วิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ


วิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ (การทำในใจให้แยบคาย)
                   วิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ มี 2 แบบคือแบบมุ่งเน้นสกัด หรือกำจัดอวิชชาโดยตรง และแบบมุ่งสกัดบรรเทาตัณหา มีวิธีคิดที่พบ 10 แบบ ดังนี้
                   1) คิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย
                   2) คิดแบบแยกแยะส่วนประกอบ
                   3) คิดแบบสามัญลักษณ์
                   4) คิดแบบอริยสัจ (คิดแก้ปัญหา)
                   5) คิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์
                   6) คิดแบบเห็นคุณโทษและทางออก
                   7) คิดแบบรู้คุณค่าแท้-คุณค่าเทียม
                   8) คิดแบบเร้าคุณธรรม
                   9) คิดแบบอยู่กับปัจจุบัน
                   10) คิดแบบวิภัชชวาท

 

1.วิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย (สืบสวน)
                  
วิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย คือ การพิจารณาปรากฎการณ์ที่เป็นผล ให้รู้จักสภาวะที่เป็นจริง หรือพิจารณาปัญหา หาหนทางแก้ไขด้วยการค้นหาสาเหตุและปัจจัยต่างๆ ที่สัมพันธ์ ส่งผลสืบทอดกันมาวิธีคิดแบบนี้อาจเรียกว่า วิธีคิดแบบอิทัปปัจจยตา หรือคิดตามหลักปฏิจจสมุปบาท 
ตัวอย่างการคิดแบบนี้มี
                   1) คิดแบบปัจจัยสัมพันธ์
                   คือการที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันจึงเกิดขึ้นพรั่งพร้อมกันว่า "เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้
เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ"
                   2) คิดแบบสอบสวน
                   คือคิดแบบตั้งคำถาม เช่นคิดว่า เมื่ออะไรมีอยู่หนอ อุปทานจึงมี อุปทานมีเนื่องจากมีอะไร
เป็นปัจจัย เป็นต้น


2.วิธีแบบแยกแยะส่วนประกอบ (วิเคราะห์)
                   วิธีคิดแบบแยกแยะส่วนประกอบ (หรือคิดกระจายเนื้อหา) คือการคิดที่มุ่งให้มองและให้รู้จักสิ่งทั้งหมายตามสภาวะของมันเอง เช่น ใช้พิจารณาให้เห็นความไม่มีแก่นสาร หรือความไม่เป็นตัวตนที่แท้จริงของสิ่งทั้งหลาย ให้หายยึดติดมั่นในสมมติบัญญัตเห็นสัตว์บุคคลเป็นเพียงการประชุมกันเข้า ขององค์ประกอบต่างๆ ของขันธ์ 5 แบ่งเป็นนามกับรูปเท่านั้น เป็นต้น
                   วิธีนี้จะช่วยทำให้เห็นความเป็นอนัตตา ทำให้เห็นการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปอยู่ตลอดเวลา ไม่เที่ยงแท้ ไม่คงที่ ไม่ยั่งยืน วิธีคิดแบบที่ 2 นี้ต้องใช้วิธีที่ 1(สืบสาวเหตุปัจจัย) และวิธีที่ 3 (สามัญลักษณ์) ประกอบการคิดด้วยตัวอย่างการคิดแบบนี้ เช่น
                   "เพราะคุมส่วนประกอบทั้งหลายเข้า จึงมีศัพท์ว่ารถฉันใด เมื่อขันธ์ทั้งหลายมีอยู่ สมมติว่าสัตว์ จึงมีฉันนั้น" 


3. วิธีคิดแบบสามัญลักษณ์ (รู้เท่าทันธรรมดา)
                  
วิธีคิดแบบสามัญลักษณ์ (หรือวิธีคิดแบบรู้เท่าทันธรรมดา) คือ มองอย่างรู้เท่านั้น ความเป็นไปของสิ่งทั้งหลาย ซึ่งจะต้องเป็นอย่างนั้นๆ ตามธรรมดาของมันเอง ในฐานะที่มันเป็นสิ่งที่เกิดจากเหตุปัจจัยต่างๆ ปรุงแต่งขึ้น จะต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยรู้เท่าทันตามกฎไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง (ไม่ยั่งยืน เกิดขึ้นตั้งอยู่ ดับไป) ทุกขัง (เกิดขัดแย้ง)อนัตตา (ไม่เป็นของใคร บังคับไม่ได้) สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามกฎนี้ เป็นของธรรมดาวิธีคิดแบบนี้มี 2 ขั้นตอน
                   1) รู้เท่าทันและยอมรับความจริง
                   คือวางใจวางท่าให้สอดคล้องกับธรรมชาติ เป็นอิสระ ไม่ผูกมัดแม้ว่าจะพบสิ่งที่ไม่พอใจ มอง
ตามความจริง ไม่เอาใจไปทุกข์ด้วย ปัญหาเป็นของธรรมดา
                  
2) แก้ไขและทำการไปตามเหตุปัจจัย
                   คือปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายให้สอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติ รู้เท่าทัน เป็นอิสระ ไม่ผูกมัด ศึกษาให้เข้าใจเหตุปัจจัย แล้วแก้ไข ทำการ จัดการที่ตัวเหตุปัจจัยนั้น ซึ่งต้องใช้วิธีการคิดแบบที่ 4 (คิดแก้ปัญหา) มารับช่วงต่อไปตัวอย่างในการปฏิบัติเจริญวิปัสสนา ได้นิยมการคิดเป็นชุด ซึ่งไม่ตรงกับลำดับที่กล่าวมา แล้วคือ
                   ลำดับที่ 1 คิดแยกแยะวิเคราะห์องค์ประกอบ นามกับรูป
                   ลำดับที่ 2 คิดสืบสาวเหตุปัจจัย ตามแนว ปฏิจจสมุปบาท
                   ลำดับที่ 3 คิดแบบรู้เท่าทันธรรมดา คือเอานามรูปมาพิจารณาในแนวไตรลักษณ์ (อนิจจัง 
ทุกขัง อนัตตา)


4. วิธีคิดแบบอริยสัจจ์ (แก้ปัญหา)
                  
วิธีคิดแบบอริยสัจจ์ (คิดแบบแก้ปัญหา) หรือวิธีแห่งความดับทุกข์ ลักษณะการคิดแบบอริยสัจจ์ มี 2 ประการคือ
                   1) คิดตามเหตุและผล
                  
เป็นการคิดสืบสาวจากผลไปหาเหตุ แล้วแก้ไขที่ต้นเหตุ มี 2 คู่ คือ คู่ที่ 1 ทุกข์เป็นผล สมุทัย
เป็นเหตุ และคู่ที่ 2 นิโรธเป็นผล มรรคเป็นเหตุ
                   2) คิดที่ตรงจุดตรงเรื่อง
                   มุ่งตรงต่อสิ่งที่จะต้องทำต้องปฏิบัติเกี่ยวกับชีวิต ใช้แก้ปัญหาไม่ฟุ้งซ่านออกไปในทางฟุ้ง
เฟ้อ ไม่คิดเพื่อตอบสนองตัณหา ตัวอย่างการปฏิบัติคิดแก้ปัญหาแบบอริยสัจดังนี้
                  
ขั้นที่ 1 ทุกข์คือสภาพปัญหา เราต้องกำหนดรู้ ทำความเข้าใจปัญหา กำหนดขอบเขต ปัญหาว่า เป็นอะไร อยู่ที่ไหน เรียกว่า ทำปริญญาแล้ว
                   ขั้นที่ 2 สมุทัยคือเหตุเกิดแห่งทุกข์ หรือสาเหตุแห่งปัญหาได้แก่เหตุปัจจัยต่างๆ ที่เข้าสัมพันธ์ขัดแย้งส่งผลสืบทอดกันมาจนปรากฏเป็นสภาพบีบคั้น กดดัน คับข้อง ติดขัด อึดอัด บกพร่อง 
ในรูปแบบต่าง ๆ แปลกๆ กันไป ต้องหาเหตุให้พบ แล้วทำหน้าที่ต่อมันให้ถูกต้อง โดยกำจัด
หรือละเสีย (ปหาน)
                   ขั้นที่ 3 นิโรธ คือ ความดับทุกข์ ความพ้นทุกข์ ภาวะไร้ทุกข์ ปราศจากปัญหา เป็นจุดหมายที่
ต้องการ เป็นสิ่งที่ต้องทำให้ประจักษ์แจ้ง (สัจฉิกิริยา) ทำให้สำเร็จหรือบรรลุถึง ขั้นนี้ต้อง
กำหนดจุดหมายที่ต้องการ คืออะไร การที่ปฏิบัติอยู่ดี หรือจะปฏิบัติเพื่ออะไร จะทำกันไป
ไหนดี จุดหมายนั้นเป็นไปได้หรือไม่ เป็นไปได้อย่างไร มีหลักการในการเข้าถึงอย่างไร มีจุด
หมายรอง หรือจุดหมายลดหลั่นแบ่งเป็นขั้นตอน ในระหว่างนั้นได้อย่างไรบ้าง
                   ขั้นที่ 4 มรรค คือ ทางดับทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ หรือวิธีการแก้ปัญหา รายละเอียดที่ต้องปฏิบัติ เพื่อกำจัดเหตุปัจจัยของปัญหาให้เข้าถึงจุดหมายที่ต้องการ ซึ่งเราต้องมีหน้าที่ 
ปฏิบัติหรือลงมือทำ (ภาวนา) ในขั้นความคิดนั้นจะเป็นตัวกำหนดวางวิธีการ แผนการและ รายการสิ่งที่จะต้องทำ ที่จะช่วยให้แก้ไขสาเหตุของปัญหาได้สำเร็จโดยสอดคล้อง กับจุดหมายที่ต้องการ จากนั้นเป็นการลงมือทำ


5. วิธีคิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์ (หลักการและความมุ่งหมาย)
                  
วิธีคิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์ (หรือคิดตามหลักการและความมุ่งหมาย) คือพิจารณาให้เข้าใจ
ความสัมพันธ์ระหว่าง ธรรม กับ อรรถ หรือ หลักการ กับความมุ่งหมาย เพื่อให้ได้ผลตามความมุ่งหมาย ไม่กลายเป็นการกระทำที่เคลื่อนคลาด เลื่อนลอย หรืองมงายไร้ผล หรือเกิดโทษ  ธรรม แปลว่า หลักการ หลักความดีงาม หลักการปฏิบัติ หลักที่จะเอาไปใช้ปฏิบัติ หลักคำสอนที่จะนำไปประพฤติปฏิบัติได้อย่างถูกต้องดีงาม อรรถ แปลว่า ความหมาย ความมุ่งหมาย จุดหมาย ประโยชน์ที่ต้องการ สาระที่พึงประสงค์ในการทำการตามหลักการใดๆ ต้องเข้าใจความหมาย และความมุ่งหมายของธรรมหรือ หลัก
การนั้นๆ ว่า ปฏิบัติหรือทำไปเพื่ออะไร ธรรมหรือหลักการนั้นกำหนดวางไว้เพื่ออะไร จะนำไปสู่ผลหรือที่หมายใดบ้าง ทั้งจุดหมายสุดท้ายปลายทาง และเป้าหมายท่ามกลางในระหว่างที่จะส่งทอดต่อไปยังธรรมหรือหลักการข้ออื่นๆ ความเข้าใจถูกต้องเรื่องหลักการและความมุ่งหมายนี้ จะนำไปสู่การปฏิบัติถูกต้องที่เรียกว่า ธรรมานุธรรมปฏิบัติ แปลง่ายๆ คือ ปฏิบัติธรรมถูกหลัก คือทำให้ข้อปฏิบัติย่อยเข้ากันได้สอดคล้องกัน และส่งผลแก่หลักการใหญ่ๆ เป็นไปเพื่อจุดหมายที่ต้องการ
"การบำเพ็ญอรรถ (ประโยชน์) โดยคนที่ไม่รู้จักอรรถ (ประโยชน์ที่พึงหมาย) ไม่ช่วยนำสุขมาให้
เลย คนเขลาย่อมผลาญอรรถ (ประโยชน์) เสีย เหมือนดังลิงเผ้าสวน"ในแง่ปรมัตถ์ นั้น ศีล สมาธิและปัญญา ต่างก็มีจุดหมาย สุดท้ายคือนิพพานเหมือนกัน แต่ละอย่างมีขอบเขตของตนที่จะต้องไปต่อเชื่อมกับอย่างอื่น จึงจะบรรลุจุดหมายสุดท้ายได้ ลำพังอย่างเดียวหาสำเร็จผลล่วงตลอดไม่ จะขาดอย่างหนึ่งอย่างใดเสียทีเดียว ก็ไม่ได้ จึงมีหลักว่า ศีลเพื่อสมาธิ สมาธิเพื่อปัญญา ปัญญาเพื่อวิมุตติ ถ้าปฏิบัติศีลขาดเป้าหมาย ก็จะกลายเป็นสีลัพพตปรามาส (รักษาศีล โดยมีวัตถุประสงค์ผิด) ถ้าบำเพ็ญสมาธิโดยไม่คำนึงถึงอรรถ ก็อาจติดหลงอยู่ในฤทธิ์ปาฏิหาริย์ (ส่งเสริมให้เกิดดิรัจฉานวิชา) ถ้าเจริญปัญญาที่ไม่มุ่งไปสู่วิมุตติก็จะคลาดไปจากการเดินสายกลาง


6. วิธีคิดแบบเห็นคุณโทษและทางออก (ข้อดี ข้อเสียและทางออก)
                  
วิธีคิดแบบเห็นคุณ โทษ และทางออก หรือพิจารณาให้เห็นครบทั้ง อัสสาทะ อาทีนวะ และ
นิสสรณะ เป็นการมองสิ่งทั้งหลายตามความจริงอีกแบบหนึ่ง เน้นการยอมรับความจริงตามสิ่งนั้น ๆ ทุกแง่ ทุกด้าน ทั้งด้านดี ด้านเสีย และเป็นวิธีคิดที่ต่อเนื่องกับการปฏิบัติมาก ก่อนจะแก้ปัญหาจะต้องเข้าใจปัญหาให้ชัดเจน และรู้ที่ไปให้ดีก่อน หรือก่อนจะละจากสิ่งหนึ่งไปหาอีกสิ่งหนึ่ง ต้องรู้จักทั้งสองฝ่ายดีพอ ว่าเป็นการกระทำที่รอบคอบสมควรและดีจริง
                   อัสสาทะ แปลว่า ส่วนดี ส่วนอร่อย ส่วนหวานชื่นมีคุณค่า ข้อที่น่าพึงพอใจ
                   อาทีนวะ หรือ อาทีนพ แปลว่า ส่วนเสีย ข้อเสีย ช่องเสีย โทษ ข้อบกพร่อง
                   นิสสรณะ แปลว่า ทางออก ทางรอด ภาวะหลุดรอด ปลอดพ้น หรือสลัดออกได้ ภาวะที่
ปราศจากปัญหา มีความสมบูรณ์ในตัว ดีงามจริง โดยไม่ต้องขึ้นต่อข้อดี ข้อเสียการคิดลักษณะมีลักษณะที่พึงย้ำ 2 ประการคือ
                   1) ให้มองทั้งด้านดี ด้านเสีย ไม่ใช่มองด้านดีอย่างเดียว หรือมองด้านเสียอย่างเดียว เป็นการ
มองตามความเป็นจริง
                   2) เมื่อจะแก้ปัญหา ให้รู้คุณโทษ แล้วมองเห็นทางออก มองเห็นจุดหมายที่จะไปนั้นคืออะไร อย่างไรดีกว่า และพ้นจากข้อบกพร่อง โทษส่วนเสียได้อย่างไร ไม่ต้องขึ้นกับคุณโทษ ข้อดี ข้อเสียแบบเก่าอีกต่อไปจริงหรือไม่ จุดหมายนั้นมีอยู่จริงหรือไม่ หรือเป็นไปได้อย่างไร ไม่ควรรีบผลีผลาม ละทิ้งสิ่งที่คิดว่าเป็นปัญหา หรือผลีผลามปฏิบัติ เช่นเห็นโทษของกาม แล้วไม่เวียนกลับ มาหากามอีก
ในทางปฏิบัติระดับชีวิตประจำวัน มักจะเป็นเพียงการเลือกระหว่างสิ่งที่มีโทษมาก คุณน้อย กับ
สิ่งที่มีคุณมากโทษน้อย และเป็นทางออกแบบสัมพันธ์คือทางออกที่ดีที่สุดในกรณีนั้นๆ ก็อย่าลืมซึ่งโทษข้อบกพร่องจากสิ่งที่เลือกด้วย หรืออาจนำส่วนดีที่เราละมาใช้ประโยชน์ และสามารถเลี่ยงสิ่งที่เป็นโทษ หรือเอาส่วนที่มีข้อบกพร่องมาแก้ไขจากสิ่งที่เราเลือกด้วย



7. วิธีคิดแบบรู้คุณค่าแท้ - คุณค่าเทียม (แท้ - เทียม)
                   วิธีคิดแบบรู้คุณค่าแท้ - คุณค่าเทียม หรือการพิจารณาถึงการใช้สอยหรือบริโภค เป็นวิธีคิด
แบบสกัดหรือบรรเทาตัณหาเป็นขั้นฝึกหัดขัดเกลากิเลสหรือตัดทางไม่ให้กิเลสเข้ามาครอบงำจิตใจ แล้วชักจูงพฤติกรรมต่อๆ ไป วิธีคิดแบบนี้ใช้มากในชีวิตประจำวันเพราะเกี่ยวกับการบริโภคใช้สอยปัจจัย 4 และวัสดุอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ เมื่อเรามีความต้องการและเห็นว่าสิ่งนั้นๆ จะตอบสนองความต้องการของเราได้ สิ่งนั้นก็มีคุณค่าแก่เรา มี 2 ชนิดคือ คุณค่าแท้ และคุณค่าเทียม
                   คุณค่าแท้ หมายถึง คุณค่าหรือประโยชน์ของสิ่งทั้งหลายในแง่ที่สนองความต้องการของชีวิต
โดยตรง หรือนำมาใช้แก้ปัญหาของตน เพื่อประโยชน์สุขทั้งของตนเองและของผู้อื่น คุณค่าแท้ต้องอาศัยปัญญาเป็นเครื่องตีค่าหรือวัดราคา เช่นอาหารมีคุณค่าอยู่ที่ประโยชน์สำหรับหล่อเลี้ยงร่างกาย ให้มีสุขภาพดี เป็นอยู่ผาสุข เกื้อกูลต่อการบำเพ็ญกิจหน้าที่ เกื้อกูลต่อความเจริญงอกงามของกุศลธรรม เช่น มีสติ เป็นต้น
                   คุณค่าเทียม หรือ คุณค่าพอกเสริม หมายถึง คุณค่าหรือประโยชน์ของสิ่งทั้งหลายเพื่อปรนเปรอการเสพเสวยเวทนา คุณค่านี้อาศัยตัณหาเป็นเครื่องตีค่าหรือวัดราคา เรียกว่าเป็นคุณค่าสนองตัณหา ก็ได้ เช่น อาหารมีคุณค่าอยู่ที่ความเอร็ดอร่อย เสริมความสนุกสนานเป็นเครื่องแสดงฐานะความโก้หรูหรา มุ่งเอาความสวยงามและความเด่น ซึ่งไม่ค่อยเกื้อกูลแก่ชีวิต บางทีเป็นอันตรายแก่ชีวิต ทำให้เกิดอกุศลธรรม เช่นความโลภ ความมัวเมา ความริษยา หนักไปทางเบียดเบียน


8.  วิธีคิดแบบเร้าคุณธรรม (คิดเป็นบวกกุศล)
                   วิธีคิดแบบอุบายปลุกเร้าคุณธรรม หรือวิธีคิดแบบเร้ากุศล หรือเร้าคุณธรรม หรือวิธีคิดแบบกุศล ภาวนา เป็นวิธีคิดในแนวสะกัดกั้น หรือบรรเทาและขัดเกลาตัณหา หลักการทั่วไปของวิธีคิดแบบนี้ คือสิ่งที่ได้ประสบหรือได้รับรู้อย่างเดียวกัน แต่บุคคลผู้ประสบ หรือรับรู้ต่างกัน อาจมองเห็นและคิดนึกปรุงแต่งไปคนละอย่าง สุดแต่โครงสร้างของจิตใจ หรือแนวทางความเคยชินต่างๆ หรือสุดแต่การทำใจในขณะนั้นๆ ของอย่างเดียวกัน หรืออาการกิริยาเดียวกัน คนหนึ่งมองเห็นแล้วคิดปรุงแต่ไปในทางดีงาม เป็น ประโยชน์ เป็นกุศล แต่อีกคนหนึ่งเห็นแล้วคิดปรุงแต่ไปในทางไม่ดีไม่งาม เป็นโทษ เป็นอกุศล แม้แต่บุคคลคนเดียวกัน แต่ต่างขณะต่างเวลา ก็อาจคิดเห็นปรุงแต่งต่างออกไปครั้งละอย่าง คราวหนึ่งร้าย คราวหนึ่งดี การทำใจที่ช่วยตั้งต้นและชักนำความคิดให้เดินไปในทางที่ดีงามและเป็นประโยชน์ เรียกว่าเป็นวิธีคิดแบบอุบายปลุกเร้าคุณธรรม

                   ตัวอย่างเช่น การคิดถึงความตายแล้วคิดไม่ถูกวิธี ก็จะเกิดอกุศลธรรมขึ้นเกิดสลดหดหู่ เศร้า
เหี่ยวแห้งใจ หวั่นไหวหวาดกลัว เสียใจ และอาจดีใจเมื่อเป็นความตายของคนที่เกลียดชัง แต่ถ้าคิดให้ถูกวิธี จะเกิดกุศลธรรม เกิดความรู้สึกตื่นตัว เร้าใจ ไม่ประมาท เร่งขวนขวายปฏิบัติหน้าที่นำสิ่งดีงามเป็นประโยชน์ ประพฤติปฏิบัติธรรม รู้เท่าทันความจริงเป็นคติธรรมดาของสังขาร


9. วิธีคิดแบบอยู่กับปัจจุบัน (สติตามทันธรรม)
                   วิธีคิดแบบเป็นอยู่ในขณะปัจจุบันหรือมีปัจจุบันธรรมเป็นอารมณ์ เป็นการมองอีกด้านหนึ่งของการคิดแบบอื่น จะว่าแทรกหรือคลุมวิธีคิดแบบก่อนที่กล่าวมาแล้วก็ได้ วิธีคิดแบบเป็นอยู่ในขณะปัจจุบันนี้มีเนื้อหารวมอยู่ในสติปัฏฐาน 4 หรืออริยมรรค ข้อ สัมมาสติ วิธีคิดที่ไม่เป็นอยู่ในปัจจุบันคือความคิดที่เกาะติดกับอดีต และเลื่อนลอยไปในอนาคต เป็นการ คิดด้วยอำนาจตัณหา ตกอยู่ในอำนาจอารมณ์ โหยหาอาลัยอาวรณ์ถึงสิ่งที่ล่วงมาแล้ว เพ้อฝัน ปรุงแต่งซึ่งไม่มีฐานแห่งความจริงในปัจจุบัน ไม่พอใจสภาพที่ประสบอยู่ในปัจจุบัน ต้องการจะหนีไปจากปัจจุบัน วิธีคิดที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นการคิดในแนวทางของความรู้คิดด้วยอำนาจปัญญา ไม่ว่าจะเป็น เรื่องที่เป็นไปอยู่ในขณะนี้ หรือเป็นเรื่องล่วงไปแล้ว หรือเป็นเรื่องของกาลภายหน้า ก็จัดเข้าในการเป็นอยู่ในปัจจุบันทั้งนั้น เช่นสั่งสอนบทเรียนจากอดีต ความไม่ประมาท ระมัดระวังป้องกันภัยในอนาคต
                   ข้อสังเกต คำว่าปัจจุบันในทางธรรมหมายถึงมีสติตามทันสิ่งที่รับรู้เกี่ยวข้องหรือต้องทำอยู่ใน
เวลานั้น แต่ละขณะทุกๆ ขณะจิต ไม่หลุดลอยไปจากขณะปัจจุบัน อาจเป็นเรื่องอดีต ปัจจุบัน อนาคต ก็ได้


10. วิธีคิดแบบวิภัชชวาท (คิดและพูดแยกแยะทุกแง่ทุกด้าน)
                   วิภัชชวาทไม่ใช่วิธีคิดโดยตรง แต่เป็นวิธีพูดหรือการแสดงหลักการแห่งคำสอนแบบหนึ่ง การคิดกับการพูดเป็นกรรมใกล้ชิดกันที่สุด ก่อนจะพูดก็ต้องคิดก่อน บางทีเรียกว่า วัชชวาที

                   วิภัชช                                 แปลว่า แยกแยะ แบ่งออก จำแนก หรือแจกแจง หรือวิเคราะห์

                   วาทแปลว่า การกล่าว การพูด การแสดงคำสอน

                   ดังนั้น วิภัชชวาท จึงแปลว่า การพูดแยกแยะ พูดจำแนก หรือพูดแจกแจง หรือแสดงคำสอนแบบวิเคราะห์
                   ลักษณะการคิดและพูดแบบนี้คือ การมองและแสดงความจริง โดยแยกแยะออกให้เห็นแต่ละแง่ละด้าน ครบทุกแง่ทุกด้าน ไม่ใช่จับเอาแง่หนึ่ง แง่เดียว หรือบางแง่ขึ้นมาวินิจฉัยตีคลุมลงไปอย่างนั้นทั้งหมด หรือประเมินคุณค่าความดีงาม เป็นต้น โดยถือเอาส่วนเดียวหรือบางส่วนเท่านั้น แล้วตัดสินพรวดลงไปวาทะที่ตรงข้ามกับวิภัชชวาท เรียกว่า เอกังสวาท แปลว่า พูดแง่เดียว คือจับได้เพียงแง่หนึ่ง ด้านหนึ่ง หรือส่วนหนึ่งก็วินิจฉัยตีคลุมลงไปอย่างเดียวทั้งหมด หรือพูดตามตัวอย่างเดียว
วิธีการจำแนกในลักษณะต่างๆ ดังนี้

1) จำแนกโดยแง่ด้านของความจริง มี 2 อย่างดังนี้

                         1.1 จำแนกตามแง่ด้านต่าง ๆ ตามที่เป็นจริงของสิ่งนั้น คือมองความจริงให้ตรงตามที่เป็น
อยู่ในแง่นั้นด้านนั้น ไม่ใช่จับความจริงแง่หนึ่งด้านหนึ่ง หรือแง่อื่น ด้านอื่น แล้วมาตีคลุมเป็นอย่างนั้นไปหมด เช่นถ้าจะประเมินคุณค่า ก็ตกลงหรือกำหนดลงว่าจะเอาแง่ใดด้านใดบ้าง แล้วพิจารณาที่ละแง่ประมวลลงตามอัตราส่วน
                   1.2 จำแนกโดยมอง หรือแสดงความจริงของสิ่งนั้นๆ ให้ครบทุกแง่ทุกด้าน ไม่มองส่วนเดียว
หรือแง่เดียวว่าดีหรือไม่ดีอย่างไร

2) จำแนกโดยส่วนประกอบ
                   คือวิเคราะห์แยกแยะออกไปให้รู้เท่าทันภาวะที่สิ่งนั้นๆ เกิดจากองค์ประกอบย่อยๆ ต่าง ๆ
มาประชุมกันเข้าไม่ติดตันอยู่ภายนอก หรือถูกลวงโดยภาพรวมของสิ่งนั้นๆ

3) จำแนกโดยลำดับขณะ
                   คือวิเคราะห์แยกแยะปรากฏการณ์ตามลำดับความสืบทอดแห่งเหตุปัจจัย ซอยออกไปเป็น
แต่ละขณะๆ ให้มองเห็นตัวเหตุ ปัจจัยที่แท้จริง ไม่ถูกลวงให้จัดเหตุปัจจัยสับสน การคิดแบบนี้เป็นด้านหนึ่งของการคิดจำแนก โดยส่วนประกอบและการคิดจำแนกตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย เช่นโจรขึ้นปล้นบ้าน และฆ่าเจ้าทรัพย์ตาย เพราะความโลภ แท้จริงแล้วปล้นทรัพย์เพราะความโลภ แต่ฆ่าคนมาจากเหตุโทสะ ไม่ใช่จากความโลภ

4) จำแนกโดยความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย
                   คือสืบสาวสาเหตุปัจจัยต่างๆ ที่สัมพันธ์สืบทอดกันมาของสิ่งหรือปรากฏการณ์ต่างๆ ทำให้
มองเห็นความจริงที่สิ่งทั้งหลายไม่ได้ตั้งอยู่ลอยๆ ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ ไม่ได้ดำรงอยู่เป็นอิสระจากสิ่งอื่นๆ และไม่ได้ดำรงอยู่โดยตัวของมันเอง แต่เกิดขึ้นด้วยอาศัยเหตุปัจจัย จะดับไปและสามารถดับได้ด้วยการดับที่เหตุปัจจัย (ตรงกับวิธีคิดแบบที่ 1) ความสับสนของเหตุปัจจัยและผลที่ได้รับ มีดังนี้

                   1. การนำเอาเรื่องราวอื่นๆ นอกกรณีมาปะปน สับสนกับเหตุปัจจัยเฉพาะกรณี เช่นคนทำดี 
ทำไมไม่ได้รับผลดี ดังนั้นต้องวิเคราะห์ แล้วจับผลให้ตรงกับเหตุด้วย ต้องรู้ว่าเหตุใดให้ผลใด และผลใดเกิดจากเหตุใดให้มองเห็นตรงตามนั้นไม่ไขว้เขวสับสน
                   2. ความไม่ตระหนักถึงภาวะที่ปรากฏการณ์หรือผลที่คล้ายกัน อาจเกิดจากเหตุปัจจัยต่างกัน
ได้ และเหตุปัจจัยอย่างเดียวกัน อาจไม่นำไปสู่ผลอย่างเดียวกัน เช่น ภิกษุอยู่ป่า พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญก็มี ไม่สรรเสริญก็มี โดยทรงพิจารณาสุดแห่งเหตุ หรือตัวอย่างการได้ทรัพย์มา มาจากการขยัน จากมีผู้ให้ทรัพย์ จากการลักขโมย
<

หมายเลขบันทึก: 218983เขียนเมื่อ 27 ตุลาคม 2008 01:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

แล้วการคิดแบบแยกประเด็นล่ะค่ะ

ช่วยตอบหน่อยค่ะ

สวัสดีค่ะ คุณ พรหมพชร เกตดี (Mr.PK)

ขอบคุณเจ้า

ขoUคุณu:จาก!oซ์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท