994เขียนเมื่อ 27 ตุลาคม 2008 06:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีครับคุณครู   ขอชื่นชมเครื่องสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา  ขอให้ประสบความสำเร็จ

48ff3ca315371

ขอบคุณนะคะ

ที่เป็นกำลังใจมาโดยตลอด

ไม่รู้

ทำไงดีล่ะ

อ๊ะ..ในที่สุดก็รู้ได้

วิจัย..ละซี..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท