คนใดคนหนึ่งผู้ใจฉกรรจ์


ชื่อ: รวิพร
หัวเรื่อง: ช่วยหาชาดกและสำนวนที่สอดคล้องกับโคลงโลกนิติด้วยค่ะ
ข้อความ:


คนใดคนหนึ่งผู้         ใจฉกรรจ์
เคียดฆ่าคนอนันต์      หนักแท้
ไป่ปานบุรุษอัน           ผจญจิต เองนา
เธียรท่านเยินยอแล้    ว่าผู้มีชัย๚ะ๛



การชนะใจตนเองคือความยิ่งใหญ่ เป็นที่ยอมรับมากว่าการที่ชนะผู้อื่น ช่วยหาสำนวนและชาดกหน่อยนะค่ะ งานส่ง 29 ตุลาค่ะ ขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะ


ก่อนอื่นพี่กวินขอแปล โคลงโลกนิติบทดังกล่าว ไว้ดังนี้

คนใดคนหนึ่งผู้         ใจฉกรรจ์
เคียดฆ่าคนอนันต์      หนักแท้
ไป่ปานบุรุษอัน           ผจญจิต เองนา
เธียรท่านเยินยอแล้    ว่าผู้มีชัย๚ะ๛


-คนผู้มีจิตใจ ฉกาจฉกรรจ์/กล้าหาญ
-(รบทัพจับศึก) ฆ่าล้าง คน (ผู้เป็นอริ) (ได้รับชัยชำนะเป็น) อเนกอนันต์ หนักแน่นในบาปนั้นแน่แท้
-ชัยชำนะะนั้น เทียบไม่ได้กับ คนผู้ รบ/ผจญ กับ จิตใจตนเอง (รบชนะใจตนเอง)
-ธีระ/เธียร=นักปราชญ์ ทั้งหลาย ย่อมเยินยอ บุคคลผู้เอาชนะใจตนเอง ว่าเป็นผู้มีชัย อย่างแท้จริง


ตรงกับพุทธสุภาษิตที่ว่า  อตฺตา หเว ชิตํ เสยฺโย (ชนะตนเอง นั่นแหละเป็นดี) พี่กวินคิดว่า โคลงโลกนิติบทนี้ น่าจะสอดคล้อง กุททาลชาดก (ชาดกว่าด้วย จอบ ซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วย ความชนะที่ดี) เนื้อหา ชาดกมีอยู่ว่า

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภ พระจิตหัตถสารีบุตร ตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้. ได้ยินว่า พระจิตหัตถสารีบุตร เป็นเด็กที่เกิดในตระกูล ผู้หนึ่งใน พระนครสาวัตถี อยู่มาวันหนึ่งไถนาแล้วขากลับ ได้เข้าไปสู่วิหาร ได้โภชนะประณีตอร่อย มีรสสนิทจากบาตรพระเถระองค์หนึ่ง คิดว่า ถึงแม้เราจะกระทำงานต่าง ๆ ด้วยมือของตน ตลอดคืนตลอดวัน ก็ยังไม่ได้อาหารอร่อยอย่างนี้ แม้เราก็สมควรจะเป็นสมณะ ดังนี้ เขาบวชแล้วอยู่มาได้ประมาณครึ่งเดือน เมื่อไม่ใส่ใจโดยแยบคาย ตกไปในอำนาจกิเลส จึงสึกไป พอลำบากด้วยเรื่องอาหารก็มาบวชอีก เรียนพระอภิธรรม ด้วยอุบายนี้ สึก แล้วบวชถึง 6 ครั้ง ในความเป็นภิกษุครั้งที่ 7 เป็นผู้ทรงพระอภิธรรม 7 พระคัมภีร์ ได้บอกธรรมแก่ภิกษุเป็นอันมาก บำเพ็ญวิปัสสนาได้บรรลุพระอรหัตถ์แล้ว

ครั้งนั้นภิกษุผู้เป็นสหายของท่าน พากันเยาะเย้ยว่า "อาวุโส จิตหัตถ์ เดี๋ยวนี้กิเลสทั้งหลายของเธอไม่เจริญเหมือนเมื่อก่อนดอกหรือ?" ท่านตอบว่า "ผู้มีอายุ ตั้งแต่บัดนี้ไป ผมไม่เหมาะเพื่อความเป็นคฤหัสถ์" ก็เมื่อท่านบรรลุพระอรหัตอย่างนี้แล้วเกิดโจทย์กันขึ้นใน ธรรมสภา ว่า ผู้มีอายุทั้งหลายเมื่ออุปนิสัยแห่งพระอรหัตเห็นปานนี้มีอยู่ ท่านพระจิตหัตถสารีบุตร ต้องสึกถึง ๖ ครั้ง โอ ! ความเป็นปุถุชน มีโทษมากดังนี้

พระศาสดาเสด็จมาแล้ว ตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย "บัดนี้ พวกเธอสนทนากันด้วย เรื่องอะไร?" เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าจิตของปุถุชน เมา ข่มได้ยาก คอยไปติดด้วยอำนาจแห่งอารมณ์ ลงติดเสียครั้งหนึ่งแล้ว ก็ไม่อาจปลดเปลื้องได้โดยเร็ว การฝึกฝนจิตเห็นปานนี้ เป็นความดี จิตที่ฝึกฝนดีแล้วเท่านั้น จะนำประโยชน์เกื้อกูลและความสุขมาให้" ครั้นแล้วตรัสต่อไปว่า ก็เพราะเหตุที่จิตนั้นข่มได้โดยยาก บัณฑิตทั้งหลาย แม้ในกาลก่อนอาศัยจอบเล่มเดียว ไม่อาจทิ้งมันได้ ต้องสึกถึง ๖ ครั้ง ด้วยอำนาจความโลภ ในเพศแห่งบรรพชิต ครั้งที่ ๗ ทำฌานให้เกิดขึ้นแล้ว จึงข่มความโลภนั้น ได้ดังนี้แล้ว ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธกดังต่อไปนี้ :
 

ในอดีตกาล ครั้ง พระเจ้าพรหมทัต เสวยราชสมบัติอยู่ใน กรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์ เกิดในตระกูลคนปลูกผัก ถึงความเป็นผู้รู้เดียงสาแล้ว ได้นามว่า "กุททาลบัณฑิต" ท่านกุททาลบัณฑิต กระทำการฟื้นดินด้วยจอบ เพาะปลูกพืชพันธ์และผัก มีน้ำเต้า ฟักเขียว ฟักเหลือง เป็นต้น เก็บผักเหล่านั้นขายเลี้ยงชีพ แท้จริงท่านกุททาลบัณฑิต นอกจากจอบเล่มเดียวเท่านั้น ทรัพย์สมบัติอย่างอื่นไม่มีเลย ครั้นวันหนึ่งท่านดำริว่า จะมีประโยชน์ อะไรด้วยการอยู่ครองเรือน เราจักบวช ดังนี้ ครั้นวันหนึ่ง ท่านซ่อนจอบนั้นไว้ในที่ซึ่งมิดชิด แล้วบวชเป็นฤๅษี ครั้นหวนนึกถึงจอบเล่มนั้นแล้ว ก็ไม่อาจตัดความโลภเสียได้ เลยต้องสึก เพราะอาศัยจอบกุด ๆ เล่มนั้น แม้ครั้งที่ 2 แม้ครั้ง ที่ 3 ก็เป็นอย่างนี้ เก็บจอบนั้นไว้ในที่มิดชิด บวช ๆ สึก ๆ รวมได้ถึง 6 ครั้ง ในครั้งที่ 7 ได้คิดว่า เราอาศัยจอบกุด ๆ เล่มนี้ ต้องสึกบ่อยครั้ง คราวนี้เราจักขว้างมันทิ้งเสียในแม่น้ำใหญ่แล้วบวช ดังนี้แล้ว เดินไปสู่ฝั่งแม่น้ำ คิดว่า ถ้าเรายังเห็นที่ตกของมัน ก็จักต้องอยากงมมันขึ้นมาอีก แล้วจับจอบที่ด้าม ท่านมีกำลังดังช้างสาร สมบูรณ์ด้วยเรี่ยวแรง ควงจอบเหนือศีรษะ 3 รอบ หลับตาขว้างลงไปกลางแม่น้ำ แล้วบันลือเสียงกึกก้อง 3 ครั้งว่า "เราชนะแล้ว เราชนะแล้ว".

ในขณะนั้น พระเจ้าพาราณสี ทรงปราบปรามปัจจันตชนบทราบคาบแล้ว เสด็จกลับ ทรงสนานพระเศียรในแม่น้ำนั้น ประดับพระองค์ด้วยเครื่องอลังการครบเครื่อง เสด็จพระดำเนินโดยพระคชาธาร ทรงสดับเสียงของพระโพธิสัตว์นั้น ทรงระแวงพระทัยว่า บุรุษผู้นี้กล่าวว่า เราชนะแล้ว ใครเล่าที่เขาชนะ จงเรียกเขามา แล้วมีพระดำรัสสั่งให้เรียกมาเฝ้า แล้วมีพระดำรัสถามว่า "ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ เรากำลังชนะสงคราม กำความมีชัย มาเดี๋ยวนี้ ส่วนท่านเล่าชนะอะไร ? พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช ถึงพระองค์จะทรงชนะสงครามตั้งร้อย ครั้งตั้งพันครั้ง แม้ตั้งแสนครั้ง ก็ยังชื่อว่าชนะไม่เด็ดขาดอยู่นั่นเอง เพราะยังเอาชนะกิเลสทั้งหลายไม่ได้ แต่ข้าพระองค ์ข่มกิเลสในภายในไว้ได้ เอาชนะกิเลสทั้งหลายได้ กราบทูลไป มองดูแม่น้ำไป ยังฌานมีอาโปกสิณ เป็นอารมณ์ ให้เกิดขึ้นแล้ว นั่งในอากาศด้วยอำนาจของฌานและสมาบัติ

เมื่อจะแสดงธรรมถวายพระราชา จึงกล่าวคาถานี้ ความว่า : "ความชนะที่บุคคลชนะแล้ว กลับแพ้ได้นั้น มิใช่ความชนะเด็ดขาด (ส่วน) ความชนะที่บุคคลชนะแล้ว ไม่กลับแพ้นั้นต่างหาก จึงชื่อว่าเป็นความชนะเด็ดขาด" ดังนี้.
 

ก็เมื่อพระราชาทรงสดับธรรมอยู่นั่นเอง ทรงละกิเลสได้ด้วยอำนาจ ตทังคปหาน พระทัยน้อมไปในบรรพชา ถึงพวกหมู่โยธาของพระองค์ ก็พากันละได้เช่นนั้นเหมือนกัน พระราชา ตรัสถามพระโพธิสัตว์ว่า บัดนี้พระคุณเจ้าจักไปไหน เล่า? พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช ข้าพระองค์ จักเข้าป่าหิมพานต์บวชเป็นฤๅษี พระราชารับสั่งว่า ถ้าเช่นนั้น แม้ข้าพเจ้าก็จะบรรพชา แล้วเสด็จพระราชดำเนิน ไปพร้อมกับพระโพธิสัตว์ พลนิกายทั้งหมด คือ พราหมณ์ คฤหบดี และทวยหาญ ทุกคนประชุมกันในขณะนั้น เป็นมหาสมาคม ออกบรรพชา พร้อมกับพระราชาเหมือนกัน

ชาวเมืองพาราณสี สดับข่าวว่า พระราชาของเราทั้งหลาย ทรงสดับพระธรรมเทศนาของกุททาลบัณฑิตแล้ว ทรงบ่ายพระพักตร์ มุ่งบรรพชา เสด็จออกทรงผนวชพร้อมด้วยพลนิกาย พวกเราจักทำอะไรกันในเมืองนี้ ดังนี้แล้ว บรรดาผู้อยู่ในพระนครทั้งนั้น ต่างพากันเดินทางออกจากกรุงพาราณสี อันมีปริมณฑลได้ 12 โยชน์ บริษัทก็ได้มีปริมณฑล 12 โยชน์ พระโพธิสัตว์พาบริษัทนั้นเข้าป่าหิมพานต์ ในขณะนั้นอาสนะที่ประทับนั่งของท้าวสักกเทวราช สำแดงอาการร้อน ท้าวเธอทรงตรวจดู ทอดพระเนตรเห็นว่า กุททาลบัณฑิต ออกสู่ มหาภิเนกษกรม แล้วทรงพระดำริว่า จักเป็นมหาสมาคม ควรที่ท่านจะได้สถานที่อยู่ แล้วตรัสเรียก วิสสุกรรมเทพบุตร มาตรัสสั่งว่า พ่อวิสสุกรรม กุททาลบัณฑิตกำลังออกสู่มหาภิเนกษกรม ท่านควรจะได้ที่อยู่ ท่านจงไปหิมวันตประเทศ เนรมิต อาศรมบท ยาว 30 โยชน์ กว้าง 15 โยชน์ ณ ภูมิภาคอันราบรื่น วิสสุกรรมเทพบุตร รับเทวบัญชาว่า ข้าแต่เทพยเจ้า ข้าพระพุทธเจ้า จะกระทำให้สำเร็จดังเทวบัญชา แล้วไปทำตามนั้น นี้เป็นความสังเขปในอธิการนี้ ส่วนความพิสดาร จักปรากฏในหัตถิปาลชาดก แท้จริงเรื่องนี้ และเรื่องนั้น เป็นปริเฉทเดียวกันนั่นเอง.

ฝ่ายวิสสุกรรมเทพบุตร เนรมิตบรรณศาลาในอาศรมบท แล้ว ก็ขับไล่ เนื้อ นก และ อมนุษย์ที่มีเสียงชั่วร้ายไปเสีย แล้ว เนรมิตหนทางเดินจงกรมตามทิสาภาคนั้น ๆ เสร็จแล้ว เสด็จกลับไปยังวิมานอันเป็นสถานที่อยู่ของตนทันที.

ฝ่ายกุททาลบัณฑิต พาบริษัทเข้าสู่ป่าหิมพานต์ ลุถึง อาศรมบทที่ท้าวสักกะทรงประทาน ถือเอาเครื่องบริขารแห่งบรรพชิต ที่วิสสุกรรมเทพบุตรเนรมิตไว้ให้ บวชตนเองก่อน ให้บริษัทบวชทีหลัง จัดแจงแบ่งอาศรมบทให้อยู่กันตามสมควร มีพระราชาอีก 7 พระองค์ สละราชสมบัติ 7 พระนคร ติดตาม มาทรงผนวชด้วย อาศรมบท 30 โยชน์ เต็มบริบูรณ์ กุททาลบัณฑิต ทำบริกรรมในกสิณที่เหลือ เจริญพรหมวิหารธรรม บอกกรรมฐานแก่บริษัท บริษัททั้งปวงล้วนได้สมาบัติ เจริญพรหมวิหารแล้ว พากันไปสู่พรหมโลกทั่วกัน ส่วนประชาชน ที่บำรุงพระดาบสเหล่านั้น ก็ล้วนได้ไปสู่เทวโลก.

พระบรมศาสดา ก็ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่า จิตนี้ ติดด้วยอำนาจของกิเลสแล้ว เป็นธรรมชาติปลดเปลื้องได้ยาก โลภธรรมทั้งหลายที่เกิดแล้ว เป็นสภาวะละได้ยาก ย่อมกระทำท่านผู้เป็นบัณฑิตเห็นปานฉะนี้ ให้กลายเป็นคน ไม่มีความรู้ไปได้ ด้วยประการฉะนี้

ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ทรงประกาศสัจจะทั้งหลาย เมื่อจบสัจจะ ภิกษุทั้งหลาย บางพวกได้เป็นพระโสดาบัน บางพวกได้เป็นพระสกทาคามีบางพวกได้เป็นพระอนาคามี บางพวกบรรลุพระอรหัต พระบรมศาสดา ทรงประชุมชาดกว่า พระราชา ในครั้งนั้นได้มาเป็นพระอานนท์ บริษัทในครั้งนั้น ได้มาเป็น พุทธบริษัท ส่วน กุททาลกบัณฑิต ได้มาเป็นเรา ตถาคต ฉะนี้แล.  จบ กุททาลชาดก

อ้างอิง

อรรถกถา กุททาลชาดก ว่าด้วย ความชนะที่ดี. เวปไซต์ 84000 พระธรรมขันธ์ . 2003 November [cited 2008 October 26]. 5 (70) ; (0 screens). Available from: URL;  http://84000.org/tipitaka/atita100/jataka500.php?s=70

หมายเลขบันทึก: 218848เขียนเมื่อ 26 ตุลาคม 2008 11:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 19:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (19)

สวัสดีครับ พี่กวิน สุขีสุโข โอเย วันอาทิตย์นะครับ

ขอบคุณครับคุณน้อง  คนพลัดถิ่น  ขอให้มีความสุขในวันหยุดเช่นกันครับ

  • อาจารย์ขยันค้นจริงๆ (อนุโมทนาอย่างยิ่ง)

สงสัยข้อความว่า... กุททาลชาดก (ว่าด้วย ความชนะที่ดี) ...

เพราะ กุททาละ แปลว่า่ จอบ จึงน่าจะวงเล็บว่า กุทาลชาดก (ว่าด้วยจอบ) มากกว่า.. ลองตาม Link ที่อาจารย์วางไว้ พบว่า่ข้อความดังกล่าว อาจารย์ลอกมาจากนี้ (คลิกที่นี้)

จึงสงสัยประเด็นนี้ขึ้นมา ว่าท่านใช้หลักเกณฑ์ใด และพบตัวอย่างที่ด้านล่างว่า...

 

เมื่อพิจารณาดู เห็นว่า มีเพียง ๒ เรื่อง เท่านั้น ที่ตรงกับชื่อเรื่อง คือ...

  • ทุราชานชาดก ว่าด้วย ภาวะของหญิงรู้ยาก (ทุราชานะ แปลว่า รู้ยาก)
  • วิสวันตชาดก ว่าด้วย ตายเสียดีกว่าดูดพิษที่คายออกแล้ว (วิสวันตะ แปลว่า คายพิษ)

นอกนั้นไม่ตรงกับชื่อเรื่อง !

จึงสรุปว่า ข้อความว่า ว่าด้วย... ที่อยู่หลังชื่อชาดกเหล่านี้ ผู้แปลหรือผู้จัดทำชาดกชุดนี้นั้น ท่านเพ่งถึงเนื้อหา มิได้เพ่งถึงความหมายของชื่อชาดกเรื่องนั้นๆ จึงตรงกับชื่อเรื่องบ้างไม่ตรงบ้าง...

ซึ่งนัยนี้ แปลกไปจากการแปลคัมภีร์ตามตัวบท ที่เน้นความถูกต้องของศัพท์หรือหลักการ มากกว่าการสรุปความแล้วให้ความหมายใหม่ (ตามความเห็นของผู้จัดทำ) และเป็นไปได้ที่บางครั้งความเห็นของผู้จัดทำอาจเข้าไม่ถึงความหมายของชื่อเดิมตามที่โบราณาจารย์ได้ตั้งไว้...

 

อนึ่ง เรื่อง จิตตหัตถภิกษุ นี้ เคยนำประวัติมาอ้างอิงนิดหน่อย (คลิกที่นี้)

เจริญพร

ดีใจที่ได้เข้ามา เพิ่มเติมวิชาความรู้

เคยเรียงร้อยถ้อยความ แบบไร้ครู

มาพบผู้รู้ ชี้ชูนำทาง

                  ขอบคุณจากใจจริง

                                      รพี

พี่กวินขา ขอโทษนะค่ะ คือว่าหาสำนวนไม่เจออ่ะค่ะ ถ้าพี่ว่างช่วยหาหน่อยนะค่ะ ขอบคุณค่ะ

ตอนนั้นที่พี่กวินให้หาในกูเกิล หนูเจอกุลทาลชาดกด้วย คิดว่าต้องใช่แน่ๆ กะจะถามพี่กวินดันออฟไลน์ไปซะก่อน อิอิ แต่มันก็เป็นจริงๆ

นมัสการพระคุณเจ้า BM.chaiwut  ที่พระอาจารย์ตั้งข้อสังเกตที่ว่า "สงสัยข้อความว่า กุททาลชาดก (ว่าด้วย ความชนะที่ดี) เพราะ กุททาละ แปลว่า่ จอบ จึงน่าจะวงเล็บว่า กุทาลชาดก (ว่าด้วยจอบ) มากกว่า.. ลองตาม Link ที่อาจารย์วางไว้ พบว่า่ข้อความดังกล่าว อาจารย์ลอกมาจากนี้ (คลิกที่นี้)"

จริงด้วยขอรับกระผมชาดกเรื่อง "กุททาละ แปลว่า่ จอบ จึงน่าจะวงเล็บว่า กุทาลชาดก (ว่าด้วยจอบ) มากกว่า"

"เราอาศัย จอบ กุด ๆ เล่มนี้ ต้องสึกบ่อยครั้ง คราวนี้เราจักขว้างมันทิ้งเสียในแม่น้ำใหญ่แล้วบวช ดังนี้แล้ว เดินไปสู่ฝั่งแม่น้ำ คิดว่า ถ้าเรายังเห็นที่ตกของมัน ก็จักต้องอยากงมมันขึ้นมาอีก แล้วจับจอบที่ด้าม ท่านมีกำลังดังช้างสาร สมบูรณ์ด้วยเรี่ยวแรง ควงจอบเหนือศีรษะ 3 รอบ หลับตาขว้างลงไปกลางแม่น้ำ แล้วบันลือเสียงกึกก้อง 3 ครั้งว่า "เราชนะแล้ว เราชนะแล้ว"

และที่พระอาจารย์ตั้งข้อสังเกตไว้อีกว่า

"จึงสรุปว่า ข้อความว่า ว่าด้วย... ที่อยู่หลังชื่อชาดกเหล่านี้ ผู้แปลหรือผู้จัดทำชาดกชุดนี้นั้น ท่านเพ่งถึงเนื้อหา มิได้เพ่งถึงความหมายของชื่อชาดกเรื่องนั้นๆ จึงตรงกับชื่อเรื่องบ้างไม่ตรงบ้าง ซึ่งนัยนี้ แปลกไปจากการแปลคัมภีร์ตามตัวบท ที่เน้นความถูกต้องของศัพท์หรือหลักการ มากกว่าการสรุปความแล้วให้ความหมายใหม่ (ตามความเห็นของผู้จัดทำ) และเป็นไปได้ที่บางครั้งความเห็นของผู้จัดทำอาจเข้าไม่ถึงความหมายของชื่อเดิมตามที่โบราณาจารย์ได้ตั้งไว้"

ข้อสังเกตนี้ จะเป็นประโยชน์แก่ผู้จัดทำเวปไซต์เป็นอย่างมากนะครับกระผม เพราะกระผมเองก็ยังไม่มีความรู้ทางบาลีสันสกฤตอย่างแตกฉานทำให้ขาดการพินิจพิเคราะห์ตรงจุดนี้ไป ขอบพระคุณมากๆ ขอรับกระผม

สวัสดีค่ะ

ได้เรียนรู้จากคุณกวินและท่านพระคุณเจ้าไปด้วย

นี่แหละนะ  ภาษาไทยอ่านได้ ไม่รู้ความหมาย

ทำให้คนไม่อยากอ่าน

ทั้งที่เป็นประโยชน์

ขอขอบคุณค่ะ

น้อง รวิพร พี่เพิ่มสำนวน/พุทธสุภาษิต ไว้ให้แล้วนะครับน่าจะตรงกับ สำนวนที่ว่า  อตฺตา หเว ชิตํ เสยฺโย (ชนะตนเอง นั่นแหละเป็นดี)


น้อง สุพิชญา  อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ขุ. ธ. ๒๕/๓๖, ๖๖. ตนแล เป็นคติของตน. ดีมากๆ เลยครับ คราวหน้าก็ถามอาจารย์กูเกิ้ล ก็ได้นะครับ เพราะพี่ก็ถามอาจารย์กูเกิลเหมือนกัน

ขอบคุณท่านอาจารย์ รพี กวีข้างถนน ครับผมก็ได้เรียนรู้ไปกับเด็กนักเรียนเช่นเดียวกัน ครับ

ขอบคุณ ครูคิม  ที่แวะมาเยี่ยมชมครับ

ขึ้นชื่อว่าจิตของปุถุชน เมา ข่มได้ยาก คอยไปติดด้วยอำนาจแห่งอารมณ์ ลงติดเสียครั้งหนึ่งแล้ว ก็ไม่อาจปลดเปลื้องได้โดยเร็ว...

จริงแท้แน่นอนตามที่พระพุทธองค์กล่าว เคยอ่านหนังสือที่ชื่อว่า "ประโยชน์สูงสุดของชีวิตนี้" นานมากแล้วค่ะ เข้าใจและพอจำได้ลางๆ ว่าเนื้อหาที่พระธรรมปิฎกท่านว่าไว้ในหนังสือเล่มนั้นมีใจความเป็นทำนองเดียวกันกับประโยคข้างต้น(ในส่วนแรกของหนังสือ) อ่านแล้วรู้สึกไม่ยึดติดขึ้นมากกว่าเมื่อก่อน แต่บางครั้งก็ไม่เป็นไปอย่างที่อยากจะสะกดจิตใจ

จึงเห็นว่าจริงตามคำของพระพุทธองค์ - - ขอบคุณนะคะ

ขอบคุณ คุณ  [SPI©Mië™]~natamaidee but narak..  ที่เตือนสติ ครับ :)

สว้สดีค่ะคุณกวิน

แวะมาอ่านโคลงโลกนิติและชาดกดี ๆ ให้ข้อคิดสอนใจ

คนใดคนหนึ่งผู้         ใจฉกรรจ์
เคียดฆ่าคนอนันต์      หนักแท้
ไป่ปานบุรุษอัน           ผจญจิต เองนา
เธียรท่านเยินยอแล้    ว่าผู้มีชัย๚ะ๛

คนไม่มีรากก็มักจะบอกตัวเองและน้อง ๆ หลาย ๆ คนเสมอว่า ...

ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือชนะตนเอง ไม่ใช่การชนะศ้ตรูที่ไหน

แต่น่าแปลกทั้งรู้ก็รู้...แต่ เราก็มักจะพ่ายแพ้ต่อตัวเอง แม้ในยามที่เราอาจจะมีชัยต่อผู้ที่เราคิดว่าเขาเป็น ศัตรู ของเรา

สู้ ๆ ค่ะ แพ้ ชนะ ก็ของสมมติโลกทั้งนั้น แล้วก็ผ่านไปเองล่ะ...^_^...

ครับคนไม่มีราก ข้อคิดว่าด้วยเรื่อง ชนะตนนี้ อ่านจากชาดกพระโพธิสัตว์ และพระจิตหัตถสารีบุตร ยังแพ้ใจตนเองถึง 6 ครั้ง 6 ครา เราคนธรรมดา คงย่อมที่จะต้องแพ้ใจตนเองมากกว่า 6-7 ครั้ง แน่ๆ ล่ะครับ ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมชมครับ หวังว่าสักวันหนึ่ง กวินจะต้องคงหลับตาแล้วโยน คอมพ์ ลงแม่น้ำ จากนั้นก็ร้อง ตะโกน ว่า  เราชนะแล้วๆๆๆๆๆๆ บ้างก็ได้นะครับสักวัน  :)

อย่าพิ่งเลยกวิน..เสียดายคอม..มาบริจาคที่เมืองแปงดีกว่ามั๊ย..ฮ่าๆๆ..ครูแอนยังยึดมั่นกับสิ่งที่ทำอยู่เลย...อดทนหน่อยล่ะกัน..สู้สู้

แพ้ใจตัวเอง..ดีกว่าแพ้ใจคนอื่นน่ะจ๊ะกวิน อิอิ

ขอบคุณมากเลย

อาจาร์หั้ยหาพอดีเยยอ่ะ....อิอิ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท